สนอง ตู้จินดา ในความรำลึกของซุปเปอร์เค


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

เกษม จาติกวณิช กับสนอง ตู้จินดา เป็นเพื่อนกันมาเกือบ 17 ปี และเป็นช่วง 17 ปีที่ต่างได้ร่วมชะตากรรมและพ้นทุกข์พ้นร้อนมาด้วยกันหลายเรื่อง ต่างกันก็คือ สนอง ตู้จินดา ได้เดินทางจากไปเสียก่อน

เกษมรู้จักกับสนองเมื่อครั้งตั้ง "สภาสนามม้า" เมื่อปี 2516 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยทั้งคู่อยู่ในกลุ่ม "ดุสิต 99" ซึ่งเป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ มีนักธุรกิจ ทนายความเป็นส่วนน้อย เพื่อร่วมกันแสดงความเห็นในประเด็นทางการเมือง

สนองจบปริญญาตรีธรรมศาสตร์บัณฑิต ในปี 2491 งานแรกคือทนายฝึกหัดที่สำนักงานเทพศรีหริศของพระยาศรีวิศาลวาจา ซึ่งดูแลทรัพย์สินส่วนพระองค์ ต่อจากนั้นก็มาทำงานที่สำนักงานบริพัตร เป็นผู้จัดการผลประโยชน์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ซึ่งทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นตึกแถวตลาด และที่ดินบริเวณเวิ้งนาครเขษม พลับพลาไชย ตลาดน้อย ตลาดบุคคโล ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตระกูล "บริพัตร" ทายาทกรมพระนครสวรรค์วรพินิจกับสนองเป็นไปอย่างแนบแน่น รวมไปถึงความสัมพันธ์กับตระกูลใหญ่ๆ ในสังคมไทยอื่นๆ

สนองได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และต่อมาก็เป็นวุฒิสมาชิกแต่ได้ลาออกมาสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2519 และได้รับเลือกตั้งตามต้องการ

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สนองหายไปจากวงการเมืองพักหนึ่ง แล้วก็กลับมาเป็นวุฒิสมาชิกอีกครั้งโดยตลอดจนวาระสุดท้าย

ในด้านวิชาชีพ นอกเหนือจากการเป็นทนายประจำตระกูล "บริพัตร" เป็นเวลากว่า 13 ปีแล้ว สนองยังเป็นทนายความที่เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายธุรกิจเป็นอันมาก เขารับเป็นทนายความสะสางหนี้สินของธนาคารไทยพัฒนา สามารถเรียกหนี้ได้คืนกว่า 400 ล้าน

ปี 2527 เป็นทนายความสะสางหนี้สินธนาคารเอเชียทรัสต์ เรียกหนี้สินได้คืนประมาณ 1,000 กว่าล้าน

2531 เป็นทนายให้ธนาคารไทยพาณิชย์ฟ้องกลุ่มบริษัทมาบุญครอง ซึ่งทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์พลิกสถานการณ์มาเป็นผู้ชนะได้ในที่สุด

คดีที่ดินของตระกูลศรีวิกรม์ สนองก็มีบทบาทอย่างมากที่ทำให้ในหมู่พี่น้องสองฝ่ายมาเจรจาตกลงกันได้ ที่สำคัญอีกคดีคือเขาเป็นทนายให้ธนาคารกรุงไทยฟ้อง ตามใจ ขำภโต ซึ่งคดียังไม่เสร็จสิ้น

นอกเหนือจากการเป็นวุฒิสมาชิกและทนายความแล้ว ตำแหน่งสำคัญอีกประการคือ สนองเป็นกรรมการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมาตั้งแต่ปี 2517 จากคำชักชวนของเกษม จาติกวณิช และความเห็นชอบของกรรมการ กฟผ.

"โดยความคิดการทำงานของกรรมการ กฟผ. ไม่ใช่ข้าราชการ เวลา กฟผ.ซื้อของทีเป็นพันเป็นหมื่นล้าน เราไม่ได้เลือกที่ถูกที่สุดตามหลักราชการ เราเลือกสินค้าที่ดีที่สุด ซึ่งสนองเขาก็เข้าใจ และตรวจสอบให้สัญญาต่างๆ รัดกุม ไม่ผิดพลาด" เกษมกล่าวถึงสนองในฐานะกรรมการ กฟผ.ด้วยกัน

ทั้งคู่เป็นกรรมการ กฟผ. ร่วมกันมาตลอดจนกระทั่งวันสุดท้ายที่เฉลิม อยู่บำรุง ใช้อำนาจสั่งปลด จนลุกลามกลายเป็นวิกฤติการณ์ครั้งหนึ่งของรัฐบาลพลเอกชาติชาย

แต่ในบรรดางานทั้งหมดที่สนองผ่านมา เกษมเชื่อว่างานที่สนองภูมิใจงานหนึ่งคืองานที่ธนาคารเอเชียทรัสต์หรือธนาคารสยาม ซึ่งเกษมเป็นคนชวนสนองเข้าเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับธนาคาร

กรณีนี้ทำให้สนองตัดสินใจเปิดสำนักทนายความของตนเองขึ้นมา มีทนายในสังกัดหลายสิบคน ส่วนใหญ่เพื่อมาทำคดีของธนาคารสยามโดยเฉพาะ

"งานนี้เป็นงานที่เหนื่อยมาก แต่ก็สนุกมากและท้าทายสำหรับสนอง สนองทำสำนวนคดีกว่า 100 คดี เรียกเงินคืนมาได้ 1,000 กว่าล้าน" เกษมเล่า

แต่ต่อมาภายหลังทางการก็มีนโยบายยุบธนาคารไปรวมกับธนาคารกรุงไทยอย่างกะทันหัน ซึ่งเท่าที่ "ผู้จัดการ" ได้เคยสนทนากับสนอง เขาค่อนข้างจะเสียความรู้สึกมากๆ

"ทำแบบนี้แล้วใครเขาอยากจะมาเป็นพยานให้ผมคดีต่างๆ กับเงินที่จะเรียกอีกเป็นพันล้านก็คงไม่มีวี่แวว" สนองกล่าวกับ "ผู้จัดการ" สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่

นอกเหนือจากการเป็นทนายให้กับธนาคารและธุรกิจเอกชนต่างๆแล้ว สนองก็ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารไทยทนุคือประมาณ 12-13% อีกด้วย

"สนองเป็นคน EXTREME เมื่อตัดสินใจอะไรแล้วก็จะต้องทำให้ได้ สมัยก่อนแกมาบอกผมว่า แกจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารให้ได้ ผมก็ไม่เชื่อว่าเป็นไปได้ สนองก็บอกว่าเป็นไปได้ แล้วแกก็เก็บหอมรอมริบเลือกซื้อหุ้นธนาคารไทยทนุ เพราะเป็นแบงก์เล็กๆ ยุคนั้น แกก็ทำจนได้" เกษมเล่าถึงสนองอย่างชื่นชม

ความเป็นคนเด็ดเดี่ยวและเชื่อมั่นในเหตุผลของตนเป็นลักษณะหนึ่งที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน ในเส้นทางการเมืองที่มีคำกล่าวว่า "ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร" นั้น สำหรับสนองแล้ว คำกล่าวนี้ต้องเปลี่ยนเป็น "มิตรแท้และศัตรูถาวร" แต่มิตรแท้สำหรับสนองนั้นมีมากมายกว่าศัตรูถาวรหลายเท่านัก!

สนองเป็นคนรักเพื่อนรู้จักคนมาก เป็นคนแฟร์ชอบช่วยเหลือคนอื่น แต่ว่ากันว่ามีคนอยู่สองสามคนที่สนองเคารพและนับถือ นั่นคือเกษมคนหนึ่ง กับอำนวย วีรวรรณ อีกคนหนึ่ง

"สนองเขาเคารพในการทำงาน มีวิธีทำงานและความเป็นคน NICE ของคุณอำนวย" เกษมกล่าว

ในแวดวงเพื่อนฝูงรู้กันว่าความลับอย่างหนึ่งของสนองคือชอบกินอาหารแปลกๆ เช่น อุ้งตีนหมี ตับห่าน เป็นต้น

สนองมีลูกชาย 3 คน ลูกสาว 1 คน ครอบครัวเกษมและครอบครัวสนองจะสนิทชิดชอบกันเป็นอย่างมาก ลูกๆ ของสนองเมื่อจะไปเมืองนอกทางเกษมและคุณหญิงชัชนีก็จะเป็นผู้จัดการดูแลให้ และในช่วงที่สนองป่วยคุณหญิงชัชนีก็ไปช่วยดูแลจนกระทั่งแม้ในงานศพคุณหญิงก็ต้องไปทุกวัน ลูกชายและลูกสาวของสนองไม่มีใครเป็นทนายเลย ลูกชายคนโตคือ "พรสนอง" ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยทนุ คนถัดมาก็เป็นนายธนาคารอยู่ที่ซิตี้แบงก์ ลูกสาวทำงานอยู่ที่สภาพัฒน์ ส่วนลูกชายคนเล็กไม่ได้เป็นทนายแต่เป็นผู้จัดการสำนักงานทนายความของพ่อ

เป็นเวลานานมาแล้วที่เกษมและสนองจะกินข้าวเช้าร่วมกันทุกเช้าวันพุธที่โรงแรมรีเจนท์ สนทนากันสารพัดเรื่อง โดยมีผู้ใหญ่และเพื่อนๆ มาร่วมวงด้วย เช่น พล.ต.อ.เภา สารสิน ชาญชัย ลี้ถาวร สุนทร อรุณานนท์ชัย เป็นต้น

สนองเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่ไม่น่าเป็นไปได้ขณะที่อายุ 64 ปี นั่นคือได้รับการถ่ายเลือดที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากโรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง

สนองได้ชื่อว่าเป็นนักกฎหมายธุรกิจแห่งยุคสมัย การสูญเสียเขาไปนับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของวงการกฎหมายไทย

สำหรับเกษมเอง ทุกเช้าวันพุธก็คงจะเงียบเหงาไปเป็นอันมากเพราะเขาได้สูญเสียเพื่อนรัก ผู้ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกันมาเกือบ 17 ปีไปเสียแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.