|
The Tea Party ฤาจะถึงทางตันของการเมืองสหรัฐฯ
โดย
มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
Tea Party ในที่นี้มิได้หมายถึงงานเลี้ยงน้ำชา หรือพรรคชา แต่อย่างใด หากแต่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ไม่พอใจกับการทำงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งมีแกนนำเป็นกลุ่มนักอนุรักษนิยมสุดโต่ง
ดูเหมือนคนกลุ่มนี้จะมุ่งวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลบารัค โอบามาเป็นหลัก จนลืมไป ว่าปัญหาส่วนใหญ่ที่ปะทุขึ้นในวันนี้สืบเนื่องมาจากนโยบายและการทำงานของรัฐบาลบุชที่อยู่ในตำแหน่ง ถึง 2 สมัย รวม 8 ปี ของการเร่งทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถึงจุดวิกฤติ ซึ่งปัญหาทั้งหมดเกิดจากการกำหนดและดำเนินนโนบายที่ผิดพลาดจากรัฐบาลทั้งสองฝ่ายที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน และที่สำคัญมาจากความโลภของภาคธุรกิจที่ในปัจจุบันมีอำนาจเหนือรัฐบาล
Noam Chomsky ศาสตราจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาศาสตร์ และนักวิพากษ์วิจารณ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งสถาบัน MIT ได้กล่าวถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ ว่า ในชีวิต นี้เขาไม่เคยประสบเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน "ระดับของความโกรธ ความกลัว และความหมดหวังท้อแท้ ในประเทศที่แสดงออกมาในการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ที่ผ่านมา" ทำให้เดโมแครตสูญเสียที่นั่ง ในสภาสูง ตกเป็นรองรีพับลิกัน ทั้งๆ ที่เดโมแครต เป็นผู้นำรัฐบาลอยู่ รวมทั้งตำแหน่งผู้ว่าการรัฐถึง 10 รัฐที่ตกเป็นของฝ่ายรีพับลิกัน
Chomsky กล่าวไว้ในบทความของเขาว่า จากโพลของสถาบัน Rasmussen ที่ทำการสำรวจเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพบว่า อเมริกันกระแสหลักกว่าครึ่งหมดความเชื่อถือในรัฐบาล ซึ่งเป็นความคับข้องใจของประชาชนที่สั่งสมมานานและรอวันปะทุ สาเหตุหลักๆ มาจากรายได้ของประชากร ที่ซบเซาหรือถึงขั้นลดน้อยลง ในขณะที่ต้องทำงานและเป็นหนี้มากขึ้นเพื่อความอยู่รอด อันเป็นปัญหาที่สั่งสมมานานกว่า 30 ปี ความมั่งคั่งตกอยู่ในกระเป๋า ของคนบางกลุ่มเท่านั้น นำมาสู่ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
ผลลัพธ์เหล่านี้สืบเนื่องมาจากการขยายอำนาจของภาคการเงินที่มีมาตั้งแต่ช่วงยุค 70 ประกอบกับ การไหลออกของการ ผลิตภายในประเทศ หรือการ outsourcing และมาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบอันเอื้อประโยชน์ต่อสถาบันการเงิน ทั้งยังมีนักเศรษฐศาสตร์บาง คนที่วิเคราะห์สนับสนุน การเติบของเศรษฐกิจที่ล้วนเป็นการสร้างภาพ มายาทั้งสิ้น จนกระทั่งวันนี้ผู้คนเริ่มหูตาสว่างรับรู้ความเป็นจริงว่า บรรดานายธนาคาร นักการเงินทั้งหลายที่มีส่วนทำให้เศรษฐกิจอเมริกาล่มจม กลับรอดพ้นจากการล้มละลาย ในทางตรงข้ามได้รับโบนัสก้อนงามเป็นการตอบแทนที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เห็นได้จากตัวเลขการว่างงานเกือบ 10% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1948 ส่วนในภาคอุตสาหกรรมถึงขั้นตกต่ำขีดสุด เรียกว่าทุกๆ 6 คนมีคนว่างงาน 1 คน เท่ากับประมาณ 17% สูญเสียงานที่เคยทำและคงจะไม่ได้กลับคืนมาอีก เนื่องจากการ outsourcing ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง สินค้า Made in USA กลายเป็นของหายากไปแล้ว แบรนด์ เนมและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นของอเมริกา แต่หากดูป้ายรายละเอียดบอกสถานที่จะพบว่า Made in China เกือบทั้งสิ้น การจะหาสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ Made in USA ในปัจจุบันแทบจะต้องพลิกแผ่นดินหากันเลยทีเดียว
Chomsky กล่าวอีกว่า ผู้คนมีสิทธิที่จะค้นหา คำตอบ และคำตอบที่พวกเขาได้ยินส่วนใหญ่มาจากเสียงของคนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันในนามของ Tea Party ที่บอกกล่าวเรื่องราวที่มีความสัมพันธ์กันจนทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ซึ่ง Chomsky ให้ความเห็นว่า ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่เป็นจริงทั้งสิ้น แต่ผู้คนมีความอ่อนไหวเชื่อเรื่องราวหลอกลวงที่คนกลุ่มนี้เสแสร้งปั้นแต่งขึ้น นอกจากนี้ Chomsky ยังกล่าวอีกว่า "Tea Party คือ สัญญาณแห่งการล่มสลายของกลุ่มเสรีนิยม"
พฤติกรรมของคนในกลุ่มนี้เรียกว่าเป็นแบบฟาสซิสต์ และมีกลยุทธ์ที่แยบยลในการขโมยความคิดเสรีนิยมมาใช้ในกลุ่มอนุรักษนิยมขวาจัด เป็นกลุ่ม ที่พยายามเข้าถึงผู้คนที่กำลังถูกพายุทางเศรษฐกิจกระหน่ำล้มไม่เป็นท่า ให้เข้ามาเป็นฐานเสียง เพื่อการเลือกตั้งในอนาคต แต่กระนั้นการจัดรูปแบบในการเคลื่อนไหวยังคงกระจัดกระจาย ไม่มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เนื่องจาก Tea Party ในแต่ละพื้นที่ยังคงเป็นอิสระต่อกัน ขึ้นอยู่กับผู้นำในพื้นที่นั้นๆ ว่าจะชูประเด็นเรื่องใดขึ้นมาเพื่อสร้างกระแสปลุกระดม
"ผมมีอายุมากพอที่เคยได้ยินสุนทรพจน์ปลุกระดมของฮิตเลอร์ในวิทยุ... ผมจำได้ถึงเสียงเชียร์ของผู้คน ยิ่งไปกว่านั้น ผมมีความสัมผัสที่น่ากลัวของเมฆดำของระบบฟาสซิสต์ที่กำลังรวมตัวกัน" ที่นี่ในสหรัฐฯ Chomsky เล่าถึงความทรงจำครั้งยังเยาว์ ขณะปาฐกถาที่เมือง Madison รัฐ Wisconsin เมื่อต้นปี 2010 ที่ผ่านมา
ยิ่งกว่านั้น Chomsky คิดว่าการที่คนหลาย คนมองว่ากลุ่มการเคลื่อนไหวของ Tea Party เป็นเรื่องไร้สาระนั้น ถือเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ เขาคิดว่าเป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจเบื้องหลังของการโกหกพกลมของกระบวน การ Tea Party ที่กำลังเกิดขึ้นและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ต้องตั้งคำถามว่า เหตุใดผู้คนที่เกิดความโกรธเกลียดรัฐบาลจากพิษเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น กำลังถูกชักนำชักจูงโดยกลุ่มอนุรักษนิยมสุดขั้ว แทนที่จะเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวในเชิงสร้างสรรค์ ดังเช่น กลุ่ม CIO (Congress of Industrial Organizations) ที่เกิดขึ้นในช่วง The Great Depression เมื่อกว่า 70 ปีก่อน ที่นำกลุ่มสหภาพแรงงานนั่งประท้วงหน้า โรงงานหลายแห่งจนประสบความสำเร็จ ในขณะที่ตอนนี้ผู้ที่ฝักใฝ่ในกลุ่ม Tea Party ได้ยินแต่ข้อมูลที่ว่า ทุกสถาบัน ทุกรัฐบาล ทุกองค์กรและทุกอาชีพ ล้วนเสื่อมไร้ซึ่งประสิทธิภาพ
ท่ามกลางภาวะไร้งานและการสูญเสียบ้านจากการถูกยึดทรัพย์ หลุดจำนอง แม้ว่าหลายคนจะ กล่าวหาว่าสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน และพลพรรครีพับลิกันเป็นตัวการกระตุ้นให้เศรษฐกิจ ถึงจุดต่ำสุด แต่ฝ่ายเดโมแครตเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายที่นำไปสู่ความหายนะ โดยเริ่มจากรัฐบาลจิมมี คาร์เตอร์ และได้รับการเร่งเครื่องในสมัยบิล คลินตัน
แม้กระทั่งสมัยเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดที่ผ่านมา กลุ่มสถาบันการเงินเป็นหนึ่งสถาบัน หลักที่สนับสนุนบารัค โอบามาให้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และรัฐบาลโอบามาช่วยเหลือสถาบันการเงินบางแห่งให้รอดพ้นจากการล้มละลายเป็นการตอบแทน ต่อมาเมื่อรัฐบาลโอบามาเริ่มจะเข้าแทรกแซงกลุ่มสถาบันการเงิน ผลลัพธ์ที่เห็นคือ การเปลี่ยนขั้วสนับสนุนของสถาบันการเงินไปสู่พรรคตรงข้าม
Chomsky ยกตัวอย่างจากข้อสังเกตของนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมเสรีอย่าง Adam Smith ในสมัยศตวรรษที่ 18 ว่า ในยุคนั้นพ่อค้าและผู้ผลิตเป็นเจ้าของสังคม ซึ่งผู้มีอำนาจกลุ่มนี้ทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่านโยบายของรัฐบาลเอื้อประโยชน์ต่อพวกเขามากที่สุด อย่างไรก็ตาม นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่แสนสาหัสต่อประชาชนชาวอังกฤษ และที่แย่ที่สุดคือ รวมไปถึงชาวยุโรปที่ต้องกลายเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นด้วย
นอกจากนั้น Chomsky ยังกล่าวถึง Thomas Ferguson นักเศรษฐศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ที่เขียนไว้ในหนังสือ ทฤษฎีการลงทุนทางการเมือง ว่า "การเลือกตั้งเป็นการสร้างโอกาสให้กลุ่มนักลงทุนรวมตัวกันเพื่อควบคุมรัฐ ด้วยการเลือกผู้กำหนดนโยบายที่จะเอื้อผลประโยชน์ต่อกลุ่มทุนของตน" ซึ่ง Chomsky กล่าวว่า ทฤษฤีของ Ferguson ได้ทำนาย อนาคตของการกำหนดนโยบายรัฐได้เป็นอย่างดี โดยในกรณีของสหรัฐฯ ถือว่าพลวัตระหว่างภาคธุรกิจ และภาครัฐมีความรุนแรงมาก
กระนั้นก็ตาม เหล่าผู้บริหารของภาคธุรกิจทั้งหลายมีข้อแก้ต่างต่อความละโมบโลภมากของตนเองด้วยการอ้างว่า งานของพวกเขาคือ การสร้าง กำไรและส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงสุด ซึ่งเป็นพันธกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากไม่สามารถทำได้ตามงานที่ได้รับมอบหมาย ก็จะถูกเปลี่ยนตัวให้ผู้ที่สามารถทำได้เข้ามาทำแทน โดยไม่คำนึงถึงต่อผลกระทบจากกระบวนการปฏิบัติการที่ส่งผลร้ายต่อประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวม
เมื่อฟองสบู่แตก บรรดาผู้ชอบความเสี่ยงเหล่านี้กลับถูกปกป้องจากรัฐบาลด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ อันทำให้ภาคธุรกิจที่ชอบความเสี่ยงยังคงประกอบธุรกรรมที่ยังคงความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากไม่ต้องกังวลกับการล้มละลาย เนื่อง จากรัฐบาลพร้อมที่จะอุ้มด้วยการใช้เงินภาษีของประชาชนอยู่ตลอด
Chomsky ตอกย้ำความหายนะที่กำลังมาเยือนสหรัฐฯ ด้วยการยกตัวอย่างข้อความของ Peter Boone และ Simon Johnson ที่เขียนไว้ใน Financial Time เมื่อเดือนมกราคม 2010 ที่ผ่านมาว่า "มีการกล่าวกันมากขึ้นว่าระบบการเงินของเรากำลัง อยู่ในวาระสุดท้าย" ธุรกิจล้ม รัฐบาลอุ้ม ธุรกิจล้ม รัฐบาลอุ้ม หากยังคงวนเวียนอยู่เช่นนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทางออกคงไม่มีแล้ว
"โลกเราซับซ้อนเกินกว่าที่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย ทั้งนี้และทั้งนั้นยังมีบทเรียนหลายบทเรียน ที่ควรจดจำไว้ ดูได้จากผลลัพธ์ของการเลือกตั้งระหว่างเทอมที่ผ่านมา ภารกิจใหญ่หลวงสำหรับผู้ที่ พยายามหาทางเลือกใหม่และอนาคตที่ดีกว่าให้แก่บรรดาผู้ที่ถูกทำให้เข้าใจผิดและโกรธแค้นรัฐบาล"
Chomsky กล่าวทิ้งท้ายไว้ในบทความของเขา ใน The New York Times... ต้องติดตามการเมืองสหรัฐฯ ต่อไปว่า จะมีกลุ่มความเคลื่อนไหวในเชิงสร้างสรรค์เข้ามาสร้างความสมดุลกับกลุ่ม Tea Party นี้หรือไม่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|