โปรแกรมกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศสมัยใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

นักกฎหมายไทยเริ่มตื่นตัวมากขึ้นต่อบทบาทของตัวเองกับสังคมธุรกิจเมืองไทยที่พัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็ว การค้าขายระหว่างประเทศกลายเป็นเรื่องที่พวกเขาจะต้องเรียนรู้ติดตามให้ทันตลอดทั้งข้อกฎหมายและเทคนิคต่างๆ ในการประกอบวิชาชีพก็จำเป็นจะต้องพัฒนาให้ทันกับคู่ค้าจากทั่วสารทิศที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาในเมืองไทยในปัจจุบัน

สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการและสำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรมได้ขยายบทบาทของตัวเองเพิ่มขึ้นอีก โดยการจัดอบรมพิเศษ TRAINING FOR LAWYERS OF INTERNATIONAL PRACTICE & ALERNATIVE DISPUTE RESOLUTION หรือการอบรมผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่ต้องติดต่อกับชาวต่างประเทศและการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ

หรือถ้าจะเรียกว่าโครงการ MINI LL.M (MASTER OF LAW) อย่างที่เจ้าของโครงการนี้เรียกขานกันก็ดูจะไม่น่าเคอะเขินมากนัก

"เมื่อเราค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งคู่ค้าของเราส่วนใหญ่ใช้สัญญาและระบบอนุญาโตตุลาการเป็นเครื่องมือในการทำการค้าและช่วยชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งสัญญานั้นก็เป็นสัญญาที่ทำกันในระหว่างประเทศ บางครั้งมีคู่สัญญามากกว่า 2 ประเทศกติตาตามสัญญาต่างก็ต้องออกมาแบบสากล ในขณะเดียวกันตัวเราเองจะมาใช้สัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งแต่เพียงอย่างเดียวนั้นก็เลยเป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ จะขึ้นศาลแพ่งอย่างนี้ก็คงไม่มีใครต้องการ เพราะเขาต้องการระงับข้อพิพาทด้วยระบบอนุญาโตตุลาการ นักกฎหมายบ้านเราจึงจำเป็นจะต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้ให้มาก" วิชัย อริยะนันทกะ ผู้อำนวยการสำนักงานอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดการอบรมคราวนี้กล่าวถึงที่มาของโครงการ

เพราะว่าปัจจุบันนี้ยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดที่จัดการให้ความรู้แก่นักกฎหมายไทยในลักษณะเช่นนี้ เว้นแต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็สอนระดับปริญญาโทด้านกฎหมายธุรกิจ สำหรับปริญญาโทกฎหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็จะเน้นทางด้านกฎหมายสังคม หรือกฎหมายมหาชนเป็นส่วนใหญ่ "หลักสูตรระยะสั้นๆ เช่นนี้ยังไม่เคยมี" วิชัยกล่าว

หลักสูตร MINI LL.M เปิดสอนครั้งแรกระหว่างวันที่ 2 มิถุนายน ถึง 1 สิงหาคม 2533 วิชาที่สอนเป็นพวกกฎหมายธุรกิจล้วนเช่น กฎหมายลิขสิทธิ์และการคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ กฎหมายเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ สัญญาประกันภัยรวมทั้งการประกันภัยทางทะเล สัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ การชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ การศึกษากฎหมายและวิชาชีพกฎหมายในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา กฎหมายระหว่างประเทศที่ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายควรทราบ หลักกฎหมายคอมมอนลอว์เกี่ยวกับสัญญา เกี่ยวกับการละเมิดเกี่ยวกับกฎหมายอาญา หลักกฎหมายภาษี แรงงาน การลงทุน และตลาดหลักทรัพย์

อีกส่วนหนึ่งเป็นการเรียนเพื่อให้นักกฎหมายได้รู้จักและสามารถใช้วิธีการระงับข้อพิพาททางแพ่งพาณิชย์ นอกจากการพิจารณาพิพากษาโดยศาล ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การร่างข้อกำหนดอนุญาโตตุลาการในสัญญา ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการที่สำคัญๆ ของโลก

ในการเรียนการสอนใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด หลักสูตรที่สร้างกันขึ้นมาอิงส่วนผสมระหว่างอเมริกากับอังกฤษ โดยให้ทนายความอาวุโสที่ประสบความสำเร็จในด้านการประกอบวิชาชีพกฎหมายระหว่างประเทศ และอาจารย์มหาวิทยาลัยกับตุลาการในกระทรวงยุติธรรมที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้เป็นผู้บรรยาย

หัวใจอันหนึ่งของหลักสูตรนี้ นอกจากหลักและวิธีปฏิบัติทางด้านกฎหมายต่างประเทศโดยตรงแล้ว ยังได้เน้นถึงการมีจริยธรรมของการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายในระดับสากล รวมไปถึงการฝึกฝนบุคลิกภาพของนักกฎหมายเข้าไปด้วย

มีการปาฐกถาพิเศษในหัวเรื่อง "A GOOD LAWYER" ซึ่งพูดถึงการประกอบวิชาชีพกฎหมายและการเป็นนักกฎหมายที่ดี โดย ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี

"อาชีพนักกฎหมายเป็นอาชีพที่มีเกียรติในสังคมเพราะฉะนั้นบุคลิกพื้นฐานต่างๆ ในการออกสังคม ตลอดทั้งการแสดงบทบาทของตัวเองในวาระต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่นักกฎหมายสมัยใหม่จะต้องพัฒนาด้วยเช่นกัน เราจึงได้บรรจุเรื่องนี้เข้าไปในหลักสูตรด้วย" ผู้อำนวยการสำนักงานอนุญาโตตุลาการกล่าว

ความตื่นตัวของนักกฎหมายที่สนใจจะพัฒนาตัวเองสู่การเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายระดับสากลมีมากเกินกว่าที่ผู้จัดโครงการนี้คาดไว้ เพราะปกติถ้ามีการเปิดบรรยายเกี่ยวกับกฎหมายจะมีคนให้ความสนใจน้อยมาก ทั้งนี้เพราะว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่าเรื่องกฎหมายเป็นเรื่องไกลตัว และเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก

จากที่กำหนดจะรับคนเข้าเรียนในหลักสูตรนี้เพียง 80 คน แต่ปรากฏว่ามีคนมาสมัครเข้าเรียนถึง 180 คน ส่วนที่เหลือก็เลยต้องตัดออกมาซึ่งเป็นดัชนีชี้ให้เห็นถึงความตื่นตัวของบรรดานักกฎหมายในเมืองไทยที่มีมากขึ้น

ผู้เข้าเรียนในหลักสูตรนี้นอกจากจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับกลางๆ ของสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้วในเมืองไทย ยังประกอบไปด้วยนักกฎหมายและทนายความอิสระหนุ่มๆ ที่เริ่มจะหาลู่ทางเป็นผู้ลงทุนทำสำนักงานเอง อีกส่วนหนึ่งเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ก้าวขึ้นสู่การค้าระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออก นำเข้า และผู้รับเหมาก่อสร้าง อีกส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่สมัครใจเข้ามาเรียนเอง

"ถ้าเทียบกับทางด้านบริหารธุรกิจหรือ MINI MBA แล้วยังดูห่างไกลกันมากในด้านความสนใจของผู้คนที่จะเข้าเรียน แต่ถ้าพิจารณาว่าหลักสูตรนี้มันเป็นเรื่องกฎหมาย ซึ่งมีความเป็นการเฉพาะของมันสูงและเทียบกับไปสู่จำนวนนักกฎหมาย และอดีตที่ผ่านมาก็นับว่านักกฎหมายของเราตื่นตัวมากขึ้น และก็เป็นนิมิตอันดีที่ทางสำนักงานส่งเสริมตุลาการได้ริเริ่มเรื่องนี้ขึ้นมา" อเนก ศรีสนิท นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย และนักกฎหมายไทยที่ประสบความสำเร็จด้านกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศค่อนข้างสูงและเป็นผู้บรรยายในหลักสูตรนี้กล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.