|
Canterbury Quake ความทุกข์ท้อใดๆ ก็แพ้ใจของคน
โดย
ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบฟังเพลงที่เกี่ยวกับชีวิตในคอนเซ็ปต์ของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะของวงบอดี้แสลม กับวงบิ๊กแอสของไทยเพราะมักจะมีเพลงที่มีความหมายดีๆ ให้ฟังกันเสมอ เพลงหนึ่งที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษคือเพลงหัวใจ ของบิ๊กแอสในอัลบั้มล่าสุด ที่มีช่วงจบที่ว่า "เราไม่ได้เกิดมาเพื่อยอมจำนน วันนี้ มันจะเป็นยังไงต้องไม่ยอมแพ้" แม้เพลงจะดีอย่างไร ก็ตามเราก็จะพบว่าคนเราในสังคมหลายต่อหลายครั้งออกมายอมแพ้ต่อโชคชะตาของตนเอง แต่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมทึ่งกับชาว นิวซีแลนด์คือการมองโลกในแง่ดีและความไม่ยอมแพ้ของคน
เนื่องจากเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประเทศนิวซีแลนด์ประสบภัยธรรมชาติถึงสามอย่างในเดือนเดียวกัน เริ่มจากเช้ามืดของวันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2553 ขณะที่ประชาชนในนครไครส์เชิร์ช เมืองใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศนิวซีแลนด์ กำลังหลับสบาย พวกเขาต่างโดนปลุกด้วยแรงสั่นสะเทือนถึง 7.1 ริกเตอร์จากความลึกเพียงสิบกิโลเมตร ซึ่งมีความแรงไม่น้อยกว่าแผ่นดินไหวที่แอลเอ หรือโกเบ เมื่อสิบห้าปีก่อน และแรงกว่าที่ประเทศเฮติในปีนี้ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก สัปดาห์ต่อมาพายุหิมะถล่มเมืองอินเวอร์คาร์กิล ทำให้บ้านเรือนเสียหายไปหลายหลังรวมถึงหลังคาของสนามกีฬาพังลงมาก่อน ตบท้ายด้วยพายุพัดกระหน่ำในสัปดาห์ที่สามที่ปาล์ม เมอสตันนอร์ททำให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม และสร้างความเสียหายให้กับทางรถไฟ
ถ้าเกิดภัยธรรมชาติสามอย่างในเวลาสั้นๆ ผมเชื่อว่าขวัญและกำลังใจของคนในประเทศนั้นๆ น่าจะตกอยู่ในขั้นย่ำแย่ รัฐบาลคงเข้าขั้นวิกฤติเพราะสื่อมวลชนคงตำหนิการทำงานแม้จะพยายามมากแค่ไหนก็ตาม เพราะสื่อมวลชนชอบเล่นข่าวในแง่ลบ นั่นคือสิ่งที่คนต้องการอ่านเรื่องความผิดพลาดของรัฐบาล หน่วยงานราชการ
เหตุการณ์แรกคือแผ่นดินไหวในไครส์เชิร์ช ซึ่งเป็นข่าวไปทั่วโลกเพราะนอกจากแรงสั่นสะเทือนที่สูงแล้วยังเกิดขึ้นในเมืองใหญ่อันดับที่สองของประเทศนิวซีแลนด์ ตึกหลายแห่งเกิดรอยร้าว บางตึกรุนแรงถึงขั้นถล่มลงมา รวมทั้งการที่แผ่นดินแยก ข่าวดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้ผู้ปกครองชาวไทยจำนวนไม่น้อยที่มีบุตรธิดาเรียนอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ โดยมากแล้วถ้าผู้ปกครองไม่สามารถติดต่อกับนักเรียนได้ก็จะให้เอเย่นต์เป็นผู้หาข้อมูลให้เหตุผลที่ติดต่อไม่ได้ในขั้นแรก มาจากการที่โทรศัพท์เป็นอัมพาตไปทั้งหมด สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ปกครองส่วนหนึ่งตัดสินใจเรียกบุตรธิดาของตนให้กลับไปเมืองไทยในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว
ที่น่าสนใจคือไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ ดังกล่าวทั้งๆ ที่ถ้าเกิดที่ประเทศอื่นๆ อาจจะมี คนตายเป็นพันหรือเป็นหมื่นคนอย่างที่เกิดขึ้นที่โอซากาในประเทศญี่ปุ่น หรือที่ประเทศเฮติ อิหร่าน หรือจีน ผู้ประสบอุบัติเหตุในขั้นสาหัสจากเหตุการณ์ ทั้งหมดมีสองคนและบาดเจ็บเล็กน้อยจำนวนหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างความสนใจให้สื่อมวลชนจำนวนมาก
สิ่งแรกที่เราเห็นได้ชัดคือความสำเร็จของการวางผังเมืองของนิวซีแลนด์ เนื่องจากว่าอาคารที่เสียหายโดยมากจะเป็นอาคารเก่าที่สร้างมากว่าร้อยปีแล้ว ขณะที่บ้านซึ่งสร้างในช่วงที่มีการก่อสร้าง ใหม่ตามมาตรฐานของเทศบาลจะได้รับผลกระทบน้อยมาก
สิ่งที่สองคือชัยชนะในการแก้ปัญหา ของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และเทศบาล เนื่องจากเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากแผ่นดินไหว บรรดารัฐมนตรี และ ส.ส.ของทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างลงพื้นที่กันอย่างเต็มที่ โดยรัฐมนตรีแทบทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่างสับเปลี่ยน กันลงมาดูสถานการณ์และควบคุมการแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ ได้ลงมาคุมการกู้ภัยอย่างใกล้ชิดตั้งแต่วันที่แผ่นดินไหว
แต่สิ่งที่สามคือสิ่งที่เหนือกว่าทุกอย่างคือชัยชนะของจิตใจชาวไครส์เชิร์ช แม้ภัยธรรมชาติจะรุนแรงขนาด Aftershock ยังตามมาถึงพันครั้งในเวลาเกือบหนึ่งเดือนหลังจากนั้น ในวันที่แผ่นดินไหว ท่ามกลางถนนที่แยกจากกัน ชาวไครส์เชิร์ชจำนวนมากได้ออกมาช่วยกันทำความสะอาดบ้านเมืองและช่วยเพื่อนบ้านแม้ว่าจะยังไม่มีทั้งน้ำหรือไฟฟ้า
ตอนบ่ายวันนั้นหลายคู่ที่มีงานแต่งงาน ต่างเดินหน้าแต่งงานกันต่อไป โบสถ์หลายแห่งที่เกิดรอยร้าวหรือไม่สามารถประกอบศาสนกิจได้ก็จะจัดงานแต่งงานกันในสนามหญ้าหรือลานหน้าโบสถ์กัน บรรดาแขกเหรื่อถ้าสามารถเดินทางมาได้ก็จะมาร่วมงานกันเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้เกิดภาพที่น่าประทับใจว่าชีวิตคนเราสามารถก้าวเดินต่อไปได้ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นก็ตาม คู่บ่าวสาวคู่หนึ่งถึงกับประกาศต่อหน้าสื่อมวลชนที่มาทำข่าวด้วยความทึ่งในกำลังใจของพวกเขาว่า วันที่เรารักกันทำให้โลกเคลื่อนไหวได้ ทำให้เห็นแนวคิดเชิงบวกของพวกเขา
เช้าวันรุ่งขึ้นคือวันอาทิตย์ประชาชนจำนวนมากเดินทางไปโบสถ์ ไม่ใช่เพื่อไปคร่ำครวญหรือร้องไห้ในชะตาชีวิต พวกเขาไปร้องเพลงขอบคุณพระเจ้ากันอย่างเนืองแน่น โบสถ์หลายแห่งรวมทั้ง ไครส์เชิร์ช คาทรีดอล ไม่สามารถจัดพิธีในโบสถ์ได้ ก็ถือเอาจัตุรัสกลางเมืองมาจัดพิธีกัน คนที่มาร่วมมีมากถึงขนาดต้องมายืนทำพิธีกัน คนที่มาโบสถ์ต่าง พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามาเพื่อขอบคุณพระเจ้า ที่ตนเอง ครอบครัว คนรอบข้างยังปลอดภัยอยู่ สิ่งที่เห็นนี้ไม่ได้แปลว่าคนนิวซีแลนด์ไม่เตรียมพร้อม แต่ปรากฏว่าพวกเขาไม่ทุกข์ใจเพราะพวกเขานอกจากจะมองโลกในแง่ดีแล้วยังมีความเตรียมพร้อมในสถานการณ์ดังกล่าวด้วยการซื้อประกันวินาศภัยและภัยธรรมชาติกันเกือบทั้งหมด
เมื่อหันมามองธุรกิจประกันในไทยแล้วทำให้ผมเห็นข้อแตกต่างชนิดหนึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ประกันในไทยนั้นโดยมากเรายังขายด้วยวิธีการที่ให้เอเย่นต์ออกไปหาผู้มุ่งหวังด้วยตนเองและต้องพยายามที่จะอธิบายถึงข้อดีและข้อเสียในการทำประกัน ทำให้ผมเองลึกๆ แล้วมีความเห็นอกเห็นใจและอยากสนับสนุนตัวแทนประกันในไทยเป็นพิเศษ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ตัวแทนประกันเหมือนเสือนอนกิน
การขายประกันในต่างประเทศทั้งอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา นิวซีแลนด์ กระทำได้ง่ายๆ ด้วยการโทรไปหาผู้มุ่งหวัง โฆษณาบริษัทในสมุดหน้าเหลือง หรือหนังสือพิมพ์ เท่านี้ก็จะมีผู้มุ่งหวังติดต่อมาเอง ผมไม่ได้บอกว่าการขายประกันง่าย แต่ในต่างประเทศนั้นตัวแทนจะไปหาแค่บริษัทใหญ่ๆเพื่อหวังเคสต์ใหญ่ๆเท่านั้น เพราะฝรั่งต่างเห็นความสำคัญของการทำประกันด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะประกันรถยนต์ ประกันชีวิต ประกันภัยธรรมชาติ ประกันวินาศภัย ประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุ แม้ว่าประเทศ ของเขาจะมีประกันสังคมให้แล้วก็ตาม ดังนั้นเมื่อมีภัยพิบัติมา พวกเขาต่างก็พร้อมที่จะมองโลกในแง่ดีและยิ้มได้เมื่อภัยมาอย่างแท้จริง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิวซีแลนด์หลังจากนั้นไม่ว่าจะพายุหิมะ หรือพายุเข้าเกาะเหนือ แม้ว่าข่าว ที่ออกไปทั่วโลกจะสร้างความตื่นตกใจให้ผู้ปกครองจำนวนมากที่มีบุตรธิดาเรียนในนิวซีแลนด์ แต่ในนิวซีแลนด์กลับมองกันว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหว นักธุรกิจต่างก็เชื่อว่ารัฐบาลต้องทุ่มงบถึง 4 พันล้านดอลลาร์ หรือแสนล้านบาทในการบูรณะเมือง ย่อมทำให้เกิดเงินสะพัดในประเทศ บรรดาอาคารบ้านเรือนเก่าๆ หลายแห่งที่พังลงมาก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ประกันจะต้องสร้างเมืองให้ใหม่ทั้งใหม่กว่าเดิมและสวยกว่าเดิม
คนทั่วไปต่างมองว่า แผ่นดินไหวไม่ได้โชคร้าย แต่ตนโชคดีที่ไม่มีใครบาดเจ็บล้มตาย หรือแม้แต่บรรดาฝ่ายผังเมืองต่างมองว่า เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิ ใจว่ามาตรฐานการก่อสร้าง ผังเมือง และคุณภาพของบ้านในนิวซีแลนด์อยู่ในระดับที่สูงมากเพราะว่ามีความเสียหายไม่มากในทรัพย์สิน และไม่มีความเสียหายในชีวิตแต่อย่างใด
บรรดาบริษัทโทรศัพท์ต่างภูมิใจในระบบโทรคมนาคมของตนเองเพราะระบบสำรองสามารถเข้ามาแทนที่ระบบจริงที่เสียหายได้มากกว่า 80% และสามารถกู้ระบบได้ภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนการไฟฟ้าสามารถกู้ระบบและสายไฟได้กว่า 90% ในระยะเวลาเพียงสิบชั่วโมง การประปาสามารถกู้ระบบ ทั้งหมดได้ในเวลาเพียงสองวัน เรียกว่าใน 48 ชั่วโมงนอกจากถนนที่แยกและตึกที่ปรักหักพังแล้ว ทุกอย่างแทบจะกลับไปสู่สภาวะปกติ
ภัตตาคารก็ประกอบธุรกิจไป บาร์ก็เปิดต่อไป โบสถ์ก็ปรับตัวได้ ชีวิตคนเราย่อมสามารถเดินต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด
ผมหันมามองสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้พบความจริงว่าจากเหตุภัยธรรมชาติในนิวซีแลนด์ นั้นไม่ได้แปลว่าฝรั่งเขาเก่งหรือดีกว่าคนชาติอื่น แต่นั่นมาจากองค์ประกอบเพียงสามอย่าง
หนึ่งคือการเตรียมพร้อมต่อเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เรียกว่าล้อมคอกก่อนวัวหาย ไม่ใช่วัวหายแล้ว ถึงจะล้อมคอก
สองคือความสามารถในการจัดระดับความสำคัญของปัญหา และการเตรียมพร้อมในการแก้ปัญหา ทำให้มีความรวดเร็วในการแก้ปัญหาอย่างมีระบบของรัฐบาล แน่นอนครับ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวบรรดามิจฉาชีพ ต่างเข้าไปขโมยของในร้านค้าหรือบ้านที่เสียหาย ปรากฏว่าบรรดาร้านค้าต่างติดกล้องวงจรปิดไว้ทำให้มีภาพคนร้ายประกอบกับการที่ตำรวจออกปฏิบัติการทันทีทำให้สามารถจับคนร้ายมาลงโทษได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้การกู้ภัยได้ทำอย่างมีระเบียบรวมทั้งการเตือนและการจัดอันดับความปลอดภัยของบ้านเรือน รวมทั้งความร่วมมือของนักการเมืองไม่แบ่งสีแบ่งฝ่าย ในการอนุมัติงบประมาณและแผนการกู้ภัยอย่างรวดเร็ว
และสิ่งสุดท้ายคือการมองโลกในแง่ดี ไม่โทษผู้อื่นแต่ขอบคุณผู้อื่นที่มาช่วยเหลือตนเอง ขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้ตนเองยังปลอดภัย
เมื่อมององค์ประกอบทั้งสามแล้วเราจะพบว่าปัญหาในหลายประเทศเป็นเพราะคนเรานั้นชอบมองความผิดของผู้อื่น ชอบกล่าวโทษผู้อื่น โดยเหยื่อส่วนมากต่างเป็นรัฐบาลของตนเอง ทั้งๆ ที่รัฐบาลนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่เหลือเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องเตรียมพร้อมไว้เสมอ และการที่มีจิตใจที่เข้มแข็ง การมองโลกในแง่ดี ย่อมทำให้ปัญหาทุกอย่างคลี่คลายไปในทางที่ดีและเป็นไปได้อย่างรวดเร็วเพราะเมื่อเราคิดดีแล้วเราย่อมทำความดี นั่นทำให้เรามีน้ำใจทั้งต่อตนเองและต่อสังคม
อย่างที่เห็นว่าชาวนิวซีแลนด์ต่างช่วยกันออกมาทำความสะอาดบ้านตนเอง ทั้งถนนหนทาง รวมถึงการมีน้ำใจต่อเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดความสามัคคีในสังคม ทำให้ผมนึกถึงเพลงเพลงหนึ่งที่มีคำร้องว่า แค่คิดดีทำดีก็พอ ผมเชื่อว่าเป็นความจริง ที่สุด บทเรียนจากภัยธรรมชาติในนิวซีแลนด์นั้น ไม่ได้ทำให้ประชาชนเสียขวัญ ไม่ได้ทำให้บ้านเมืองหยุดชะงัก ไม่ได้ทำให้คนมีความทุกข์ เพราะว่าคนเราเมื่อคิดดี แล้วจิตใจเราก็จะดีและเมื่อเราทำดี เราจะไม่มาเพ่งโทษว่ารัฐบาลได้ทำอะไรให้เขาบ้าง แต่พวกเขาจะทำคุณประโยชน์และความเจริญให้ประเทศชาติอย่างอัตโนมัติ
ผมเชื่อว่าถ้าเราสามารถปลูกฝังความคิดที่ดี การมองโลกในแง่ดีต่อตัวเราเองได้ เมื่อคนทุกคนคิดได้ดี ความทุกข์อะไรก็ตามย่อมแพ้ต่อหัวใจของคนเรา เพราะว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ ดังนั้น ขอแค่เราคิดดี ทำดี ก็เพียงพอแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|