|
เติบโตจากความทุกข์ยาก
โดย
ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
'พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส' คำกล่าวนี้อาจฟังดูเป็นปรัชญาโก้ๆ แต่คนหลายคนก็ทำปรัชญานี้ให้เป็นจริงได้ในชีวิตอินเดียเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยวิกฤติและปัญหามากมาย กระนั้นก็มีผู้คนไม่น้อยที่ฝ่าวิกฤติและเติบโตขึ้นอย่างงดงาม ในที่นี้ขอเล่าถึง ตัวอย่างคลาสสิกต่างรูปแบบธุรกิจไว้สองราย นั่นคือ อามุล (Amul) ธุรกิจผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ของอินเดีย และ Shrujan องค์กรการกุศลที่ช่วยให้ผู้หญิง กว่า 20,000 คนได้พึ่งตนเองจากศิลปะผ้าปักผ้าทอ
ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึงเนย นมผง นมยูเอชทีและผลิตภัณฑ์นมอีกหลายชนิด อามุลเป็นยี่ห้อที่ครอง ตลาดชนิดที่ร้านของชำแทบไม่ต้องเสียพื้นที่สำรองยี่ห้ออื่นไว้ให้ลูกค้าเลือก จึงไม่น่าแปลกใจว่าในช่วงปี 2009-2010 อามุลมียอดขายรวมถึง 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ความเติบโตทางธุรกิจของอามุลอาจทำให้แม้แต่คนอินเดียเองลืมไปว่า แท้จริงแล้วอามุลเกิดมาจากและยังคงเป็น 'สหกรณ์ผู้ผลิตนม'
อามุลเป็นแบรนด์ที่ตั้งขึ้นจากชื่อย่อของ Anand Milk Producers Union India Limited
ขณะเดียวกันก็มีความหมายในภาษาสันสกฤตว่า 'เลอค่า' ถือกำเนิดในปี 1946 จากความเดือดร้อนของผู้ผลิตนมรายเล็กในเขตไกรา รัฐคุชราต นัยหนึ่ง คือชาวบ้านที่เลี้ยงวัวควายและมีนมเหลือจากการบริโภคในครัวเรือน ซึ่งถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาจากความที่นมเป็นของเสียง่าย พวกเขาได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็นสหกรณ์จากคำแนะนำของ Sardar Vallabhbhai Patel ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยคนแรกของอินเดีย หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ สหกรณ์เล็กๆ ดังกล่าวต่อมาขยายตัวและก่อตั้งโรงงานผลิตนมของตนเองที่เมือง Anand ภายใต้การบริหารจัดการโดย Dr.Verghese Kurien และเป็นตัวอย่างให้ผู้ผลิตนมในอีก 5 เขตของรัฐคุชราตก่อตั้งสหกรณ์ในรูปแบบเดียวกัน ต่อมาในปี 1973 สหกรณ์ทั้งหกได้หันมาผนึกกำลังเพื่อขยายตลาดและขจัดปัญหาการแข่งขันกันเอง ก่อตั้ง เป็น Gujarat Cooperative Milk Marketing Federation (GCMMF) โดยยังคงใช้อามุลเป็นชื่อแบรนด์ในการทำตลาด รวมทั้งแบ่งการบริหารองค์กร เป็น 3 ระดับ ได้แก่ สหกรณ์ระดับหมู่บ้าน สหภาพระดับเขต และสหพันธ์ระดับรัฐ
ความสำเร็จของอามุลทำให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ผู้ผลิตนมขึ้นตามตำบลบ้านในรัฐอื่นๆ อีกมาก โดยใช้ระบบการบริหารจัดการของอามุลเป็น ต้นแบบ ดังที่เรียกกันว่า 'Amul Model' หรือ 'Anand Pattern' จนถึงปี 2008 ประมาณว่ามีสหกรณ์ ระดับหมู่บ้านทั่วทั้งอินเดียราว 125,000 แห่ง มีชาวบ้าน และชาวไร่ชาวนาเป็นสมาชิกอยู่ราว 13 ล้านราย ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกร ธุรกิจนมยังขยายตัวก่อให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมแปรรูปอื่นๆ อาทิ เนย ไอศกรีม ชีส ฯลฯ ที่ช่วยสร้างงานและรายได้ แก่ประชากรอีกมาก ทำให้อินเดียกลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตนมรายใหญ่ของโลก จนมีผู้เรียกปรากฏ การณ์นี้ว่า "การปฏิวัติขาว"
สำหรับอามุลเอง ปัจจุบันประกอบด้วยสหกรณ์ระดับหมู่บ้านถึง 15,322 แห่ง โดยมีผู้ผลิตนมรายเล็กราว 2.9 ล้านรายเป็นสมาชิก ซึ่งป้อนนมทั้งนมวัวและนมควายแก่โรงงานแปรรูปในเครือโดยเฉลี่ย 9.10 ล้านลิตรต่อวัน นอกจากผลิตภัณฑ์นมพาสเจอไรซ์และยูเอชที อามุลขยายโปรดักส์ไลน์ขึ้นอีกหลากหลายประเภท รวม 58 ผลิตภัณฑ์ เช่น เนย เนยไขมันต่ำ เนยแข็ง ไอศกรีม นมผง นมข้นหวาน ช็อกโกแลต เครื่องดื่มนมผสมกาแฟ โกโก้ ฯลฯ และเปิดตลาดในต่างประเทศ อย่างจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาใต้ ในปีที่ผ่านมาอามุลมียอดจำหน่ายรวมถึง 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตัวอย่างคลาสสิกอีกรายซึ่งความทุกข์ยากของผู้คนพลิกผันไปสู่ความเติบโต เข้มแข็งของชุมชน ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม คือ Shrujan องค์กรการกุศลที่ทำงานกับผู้หญิงในชุมชน 9 แห่ง ใน Kutch รัฐคุชราต เรื่องราวของ 'ศรุชัน' อันหมายถึงการสร้างสรรค์ เริ่มขึ้นในปี 1969 เมื่อชาวบ้านในเขตคัตช์ต้องเผชิญทุพภิกขภัยเนื่องจากภัยแล้ง จันท์เบ็น ชร็อฟฟ์ (Chandaben Shroff) หญิงชนชั้นกลางจากมุมไบ ร่วมเดินทางกับกลุ่มอาสาสมัครบรรเทาทุกข์ไปยังหมู่บ้านธาเนติ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของครอบครัว ระหว่างพูดคุยกับชาวบ้าน เธอสังเกตว่า เสื้อผ้าและของใช้ประจำวันของชาวบ้านล้วนประดับ ด้วยงานปักที่มีเอกลักษณ์และงดงาม ทั้งพบว่าผู้หญิง ในหมู่บ้านไม่เต็มใจที่จะแบมือรับความช่วยเหลือจากคนนอก ขณะเดียวกันพวกเธอเล่าว่า ความอดอยาก ของลูกหลานจากภัยแล้ง ทำให้ต้องยอมขายผ้าปักผ้าทอที่เป็นมรดกตกทอดของครอบครัวจนเกือบหมด
จันท์เบ็นจึงใช้เงินทุนส่วนตัว 5,000 รูปี ซื้อส่าหรีจำนวนหนึ่งแล้วกลับไปยังหมู่บ้านดังกล่าวและขอให้ผู้หญิงในหมู่บ้านช่วยกันแสดงฝีมือปักลวดลาย ประดับส่าหรีเหล่านั้น ผลงานจากโครงการนำร่องครั้งนั้นถูกนำไปออกร้านในมุมไบ เพื่อนำรายได้กลับ มาบรรเทาทุกข์ผู้หญิงในหมู่บ้าน และกิจกรรมดังกล่าวได้ต่อยอดเติบโตขึ้นเป็นศรุชัน องค์กรที่มุ่งทำงานเพื่อสร้างรายได้แก่ผู้หญิงพร้อมกับรักษาศิลปะผ้าปักผ้าทออันเป็นมรดกวัฒนธรรมสำคัญในหมู่ชาวบ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แห่งคัตช์
ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จากกลุ่มผู้หญิง 30 คน ศรุชันได้ขยายเครือข่ายกิจกรรมและทำงานร่วมกับผู้หญิงกว่า 22,000 คน ในหมู่บ้านกว่า 120 แห่ง งานฝีมือของพวกเธอแพร่หลายไปสู่หัวเมืองใหญ่ ทั้งในอินเดียและต่างประเทศ 'คัตช์' กลายเป็นดั่งคำพ้องของผ้าปักรวยลวดลายและสีสัน ในปี 2006 จันท์เบ็น ชร็อฟฟ์ ได้รับรางวัล Rolex Award for Enterprise และเป็นชาวอินเดียคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ โดยเธอนำเงิน รางวัลมาริเริ่มโครงการ Pride and Enterprise ที่มุ่งเก็บบันทึก รักษา และสนับสนุนศิลปะงานผ้าแห่ง คัตช์ให้เป็นที่รู้จักและสืบทอดโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ในชุมชน งานในโครงการนี้ด้านหนึ่งเป็นการจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับศิลปะผ้าทอของชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งเก้า อันได้แก่ Aahir, Dhebaria Rabari, Mochi, Meghwal, Mutwa, Sodha, Node, Harijan และ Jat พร้อมกับวิดีโอสาธิตที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการทอและปักลวดลายต่างๆ อีกส่วนหนึ่งเป็นงานภัณฑารักษ์ที่รวบรวมตัวอย่างผ้าปักผ้าทอเก่าแก่ จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ (Design Centre on Wheels) เดินทางไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อให้ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ตระหนักในคุณค่าวัฒนธรรมของตน ซึ่งปัจจุบันชุดนิทรรศการนี้รวบรวม ด้วยผลงานของช่างฝีมือชั้นครูกว่า 500 ราย
ในแง่การเปิดตลาดแก่งานผ้าเหล่านี้ จันท์เบ็น เล่าถึงประสบการณ์ว่า ต้องอาศัยการสื่อสารแบบสอง ทาง โดยทางศรุชันมีส่วนในการปรับและออกแบบผลิตภัณฑ์ ป้อนข้อมูลด้านแฟชั่นและทิศทางงานออกแบบที่กำลังนิยมในตลาด เช่นแนะนำให้ชาวบ้าน หันมาใช้เฉดสีพาสเทลที่นิยมในตลาดตะวันตก ประยุกต์ลายดั้งเดิมมาใช้ปักส่าหรี ปลอกหมอน กระเป๋า และอื่นๆ ที่ไม่ใช่เครื่องแต่งกายหรือเครื่องใช้ ในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ ก็เปิดรับและร่วมสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ด้วยดี ดังที่ช่างปักชั้นครูวัย 85 ปี Parmaben Balasara กล่าว ว่า "ทุกอย่างเปลี่ยน เราไม่ควรกลัวการเปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้ลูกหลานเราได้ไปโรงเรียน เราได้มีอาชีพมีรายได้ ตราบใดที่เราผู้หญิงสามารถสร้างรายได้และพึ่งตนเองได้จากงานผ้า ศิลปะผ้าก็จะยังคงอยู่ มันจะไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือนแม้แต่ของวันนี้ งานผ้าจะเปลี่ยนไป แต่มันจะยังคงอยู่"
ศรุชันอาจไม่ได้มุ่งเป้าทางธุรกิจชนิดเต็มรูป ไม่ได้สร้างเม็ดเงินนับล้าน หรือขยายใหญ่โตเช่นอามุล แต่องค์กรทั้งสองต่างได้ช่วยยกระดับชีวิตของผู้คนจำนวนมาก และเป็นตัวอย่างว่าความทุกข์ยากอาจทำให้ผู้คนหันมาเอื้ออาทร รวมตัว และมองเห็นศักยภาพของกันและกัน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการหาหนทางก้าวข้ามปัญหาร่วมกัน และเป็นฐานรากที่มั่นคงแก่การเติบโตที่ยั่งยืน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|