“โออิชิที่ไร้ตัน ระวังอย่าทำเสียแบรนด์”


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

“ปัจจุบันบริษัทมีธุรกิจอาหารที่เน้นทำตลาดในช่วงเช้าและเย็นเท่านั้น”

ไพศาล อ่าวสถาพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผย

“บริษัทมีแผนที่จะขยายธุรกิจอาหารเข้าไปในส่วนของอาหารว่าง หรือขนมประเภทสแน็ก รวมไปถึงการทำอาหารกลุ่มแช่แข็ง ไอศกรีมและอาหารว่างระหว่างวัน”

“ตอนนี้เรากำลังศึกษาตลาดทั้งหมดที่เกี่ยวกับธุรกิจอาหารไม่ว่าจะเป็นกาแฟ หรือไอศกรีม รวมไปถึงขนมหวาน” เขากล่าวต่อ

คอนเซ็ปต์ของอาหารที่บริษัทจะนำเข้ามาทำตลาด บริษัทยังคงเน้นไปที่ความเป็นอาหารญี่ปุ่น เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจอาหารของบริษัท

“หากเราหาข้อสรุปได้ รูปแบบของการทำตลาดที่บริษัทวางไว้เบื้องต้น เราคงนำอาหารกลุ่มดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายภายในร้านอาหารเครือโออิชิเพื่อเป็นการเสริมไลน์ของธุรกิจให้มีความครบวงจร” ไพศาล กล่าว

จากแผนการดำเนินธุรกิจดังกล่าว บริษัทอาจจะต้องเพิ่มงบประมาณการพัฒนาธุรกิจมากกว่า 300 ล้านบาทที่เตรียมไว้เบื้องต้น

นอกจากเพิ่มประเภทของสินค้า นั่นคือการขยายไปสู่พื้นที่ สู่ทำเลของลูกค้าใหม่ๆ

โออิชิ มีแผนที่จะขยายธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นไปยังตลาดต่างจังหวัด
เนื่องจากยังมี “ช่องว่าง” ให้เข้าไปทำตลาดอีกมาก

ปัจจุบัน ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นยังคงกระจุกตัวอยู่เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงทำให้โออิชิเล็งเห็นช่องว่างที่จะเข้าไปทำตลาดดังกล่าว
โออิชิมองว่าธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นยังคงมีอัตราการเติบโตที่ดี เฉลี่ยต่อปีที่ประมาณ 15% เช่นเดียวกับปีนี้

ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ดีกว่าธุรกิจร้านอาหารจีนและอิตาเลียน
ขณะที่ภาพรวมตลาดธุรกิจร้านอาหารในปีนี้คาดว่ามีอัตราการเติบโตไม่ถึง 10%

“ล่าสุดบริษัทได้ใช้งบ 300 ล้านบาท ในการสร้างครัวกลางแห่งใหม่ในบริเวณใกล้เคียงกับแห่งเก่าที่ย่านนวนคร เนื่องจากโรงงานแห่งเก่าเริ่มมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากบริษัทมีการขยายธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในอนาคตอันใกล้นี้ บริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวธุรกิจร้านอาหารเพิ่มขึ้น จึงทำให้ครัวกลางผลิตสินค้าไม่ทัน”

“อย่างไรก็ตาม คาดว่าปลายปีนี้จะเริ่มก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ได้ หลังจากนั้นคาดว่าอีกประมาณ 2 ปีการก่อสร้างจึงจะแล้วเสร็จ” เขากล่าวทิ้งท้าย

แมทธิว กิจโอธาน กรรมการผู้จัดการคนใหม่ บมจ.โออิชิ กรุ๊ป เข้ารับตำแหน่งต่อจากตัน ซึ่งลาออกไปอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

“ผมมีความมุ่งมั่นที่จะเสริมทัพให้โออิชิ ก้าวต่อไปด้วยความแข็งแกร่งในระดับสากล เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของคุณตัน ภาสกรนที ในฐานะผู้ก่อตั้ง เนื่องจากตลอด 11 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าคุณตันได้ทำสิ่งที่ยากที่สุดแห่งการทำธุรกิจสำเร็จเรียบร้อยแล้ว นั่นคือการสร้าง “แบรนด์โออิชิ”ให้เป็นที่รู้จักและครองตลาดเป็นอันดับ 1 ทั้งธุรกิจอาหารและธุรกิจเครื่องดื่มชาเขียวมาอย่างต่อเนื่อง”

“เป้าหมายต่อไปในการบริหารของผมวันนี้ก็คือ มีหน้าที่สร้างความ “สดใหม่” ให้กับโออิชิ พร้อมขยายผลต่อยอดการเติบโต โดยใช้นวัตกรรมการตลาดและระบบการบริหารงานที่เป็นสากลเข้ามาเสริมทัพโออิชิให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”

ก้าวต่อไปของโออิชิคือ การเตรียมสร้างความเป็นแบรนด์ระดับโลก (Global Brand) โดยอาศัยช่องทางที่มีประสิทธิภาพของกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มาช่วยจัดวางระบบ และที่สำคัญต้องเตรียมพร้อมสำหรับการขยายตัวของจำนวนพนักงาน ด้วยการเพิ่มโอกาสทางด้านความก้าวหน้าของพนักงานในการเจริญเติบโตไปพร้อมกับองค์กร

“ช่วงแรกของการบริหารงานโออิชิ กรุ๊ป ผมให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการทำงาน และกิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กรให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและคล่องตัวเหมือนเดิม โดยจะรักษาวัฒน ธรรมเดิมของโออิชิ คือความใกล้ชิดเป็นกันเองและสนุกสนานกับงานไว้ ในขณะเดียวกันก็จะผสานวัฒนธรรมองค์กรดังกล่าวเข้ากับการบริหารอย่างมีระบบ เสริมสร้างความเป็นมืออาชีพให้กับพนักงานทุกระดับเพื่อเพิ่มความแม่นยำและถูกต้องมากขึ้น”

โออิชิที่ไร้ตัน จะสามารถเติบโตได้อย่างเคยหรือไม่?

จะก้าวขึ้นสู่โกลบอลแบรนด์อย่างไร?

อะไรจะเป็นหัวหอกแห่งการเติบโต?

บทวิเคราะห์

โออิชิที่ไร้ตันเป็นเรื่องน่าศึกษามาก ว่าจะอยู่อย่างไร นี่เป็นประเด็นที่พูดกันมานาน เพราะนี่เป็นบริษัทที่สร้างโดยตัน ภาสกนที ซึ่งถูกขนานนามว่า ตัน โออิชิ ไปแล้ว

ลักษณะเช่นนี้หมายความว่าโออิชิมีส่วนต่อความสำเร็จขององค์กรอย่างมาก เช่นเดียวกับ Apple ที่ขับเคลื่อนโดย สตีฟ จ๊อบส์ ตั้งแต่เป็นวุ้นกระทั่งนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อถูกไล่ออกไปโดยบอร์ดร่วมมือกับ จอห์น สกัลลี่ แม้แอปเปิลจะอยู่ได้ แต่ก็ชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อขาดซีอีโอที่เป็นเสมือนหนึ่งดีเอ็นเอ ก็ถึงกาลล่มสลายในเวลาต่อมา

กรณีโออิชิก็เช่นกัน คุณตันเปรียบเสมือนลมหายใจของบริษัท เขาเป็นคนคุมโทน กำหนดลมหายใจของบริษัท หลายอย่างเขาไม่ทำเพราะจะส่งผลต่อแบรนด์โออิชิทางลบ

แต่เมื่อไม่มีเขาอยู่เสียแล้ว ดูเหมือนว่าโออิชิจะทำทุกอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายในการเติบโต

John Sculley อดีตซีอีโอแอปเปิลบอกว่า สตีฟ จ๊อบส์ บอกว่าการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดบางครั้งไม่ใช่การตัดสินใจว่าจะทำอะไร แต่ตัดสินใจว่าจะไม่ทำอะไร

ขณะที่ตันอยู่นั้นเขาคัดง้างไม่ให้โออิชิทำอะไรหลายอย่างเพื่อรักษาแบรนด์โออิชิไว้ แต่วันนี้เมื่อไม่มีคุณตันแล้ว ใครจะเป็นคนคุม

วันนี้ผู้บริหารโออิชิควรโฟกัสในชาเขียวมากกว่า เพราะการที่ยูนิฟนำโฆษณาชุดเก่าเมื่อ 5 ปีที่แล้วมาอีกครั้ง ย่อมแสดงว่ายูนิฟพร้อมเปิดศึกเต็มตัว

ก่อนจะไปเปิดสมรภูมิใหม่ควรรักษาอู่ข้าวอู่น้ำของตนเองก่อนดีกว่า

นี่คือการรู้จักจัด Priority

หนึ่งในปัจจัยแห่งชัยชนะ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.