|
หัวเฉียวย้ำอัตลักษณ์ผู้นำด้านจีน เปิด 3 หลักสูตร ป.โท รับตลาดโต
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
หัวเฉียวเน้นอัตลักษณ์ความเข้มแข็งด้านจีน ยกระดับสาขาสู่ “คณะภาษาและวัฒนธรรมจีน” โชว์ศักยภาพเปิดหลักสูตรปริญญาโท 3 หลักสูตรรวด รองรับอัตราการขยายตัวของผู้เรียนภาษาจีนในไทยที่เปิดสอนกันตั้งแต่ระดับประถมยันมัธยมปลาย และสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดระดับปริญญาแต่ยังไม่ขยายปริญญาโท ด้านการแข่งขันระดับปริญญาตรียอมรับแข่งขันสูงแต่เน้นจุดแข็งปี 3 เรียนที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในจีนดึงดูดผู้เรียน พร้อมปักธงเบอร์ 1 มหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญด้านจีนในภูมิภาคเอเชียรองจากจีนเจ้าของประเทศ
18 ปีของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2535 และสาขาภาษาและวัฒนธรรมจีน ที่ฝั่งตัวอยู่กับคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้โชว์ศักยภาพความแข็งแกร่งด้านจีนในมิติต่างๆ โดยเฉพาะภาษาและวัฒนธรรม ล่าสุดจึงยกฐานะเป็น “คณะภาษและวัฒนธรรมจีน”
ผศ.ดร.อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ รองอธิการบดีและรักษาการคณบดีคณะภาษาและวัฒนธรรมจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ให้เหตุผลว่า อัตราการขยายตัวของผู้สนใจศึกษาต่อภาษาจีนเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในสาขาดังกล่าวระดับปริญญาตรีเฉลี่ยปีละ 200 คน จึงยกระดับจากสาขาขึ้นเป็นคณะเพื่อผลักดันความเข้มแข็งให้มากขึ้นขณะเดียวกันเพื่อย้ำถึงอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยคือความแข็งแกร่งด้านภาษาจีนตลอดระยะ 18 ปีที่ผ่านมา
และในปีการศึกษา 2554 นี้ได้ขยายหลักสูตรปริญญาโท จากเดิมมี 1 หลักสูตรคือวรรณกรรมจีน ขยายอีก 3 หลักสูตรคือ 1.การสื่อสารภาษาจีนเชิงธุรกิจ เป็นหลักสูตรที่ต่อยอดจากปริญญาตรี 2.การสอนภาษาจีน รองรับนักศึกษาที่จบเอกภาษาจีนในระดับปริญญาตรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูสอนภาษาจีนตั้งแต่ระดับประถม มัธยม อุดมศึกษา ซึ่งมองว่าเทคนิคการสอน กระบวนการจัดการเรียนรู้ภาษาจีนให้นักศึกษาที่เป็นภาษาที่ 2 มีความสำคัญ
และ 3.จีนศึกษา ให้ความรู้เรื่องให้ความรู้เกี่ยวกับจีนทั้งหมดทั้งหมดศิลปวัฒนธรรม วรรณคดี การเมือง เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง การค้า เป้าหมายคือผู้มีพื้นความรู้ภาษาจีนเป็นอย่างดีหรือจบเอกภาษาจีน แต่ต้องการมีความรู้เกี่ยวกับประเทศจีนเป็นอย่างดี โดยสอนเป็นภาษาจีนทั้งหมด
ซึ่งทั้ง 3 หลักสูตรระดับปริญญาโทได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในจีน เช่น หลักสูตรจีนศึกษาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยครุศาสตร์กว่างซี กุ้ยหลิน หลักสูตรการสอนภาษาจีนร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกว่างซี หลักสูตรการสื่อสารภาษาจีนเชิงธุรกิจร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และการค้ายูนาน ส่วนหลักสูตรวรรณคดีจีนเปิดไปแล้ว 1 รุ่น ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียว มณฑลฟูเฉี้ยน
“ปริญญาโททั้ง 4 หลักสูตรมีอาจารย์จากจีนมาร่วมสอนเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้ด้วย การเปิดหลักสูตรปริญญาโทเพื่อรองรับนักศึกษาที่จบปริญญาตรีปีละ 200 คน ส่วนใหญ่จะเรียนต่อโทจะไปที่ประเทศจีน ซึ่งอัตราค่าเล่าเรียนสูงกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับเรียนที่หัวเฉียวอยู่ที่ 1.8-2 แสนบาทตลอดหลักสูตรระยะเวลา 2 ปี ทำให้นักศึกษาบางรายไม่มีศักยภาพเพราะค่าใช้จ่ายสูง การมาเรียนต่อที่หัวเฉียวจึงประหยัดได้มาก ขณะหลักสูตรมีมาตรฐานเทียบเท่าเพราะเป็นหลักสูตรความร่วมมือ หัวเฉียวเปิดมาจึงเป็นทางเลือก หนึ่ง เพราะส่วนใหญ่ต่อโทเกือบทุกคนเพราะมองการแข่งขันในตลาดแรงงาน” ผศ.ดร.อุไรพรรณ กล่าว
และสำหรับการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปัจจุบันมี 2 สาขาวิชาคือ วรรณกรรมจีนและภาษาจีนเชิงธุรกิจ ในการเข้าศึกษาต่อนั้นสำหรับที่หัวเฉียวจะมีการดีไซน์หลักสูตรเฉพาะกลุ่มนักศึกษาโดยแยกระดับความรู้ด้านภาษาจีนของนักศึกษาก่อน ซึ่งแตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาที่อื่น ทำให้การพัฒนาความรู้ภาษาจีนของนักศึกษาในระดับต่างๆ ไม่ติดขัด ขณะเดียวกันนักศึกษาที่มีพื้นฐานด้านภาษาจีนที่ดีสามารถยกเว้นหรือการเรียนภาษาจีนในระดับพื้นฐานได้มากถึง 21 หน่วยกิต และให้ลงเรียนภาษาจีนในเชิงลึกแทน
ซึ่งกลยุทธ์การเจาะตลาดนักศึกษาระดับปริญญาตรี จากข้อมูล สกอ. ระบุว่ามีหลายสถาบันการศึกษาเปิดปริญญาตรีภาษาจีนจำนวนมาก ฉะนั้นกลุ่มเป้าหมายก็มีจำนวนมากเช่นกัน และปัจจุบันหัวเฉียวเป็นเบอร์ 1 ในตลาดที่สามารถรองรับจำนวนนักศึกษาที่ต้องการเรียนต่อด้านจีนปีละ 200 คน และมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 20-30%
ขณะเดียวกันในระดับมัธยมปลาย นักเรียนจำนวนมากเรียนเพิ่มเติมกับสถาบันภาษาจีน และหัวเฉียวได้ร่วมมือกับหอการค้าไทย จีน เปิดสอนภาษาจีนสำหรับเด็ก รวมถึงความร่วมมือกับโรงเรียนมัธยมที่เปิดสอนภาษาจีนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายรวม 10 แห่ง ในเขตภาคตะวันออกและจังหวัดสมุทรปราการ สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน หาครู หาสื่อการเรียนหนังสือ ตำรา และช่วยเหลือ จัดอบรมระยะสั้นให้กับนักเรียนหรือจัดภาคฤดูร้อนที่จีน และมีทุนการศึกษาโรงเรียนละ 1 ทุนเพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวตลอดหลักสูตร
ขณะเดียวกันด้วยองค์ประกอบของคุณภาพด้านภาษาจีน และหลักสูตรระดับปริญญาโทรองรับ ทำให้ปีการศึกษา 2554 นี้มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรดับเบิลดีกรีหรือตรีควบโท ระยะเวลาเรียน 5 ปี เพื่อจูงใจนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่สนใจศึกษาต่อในปริญญาต่อโทด้านจีนตัดสินใจเลือกเรียนภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียว
ผศ.ดร.อุไรพรรณ กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาคณะภาษาและวัฒนธรรมจีน ว่า 1.ใน2 ปีข้างหน้าระดับปริญญาตรีนั้นจะขยายสาขาภาษาจีนเพื่อการสื่อสาร 2.ให้ความสำคัญกับคุณภาพอาจารย์ผู้สอนโดยประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่อยู่ในความร่วมมือแลกเปลี่ยนอาจารย์และพัฒนาคุณภาพอาจารย์ไทยควบคู่กันไป 3. พัฒนาทักษะภาษาจีนให้กับนักศึกษา โดยเพิ่มหลักสูตรระยะสั้นเรียน 1 ปีในจีนหรือจัดการสอนภาษาจีนในช่วงซัมเมอร์ในหลักสูตรอื่นๆ
4.บริการวิชาการกับสังคม เป็นแหล่งศึกษาวิจัย ฐานข้อมูลจีนในประเทศไทย ปัจจุบัน มีสถาบันในมหาวิทยาลัยบริการสังคม 2 สถาบันคือ 1. สถาบันไทยจีนศึกษา ศึกษาวิจัยขยายองค์ความรู้ให้กับสังคม2.สถาบันธุรกิจไทยจีนภิวัฒน์ ศึกษาค้นคว้าเผยแพร่เกี่ยวกับธุรกิจจีน ศูนย์การให้ความรู้ธุรกิจในจีน และแมทชิ่งนักธุรกิจไทยจีน และอีก 1 ศูนย์คือ ศูนย์แต้จิ๋ววิทยา เตรียมร่วมมือสถาบันแต้จิ๋วที่ซัวเถา ทำกิจกรรมศึกษาวิจัยเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับแต้จิ๋ว เพราะมีคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.อุไรพรรณ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหัวเฉียวมีเป้าหมายที่ในการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเข้มแข็งด้านจีนในภูมิภาคเอเชีย นอกจากจีนที่เป็นเจ้าของประเทศ โดยกลยุทธ์การขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนผ่านโครงการความร่วมมือมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ทุกสาขาวิชา และครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านที่พักและค่าใช้จ่ายรายเดือนตลอดการศึกษาในไทย
วัชระ แซ่ตั้ง
จุดอ่อน-จุดแข็ง นศ.ไทย
จากใจ 'อาจารย์เฉิน'
กว่า 3 ปีที่ “อาจารย์เฉิน” หรือชื่อ-สกุลไทย ว่า “วัชระ แซ่ตั้ง” เป็นสอนอาจารย์สอนวิชาการแปล ที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวพร้อมรับทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเดียวกันนี้
บอกกล่าวว่านักศึกษาไทยมีความแตกต่างจากนักศึกษาจีน แต่ภายใต้ระบบการศึกษาที่แตกต่างกันนั้นยังพบว่านักศึกษาไทยมีความพยายามศึกษาหาความรู้และค้นคว้าด้วยตนเอง แตกกต่างจากนักศึกษาจีนที่มักทำงานตามคำสั่งอาจารย์ผู้สอนมากกว่า ขณะเดียวกันนักศึกษาไทยยังมีความละเมียดละไมในการทำรูปเล่มรายงานที่สวยงามและน่าสนใจมากกว่า
จากการสอนวิชาการแปลให้กับนักศึกษาไทย พบว่าความสนใจต่อภาษาจีนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อนักศึกษาไทยได้มีโอกาสเดินทางไปยังประเทศจีนทั้งการท่องเที่ยวหรือศึกษาต่อในระยะสั้น เมื่อกลับมาต่างมาสอบถามความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับประเทศจีนมากขึ้นและสนใจที่จะเดินทางไปศึกษาต่อหรือทำธุรกิจระหว่างไทยจีน
และในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนวิชาการแปลยอมรับว่าวิชาดังกล่าวต้องกระตุ้นความสนใจผู้เรียนพอสมควร เทคนิคการสอนของตนนั้นจึงนำเรื่องราวต่างๆ รอบตัว หนัง ละคร เพลง มาให้นักศึกษาแปลเพื่อกระตุ้นความสนใจผู้เรียนมากขึ้น
และชี้ให้เห็นความสำคัญของภาษาจีน ณ ปัจจุบัน มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน ในอาเซียนภาษาจีนควรเป็นภาษาที่ 2 เพราะจีน เป็นประเทศใหญ่โต เศรษฐกิจขยายตัวมาก มูลค่ารวมมากกว่าประเทศญี่ปุ่นหรือเป็นอับดับ 2 ของโลก โดยเฉพาะการค้าระหว่างไทย จีน มีสินค้าแลกเปลี่ยนระหว่างกันจำนวนมาก ดังนั้นภาษาจีนจึงสำคัญในการติดต่อค้าขายกัน
รวมถึงการถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเองเมื่อครั้งที่เรียนภาษาไทยในระดับปริญญาตรีในจีน ที่ต้องอาศัยความรู้นอกตำราเช่นกัน ด้วยการฟังเพลง ดูหนัง ละคร จากประเทศไทยและเมื่อเดินทางมาไทยก็พยายามพูดคุยกับชาวไทยและอ่านป้ายโฆษณาตามสถานที่ต่างๆ ที่ไป ทำให้ปัจจุบันนี้ทักษะภาษาไทยด้านการฟัง-พูด ได้ดีกว่า 90% ส่วนด้านการเขียนยังอ่อนกว่านี้แต่ไม่มาก
อาจารย์เฉิน บอกถึงความสนใจในภาษาไทยโดยเลือกเรียนภาษาและวัฒนธรรมไทยในระดับปริญญาตีที่มหาวิทยาลัยในจีน มาจากปัจจัยเรื่องภูมิภาคที่อาศัยในมณฑลกว่างซี เมืองหนานหนิง ที่ติดกับชายแดนเวียดนาม ซึ่งเมืองหนานหนิงจะจัดงานเอ็กซ์โปร์ อาเซียน เป็นประจำทุกปี เห็นความสำคัญของภูมิภาคอาเซียนทั้งทางด้านการค้า กาลงทุนและเศรษฐกิจในอนาคต จึงเป็นแรงผลักดันที่เลือกเรียนภาษาในภูมิภาคอาเซีย ซึ่งขณะนั้นในมหาวิทยาลัยได้เปิดสอน 2 ภาษาคือภาษาไทยและภาษาเวียดนาม แต่ได้เลือกเรียนภาษาไทยเพราะความชอบในประเทศไทยเป็นการส่วนตัว
และกับเป้าหมายในอนาคตเมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทด้านเอ็มบีเอแล้วจะยังคงทำการสอนควบคู่กับการทำธุรกิจส่วนตัวในประเทศไทยเป็นการนำเข้า ส่งออกสินค้าของ 2 ประเทศคือระหว่างสินค้าไทยกับสินค้าจีน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|