|

ซิตี้แบงก์กำลังเปลี่ยนแปลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ซิตี้แบงก์เปิดให้บริการการเงินในประเทศไทยมากว่า 42 ปี เป็นธนาคารที่ไม่เคยมีสาขามาก่อน เพราะติดเงื่อนไขเป็นธนาคารต่างชาติ แต่นับจากนี้ไปจะเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญ
พลันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุมัติเมื่อกลางปีให้ธนาคารต่างชาติเปิดสาขาได้จำนวน 2 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามกรอบข้อตกลงของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 (ปี 2553-2557)
ทำให้ธนาคารซิตี้แบงก์ฉวยจังหวะเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน เปิดสาขาขึ้นเป็นแห่งแรก ณ อาคารอินเตอร์เชนจ์ 21 บนถนนสุขุมวิท
การขยายสาขามีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของซิตี้แบงก์และสถาบันการเงินแห่งนี้
เริ่มต้นเปิดสาขาใหม่ภายใต้แนวคิดเรียกว่า "สมาร์ท แบงกิ้ง" (smart banking) ให้บริการข้อมูลข่าวสาร บริการสมัครบัตรเครดิต หรือข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของบัญชี รวมไปถึงรับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่
แนวคิดสมาร์ทแบงกิ้ง คือการให้ลูกค้าทำธุรกรรมด้านการเงินด้วนตนเองผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นระบบจอสัมผัส เพราะธนาคารอ้างว่าจากงานวิจัยภายในพบว่าลูกค้าต้องการเข้าถึงธุรกรรมทางด้านการเงินด้วยตัวเอง เพราะในประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 69 ล้านเครื่อง และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ 18 ล้านคน
จุดเด่นของการเข้ามาใช้ระบบคอมพิวเตอร์ภายในสาขาจะแตกต่างจากการใช้โทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ตที่บ้าน
ตรงที่ข้อมูลมีความทันสมัย และได้รับการตอบรับทันที เช่น สมัครบัตรเครดิตจะได้รับอนุมัติทันทีเมื่อเอกสารครบถ้วน ส่วนเจ้าหน้าที่ จำนวน 6 คนจะให้คำแนะนำและช่วยเหลือกรณีลูกค้าต้องการ
สมาร์ทแบงกิ้งมีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศญี่ปุ่น และซิตี้แบงก์อ้างว่าค่อนข้างได้รับความสำเร็จ จึงกลายเป็นกลยุทธ์เปิดสาขาในย่านเอเชียในรูปแบบเดียวกัน เริ่มเปิดในฮ่องกง จีน ไต้หวัน เวียดนาม และไทย
ส่วนในประเทศไทย ซิตี้แบงก์มีแผนจะเปิดอีก 2 แห่งในกรุงเทพมหานคร ในเดือนมกราคมและมีนาคม 2554 ซึ่งได้เลือก ไว้แล้วไม่ไกลจากสำนักงานใหญ่ เน้นในพื้นที่ย่านธุรกิจ
สาขาของซิตี้แบงก์เปิดให้บริการ 7 วัน วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-20.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์เวลา 10.00-19.00 น.
ยุทธศาสตร์การเปิดสาขาของซิตี้แบงก์เป็นเพราะธนาคารมีเป้าหมายจะเข้าไปจับกลุ่มลูกค้ารายย่อยมากขึ้น แม้ในปัจจุบันจะมีกลุ่มลูกค้าบุคคลกว่า 1 ล้านรายก็ตาม ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าถือบัตรเครดิต การเปิดสาขาจึงเป็นหัวใจหลักที่จะเปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มนี้เข้าถึงธนาคารได้ง่ายขึ้น
การพุ่งเป้าไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อยของซิตี้แบงก์ อาจเป็น เพราะลูกค้ากลุ่มนี้มีขนาดใหญ่และการปล่อยสินเชื่อหรือบริการบัตรเครดิตสามารถสร้างรายได้ดอกเบี้ยให้กับองค์กรได้เป็นกอบเป็นกำในอนาคต
แต่ซิตี้แบงก์ไม่สามารถรีบเร่งเปิดสาขาได้รวดเร็วและจำนวนมาก เพราะการเปิดสาขาของธนาคารต่างชาติต้องเป็นไปตามแผนพัฒนาการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ฉบับที่ 2 เปิดโอกาสให้ธนาคารต่างชาติเปิดสาขาได้อีก 20 แห่ง และตู้เอที เอ็ม 20 ตู้ แต่มีเงื่อนไขว่าธนาคารต่างชาติจะต้องจดทะเบียนเป็น บริษัทไทยก่อนและขั้นตอนทั้งหมดอยู่ในกระบวนการดำเนินงาน ของซิตี้แบงก์
แผนการเปิดสาขาของธนาคารซิตี้แบงก์จะไม่เป็นรูปแบบสมาร์ทแบงกิ้งทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย เพราะปัจจุบันธนาคารมีตู้เอทีเอ็ม 10 แห่ง และมีสาขาของซิตี้ แอดวานซ์ เป็นธุรกิจนอนแบงก์ด้านสินเชื่อบุคคลของซิตี้ใน ไทย จำนวน 42 สาขาทั่วประเทศ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|