“ค้าปลีก” ล่า...ลูกค้าออนไลน์


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากบิ๊กซี เบียด โลตัส ซื้อกิจการคาร์ฟูร์ในเมืองไทยได้สำเร็จ ว่ากันว่าสมรภูมิที่ร้อนแรงขึ้นมาทันทีทันใด กลับไม่ใช่สโตร์นับร้อยแห่งที่เหล่าไฮเปอร์มาร์เกตเป็นเจ้าของ แต่เป็นสมรภูมิค้าปลีกในโลกออนไลน์ต่างหาก

การเปิดตัวเว็บไซต์ www.atbigclick.com ที่มี Mooto ห้อยท้ายว่า Click and Pick เปิดให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ได้ง่ายๆ สะท้อนให้เห็นถึงการรุกคืบครั้งใหญ่ของบิ๊กซีในตลาดใหม่ๆ ที่มีโอกาส เพราะมองเห็นถึงศักยภาพและการเติบโตของตลาดดังกล่าวในเมืองไทยที่เติบโตมากขึ้นทุกปี

จริยา จิราธิวัฒน์ รองประธานฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIG C คาดว่า การซื้อสินค้าผ่านออนไลน์จะมีการสั่งซื้อไม่น้อยกว่า 100 รายการต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่า @BIGCLiCK จะสามารถสร้างยอดขายได้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทภายใน 2 ปี

ไอลีน วี รองประธาน และผู้จัดการประจำประเทศไทย มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการชอปปิ้งออนไลน์ใน 14 ประเทศรวมทั้งไทย พบว่า การชอปปิ้ง ออนไลน์และอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สังเกตได้จากจำนวนผู้ซื้อของออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น และมูลค่าเฉลี่ยของการใช้จ่ายในการซื้อของออนไลน์ก็สูงขึ้นจาก 400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 13,200 บาท จากผลสำรวจครั้งก่อน เพิ่มขึ้นเป็น 550 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18,150 บาท ในการสำรวจรอบนี้ โดยผู้บริโภคผู้ชายที่อายุระหว่าง 35-44 ปี จะมีการชอปปิ้งมากกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึง 620 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 20,460 บาท

“นักชอปคนไทยมีทัศนคติที่ดีในการชอปปิ้งออนไลน์ โดย 85% ให้ความเห็นว่าการซื้อของออนไลน์เป็นช่องทางที่สะดวก และจำนวน 81% มองว่าง่าย และอีก 77% บอกว่าสนุก สำหรับประเทศไทย มีผู้บริโภคที่ตั้งใจจะซื้อของออนไลน์ในอนาคต เพิ่มขึ้นจาก 66% เมื่อปีที่แล้ว เป็น 69%”

ในรอบผลสำรวจนี้ โดยเว็บไซต์สินค้าที่คนไทยเข้าไปชมมากที่สุด คือ เว็บโหลดเพลง จำนวน 53% เสื้อผ้า เครื่องประดับจำนวน 50% ภาพยนตร์จำนวน 49% และซูเปอร์มาร์เกต หรือซูเปอร์สโตร์จำนวน 43% ส่วนสินค้าและบริการออนไลน์ยอดนิยมที่คนไทยชอปมากที่สุด คือ เสื้อผ้าสตรี และเครื่องประดับจำนวน 47% ซีดี ดีวีดี วีซีดี จำนวน 30% และเครื่องสำอางจำนวน 30%” ปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้นักชอปชาวไทยชอปออนไลน์ คือ ราคาถูก เมื่อเทียบกับสินค้าที่มีวางจำหน่ายในร้านค้า และมีจำหน่ายเฉพาะออนไลน์เท่านั้น

อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด กล่าวสนับสนุนว่า ในปีหน้า การค้าปลีกออนไลน์ Retail e-Commerce และการค้าบนเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก Social Commerce จะมาแรง ถือได้ว่าปีหน้าจะเป็นปี Kick-off ของร้านค้าออนไลน์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ของไทย และจำนวนของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและมั่นใจกับการจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์มีมากขึ้น นับเป็นช่องทางที่เป็นยุทธศาสตร์ในการแข่งขันที่น่าจับตามอง เพราะการปิดการขายและชำระเงินได้ทันทีย่อมเป็นเป้าหมายในฝันของธุรกิจส่วนใหญ่

เจ้าของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซรูปแบบต่างๆ จึงต้องมีความสามารถในเรื่อง Usability & User Experience ที่ตอบโจทย์ การบริหารจัดการและวางแผนการขาย การสต๊อกสินค้าและการขนส่งที่แม่นยำ รวมถึงการให้ความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ ในขณะเดียวกันเราจะเห็นร้านค้าออนไลน์แบบ Social Commerce ที่เข้ามาเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

แม้ว่าแนวโน้มตลาดชอปปิ้งออนไลน์จะดูสดใส แต่ดูเหมือนว่า เทสโก้ โลตัส ยักษ์ค้าปลีกจากยูเครายนี้ กลับยังไม่ตัดสินใจที่จะลงสนามดังกล่าว แม้จะมีความพร้อมทั้งเงินลงทุน และโนว์ฮาวจากบริษัทแม่ก็ตามที

“เราสนใจ แต่อยู่ระหว่างการศึกษาความพร้อมของตลาด แม้บริษัทแม่ของเราจะมีโนว์ฮาวที่เข้มแข็ง สะท้อนได้จากรายได้การค้าออนไลน์ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ผมก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะเข้ามาทำธุรกิจในตลาดนี้ได้เมื่อใด” ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส เทสโก้ โลตัส บอกกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์”



ในขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่างเทสโก้ โลตัส กำลังละล้าละลัง แต่ค้าปลีกรายอื่นๆ ทั้งรายใหม่และเก่า กลับตัดสินใจลงสู่สนามนี้อย่างเต็มตัว อาทิ Uber Mall ห้างสรรพสินค้าเสมือนจริง 3 มิติ แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือในการพัฒนาดิจิตอล คอนเทนต์ ร่วมกันระหว่าง ไทย เจนเนอเรชั่น และบริษัท ดิจิคราฟต์ จำกัด ผู้พัฒนาและก่อตั้ง U Town สังคมออนไลน์เสมือนจริง ในรูปแบบ 3 มิติ หรือ 3D Virtual Community Online ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

หรือการจัดทำ www.2010MegaSale.com เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของธนาคารกสิกรไทย โดยมีจุดเด่นในเรื่องความมั่นใจในระบบการชำระเงินที่มีความปลอดภัยสูงสุด

ล่าสุดกับการทุ่มงบ 50 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบไอทีของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รุกธุรกิจออนไลน์โดยให้บริการผ่านเว็บไซต์ www.central.co.th โดยมีสินค้า 5,000 รายการจาก 8 แคทิกอรี เช่นเดียวกับเดอะมอลล์ซึ่งตั้งเป้าจะเปิดแผนกชอปปิ้งออนไลน์ขึ้นมาโดยตรงในปีหน้า

ทั้งนี้ จากการวิจัยล่าสุดโดย PayPal และ Blackbox พบว่า การชอปปิ้งออนไลน์ได้รับการตอบรับเพิ่มมากขึ้นจากผู้บริโภคในประเทศไทย จากผลการศึกษาพบว่า กว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างมีความต้องการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ และคาดว่า 53% ของค่าใช้จ่ายโดยรวมเกิดจากการใช้จ่ายทางออนไลน์ทั้งสิ้น

ไม่นานมานี้ อีเบย์ อิงค์ ยักษ์ใหญ่ในวงการชอปปิ้งออนไลน์ เปิดเผยว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังไปได้สวยจากการเติบโตของธุรกิจเพย์พาล (PayPal) ที่มียอดการเปิดบัญชีใหม่เพิ่มขึ้นถึงล้านบัญชีต่อเดือน อีกทั้งส่วนแบ่งภายในตลาดอีคอมเมิร์ซมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง มากกว่า 40% ต่อปี สนับสนุนให้บรรดาเว็บไซต์ให้บริการเช่าพื้นที่ร้านค้าออนไลน์มีรายได้มากขึ้น แม้สินค้าที่นำมาขายจะเป็นสินค้ามือสองหรือของใช้แล้วก็ตาม

ไม่เพียงเท่านั้น การเข้าสู่โลกชอปปิ้งออนไลน์ ยังเปิดทางใหม่ให้เจ้าของโมเดิร์นเทรด สามารถจัดกิจกรรมกับลูกค้าได้ผ่านคูปองส่วนลด ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มที่ได้รับความสนใจในต่างประเทศ โดยเฉพาะการจัดทำ deal พิเศษ 10 ชิ้นต่อวัน ใครมาก่อนได้ก่อน และแสดงเวลานับถอยหลังนาทีโปรโมชั่น ซึ่งเท่ากับเร่งให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการยังสามารถเข้าถึงพฤติกรรมการสั่งซื้อสินค้าของผู้บริโภคแต่ละราย และสามารถนำมาออกแบบบริการให้สอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภคได้มากขึ้น สร้างความประทับใจ และภักดีต่อแบรนด์ของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง


**************

15 อันดับสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการชอปปิ้งออนไลน์

1.หนังสือและงานศิลปะ
2.อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
3.คือ CD DVD และ VCD
4.เสื้อผ้าแฟชั่นของผู้หญิง
5.ตั๋วเครื่องบิน
6.ของเล่นและของขวัญ
7.ของอุปโภค บริโภค
8.บัตรชมภาพยนตร์และคอนเสิร์ต
9.เครื่องสำอาง
10.ของใช้ส่วนตัว
11.จองโรงแรม
12.เสื้อผ้าแฟชั่นของผู้ชาย
13.ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
14.ยา
15.ประกันภัย

โดย MasterCard


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.