ซิงเกิ้ลมัม

โดย ศศิภัทรา ศิริวาโท
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ซิงเกิ้ลมัมเป็นคำภาษาอังกฤษ ที่บ้านเรานำมาใช้เป็นคำทับศัพท์และคำนี้เริ่มนำมาใช้อย่างแพร่หลายในบ้านเรา ซิงเกิ้ลมัมหมายถึงการที่ผู้หญิงต้องทำหน้าที่ของพ่อและแม่ และต้องดูแลรับผิดชอบลูก ไม่ว่าจะเป็นลูกเพียงแค่คนเดียว หรือหลายคนก็ตาม โดยที่ไม่มีผู้ชายคอยให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการเลี้ยงดูบุตร

ปัจจุบันผู้หญิงจำนวนมากในสังคม ต้องรับบทบาทเป็นทั้งพ่อและแม่ ให้กับลูก การเป็นซิงเกิ้ลมัมในสังคมบ้านเราจึงดูเหมือนว่าจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว และผู้หญิงหลายๆ คนก็สามารถทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกได้อย่างดีไม่มีที่ติ เช่นกรณีของจีน่า-จิดาภา ณ ลำเลียง ที่เป็น อดีตรองนางสาวไทยปี 2535 และเป็นนางแบบชื่อดัง ของเมืองไทย ได้ตั้งท้องกับเจ เจตริน สมัยที่เจไปเรียนต่อที่ประเทศอเมริกา แต่เจไม่ต้องการแต่งงานกับจีน่า แต่จะช่วยเหลือในเรื่องเงินค่าเลี้ยงดู ในที่สุด จีน่าก็เลยพาลูกสาว น้องเจด้าไปอยู่อเมริกา หรืออย่าง กรณีของแวร์ โซว์ ที่หลังจากเลิกกับอดีตแฟนแล้วมา รู้ตัวว่าตัวเองท้อง แต่ฝ่ายชายกลับไม่สนใจและไม่ยอมรับ ทำให้แวร์ โซว์ตัดสินใจที่จะเลี้ยงดูลูกสาวน้องคนดีด้วยตัวเอง

ถ้าเป็นกรณีของคนดังในฮอลลีวูด ก็เช่นกรณี ของ Bridget Moynahan นางแบบและนักแสดงชื่อดัง ซึ่งหลายๆ คนรู้จักเธอจากหนังเรื่อง Coyote Ugly และ I Robot และซีรีส์ฮิตของอเมริกาอย่าง Sex and the City เธอได้คบอยู่กับ Tom Brady ซึ่งเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล และเลิกรากันไปก่อน ที่เธอจะรู้ตัวว่าท้อง ทำให้เธอตัดสินใจเลี้ยงดูลูกชาย John Edward Thomas หรือน้องแจ็คเพียงลำพัง

การเป็นซิงเกิ้ลมัมคงไม่ได้เป็นอะไรที่ผู้หญิงใฝ่ฝันอยากจะเป็น แต่เมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากการหย่าร้างกับสามี หรือการที่ผู้ชาย ไม่ยอมรับลูกในท้อง ก็ทำให้ผู้หญิงจำเป็นต้องเป็นซิงเกิ้ลมัม และเลี้ยงลูกเองตามลำพัง

การที่ผู้หญิงจำเป็นจะต้องเลี้ยงดูลูกเพียงคนเดียวไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และปัญหาเรื่องการแบ่งเวลาระหว่างการทำงานและการดูแลลูก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะเมื่อผู้หญิงจำเป็นต้องเลี้ยงดูเอง นั่นก็หมายถึงผู้หญิงจะต้องทำงานให้หนักขึ้นเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น หรือสำหรับผู้ชายบางคนอาจจะช่วยเหลือค่าจ่ายในบางส่วน แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพออยู่ดี

สำหรับบ้านเรา ถ้ามีการหย่าร้างเกิดขึ้น ไม่มี กฎหมายหรือมาตรฐานใดๆ ที่บังคับให้ผู้ชายต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูลูกให้กับผู้หญิง โดยปกติแล้วทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันเองว่าใครจะเป็นผู้เลี้ยงดูลูก และถ้าผู้หญิงเป็นคนเลี้ยงดูลูก ผู้ชายจะให้เงินช่วยเหลือ หรือไม่ ผู้ชายบางคนก็ให้เงินช่วยเหลือ แต่ผู้ชายบางคนก็ไม่ได้ให้เงินผู้หญิงเลย ทำให้ผู้หญิงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพียงคนเดียว แต่ถ้าหาก ว่ามีการหย่าร้างเกิดขึ้นในชั้นศาล ผู้หญิงมักจะได้สิทธิ์เป็นคนดูแลลูก และผู้ชายจะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูลูกแต่ละเดือนให้ตามที่ศาลกำหนด

ในต่างประเทศ หากมีการหย่าร้างเกิดขึ้น กฎหมายบังคับให้ผู้ชายต้องส่งเสียค่าเลี้ยงดูลูกให้กับผู้หญิง และรัฐบาลก็มีนโยบายสำหรับช่วยเหลือ ผู้หญิงที่ต้องกลายเป็นซิงเกิ้ลมัมอีกด้วย

เช่นประเทศนิวซีแลนด์ มีนโยบายชื่อว่า Domestic Purposes Benefit (DPB) ซึ่งมีการประกาศใช้ครั้งแรกในปี 2517 นโยบายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เงินช่วยเหลือกับผู้หญิงที่ต้องเลี้ยงลูกเองคนเดียว ซึ่งจำแนกได้เป็น 2 กรณีด้วยกันคือ

1. มีการหย่าร้างกับสามี โดยผู้หญิงที่เป็นซิงเกิ้ลมัมสามารถขอเงินช่วยเหลือจาก DPB ได้ก็ต่อเมื่อ

1.1 ต้องไม่มีใครคอยให้ความช่วยเหลือในเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ

1.2 ผู้หญิงจะต้องไม่มีความสัมพันธ์กับผู้ชายคนไหนในเชิงชู้สาว และไม่ได้รับเงินช่วยเหลือใดๆ จากอดีตสามี

1.3 ผู้หญิงจะต้องเป็นผู้ปกครองของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

1.4 ผู้หญิงที่เป็นผู้ปกครองจะต้องมีอายุมาก กว่า 18 ปีขึ้นไป (เนื่องจากผู้หญิงกีวีจะสามารถแต่งงาน ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่ออายุ 18 ปีขึ้นไป)

2. การที่สามีเสียชีวิตลง DPB จะให้เงินช่วยเหลือซิงเกิ้ล มัมก็ต่อเมื่อ

2.1 มีการแต่งงานกันถูกต้องตามกฎหมาย และอยู่ด้วยกันมาอย่างน้อย 15 ปี และมีลูกด้วยกัน (ไม่ว่าจะเป็นลูกแท้ๆ หรือลูกติดมาจากสามี ก็ตาม)

2.2 ผู้หญิงเป็นผู้ปกครองของเด็กคนเดียว

ขั้นตอนการขอรับเงินช่วยเหลือนั้นไม่ยุ่งยากและซับซ้อน เพียงแค่กรอกแบบฟอร์มเและนำเอกสารไปยืนยันว่าคุณเป็นคนนิวซีแลนด์ และเลี้ยงดูลูกเพียงคนเดียว ด้วยการแจ้งเลขประจำตัว ผู้เสียภาษี หลักฐานค่าใช้จ่ายในแต่ละสัปดาห์ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร และต้องชี้แจงให้ DPB ทราบ ด้วยว่าตอนนี้ได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศหรือองค์กรต่างๆ หรือไม่ และเมื่อยื่นเอกสารครบแล้ว ทาง DPB จะพิจารณาภายในเวลา 20 วัน และจะเริ่ม ให้เงินช่วยเหลือกับซิงเกิ้ลมัมด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีของซิงเกิ้ลมัมในแต่ละสัปดาห์ โดยเงินช่วยเหลือ นี้ทาง DPB จะจ่ายให้ซิงเกิ้ลมัมแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่ง DPB จะพิจารณาจากสองเรื่องใหญ่คือ รายได้เฉลี่ยต่อปีของซิงเกิ้ลมัมและอายุของลูก

ถ้ารายได้เฉลี่ยต่อปีของซิงเกิ้ลมัมมากกว่า 9,360 เหรียญนิวซีแลนด์ (ประมาณ 218,836 บาท) จะได้รับเงินช่วยเหลือต่อสัปดาห์น้อย เพราะถือเป็น รายได้ที่สูงอยู่แล้ว ไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือมาก ดังนั้นทาง DPB จะจ่ายเงินให้ซิงเกิ้ลมัมประมาณ 278.04 เหรียญนิวซีแลนด์ (ประมาณ 6,500 บาท) ต่อสัปดาห์ แต่ถ้าหากว่าซิงเกิ้ลมัมมีรายได้น้อยกว่าหรือ กำลังตกงาน DPB ก็จะจ่ายเงินช่วยเหลือให้มากกว่า 278.04 เหรียญนิวซีแลนด์ สำหรับคนที่ตกงาน ทาง DPB ก็ยังจะคอยช่วยหางานและให้ความช่วยเหลือ ในด้านต่างๆ เพื่อให้ซิงเกิ้ลมัมได้มีงานทำ

สำหรับกรณีอายุของลูกนั้น ถ้าลูกมีอายุเยอะก็จะได้รับเงินมากกว่าลูกที่อายุน้อย ถ้าเด็กอายุระหว่าง 16-18 ปี ถือว่าเป็นเด็กที่มีอายุเยอะ และมีค่าใช้จ่ายเยอะ ดังนั้นทาง DPB จะจ่ายเงินช่วยเหลือให้เยอะที่สุด และลดจำนวนเงินลงมาเรื่อยๆ ตามอายุของเด็ก จนกระทั่ง เด็กอายุเกิน 18 ปี ทาง DPB ก็จะหยุดให้เงินช่วยเหลือทันที เพราะเด็กที่อายุเกิน 18 ปีในนิวซีแลนด์ถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว และสามารถหาเงินได้ด้วยตัวเอง

ดังนั้นซิงเกิ้ลมัมหนึ่งคนจะได้รับเงินช่วยเหลือจาก DPB สองส่วนด้วยกันคือ หนึ่งส่วนที่พิจารณาจากรายได้ เฉลี่ยและสองส่วนที่พิจารณาจากอายุของลูก ก็เท่ากับว่า ซิงเกิ้ลมัมจะมีเงินเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละอาทิตย์

เช่น ซิงเกิ้ลมัมมีรายได้มากกว่า 9,360 เหรียญนิวซีแลนด์ และมีลูกสองคน คนแรกอายุ 16 ปี และคนที่สองอายุ 12 ปี ดังนั้นทาง DPB ก็จ่ายเงินให้ 278.04 เหรียญนิวซีแลนด์ บวกกับเงินที่ได้รับจากอายุของลูก ในกรณีนี้มีลูกสองคนก็จะได้เงินช่วยเหลือสำหรับลูกคนแรก ที่อายุ 16 ปี ประมาณ 99.96 เหรียญนิวซีแลนด์ต่อสัปดาห์ (ประมาณ 2,337 บาท) และคนที่สองอายุ 12 ปี ก็จะได้ประมาณ 59.98 เหรียญนิวซีแลนด์ (ประมาณ 1,402 บาท) เท่ากับว่าในหนึ่งสัปดาห์ซิงเกิ้ลมัมคนนี้จะได้เงินช่วยเหลือประมาณ 437.98 เหรียญนิวซีแลนด์ (ประมาณ 10,239 บาท)

นอกจากนี้ DPB ไม่ได้ ให้เงินช่วยเหลือเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่ผู้ชายก็สามารถขอ รับเงินช่วยเหลือได้เช่นกัน ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากการหย่าร้าง หรือภรรยาเสียชีวิต ผู้ชายที่ทำเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่ไม่มีงานทำ ทำให้มีจำนวนผู้ชายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่ทำเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือจาก DPB เพราะโดยปกติ แล้วผู้ชายกีวีจะมีงานประจำทำและมีรายได้โดยเฉลี่ยมากกว่าผู้หญิงอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ชายส่วนใหญ่จึงไม่ได้ เดือดร้อนหรือลำบากเหมือนกับผู้หญิง ถ้าจะต้องเลี้ยงดูลูกเอง1

ปัจจุบันอัตราการหย่าร้างของคนกีวีจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จากเมื่อปี 2545 อัตราการหย่าร้างของคนกีวีอยู่ที่ 12.8 ต่อ 1,000 ครอบครัว และลดเหลือ 10.2 เมื่อปีแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้ม ที่ดีที่จำนวนของซิงเกิ้ลมัมจะมีน้อยลงในสังคม แต่รัฐบาลนิวซีแลนด์ก็ยังคงให้เงินช่วยเหลือซิงเกิ้ลมัมและยังไม่มีความคิดที่จะยกเลิกนโยบายนี้2

เดือนที่แล้วผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับผู้หญิง กีวีคนหนึ่งที่เป็นซิงเกิ้ลมัมและเลี้ยงดูลูกอีกสี่คน เธอหย่าขาดกับสามีหลังจากที่ลูกคนเล็กเพิ่งคลอดได้ 3 เดือน ตอนนั้นลูกคนโตอายุ 9 ปี คนที่สองอายุ 7 ปี และคนที่สามอายุ 2 ขวบ ตามกฎหมายแล้ว เมื่อมีการหย่าร้างเกิดขึ้น สามีจะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูลูกให้กับเธอในแต่ละสัปดาห์ แต่เธอไม่เคยได้รับเงินจากอดีตสามีของเธอเลยเป็นเวลามากกว่า 5 ปีแล้วที่เธอต้องเลี้ยงดูลูกๆ ทั้งสี่คนตามลำพัง

เธอเล่าว่าต้องทำงานหนักเพื่อที่จะหาเงินมาเลี้ยงดูลูกๆ ทั้งสี่คน เธอมีระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัด ในการทำงาน เพราะไม่มีคนคอยช่วยดูแลลูกๆ ของเธอ ทำให้เธอสามารถทำงานได้เฉพาะเวลาที่ลูกของเธอไปโรงเรียนเท่านั้น ทำให้มีรายได้ค่อนข้างน้อย เพราะที่นิวซีแลนด์จะจ่ายเงินค่าจ้างให้ตาม ชั่วโมงที่ทำงาน ดังนั้นในบางเดือนเธอก็มีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย จึงต้องใช้จ่ายอย่างรอบคอบและมีความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก

เธอไม่เคยรู้เรื่องนโยบาย DPB มาก่อนจนกระทั่งได้คุยกับเพื่อนที่เป็นซิงเกิ้ลมัมเหมือนกันและแนะนำให้เธอขอเงินช่วยเหลือจาก DPB เมื่อต้นเดือน สิงหาคมที่ผ่านมา เธอได้รับจดหมายจาก DPB ว่าเอกสารของเธอได้ผ่านการพิจารณาและจะได้รับเงิน ช่วยเหลือในแต่ละสัปดาห์

เธอบอกว่าเงินช่วยเหลือนี้เหมือนกับเงินที่มา ต่อชีวิต ทำให้มีเงินเพิ่มมากขึ้นในการใช้จ่าย มีเงินที่จะซ่อมบ้านและซ่อมรถของเธอที่ควรจะถูกซ่อมมานานแล้ว ดังนั้นเงินช่วยเหลือจาก DPB ทำให้ชีวิต ความเป็นอยู่ของเธอและลูกๆ ดีขึ้นอย่างชัดเจน

นอกจากปัญหาเรื่องรายได้ที่ไม่เพียงพอแล้ว ซิงเกิ้ล มัมยังมีปัญหาเรื่องการจัดการกับปัญหาต่างๆ เช่นการแบ่งเวลาทำงาน และเวลาดูแลลูก ในนิวซีแลนด์มีการรวมกลุ่มของคนที่เป็นซิงเกิ้ลมัม และมีการนัดเจอกันในแต่ละสัปดาห์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้คำแนะนำกับคนที่เป็นซิงเกิ้ลมัม มือใหม่ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นตลอดทั้งปี เพื่อให้ซิงเกิ้ลมัมมีโอกาสทำ ความรู้จักกัน และสามารถพาลูกๆ มาทำกิจกรรมด้วยกัน เช่น Auckland Single Parent’s Trust ที่จัดตั้งขึ้นสำหรับซิงเกิ้ลมัมที่อาศัยอยู่ที่เมืองโอ๊กแลนด์ (สามารถเข้าไปดูข้อมูลและกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มนี้ได้ที่ http://singleparents.org.nz)

ตอนนี้มีหนังสือ เว็บไซต์ เฟสบุ๊กและบล็อกต่างๆ ที่มีการตีพิมพ์ออกมาและถูกเปิดขึ้นเพื่อแบ่งปันหรือเล่าประสบการณ์ต่างๆ และให้คำแนะนำกับคนที่เป็นซิงเกิ้ลมัมเกี่ยวกับการจัดการกับปัญหาต่างๆ รวมไปถึง วิธีการขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น หนังสือ My Single Mom Life, The Truth about Grants for Single Mothers เว็บไซต์ Ms.Single Mama (http://mssinglemama.com) และ Rich Single Momma (http://richsinglemomma.com/wenlog) ซึ่งเว็บไซต์และหนังสือเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นแหล่งข้อมูลอย่างดีของคนที่เพิ่งเริ่มจะเป็นซิงเกิ้ลมัม

ในอนาคตผู้เขียนหวังว่าจะมีหนังสือและเว็บไซต์ต่างๆ เหล่านี้ในเมืองไทยมากขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือซิงเกิ้ลมัมที่มีจำนวนไม่น้อยในบ้านเรา และผู้เขียนยังหวังว่ารัฐบาลไทยน่าจะมีนโยบายช่วยเหลือ ในเรื่องของค่าใช้จ่ายเหมือนอย่างที่รัฐบาลนิวซีแลนด์ มีนโยบาย DPB


ข้อมูลอ้างอิง
1 Work and Income, (2010) Domestic Purposes Benefits-Sole Parent, http://www.workandincome.govt.nz/individuals/a-z-benefits/domestic-purposes-benefit-sole-parent.html
2 Statistics New Zealand, (2009) Demographic Trends: 2009-Marriage, civil union and divorce, http://www.stats.govt.nz/browse_for_stats/population/estimates_and_projections/demographic-trends-2009.aspx


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.