|
“โลว์คอสต์” ยังหอมหวาน สายการบินทั่วเอเชียแห่ลงทุน
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ว่ากันว่าความมหัศจรรย์ของเจ็ทสตาร์ และความยิ่งใหญ่ของแอร์เอเชีย ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจ และคู่แข่งสำคัญที่ทำให้สายการบินเต็มรูปแบบต้องเร่งปรับตัวกันยกใหญ่
นอกเหนือจากการขยับตัวของการบินไทยและสิงคโปร์แอร์ไลน์สแล้ว ก็ยังมีสายการบินยักษ์ใหญ่ในเอเชียอีกหลายสาย ที่ประกาศตัวว่าจะลงมาสู่สมรภูมินี้ โดยเฉพาะ 2 สายการบินยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง เจแปน แอร์ไลน์ส (JAL) และแอร์นิปปอน แอร์เวย์ส (ANA) ที่ตัดสินใจเตรียมลงมาจับธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำด้วยตนเองภายในปีหน้า โดยจะให้บริการเที่ยวบินราคาต่ำกว่าที่เป็นอยู่ถึงเท่าตัว
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า แอร์นิปปอน แอร์เวย์ส ดูจะมีความเคลื่อนไหวชัดเจนมากกว่า เจแปนแอร์ไลน์ส ซึ่งกำลังวุ่นวายอยู่กับการปรับโครงสร้างบริษัทให้พ้นจากการล้มละลาย ล่าสุด ANAได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับ เฟิร์สท์ อีสเทิร์น อินเวสต์เมนท์กรุ๊ป ของฮ่องกง ซึ่งเป็นกลุ่มการลงทุนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในฮ่องกง และมีสำนักงานสาขาในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ดูไบ และลอนดอน เพื่อเปิดตัวสายการบินต้นทุนต่ำในปีหน้า
สื่อมวลชนในญี่ปุ่นต่างประโคมข่าวว่า การจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อบริหารสายการบินต้นทุนต่ำแห่งนี้จะเสร็จสิ้นในช่วงปลายปี 2553 โดยนักลงทุนญี่ปุ่นจะถือหุ้นในสัดส่วน 66.7% ซึ่งหุ้น 39% ในจำนวนดังกล่าวจะถือครองโดย ANA ขณะที่ เฟิร์สท์ อีสเทิร์น จะถือหุ้นที่เหลืออีก 33.3% ซึ่งเป็นเพดานการถือครองหุ้นของต่างชาติในสายการบินญี่ปุ่น
สายการบินต้นทุนต่ำดังกล่าวจะให้บริการเส้นทางบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ จากท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ ซึ่งเป็นสนามบินหลักของ ANA ในราคาประมาณ 5,000 เยน (2,500 บาท) หรือหนึ่งในสามของค่าตั๋วรถไฟชินคันเซนที่วิ่งในเส้นทางเดียวกัน และคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ภายใต้ชื่อแบรนด์อื่นที่ไม่ใช่ ANA
จากการเปิดเผยของแหล่งข่าว ราคาเที่ยวบินระหว่างประเทศของสายการบินใหม่นี้ก็จะให้บริการในราคาต่ำเช่นกัน โดยเฉพาะเที่ยวบินจากคันไซไปประเทศในอาเซียน เนื่องจากต้องการแข่งขันกับสายการบินโลว์คอสต์จากประเทศอื่น
ขณะเดียวกัน เวียดนามได้ปรากฏโฉมเครื่องบินโดยสารแบบ บอมบาเดียร์ ลำแรก จากทั้งหมด 4 ลำ มาถึงท่าอากาศยานเตินเซินเญิต นครโฮจิมินห์ รายงานข่าวแจ้งว่า เป็นการส่งมอบอย่างเป็นทางการ เพื่อทำให้ “สายการบินแอร์แม่โขง” ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนใหม่สายใหม่ของเวียดนามให้ขึ้นบินได้ตามกำหนดในวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา
สายการบินใหม่ของเวียดนามจะใช้บอมบาเดียร์ CR J-900 แบบ 90 ที่นั่ง ให้บริการเชื่อมปลายทางต่างๆ ในประเทศ เป็นคู่แข่งโดยตรงกับเวียดนาม แอร์ไลน์ส ทั้ง 4 ลำ เช่าจากบริษัท สกาย เวสต์ลีสซิ่ง ในสหรัฐฯ อีก 3 ลำ ที่เหลือจะทยอยส่งมอบภายในปีนี้ ขณะที่ต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการฝึกฝนพนักงานบริการให้ชินกับเครื่องบินดังกล่าว
เครื่อง CR J-900 ใช้รันเวย์ความยาวเพียง 1,600 เมตร ในการบินขึ้น-ลง ทำให้สามารถใช้สนามบินได้เกือบจะทุกแห่งในเวียดนาม ซึ่งทำให้สายการบินใหม่มีตลาดอย่างกว้างขวาง
แอร์แม่โขง ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2551 และก่อตั้งในปี 2552 แต่เพราะสภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงที่ผ่านมา แต่ในขณะนี้พร้อมเปิดให้บริการตามเงื่อนไขทั้งหมดแล้ว โดยได้การรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานของรัฐ
ตามแผนธุรกิจที่วางไว้นั้น แอร์แม่โขง จะเปิดบินเชื่อมฮานอยกับโฮจิมินห์ กระจายไปยังเกาะฟุก๊วก เกาะท่องเที่ยวในอ่าวไทย โฮจิมินห์-ดานัง-ดาลัด และญาจาง และโฮจิมินห์-เกาะกงด๋าว เมืองบวนแมะท๊วด นครหายฟ่อง และเมืองวีง เมืองท่าใน จ.เหงะอาน ในภาคกลางตอนบนติดชายแดนลาว โดยว่าจ้างนักบินกว่า 40 คน พนักงานประจำเครื่องอีก 50 คน ทั้งหมดได้รับการฝึกฝนฝึกอบรมจากสถาบันการบินแห่งชาติ
แอร์แม่โขง เป็นสายการบินเอกชนแห่งที่ 3 ถัดจากสายการบินต้นทุนต่ำ คือ เวียดเจ็ตแอร์ ที่ยังไม่พร้อม เนื่องจากแผนร่วมทุนกับแอร์เอเชียแห่งมาเลเซีย ไม่ได้รับอนุมัติ และอินโดไชน่า แอร์ไลน์ส ที่พับฐานไปแล้ว ปัจจุบันยังมีสายการบินวาสโก้แอร์ เป็นบริษัทลูกของสายการบินแห่งชาติ และเจ็ทสตาร์ แปซิฟิก ที่ร่วมทุนกับแควนตัส จากออสเตรเลีย เปิดให้บริการแบบโลว์คอสต์เช่นกัน
ตามแผนการดั้งเดิม ปีนี้รัฐบาลเวียดนาม จะออกใบอนุญาตให้จัดตั้งสายการบินเอกชนอีก 2-3 แห่ง แต่เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ทำให้แผนการต้องเปลี่ยนไป ตัวเลขของกระทรวงวางแผนการลงทุน สายการบินเวียดนาม เจอปัญหาตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี คาดว่าปีนี้ผลประกอบการจะขยายตัวเพียงประมาณ 4.9% เทียบกับ 15.8% ในปี 2551
ทั้งนี้ เจ็ตสตาร์ แปซิฟิก เป็นสายการบินต้นทุนต่ำแห่งแรกของเวียดนาม โดยรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ รายงานผลประกอบการขยายตัว 28.7% ในไตรมาส 1 ซึ่งลดลงอย่างมาก หากเทียบกับอัตราการเติบโตทั้งปี 54.6% เมื่อปีที่แล้ว
อินโดไชน่า แอร์ไลน์ส สายการบินต้นทุนต่ำอีกแห่ง ที่เปิดให้บริการมา 6 เดือน ต้องลดเที่ยวบินโฮจิมินห์ฮานอย ลงครึ่งหนึ่ง และได้เลิกสัญญาเช่าเครื่องบินเพิ่ม ปัจจุบันให้บริการได้เพียงวันละ 1 เที่ยวบิน ด้วยเครื่องบินเพียงลำเดียว
ส่วนเวียดเจ็ตแอร์ สายการบินเอกชนแห่งแรกของประเทศ ที่ได้รับในอนุญาตเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ต้องใช้ความกล้าหาญเป็นพิเศษ เพื่อขึ้นบินเที่ยวบินปฐมฤกษ์ให้ได้ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง ไม่เช่นนั้นจะถูกยกเลิกใบอนุญาต
ในประเทศอินเดียก็ไม่น้อยหน้า เมื่อทางการอินเดียอนุมัติเงินจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 46 ลำให้กับสายการบินต้นทุนต่ำ 3 สาย ได้แก่ สไปซ์เจ็ต, อินดิโก และเจ็ตไลต์ เนื่องจากการเดินทางฟื้นตัว การสั่งซื้อฝูงบินมูลค่า 190,000 ล้านรูปี หรือประมาณ 4,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการบินพลเรือนและเครื่องบินใหม่จะเริ่มรับมอบในเดือนพฤศจิกายนนี้
ภายใต้การอนุมัติครั้งนี้ โบอิ้งจะซัปพลายเครื่องบินให้ 32 ลำ และจากแอร์บัส 14 ลำ ซึ่งการสั่งซื้อเครื่องบินให้กับสายการบินต้นทุนต่ำครั้งนี้สะท้อนให้เห็นการขยายตัวที่สำคัญในตลาดอินเดีย โดยสายการบินต้นทุนต่ำรวมกันแล้วให้บริการขนผู้โดยสารในอินเดียประมาณ 50%
สาเหตุที่สายการบินของอินเดียขยายฝูงบินได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินโลก กระตุ้นการเดินทางทางอากาศเพิ่มขึ้น โดย อินเดียน แอร์ไลน์ ขนผู้โดยสารได้ 44 ล้านคนในปีที่ผ่านมา ซึ่งทางโบอิ้งคาดหมายจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในปีนี้ 8-10%
ส่วนสไปซ์เจ็ตได้รับอนุมัติจากทางการอินเดียในการสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 รวม 30 ลำกำหนดเริ่มส่งมอบในปี 2557 ส่วน อินดิโก ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำรายใหญ่สุดมีส่วนแบ่งตลาด 16.9% ได้รับอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบิน เอ-320 รวม 14 ลำ สำหรับปี 2554-2555
สำหรับสายการบินเจ็ตไลต์ ซึ่งเป็นสายการบินในเครือเจ็ตแอร์เวย์สได้รับอนุญาตให้ซื้อโบอิ้ง 737-800 รวม 2 ลำ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ การอนุมัติครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลอนุมัติในหลักการให้อินดิโกซื้อเครื่องบินใหม่ 150 ลำในอีก 2-3 ปี เนื่องจากมองหาเส้นทางบินระหว่างประเทศ
นักวิเคราะห์จากอินเดีย ระบุว่า สายการบินต้นทุนต่ำที่บูมในอินเดีย บีบให้สายการบินปรกติอย่าง คิงฟิชเชอร์แอร์ไลน์ และเจ็ตแอร์เวย์สเริ่มหันมาเปิดสายการบินแบบประหยัด โดยปรับเปลี่ยนที่นั่ง 60-70% ไปให้กับสายการบินต้นทุนต่ำ อย่างเจ็ตไลต์และเจ็ต คอนเน็ค รวมทั้ง คิงฟิชเชอร์ เรด ส่วนแอร์อินเดียที่รัฐบาลเป็นเจ้าของก็กำลังมองหาลู่ทางเปิดสายการบินต้นทุนต่ำในประเทศ ซึ่งที่นั่งที่เพิ่มขึ้นมาตั้งเป้าเป็นที่นั่งราคาถูกในเครือข่ายการบินในประเทศถึง 80%
สำหรับในประเทศมาเลเซียนั้น นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค แห่งมาเลเซีย เข้าร่วมในพิธีเพื่อก่อสร้างสนามบินขนาดใหญ่แห่งแรกของโลก ซึ่งถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อรองรับสายการบินต้นทุนต่ำโดยเฉพาะ โดยสนามบินแห่งใหม่นี้ เป็นที่รู้จักกันในชื่อของ เคแอลไอเอ 2 และตั้งอยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ไปทางตะวันตกราว 2 กิโลเมตร ซึ่งมีกำหนดก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2555 เพื่อแทนที่อาคารผู้โดยสาร “โลว์คอสต์ แคร์ริเออร์ เทอร์มินัล” ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2549
มูลค่าการก่อสร้างสำหรับโครงการนี้อยู่ที่ 2,500 ล้านริงกิต หรือกว่า 25,000 ล้านบาท และเคแอลไอเอ 2 สามารถรองรับผู้โดยสารในเบื้องต้นได้ถึง 30 ล้านคน พร้อมคาดการณ์ว่า ความต้องการเดินทางด้วยเครื่องบินของสายการบินต้นทุนต่ำของประชาชนยังจะคงดำเนินต่อไปในอีก 10 ถึง 15 ปีข้างหน้า
นักวิเคราะห์อีกรายชี้ว่า ในอนาคตอันใกล้อาจจะเห็นสายการบินเต็มรูปแบบออกมาขยับและปรับตัวกันอีกหลายสายการบิน เขาฟันธงว่าธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำยังจะเติบโตต่อไปอีก โดยคาดว่าจะสามารถชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจการบินภายในภูมิภาคจากในปัจจุบัน 20% เพิ่มเป็น 35% ภายในปี 2015
ที่สำคัญไปกว่านั้น โมเดลการเติบโตของแอร์เอเชีย และเจ็ทสตาร์ จะกลายเป็นตัวอย่างให้กับสายการบินต้นทุนต่ำอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งจะสร้างแรงกดดันอันมหาศาลให้กับสายการบินเต็มรูปแบบอีกมากมายหลายสายการบินในอนาคต
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|