“มายสเปซ” หนีตาย เชื่อมเฟซบุ๊กหวังเพิ่มรายได้


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

กระแสความนิยมในการเข้าสู่สื่อสังคมออนไลน์คงไม่มีอะไรมาหยุดได้อีกต่อไป และความยิ่งใหญ่ของสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กก็เป็นสิ่งที่สื่อสังคมออนไลน์ในชื่ออื่นๆ ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ กำแพงที่เคยสร้างไว้เพื่อกีดกันให้มีขอบเขตที่จำกัด หรือลูกค้าของใครของมัน ไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับลูกค้าของสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ จึงค่อยๆ ทลายลงไปตามความจำเป็น เพราะต้องยอมรับในการมีตัวตนอยู่ และศักยภาพของการขยายตัวที่มาจากการเชื่อมโยงมากกว่ามาจากโมเดลการอยู่เกาะเพียงโดดเดี่ยว

สิ่งที่ว่านี้กำลังเกิดขึ้นกับมายสเปซ ซึ่งได้นำเทคโนโลยีที่เรียกว่า มาสอัพ Mashup มาทำการรวมหรือเชื่อมโยงระหว่างโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่แตกต่างกัน สร้างเป็นโปรแกรมซอฟต์แวร์ใหม่ เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมระหว่างมายสเปซกับเฟซบุ๊ก

เมื่อทำการรวมโปรแกรมซอฟต์แวร์กับเฟซบุ๊กแล้ว ต่อจากนี้ไปผู้ใช้บริการที่เป็นสมาชิกของมายสเปซจะสามารถคลิกปุ่มคอนเนกต์ (connect) เพื่อปรับโปรไฟล์บนมายสเปซให้แบ่งปันความเห็น ข้อมูลด้านเอนเตอร์เทนเมนต์กับสมาชิกของสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ทั้งเฟซบุ๊กได้ด้วย

ที่จริง มายสเปซไม่ใช่รายแรกที่เปิดให้เกิดการเชื่อมโยงเว็บไซต์ของตนกับเฟซบุ๊ก ปัจจุบันมีเว็บไซต์มากกว่าล้านเว็บไซต์ที่สมาชิกสามารถติดต่อข้ามฟากไปยังเฟซบุ๊กได้ในส่วนของสังคมเอนเตอร์เทนเมนต์

มีการวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไปว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ของมายสเปซมีเบื้องหลังในประเด็นอื่นอยู่ด้วย ประการแรก การดำเนินงานของมายสเปซที่ผ่านมายังประสบกับผลขาดทุน ไม่สามารถทำกำไรได้จากการสร้างรายได้ด้านการโฆษณาบนเว็บไซต์

นอกจากนั้น ส่วนแบ่งทางการตลาดที่คำนวณจากยอดการใช้จ่ายในงานโฆษณาบนเว็บไซต์ของเฟซบุ๊กได้เพิ่มขึ้นไป จากสัดส่วนเพียง 36% เป็น 50% ของยอดการใช้จ่ายเพื่อการโฆษณาบนเว็บไซต์แล้ว

ในขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดของมายสเปซลดลงจากประมาณ 32% เหลือเพียง 19% ทำให้มายสเปซต้องทำการปรับปรุงโครงสร้างการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว

หลังจากที่มายสเปซเลิกจ้างพนักงานไป 30% เมื่อปี 2009 จำนวนพนักงานปัจจุบันมีประมาณ 1,000 คน เปลี่ยนตัวซีอีโอมาแล้ว 2 คนในช่วงเวลาเพียงปีเดียว สถานะทางการเงินรวมทั้งผลการดำเนินงานไม่เป็นที่เปิดเผยชัดเจน เพราะรวมอยู่ในงบการเงินของบริษัท นิวส์ คอร์ป ที่เป็นกิจการแม่ และน่าจะมีสมาชิกที่เข้าไปใช้งานบนมายสเปซประมาณเดือนละ 43 ล้านคน

ตัวเลขอื่นที่น่าสนใจที่พอจะหาได้จากการดำเนินงานของมายสเปซ ได้แก่ จำนวนผู้เข้าไปใช้งานมายสเปซในช่วง 9 เดือนของปีนี้มีจำนวนประมาณ 125 ล้านราย และจำนวนผู้ใช้บริการในปัจจุบันมีประมาณ 122 ล้านราย ลดลงไปประมาณ 3% เทียบกับการเติบโตของผู้ใช้บริการผ่านเฟซบุ๊กที่อยู่ในราว 48% ต่อปี และมีจำนวนผู้ใช้บริการราว 469 ล้านราย

จำนวนคนเข้าไปเยี่ยมชมหน้าเพจของมายสเปซในช่วง 9 เดือนอยู่ที่ 3,500 ล้านครั้ง และปัจจุบันลดลงเหลือ 2,000 ล้านครั้ง ลดลงไป 44% เทียบกับเฟซบุ๊กที่มีการเติบโต 118% และมีจำนวนคนเยี่ยมเว็บราว 193,000 ล้านครั้ง นอกจากนั้น ปัญหาของมายสเปซยังมาจากการที่ไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาบริการสมาชิกได้อย่างชัดเจนและโดนใจ

ประการที่สอง บริษัท นิวส์ คอร์ป ได้เข้าไปซื้อกิจการของมายสเปซเมื่อปี 2005 ด้วยเงิน 580 ล้านดอลลาร์ และนับจากนั้นมา ผลการดำเนินงานของมายสเปซก็แย่ลง ในขณะที่เฟซบุ๊กมียอดสมาชิกเพิ่มทะลุไปถึง 500 ล้านรายแล้ว มายสเปซกลับมีจำนวนสมาชิกลดลง กรณีเปิดการเชื่อมโยงครั้งนี้ก็ช่วยเพิ่มความหวังว่ามายสเปซจะสามารถรักษาและเพิ่มจำนวนสมาชิกได้อีกครั้ง

จากที่หยิบยกมา ทำให้เห็นว่า ปัญหาในการดำเนินงานน่าจะมาจากทางมายสเปซมากกว่าเฟซบุ๊ก และเป็นปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ก่อนเกิดการเปลี่ยนมือเจ้าของเมื่อปี 2005 ด้วย ซึ่งเจ้าของใหม่อย่าง นิวส์ คอร์ป จะต้องหาทางปรับปรุงและแก้ไขเป็นการด่วน

ซึ่งการประเมินจากผู้บริหารใหม่เห็นว่าจำนวนสมาชิกหลาย 10 ล้านรายของมายสเปซ ทำให้มายสเปซยังมีโอกาสที่จะพลิกฟื้นธุรกิจ และกลับมาทำกำไรจากการดำเนินงานได้ในอนาคต การสร้างสะพานเชื่อมโยงระหว่างสมาชิกของมายสเปซกับสมาชิกของเฟซบุ๊กครั้งนี้ จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนงานสนับสนุนการรำลึกฟื้นกิจการของมายสเปซในอนาคต

นอกจากนั้น การเปิดให้มีการเชื่อมโยงครั้งนี้เป็นเรื่องของเอนเตอร์เทนเมนต์ ภาพยนตร์ที่ชอบ เพลงที่แนะนำในหมู่สมาชิกของสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่ได้สร้างความเสียหายหรือความเสี่ยงให้กับมายสเปซ เพราะเป็นเรื่องที่ยิ่งมีจำนวนคนเมาท์มากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมัน และมีรสชาติ

ความสนุกของสมาชิกย่อมนำมาซึ่งความนิยม การติดกับมายสเปซ และความคึกคักของการใช้งานบนสื่อสังคมออนไลน์ จะช่วยทำให้มายสเปซมีโอกาสสร้างรายได้ในโอกาสต่อไปด้วย

มายสเปซเป็นเว็บไซต์บนสื่อสังคมออนไลน์ที่มีฐานะธุรกิจอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย เคยเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2006 ก่อนที่จะถูกเฟซบุ๊กแย่งตำแหน่งนี้ไปตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา

โอกาสเดียวที่มีการประเมินกันในขณะนี้สำหรับมายสเปซก็คือ การแยกกระบวนการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการเว็บไซต์ออกมาจากบริษัทแม่อย่าง นิวส์ คอร์ป เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและทันกับสถานการณ์ทางการตลาด

มายสเปซในอนาคตต้องการการบริหารจัดการที่เฉียบขาด และใช้กึ๋นให้มากขึ้น ไม่ใช่การมีผู้บริหารร่วมที่ใช้หลายคนตัดสินใจอย่างที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถกำหนดแผนปรับผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.