โคลนพิษมรณะถล่มฮังการี


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

"โคลนพิษสีแดง" ได้รั่วไหลออกมาจากอ่างเก็บกักน้ำเสียของโรงงาน แม้ฮังการีจะเคยประสบภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่ร้ายแรงเท่าครั้งนี้

เหตุสารพิษรั่วไหลครั้งใหญ่ที่สุดของของฮังการีเกิดขึ้นที่โรงงานอะลูมิเนียมในเมือง Ajka ห่างจากกรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวง ของฮังการีไปประมาณ 160 กิโลเมตร "โคลนพิษสีแดง" รั่วไหล ออกมาจากอ่างเก็บกักน้ำเสียของโรงงาน ในปริมาณที่มากถึง 1 ล้านลูกบาศก์เมตร และไหลลงสู่แม่น้ำที่อยู่ใกล้เคียง ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม แม้ฮังการีจะเคยประสบภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมมาแล้ว หลายครั้ง ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ที่มีสารพิษไซยาไนด์รั่วไหลลงสู่แม่น้ำ Tisza ในปี 2000 แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่ร้ายแรงเท่าครั้งนี้

Eva Csobod ผู้อำนวยการสำนักงานศูนย์สิ่งแวดล้อมส่วน ภูมิภาคของฮังการีให้ข้อมูลว่า การรั่วไหลของไซยาไนด์ครั้งนั้นไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 4 คน (ยอดผู้เสียชีวิตในเวลา ต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น 9 คน) และมีเด็กหลายคนเสียชีวิต นับเป็นภัยพิบัติที่เลวร้ายที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในฮังการี

หลังจากนั้นในวันที่ 7 ตุลาคม โคลนพิษซึ่งประกอบด้วยโลหะหนักหลายชนิด ได้แก่ สารหนู แคดเมียม และตะกั่ว ได้ไหล ลงสู่แม่น้ำดานูบ แม่น้ำสายยาวเป็นอันดับ 2 ของยุโรป โดยผ่านแม่น้ำสาขาคือ Raba จนผู้เชี่ยวชาญกลัวว่าภัยพิบัติครั้งนี้จะไม่ใช่ เพียงภัยระดับประเทศ แต่จะลุกลามกลายเป็นภัยพิบัติระดับภูมิภาค เนื่องจากสารพิษอาจแพร่ไปถึง 6 ประเทศที่แม่น้ำดานูบไหลผ่าน เจ้าหน้าที่ในโครเอเชีย เซอร์เบีย และโรมาเนีย ต้องนำน้ำจากแม่น้ำ ดานูบมาตรวจสอบทุกๆ 2-3 ชั่วโมง และภาวนาว่าปริมาณน้ำอันมหาศาลของดานูบจะสามารถทำให้พิษเจือจางลงได้ เซอร์เบียและบัลแกเรียยังตื่นตัวเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ Gabor Figeczky รักษาการผู้อำนวยการกองทุนเพื่อชีวิต ป่าโลก (WWF) ในฮังการีเตือนว่า ระดับความเป็นด่างเข้มข้นสูงของโคลนพิษขณะที่ไหลลงสู่แม่น้ำดานูบ จะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายกว่าที่คาด

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากโคลนพิษไหลเข้าท่วม 3 หมู่บ้านคือ Kevecsar, Kolontar และ Somlovasarhely ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของฮังการี ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยฉุกเฉินของฮังการี ซึ่งรวมถึงกองทัพฮังการี ก็เริ่มอพยพชาวบ้านทันที และยังสามารถป้องกันไม่ให้โคลนพิษไหลเข้าท่วมหมู่บ้านแห่งที่ 4 ได้ ด้วยการบำบัดและเคลื่อน ย้ายโคลนพิษออกไป อย่างไรก็ตาม ทางการฮังการีระบุว่า มีชาวบ้านถึง 7,000 คนจาก 3 หมู่บ้านดังกล่าว และอีก 4 หมู่บ้านต้องได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ฮังการีกำลังพยายามสรุปความเสียหายของโคลนพิษที่มีต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่การประเมินทำได้ยาก เนื่องจากไม่เคยเกิดภัยพิบัติเช่นนี้มาก่อนในฮังการี

แม้ชาวบ้านที่อพยพออกจากหมู่บ้านได้อย่างปลอดภัย ก็ต้องเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน เจ้าหน้าที่ฮังการีรายงานในวันที่ 6 ตุลาคมว่า พื้นที่เกษตรกว้างถึง 2,000 เอเคอร์ และที่อยู่อาศัยของชาวบ้านอีก 8.6 เอเคอร์ กลายเป็นพิษไปหมด เพราะโคลนพิษ ได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและกัดกร่อนทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งยังทำให้หน้าดินเป็นพิษ ชาวบ้านวิตกว่า จะสามารถเพาะปลูกอาหารที่ปลอดภัยได้หรือไม่ในที่ทำกินของพวกเขาที่ถูกโคลนพิษทำลาย

ทางการฮังการีดูค่อนข้างจะสิ้นหวังกับการแก้ปัญหาดังกล่าว Zoltan Illes รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมฮังการีกล่าวว่า โคลนพิษเป็นสารก่อมะเร็งและอาจจะมีอันตรายในระยะยาว เขายังกลัวว่า ลมและแม่น้ำจะทำให้พิษแพร่ไปไกลและในวงกว้าง Gergo Simon จาก Air Working Group หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของฮังการีชี้ว่า ละอองสารตะกั่วในโคลนพิษเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเด็ก ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ก็เตือนว่า ในโคลนพิษอาจมีละอองสารกัมมันตรังสี

ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่า ยังไม่เข้าใจผลกระทบของภัยพิบัติครั้งนี้อย่างชัดเจน เนื่องจากไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ทั้งในฮังการีและในโลก

โฆษกหญิงของรัฐบาลฮังการีบอกว่า รัฐบาลกำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของโคลนพิษ และขอให้นักวิทยาศาสตร์ช่วยหาคำตอบว่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ตอนนี้ไม่มีรู้ใครว่าชาวบ้านจะเริ่มเพาะปลูกได้อีกเมื่อใด และพิษที่อยู่ในดินจะทำอันตรายกับวัสดุก่อสร้างหรือไม่ ทั้งยังต้องประเมินความปลอดภัย ของน้ำกินน้ำใช้อีกด้วย

ทางการฮังการียังไม่ได้สรุปสาเหตุที่ทำให้โคลนพิษรั่วไหล บริษัท MAL Zrt เจ้าของโรงงานอะลูมิเนียมต้นเหตุยืนยันว่า ปฏิบัติ ตามกฎเกณฑ์การจัดการของเสียทุกอย่าง และมีเจ้าหน้าที่ของรัฐมาตรวจสอบที่โรงงานเป็นประจำ โฆษกรัฐบาลฮังการีก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของรัฐบาลเพิ่งไปตรวจโรงงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 กันยายน หรือ 12 วันก่อนที่จะเกิดการรั่วไหล รัฐบาลได้สั่งปิดโรงงานดังกล่าว เพื่อให้เจ้าหน้าที่เริ่มการสอบสวนบริษัทในข้อหาประมาท

การค้นพบสาเหตุของการรั่วไหลจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภัยพิบัติเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต จะสามารถเรียกค่าเสียหายสำหรับการทำความสะอาดพื้นที่ที่ถูกโคลนพิษถล่มได้ แต่การรู้สาเหตุคงไม่อาจปลอบใจชาวบ้านที่ต้องสูญเสียบ้านและพื้นที่ทำกินของพวกเขาไปกับโคลนพิษ ผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับไม่อาจประเมินได้ เพราะสิ่งที่พวกเขาสูญเสียไม่ใช่เพียงแค่บ้านและที่ดินทำกิน แต่เป็นการสูญเสียทั้งวิถีชีวิตและหนทางทำมาหาเลี้ยงชีพ

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ไทม์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.