|
หอการค้าไทยผนึกเอกชน ต้านร่าง พรบ.ควบคุมเหล้า 4 ฉบับ
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
การสัมมนาในเรื่อง “ผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และร่างกฎหมายอนุบัญญัติ 4 ฉบับ” ของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ลงความเห็นว่า เป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบการ ร้านค้า ภัตตาคาร และสถานบันเทิงเกินไป เพราะเป็นการทำโดยไม่ได้ปรึกษากับฝ่ายผู้ประกอบการเลย ทั้งที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าวมีทั้งตัวแทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร สมาคมผู้ประกอบการถนนข้าวสาร และกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เข้าร่วม วัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจหลายภาคส่วนจากร่างกฎหมายที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำร่างอนุบัญญัติ 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า, ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวิธีการหรือลักษณะในการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานหรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย ประธานการสัมมนาฯ กล่าวว่า การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อพิจารณาและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการและเจตนารมณ์ของข้อกฎหมายดังกล่าว ถึงผลกระทบต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากข้อบังคับในเรื่องการโฆษณา และผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากที่ผ่านมาการออกกฎหมายลูกไม่ได้ให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
โดยการติดภาพฉลากคำเตือนที่บรรจุภัณฑ์ ได้กำหนดให้มีป้ายคำเตือนเป็นรูปภาพประกอบคำเตือนจำนวน 6 แบบ ซึ่งจะต้องสับเปลี่ยนคำเตือนทั้ง 6 แบบในอัตรา 1 แบบต่อบรรจุภัณฑ์ 1,000 หน่วย การแสดงคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์ที่มีรูปทรงต่างๆ ต้องมีขนาดตามที่กฎหมายกำหนด และจะต้องแสดงบนตัวบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุปิดทับบรรจุภัณฑ์ในลักษณะที่ติดอยู่ถาวรไม่หลุดลอกหรือทำลายได้โดยง่าย โดยที่ประชุมเห็นว่า ป้ายคำเตือนดังกล่าว จะมีผลกระทบทั้งผู้ประกอบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการผลิตในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากนานาประเทศไม่มีข้อกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ รวมถึงภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งถือเป็นการทำลายภาพพจน์ของสินค้าแอลกอฮอล์มากกว่าเป็นการควบคุม เพราะภาพคำเตือนมีลักษณะไม่เหมาะสม
สำหรับการจำกัดพื้นที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา 500 เมตร นั้น ที่ประชุมเห็นว่า จะมีผลกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยว และกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า เนื่องจากตามสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญต่างๆ อาทิ กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ ซึ่งหากมาตรการดังกล่าวมีการบังคับใช้ ผู้ประกอบการก็แทบจะไม่มีพื้นที่ในการจำหน่าย เพราะเป็นแหล่งที่มีสถานศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้เทศกาลท่องเที่ยวต่างๆ มีปัญหา
อีกทั้งการห้ามมิให้มีการโฆษณาในรูปแบบต่างๆ อาทิ ป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โต๊ะ เก้าอี้ ร่ม ที่เขี่ยบุหรี่ และอุปกรณ์การขาย ที่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ความช่วยเหลือตามร้านประกอบการ ซึ่งมีการตรวจจับไม่เหมาะสมเกินควร จับกุม คุมขัง เรียกเงินประกันตัวสูง โดยที่รัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือ
ส่วนมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผสมกับน้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือน้ำที่มีกลิ่นของผลไม้ หรือสิ่งอื่นใด เพื่อไม่ให้มีร้านเหล้าปั่น แต่หมายรวมถึงค็อกเทล พันช์ ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน ซึ่งมาตรการตามกฎหมายเดิมได้มีการควบคุมอยู่แล้ว
การกำหนดสถานที่หรือบริเวณที่ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ภายในหรือบนยานพาหนะทางบก ที่อยู่ในที่หรือทางสาธารณะ รวมถึงห้ามดื่มในสถานที่หรือบริเวณของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ เนื่องจากพื้นที่การจัดงานต่างๆ อาทิ เทศกาล มหกรรม งานตามประเพณี ส่วนใหญ่ถูกจัดขึ้นในพื้นที่หน่วยงานรัฐ แต่ไม่สามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
โดยในที่ประชุมสรุปว่า ทางหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร สมาคมผู้ประกอบการถนนข้าวสาร และกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จะมีการเดินสายจัดสัมมนาตามพื้นที่จังหวัดต่างๆ ถึงผลกระทบจากร่างกฎหมายดังกล่าว
พร้อมทั้งลงนามรายชื่อเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน และส่งถึงรัฐบาล เพื่อเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการทบทวนกฎหมาย โดยควรให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณา รวมทั้งออกแนวนโยบายในการเข้าตรวจผู้ปฏิบัติ เนื่องจากการออกร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบการ ร้านค้า ภัตตาคาร และสถานบันเทิงเกินไป เพราะเป็นการทำโดยไม่ได้ปรึกษากับฝ่ายผู้ประกอบการเลย ทั้งที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|