|
ส่งออกไปจีนยังพุ่งทะยาน
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนตุลาคม 2553 ยังคงพุ่งทะยานทำสถิติมูลค่ารายเดือนสูงสุดที่ 1,900.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหนือกว่าเดือนกันยายนที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่า 1,898.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้าชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 1,990.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่า 2,101.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบดุลการค้าให้แก่จีนน้อยลงเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนที่มูลค่า 90.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาคการผลิตของจีนในเดือนตุลาคมยังคงสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีน แม้ว่าค่าเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีนในเดือนตุลาคม จัดทำโดยสหพันธ์ โลจิสติกส์ เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 54.7 จุดจาก 53.8 จุดในเดือนกันยายน โดยดัชนีย่อยตัวที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ ดัชนีราคาวัตถุดิบ (Index of input prices) สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อซึ่งจัดทำโดย HSBC และ Markit Economics ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากระดับ 52.9 จุดในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 54.8 จุดในเดือนตุลาคม
ส่วนยอดค้าปลีกสินค้า ซึ่งเป็นมาตรวัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศจีนในเดือนตุลาคมก็มีมูลค่าถึง 1.43 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 (YoY) โดยการอุปโภคบริโภคในเขตเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 (YoY) ขณะที่ยอดค้าปลีกในพื้นที่ห่างไกลเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 (YoY) ส่งผลให้ยอดค้าปลีกในช่วง 10 เดือนแรกพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 18.3 (YoY) มาอยู่ที่ระดับ 12.5 ล้านล้านหยวน
ปัจจัยที่มีผลต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลของการปรับขึ้นราคาแบบก้าวกระโดดของสินค้าเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารที่มีการปรับขึ้นประมาณร้อยละ 10-40 ทำให้รัฐบาลจีนเริ่มใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อดูดซับสภาพคล่องออกจากตลาดด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และปรับขึ้นสัดส่วนเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ทางการจีนอาจจะมีมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นอีกในอนาคต เพื่อสกัดกั้นอัตราเงินเฟ้อที่ขยับตัวเร่งขึ้นมาก
นอกจากนี้ การนำเข้าในเดือนตุลาคมยังคงขยายตัวอย่าง ต่อเนื่องที่ระดับร้อยละ 25.3 (YoY) แตะระดับ 108.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง แม้จะเป็นระดับการเติบโตที่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 28.3 (YoY) ก็ตาม โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก ของจีนในเดือนตุลาคม 2553 คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐ อเมริกา และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนรวมกันร้อยละ 43.0 ของมูลค่าการนำเข้าโดยรวมของจีนในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนไทยติดอันดับที่ 10 มีสัดส่วนร้อยละ 2.46
ในด้านการส่งออกของไทยไปจีนในเดือนตุลาคม 2553 สามารถทำลายสถิติมูลค่าสูงสุดในเดือนกันยายนที่ 1,898.3 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 1,900.4 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ ด้วยอัตราการเติบโตชะลอตัวลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 27 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากที่เติบโตร้อยละ 29.3 (YoY) ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญอย่าง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (27) และอาเซียนต่างชะลอตัวแรงกว่า โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมเติบโตร้อยละ 4.9 (YoY) จากที่เคยเติบโตร้อยละ 17.0 (YoY) ในเดือนกันยายน ส่วนการส่งออกไปญี่ปุ่นเติบโตร้อยละ 18.2 (YoY) จากที่เคยเติบโตร้อยละ 30.0 ในเดือนก่อนหน้า
อีกทั้งการเติบโตของจีนในเดือนนี้ก็ยังเป็นระดับการเติบโต ที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของตลาดส่งออกกลุ่มดังกล่าวข้างต้น รวมไปถึงการส่งออกโดยรวมของไทยในเดือนตุลาคมปีนี้ที่เติบโตร้อยละ 15.7 (YoY) ด้วย ทำให้จีนยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของไทยในช่วง 10 เดือนแรกปี 2553 และน่าจะเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อภาคการส่งออกของไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2553 รวมไปถึงปี 2554 ด้วย
รายการสินค้าสินค้าส่งออกสำคัญในเดือนตุลาคมนั้นยังคงเป็นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 68.1 ของมูลค่า การส่งออกโดยรวมของไทยไปจีน ตามมาด้วยกลุ่มสินค้าเกษตรกรรม (สัดส่วนร้อยละ 19.4) สินค้ากลุ่มแร่และเชื้อเพลิง (สัดส่วนร้อยละ 11.4) และสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 1.1) โดยกลุ่มสินค้าที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดคือกลุ่มสินค้าแร่และเชื้อเพลิงด้วยระดับการเติบโตร้อยละ 111.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ตาม มาด้วยกลุ่มสินค้าเกษตรกรรม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.9) และสินค้าอุตสาหกรรม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2) ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรลดลงร้อยละ 0.9
เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกสินค้าเพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของจีนหลายรายการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ยางพารา เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น รวมไปถึงน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปด้วยที่มีการเติบโตในอัตราเร่งขึ้น ในเดือนนี้อย่างชัดเจน จึงสะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนยังคงมีศักยภาพ ที่แข็งแกร่ง
ขณะที่การนำเข้าจากจีนในเดือนตุลาคมมีมูลค่า 1,990.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโต ที่ต่ำกว่าการเติบโตของภาคส่งออกอย่างชัดเจน ทำให้การเสียเปรียบดุลการค้าของไทยต่อจีนในเดือนตุลาคมมีมูลค่าต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือนที่เม็ดเงิน 90.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนับเป็นมูลค่าการขาดดุลการค้าที่ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันแล้วจากระดับ 485.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมิถุนายน และมีผล ให้การเสียเปรียบดุลการค้าของไทยต่อจีนในช่วง 10 เดือนแรกเป็น 2,353.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายการสินค้านำเข้าของไทยจากจีนส่วนใหญ่ในช่วง 10 เดือนแรกเป็นกลุ่มสินค้าทุนเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.7 ตามมาด้วยกลุ่มสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (สัดส่วนร้อยละ 35.0) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (สัดส่วนร้อยละ 19.7) และที่เหลือ อีกร้อยละ 2.6 เป็นกลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สินค้าเชื้อเพลิง และกลุ่มอาวุธยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ สะท้อนให้เห็นว่าไทยค่อนข้างพึ่งพาจีนในส่วนของสินค้าขั้นกลางและขั้นต้น ค่อนข้างสูงโดยที่กลุ่มสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งมีอัตรา การเติบโตสูงสุดถึงร้อยละ 61.4 ตามมาด้วยกลุ่มวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่เติบโตร้อยละ 60.7 และกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.5) ขณะที่กลุ่มสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภค เติบโต เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9 และร้อยละ 32.8 ตามลำดับ
ภาวะการค้าผ่านชายแดนระหว่างไทย-จีนตอนใต้ในเดือน ตุลาคม ยังคงเป็นไทยที่ได้เปรียบดุลการค้า แต่เป็นมูลค่าต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ตามรายงานล่าสุดพบว่าการส่งออกผ่านชายแดน ไปยังจีนในเดือนตุลาคมมีมูลค่า 762.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 130.3 จากเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 607.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 (YoY) ส่งผลไทยได้เปรียบดุลการ ค้าผ่านแดนต่อจีนเพียง 154.5 ล้านบาทในเดือนนี้ จากที่เคยได้เปรียบไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาทในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2553 ส่วนหนึ่งเป็นผลของสินค้าส่งออกสำคัญส่วนใหญ่มีทิศทางชะลอตัว โดยเฉพาะสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันดีเซล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2553 ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้าผ่านชายแดนต่อจีนเป็นมูลค่า 6,865.1 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (ในช่วงเดียวกันปี 2552 ไทยขาดดุลต่อจีน 385.8 ล้านบาท)
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกไทยไปจีนในปี 2553 ไว้ที่ระดับร้อยละ 30 ส่วนอัตราการเติบโตในปี 2554 ก็จะอยู่ที่ร้อยละ 10-20 โดยมีการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบอาเซียน-จีน ซึ่งมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ต้นปี 2553 เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของภาคการส่งออกของไทยไปยังจีน มองว่าจีนจะยังคงเป็นตลาดส่งออกที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทย ในปี 2554 ท่ามกลางทิศทางการฟื้นตัวที่ยังไม่แน่นอนนักของบรรดาคู่ค้าหลักในฟากฝั่งตะวันตกและญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับสถานการณ์การแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นด้วย เพราะหลายประเทศต่างก็หมายปองตลาดจีนที่มีความยิ่งใหญ่ของขนาดประชากรกว่า 1,000 ล้านคน และอำนาจการซื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามศักยภาพที่เข้มแข็งของเศรษฐกิจจีนนับจากนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|