|
โซเชียลมีเดีย ปรับกลยุทธ์รับทศวรรษหน้า
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ช่วงใกล้สิ้นปี นักการตลาดเริ่มเตรียมการและแผนงานการตลาดสำหรับสู้ศึกการตลาดปีหน้าคงเป็นเรื่องที่ไม่ผิดปรกติ แต่สิ่งที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในปีหน้าคือ การปรับเปลี่ยนแผนงานการตลาดใหม่ๆ อาจจะเกิดขึ้นเป็นรายไตรมาส แทนที่จะเป็นแผนรายปีหรือราย 3 ปี อย่างที่คุ้นเคยมาในอดีต
ทั้งนี้ เพราะความมั่นใจของนักการตลาดต่อแนวโน้มของธุรกิจและแนวโน้มการตลาดมีเพียงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 3 เดือนเท่านั้น และมีการคาดเดากันว่าสถานการณ์ทางการตลาดที่จะใช้ในการประกอบการตัดสินใจกลยุทธ์ทางการตลาด จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนต้องการการปรับเปลี่ยนแผนบ่อยครั้งขึ้น
ในปีต่อๆ ไปก็เช่นกัน โอกาสที่นักการตลาดจะจัดทำแผนระยะยาวอย่าง 3 หรือ 5 ปี เหมือนกับแผนกลยุทธ์ทั่วไป คงเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกกิจกรรมทางการตลาดบนโลกการตลาดสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้ง
สมมติฐานสำคัญประการแรกของความลำบากในการเลือกกิจกรรมบนโซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้ง ก็คือ สถานภาพทางการตลาดโดยรวมหรือภาวะเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเป็นอย่างไรกันแน่ในทศวรรษหน้า
นักการตลาดส่วนใหญ่ตอนนี้เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกในทศวรรษหน้าน่าจะมีอัตราการเติบโตที่ต่ำมาก และน่าจะยังเป็นสภาวะของเงินฝืดเคือง ผู้คนมีอำนาจและกำลังซื้อสินค้าและบริการลดลง แม้ว่าระดับราคาสินค้าจะปรับลดลงไปก็ตาม แต่ก็อาจจะไม่สามารถกระตุ้นยอดการซื้อให้เพิ่มขึ้นได้ มีการพยากรณ์ว่าโซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้ง ในทศวรรษหน้าจะมีรูปโฉมเปลี่ยนแปลงไปจาก 25 ปีที่ผ่านมาในหลายประการ
ประการแรก นักการตลาดมีแนวโน้มจะเปลี่ยนกิจกรรมทางการตลาดแบบอื่นๆ สู่การตลาดบนเสิร์ชเอนจิ้นมากขึ้น โดยคาดว่าราว 50% ของการเพิ่มขึ้นของโซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้งจะมาจากการลดลงของการตลาดบนสื่อสิ่งพิมพ์ ราว 35% จะโอนย้ายมาจากไดเรกต์เมล ส่วนอีก 25% น่าจะมาจากการโฆษณาที่เคยแสดงภาพบนเว็บ
ประการที่สอง การตัดสินใจเลือกช่องทางหรือเครื่องมือการทำตลาดบนโซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้ง มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนักการตลาดจะพยายามพิสูจน์หรือคำนึงถึงความคุ้มค่าหรือผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้น แทนที่จะลงทุนตามๆ ผู้ประกอบการรายอื่นไปก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่าการทำกิจกรรมทางการตลาดจะต้องเกิดประสิทธิผล มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้าไปจากเดิมที่เป็นผลทางบวกต่อกิจการ
ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนไปของนักการตลาดมาจากการจับตามองและการตั้งข้อสังเกตว่าลงทุนในโซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้งไปแล้ว กิจการได้อะไร ลูกค้าเปลี่ยนไปอย่างไร เป็นการดำเนินงานที่สูญเปล่า สิ้นเปลืองแบบบอกผลลัพธ์ไม่ได้หรือเปล่า
ดังนั้น หากนักการตลาดไม่สามารถทำให้เกิดความชัดเจนว่าการลงทุนในกิจกรรมทางการตลาด แม้แต่บนโซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้งจะมีผลที่คุ้มค่า ประเด็นของความคุ้มค่าด้านการลงทุนทางการเงินจึงกลายเป็นความท้าทายของนักการตลาดที่ยังต้องการการพิสูจน์มากขึ้นในทศวรรษหน้านี้
ประการที่สาม แม้แต่งานการตลาดบนสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้ง เองจะสร้างความหวังว่าจะเป็นเครื่องมือและช่องทางของการทำกิจกรรมทางการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเครื่องมืออื่นๆ ก็ตาม แต่การทำแผนระดับปฏิบัติการในการตลาดแบบโซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้งก็ยังคงเป็นความท้าทายของนักการตลาดอยู่ดี
เพราะกลยุทธ์โซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้งยังคงต้องการการปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวดเร็ว และทันการด้วย ไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการทุกรายจะมีความสามารถในการทำการตลาดโซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้งแล้วคุ้มค่าเสมอไป
ประการที่สี่ โลกการตลาดชี้ชัดว่าสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้ง ไม่อาจจะแยกออกจากโลกออนไลน์โดยรวมได้อีกต่อไป โดยมีข้อมูลว่าเฟซบุ๊กปัจจุบันมีคนเข้าไปใช้งานราวเดือนละ 500 ล้านราย ซึ่งมากกว่า 70% ของการใช้งานอยู่นอกสหรัฐฯ และการสื่อสารของเฟซบุ๊กคิดเป็นสัดส่วนราว 30-40% ของความคับคั่งของการจราจรบนโลกออนไลน์
อาจจะกล่าวได้ว่า 1 ใน 5 ของคนที่ใช้เว็บใช้เฟซบุ๊กหรือทริตเตอร์ เช็กสถานะการเข้ามาใหม่ของข้อความในเมสเซจ และราว 94% ของผู้ประกอบการระบุว่าจะยังคงลงทุนหรือเพิ่มการลงทุนในเครื่องมือโซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้งต่อไป ที่สำคัญ เทคโนโลยีการใช้งานทางเว็บกำลังขึ้นไปถึงระดับอิ่มตัว และไม่ใช่ข้อจำกัดของการพัฒนาโซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้ง อีกต่อไป
ผู้ประกอบการรายใดก็ได้สามารถจะคิดค้น นำเสนอนวัตกรรมแปลกใหม่เพื่อส่งเสริมโซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้งได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีใครได้เปรียบกว่ากัน อยู่ที่ว่าใครจะสามารถแปลงข้อมูลข่าวสารให้เป็นพลังทางการตลาดที่ทรงประสิทธิผลได้
ตัวอย่างเช่น เฉพาะกรณีของการสื่อสารการตลาดผ่านไอโฟนอย่างเดียว ก็มีการสื่อสารการตลาดคิดเป็นกว่า 30% ของการจราจรบนเว็บในทุกวันนี้แล้ว และมีการคาดหมายว่าจะมีจำนวนผู้ใช้มือถือเพื่อออนไลน์หรือท่องเว็บไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านคนในปีนี้ด้วย
ประการที่ห้า นักการตลาดบางส่วนเชื่อว่าตนจะมีความสามารถทำกิจกรรมบนโซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้ง เพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าของการตลาดสื่อสังคมออนไลน์ ในทศวรรษหน้าได้ และเชื่อว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่จะไม่อาจมีอิทธิพลผูกขาดบนโลกออนไลน์อีกต่อไป
โลกเสมือนจริง หรือ Virtue Market เกมออนไลน์ การกำหนดอวตาร เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงและการบูรณาการกันของโลกออนไลน์กับโลกออฟไลน์
เมื่อระยะทางไม่ใช่อุปสรรคของการติดต่อ กำแพงทางกายภาพคงจะลดลงเรื่อยๆ และผู้คนจะสามารถแสวงหาข้อมูลได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น สามารถพบกันได้ในพริบตา นั่นหมายความว่า ผู้บริโภคจะมีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการสแกนสินค้าหรือบริการที่ต้องการ และที่วางจำหน่ายบนตลาดออนไลน์ และการสั่งซื้อสินค้าทางตลาดออนไลน์ก็เป็นไปได้และได้รับการยอมรับมากขึ้น
กิจกรรมทางการตลาดแบบดั้งเดิม จึงถูกบังคับให้ลดบทบาทลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักการตลาดที่ผู้ประกอบการต้องการก็ต้องเป็นนักการตลาดที่มีความเข้าใจและสามารถเข้าถึงลูกค้าบนโซเชียล มีเดีย มาร์เกตติ้งเท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|