ศึกชิงเจ้าแบตเตอรี่รถพลังงานไฟฟ้า


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

แบตเตอรี่สำหรับรถพลังงานไฟฟ้ายังคงมีราคาแพงและประสิทธิภาพต่ำก่อให้เกิดศึกชิงความเป็นเจ้าในการพัฒนาแบตเตอรี่

น้ำกรดแบตเตอรี่ดื่มได้ ไม่ใช่เรื่องที่เกินความจริง ในยุคของการแข่งขันอันดุเดือด เพื่อพัฒนาแบตเตอรี่ที่ดีที่สุดสำหรับใช้กับรถพลังงานไฟฟ้าในอนาคต Wang Chuanfu อภิมหาเศรษฐีจีน ผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์ BYD ลงทุนโชว์การดื่มน้ำยาอิเล็กโตรไลท์ไร้พิษ หรือน้ำกรดแบตเตอรี่แบบสดๆ ต่อหน้านักข่าว ในการแถลง อวดความคืบหน้าการผลิตแบตเตอรี่ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100%

ฟังดูดีทีเดียว หวังว่ารสชาติของน้ำกรดนั่นคงจะไม่เลวนัก แต่ว่าแบตเตอรี่ที่ BYD กำลังพัฒนาในขั้นทดลองนี้ จะดีพอสำหรับ การเป็นแหล่งพลังงานของรถพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ในอนาคตได้หรือไม่ ยังต้องดูกันต่อไป

รถพลังงานไฟฟ้าแบบ plug-in คือเสียบปลั๊กชาร์จแบตเตอรี่ ได้ทันที รุ่นแรกที่กำลังจะออกสู่ตลาดในอีกไม่นานนี้ ถูกตั้งความหวังไว้สูงมาก อย่างเช่น Chevy Volt และ Toyota Prius แบบ plug-in เต็มรูปแบบรุ่นใหม่ กำลังจะออกจำหน่ายปลายปีนี้

แต่การพัฒนาประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ซึ่งจะเป็นแหล่งพลังงานของรถเหล่านี้ กลับยังไม่ไปถึงไหน ทุกวันนี้ แบตเตอรี่ของรถพลังไฟฟ้ายังคงใช้เทคโนโลยีลิเทียมไอออนเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน ตั้งแต่เริ่มพัฒนาแบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออนครั้งแรกในยุคต้นทศวรรษ 90 ซ้ำยังมีราคาแพงเหมือนเดิม แต่ประสิทธิภาพต่ำ ราคาของแบตเตอรี่คิดเป็นต้นทุนถึง 1 ใน 3 ของต้นทุนการผลิตรถทั้งคัน แต่กลับวิ่งได้ระยะทางเพียงปานกลางเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของรถไฮบริด Toyota Prius ซึ่งได้กลายเป็นรถที่ยกระดับสถานภาพในแคลิฟอร์เนียและอีกหลายแห่งในสหรัฐฯ ได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดแรงฮึดครั้งใหม่ ในการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถพลังงานไฟฟ้าในช่วง 2-3 ปีมานี้ เป้าหมายคือการผลิตแบตเตอรี่ที่มีราคาถูก

นักวิเคราะห์ชี้ว่า หากแบตเตอรี่มีราคาถูกลงจากราคาเฉลี่ย 16,000 ดอลลาร์ เหลือประมาณ 6,000 ดอลลาร์ จะทำให้คนเปลี่ยนใจหันมาใช้รถพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 30% ทันที

ความเป็นไปได้ที่จะเกิดตลาดใหม่ของผู้ใช้รถพลังงานสะอาด บวกกับแรงหนุนจากรัฐบาลประธานาธิบดี Obama ซึ่งยอมทุ่มงบประมาณ 2,400 ล้านดอลลาร์ ให้กับการวิจัยแบตเตอรี่ สำหรับรถพลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้บริษัททั้งหลายต่างแข่งกันทุ่มเททรัพยากรไปกับการวิจัยพัฒนาแบตเตอรี่

ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหน้าใหม่อย่าง A123 และ Ener1 จากนิวยอร์ก ไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Johnson Controls-Saft บริษัทร่วมทุนสหรัฐฯ-ฝรั่งเศส และเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด รวมถึงยักษ์ใหญ่จากเอเชียอย่าง BYD ของจีน เจ้าของน้ำกรดแบตเตอรี่ที่ดื่มได้

บริษัทเหล่านี้ยังมีการจับมือเป็นพันธมิตรกันด้วย อเมริกัน ตกลงจับมือพัฒนาแบตเตอรี่ร่วมกับค่ายรถตะวันตกด้วยกันอย่าง GM และ BMW ส่วนเอเชียก็จับมือกันเองอย่าง Toyota, Nissan และ Honda ซึ่งเป็นหัวหอกบุกเบิกรถไฮบริด รถลูกครึ่งที่ใช้ผสม กันทั้งน้ำมันและไฟฟ้า

BYD ซึ่งมีทุนหนาและได้รับแรงหนุนจากรัฐบาลจีนเต็มที่ เป็นหนึ่งในบริษัทที่แข็งแกร่งที่สุด และมุ่งมั่นจะพัฒนาแบตเตอรี่รถพลังงานไฟฟ้าที่ดีที่สุดโลก

ก่อนหน้านี้ BYD สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาลที่ ระดับประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากการผลิตโทรศัพท์ มือถือแบบใช้แล้วทิ้ง และการผลิตรถราคาประหยัด

หากประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ BYD แหวกโมเดลธุรกิจของจีนที่ มักอาศัยการมีแรงงานราคาถูกเป็นความได้เปรียบในการแข่งขัน ไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลของการวิจัย

BYD ลงทุนว่าจ้างวิศวกรระดับปริญญาตรีกว่า 10,000 คน มาทำงานในสายการวิจัยและพัฒนา และในปี 2008 BYD ก็กลายเป็นผู้ผลิตรถพลังงานไฟฟ้าแบบ plug-in เชิงพาณิชย์คันแรก ของโลก

ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ BYD ยังได้อ้างว่าพวกเขาค้นพบ ความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการพัฒนาแบตเตอรี่รถพลังไฟฟ้า ด้วยการพัฒนาสารลิเทียมไอออนเฟอร์รัสฟอสเฟต (lithiumion ferrous phosphate) ซึ่งทำให้ชาร์จแบตเตอรี่ได้เร็วขึ้นและใช้แบตเตอรี่ได้นานขึ้น

แม้คำกล่าวอ้างของ BYD ยากจะพิสูจน์ แต่คนหนึ่งที่ "ซื้อ" คำกล่าวอ้างนี้คือ Warren Buffet นักลงทุนชื่อก้องโลก ซึ่งเพิ่งซื้อหุ้น 10% ใน BYD ไปหมาดๆ

อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะออกตัวแรง แต่สหรัฐฯ ยังคงนำหน้าในการวิจัยพื้นฐาน Argonne National Laboratory ในอิลลินอยส์ เพิ่งจดสิทธิบัตรทางวิทยาศาสตร์หลายต่อหลายใบ ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถพลังไฟฟ้าในอนาคต

นักวิทยาศาสตร์จาก Stanford เพิ่งค้นพบเมื่อปีที่แล้วว่า หากแทนที่กราไฟต์ อิเล็คโตรดในแบตเตอรี่ที่ทำจากลิเทียมด้วยซิลิกอนนาโนทูบ จะทำให้แบตเตอรี่เก็บกักพลังไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณถึง 10 เท่า

ส่วนบริษัทเกิดใหม่อย่าง Better Place ในเมือง Palo Alto ในแคลิฟอร์เนีย หาทางเลี่ยงปัญหารถพลังไฟฟ้าวิ่งได้ไม่ไกล เนื่อง จากแบตเตอรี่หมดเร็ว ด้วยการสร้างเครือข่ายสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ในอิสราเอลและฮาวาย เพื่อช่วยให้ผู้ใช้รถเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่และขับรถต่อไปได้ทันที

โครงการนี้ยังอยู่ในขั้นทดลอง และไม่ต้องถึงกับลงทุนโชว์การดื่มน้ำกรดแบตเตอรี่ต่อหน้านักข่าว

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ไทม์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.