หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทยนั้นมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 87 ปีที่แล้ว เป็นการเกิดขึ้น
จากจุดประสงค์ทางการเมืองอย่างชัดเจน หนังสือพิมพ์จีนฉบับแรกในพ.ศ. 2446
คือ "ฮั่งเก้งรายวัน" เป็นกระบอกเสียงในหมู่คนจีนในประเทศไทยให้กับราชวงศ์แมนจู
ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาสิบปีก่อนหน้าที่ราชวงศ์แมนจูจะถูกโค่นล้มลง
ฝ่ายปฏิวัติของซุนยัดเซ็นนั้นก็มีหนังสือพิมพ์จีนในไทยเป็นเครื่องมือเผยแพร่อุดมการณ์เหมือนกันคือ
"มุ่ยน้ำรายวัน" และ "หมี่น้ำรายวัน" จนกระทั่งราชวงศ์แมนจูล้มไปแล้ว
เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระลอกที่สอง จากระบบสาธารณรัฐเป็นสังคมนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์หนังสือพิมพ์จีน
ก็เปลี่ยนตามไปด้วยโดยแบ่งเป็นฝ่ายที่นิยมจีนแผ่นดินใหญ่และฝ่ายที่ยืนอยู่ข้างรัฐบาลไต้หวัน
87 ปีของหนังสือพิมพ์จีนในไทย ทำให้สีสันทางการเมืองเจือจางลงไปมากตามการคลี่คลายของการเมืองระหว่างประเทศ
คงไว้แต่เพียงจุดยืนอ่อนๆ ที่เกิดจากความผูกพันกับแผ่นดินชาติกำเนิดหรือที่มาของเงินทุน
ประการหลังนี้มีนัยถึงหนังสือพิมพ์จีนฉบับหนึ่งซึ่งตกเป็นกิจการในเครือของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในไต้หวัน
ช่วงเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ มีหนังสือพิมพ์จีนเกิดขึ้นมาแล้วล้มหายตายจากไปรวมแล้วประมาณ
50 ฉบับจนถึงปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 6 ฉบับซึ่งล้วนแต่เป็นหนังสือพิมพ์จีนที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
คือซิงเสียนเยอะเป้า, ตงฮั้ว เกียฮั้ว (ศิรินคร), ซินจงเอี๋ยน และกังเซียน
ในจำนวนนี้ ซิงเสียนเยอะเป้ามีอายุเก่าแก่ที่สุด เพิ่งจะฉลองครบรอบ 40
ปีไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง ซิงเสียนเยอะเป้าก่อตั้งขึ้นโดยสองพี่น้องตระกูลโอ้วคือโอ้วบุ้นโฮ้วและโอ้วบุ้นปา
มหาเศรษฐีชาวสิงคโปร์เจ้าของบริษัทกลุ่มแจ็คเจียผู้ผลิตยาหม่องตราเสืออันลือลั่น
ซิงเสียนเยอะเป้าฉบับแรกออกวางตลาดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2493
ปี พ.ศ.2514 ลูกเขยและลูกสาวของโอ้วบุ้นปาคือ ลี (ลีเอ็กซิม) และสุรีย์
(โอ้วเช็งซิน) สันติพงศ์ชัย ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทซิงเป้า
(ไทย) ซึ่งเป็นเจ้าของซิงเสียนเยอะเป้า และนับแต่นั้นมา ลีก็ได้เข้ามาบริหารซิงเสียนเยอะเป้าจนถึงปัจจุบันที่มีทายาทรุ่นที่สอง
เนตรา ฤทัยยานนท์ ขึ้นมารับช่วงแทน
เนตราเป็นลูกสาวคนที่สามของลี จบการศึกษาระดับปริญญาโทการประชาสัมพันธ์จากมหาวิทยาลัยบอสตันเมื่อสิบปีที่แล้ว
หลังจากทำงานกับบริษัทเพรสโก้ได้ปีเศษก็เข้ามาช่วยพ่อบริหารงานที่ซิงเสียนก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการได้ปีเศษๆ
ต่อจากน้องชายคือ อารี สันติพงศ์ชัย ซึ่งเร้นกายจากสังคมไทยไปเรียนหนังสืออยู่ที่ลอสแองเจลิสในขณะนี้
ระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่สิบปีบวกกับการบริหารงานที่ต่อเนื่องกันมาตลอดในมือของตระกูลสันติพงศ์ชัยแต่เพียงผู้เดียว
ในขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของและทีมบริหารกันมากครั้ง
รวมไปถึงภาพพจน์ "ความเป็นกลาง" ในการเสนอข่าวคราวความเคลื่อนไหวจากแผ่นดินใหญ่มากกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ
เป็นปัจจัยที่ส่งให้ซิงเสียนขึ้นมายืนอยู่หัวแถวเป็นประหนึ่งไทยรัฐของวงการหนังสือพิมพ์จีน
"ถ้ามีคนถามว่าพิมพ์เท่าไร เราจะบอกว่า 80,000 ฉบับต่อวัน" เนตรา
พูดถึงยอดพิมพ์ของซิงเสียนเยอะเป้า ในธุรกิจหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไรนั้นยอดพิมพ์และยอดจำหน่ายนั้นถือเป็นความลับอย่างยิ่งยวดที่คนนอกยากที่จะรับรู้ได้
แม้จะเปิดเผยออกมาบ้างก็เป็นที่รับรู้กันว่าความเป็นจริงหลายเท่าตัว และยังต้องแยกแยะกันให้ชัดเจนระหว่างยอดพิมพ์กับยอดขายด้วย
แหล่งข่าวที่ติดตามความเคลื่อนไหวของหนังสือพิมพ์จีนรายหนึ่ง ประเมินยอดขายรวมกันทุกฉบับว่ามีอยู่ประมาณหนึ่งแสนฉบับต่อวันในจำนวนนี้เป็นของอันดับหนึ่งอย่างซิงเสียนเยอะเป้าประมาณ
25,000 ฉบับต่อวัน
ตลาดของหนังสือพิมพ์จีนนั้นจัดเข้าเป็นตลาดที่เล็กมากเพราะมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะผู้ที่รู้ภาษาจีนเท่านั้น
แถมกลุ่มเป้าหมายนี้นับวันก็จะหดลงทุกที เพราะคนเก่าก่อนที่อ่านได้ก็ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ
คนรุ่นใหม่ก็กลายเป็นไทยเต็มตัวจนละเลยภาษาของบรรพบุรุษเสียสิ้น โรงเรียนสอนภาษาจีนที่เคยมีอยู่มากมายเมื่อสิบกว่าปีก่อนก็ปิดตัวเองจนเหลืออยู่ไม่กี่แห่งเพราะทนขาดทุนไม่ไหว
โรงเรียนที่จะเกิดใหม่ก็เกิดไม่ได้เพราะกฎหมายห้ามเปิด ความแพร่หลายของการใช้ภาษาจีนจึงถูกตีกรอบให้อยู่ในวงแคบๆ
ไปโดยปริยาย
นอกจากนั้นพัฒนาการใหม่ๆ ของหนังสือพิมพ์ไทยอังกฤษและสื่อวิทยุ โทรทัศน์
ก็เป็นไปอย่างรวดเร็วตอบสนองความต้องการข่าวสารของประชาชนได้อย่างทันอกทันใจ
และทั่วถึงยิ่งซ้ำเติมให้หนังสือพิมพ์จีนมีสภาพเหมือนสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์เข้าไปทุกที
อนาคตของหนังสือพิมพ์จีนแม้กระทั่งหมายเลขหนึ่งอย่างซิงเสียนนั้นจึงไม่ต้องถามว่าจะโตไปกว่านี้หรือไม่
เอากันแค่รักษาตลาดที่มีอยู่ในตอนนี้ไม่ให้หดเล็กลงไปให้ได้ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจแล้ว
หนังสือพิมพ์จีนนั้นตีพิมพ์จำหน่ายกันสัปดาห์ละเจ็ดวัน ขายกันฉบับละหกบาทหรือบอกรับเป็นสมาชิกส่งถึงบ้านทุกเช้าในอัตราเดือนละ
150 บาท 80 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายเป็นการขายในระบบสมาชิก ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้หนังสือพิมพ์จีนรักษาจำนวนผู้อ่านไม่ให้ลดลงอย่างฮวบฮาบไว้ได้
เพราะความสัมพันธ์กันอย่างยาวนานตามอายุหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์จีนก็เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวคนจีนที่แม้จะไม่ค่อยได้อ่านกันก็ยังรับเป็นสมาชิกอยู่ด้วยค่าใช้จ่ายเพียงวันละห้าบาทเท่านั้น
ในช่วงห้าปีมานี้จำนวนคนอ่านกลับขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย "ยอดขายของเราในช่วงสองปีมานี้เพิ่มขึ้นประมาณ
10%" วิสิทธิ์ ว่องศิลป์วัฒนา ผู้จัดการทั่วไปซึ่งรับผิดชอบการจัดจำหน่ายด้วยเปิดเผย
ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดูจะสวนทางกับการประเมินจากสายตาคนภายนอกต่อการเติบโตของธุรกิจหนังสือพิมพ์จีนอยู่พอสมควร
ปัจจัยสำคัญที่ดึงให้ยอดขายของหนังสือพิมพ์จีนเขยิบขึ้นมาเล็กน้อยคือกลุ่มผู้อ่านที่เป็นคนไต้หวัน
สิงคโปร์ ฮ่องกงและจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งการลงทุนโดยตรงและการเก็งกำไรที่ดินและตลาดหุ้น
แม้ว่าสังคมธุรกิจไทยจะมีพัฒนาการที่ซับซ้อนขึ้น แต่กลุ่มธุรกิจชาวจีนก็ยังกุมชีพจรการเคลื่อนไหวของธุรกิจไว้
และสายสัมพันธ์ระหว่างคนจีนด้วยกันก็ยังคงมีความสำคัญ หนังสือพิมพ์จีนเป็นสื่อที่จะติดตามและเข้าถึงความเคลื่อนไหวในชุมชนชาวจีนได้ดีที่สุดสำหรับนักธุรกิจเชื้อชาติจีนจากต่างแดน
"หน้าโฆษณาย่อยโดยเฉพาะการซื้อขายที่ดินได้รับความสนใจมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้"
เนตรายกตัวอย่าง
ถึงแม้ว่าตลาดผู้อ่านจะเล็กแต่การแข่งขันกลับไม่รุนแรง เข้าทำนองต่างคนต่างมีกลุ่มผู้อ่านที่แน่นอนของตนอยู่แล้ว
จุดแข่งขันในด้านข่าวของหนังสือพิมพ์จีนแทบจะไม่มี เพราะเกือบทั้งหมดเป็นข่าวที่แปลมา
ถ้าเป็นข่าวต่างประเทศซึ่งหนังสือพิมพ์จีนให้ความสำคัญมาตลอดโดยขึ้นเป็นข่าวหน้าหนึ่ง
และมีจำนวนข่าวมากกว่าหนังสือพิมพ์ภาษาไทย ใช้การซื้อข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศโดยตรง
ส่วนข่าวในประเทศนั้นส่วนใหญ่แปลจากข่าวกรมประชาสัมพันธ์และอ.ส.ม.ท.เป็นหลัก
จุดแข่งขันจึงอยู่ที่การเลือกข่าวและวิธีการแปลข่าวรวมทั้งการพาดหัวซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของหนังสือพิมพ์จีน
หนังสือพิมพ์จีนในยุคที่ข่าวสารทางธุรกิจมีความสำคัญมากขึ้นมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสโดยการแยกข่าวเศรษฐกิจ
ธุรกิจที่เคยแทรกอยู่ในหน้าข่าวในประเทศออกมาเป็นเซ็กชั่นธุรกิจโดยเฉพาะ
"เราเริ่มมีเซ็กชั่นธุรกิจนี้ตั้งแต่ปี 2527" เนตรากล่าว
นอกเหนือจากข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางธุรกิจทั่วๆ ไปแล้ว หน้าธุรกิจของซิงเสียนยังรายงานภาวะการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแบบวันต่อวันเหมือนหนังสือพิมพ์ไทยด้วย
รวมไปถึงความเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยในและนอกประเทศ ราคาพืชผล ราคาทอง
อัตราแลกเปลี่ยน
"เราไม่สามารถเล่นข่าวธุรกิจที่เป็นข่าวเจาะหวือหวาแบบหนังสือพิมพ์ไทยได้"
ทวี ยอดเพ็ชร์ บรรณาธิการของซิงเสียนพูดถึงข้อจำกัดในการเสนอข่าวซึ่งเป็นข้อจำกัดของหนังสือพิมพ์จีนทุกฉบับด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคนจีนจึงมักเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ที่เป็นบวก
โดยหลีกเลี่ยงจากการวิพากษ์วิจารณ์โดยสิ้นเชิง เพราะนักธุรกิจใหญ่ๆ ที่มีเชื้อสายจีนนั้นสามารถบงการความเป็นความตายของหนังสือพิมพ์จีนได้โดยการงดโฆษณาหรือการบีบเจ้าของหนังสือพิมพ์ได้อย่างง่ายดาย
ตงฮั้วยิดเป้าเมื่อสองปีที่แล้ว เคยฉีกธรรมเนียมในวงการด้วยการเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์ธนาคารกรุงเทพอย่างต่อเนื่องหลายฉบับ
โดยแปลมาจากคอลัมน์ของมังกรห้าเล็บในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งทำความฮือฮาให้กับคนอ่าน
ซึ่งเคยอ่านแต่ข่าวในด้านบวกจนทำให้ยอดขายของตงฮั้วเพิ่มขึ้นมา แต่ชาตรี
โสภณพนิช ไม่สนุกด้วย ถึงกับมีคำสั่งให้หยุดการเสนอข่าว ไม่เช่นนั้นจะงดโฆษณาและฟ้องหมิ่นประมาททั่วราชอาณาจักรเดือดร้อนถึงเจ้าของหนังสือพิมพ์ต้องเข้าพบชาตรีเพื่อขอขมาลาโทษเป็นการใหญ่
รายได้จากโฆษณานั้นถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงหนังสือพิมพ์จีนให้มีชีวิตอยู่ได้เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ไทย
แต่หนังสือพิมพ์จีนนั้นยังมีรายได้อีกอย่างหนึ่งที่หนังสือพิมพ์ไทยไม่มีและถือเป็นรายได้ที่สำคัญไม่แพ้การโฆษณาสินค้า
คือการลงประกาศแสดงความยินดีอวยพรหรือแสดงความไว้อาลัยต่อคนจีนที่เสียชีวิต
ซึ่งถือเป็นเรื่องของการยกย่องให้เกียรติต่อบุคคลที่เป็นเป้าหมายของการอวยพรหรือไว้อาลัย
ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องหน้าตาและการรักษาสายสัมพันธ์ของผู้ลงแจ้งความด้วย
"ค่าโฆษณาเต็มหน้าประมาณหนึ่งหมื่นบาทต่อวัน" แหล่งข่าวในวงการเปิดเผยถึงรายได้จากแจ้งความประเภทนี้ซึ่งมีลงทุกวัน
วันละหลายๆ ชิ้น ถ้าเป็นวันเกิดของคนสำคัญอย่างเช่นอุเทน เตชะไพบูลย์ หรือวันมงคลของลูกหลานคนใหญ่คนโตในสังคมชาวจีน
หน้าแจ้งความนี้จะมากถึงกับต้องทำเป็นฉบับพิเศษขึ้นมาซึ่งมีมูลค่าเป็นเงินนับแสนบาท
ปัญหาใหญ่ของหนังสือพิมพ์จีนรมทั้งซิงเสียนในเฉพาะหน้านี้ ไม่ใช่เรื่องคนอ่าน
หรือรายได้ที่จะมาหล่อเลี้ยงตัวเองแต่เป็นปัญหาบุคลากรรุ่นใหม่ที่จะมาทดแทนคนเก่า
คนที่ทำหนังสือพิมพ์จีนอยู่ในปัจจุบันนี้ล้วนแต่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจนถึง
70 กว่า ในขณะที่คนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามามีน้อยมากเพราะหาแรงจูงใจแทบไม่ค่อยได้
แถมยังต้องมีความรู้ภาษาจีนเป็นอย่างดีด้วย
"เรื่องนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ของวงการหนังสือพิมพ์จีน" ทวีกล่าว
40 ปีของซิงเสียนเยอะเป้าในวันนี้ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่จารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย
ความรุ่งโรจน์ที่มากกว่านี้เป็นเรื่องยากเกินจะหวัง ขอเพียงแต่ยืดประวัติศาสตร์หน้านี้ให้ยาวนานสำหรับการฉลองครบรอบให้มากครั้งที่สุดก็เป็นสิ่งที่น่าจะเพียงพอแล้ว