ดันอีโคคาร์สุดลิ่ม รัฐใช้นำร่องอุตฯ สีเขียว


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

การเปิดตัวโครงการอีโคคาร์ หรือรถยนต์ประหยัดพลังงานของนิสสัน มาร์ช สร้างความตื่นเต้นให้กับตลาดรถยนต์อย่างมากด้วยยอดขายเดือนละมากกว่า 2,000 คัน และมียอดจองค้างส่งอีกกว่า 3-4 เดือน ขณะที่ ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) เองก็เตรียมบุกตลาดอีโคคาร์จากโครงการเดียวกันในเดือนกันยายน 2554 โดยมีการเปิดตัวรถต้นแบบที่มีรูปทรงคล้ายกับรุ่นที่จะทำตลาดมากที่สุดในงาน มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 27 นี้

ทั้งนี้ ในเวลาเพียง 24 เดือนที่ออกมาเผยโฉม ภายใต้เงื่อนไขของอีโคคาร์ ที่กำหนด ประเด็นสำคัญไว้ คือเรื่องของอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน และอัตราการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียที่เข้มงวดที่สุดในโลก สำหรับรถเล็กรถยนต์นั้นถือเป็นภาคการผลิตอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมหนักที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากมองทิศทางของภาคนโยบายของรัฐในแง่ของอุตสาหกรรม ถือว่านี่คือส่วนหนึ่งของการสร้างรถยนต์สีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรม

ในการสัมมนาหัวข้อ “ก้าวต่อไปของ อุตสาหกรรมไทย บนมิติของความไว้วางใจ” เมื่อเร็วๆ นี้ ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ย้ำถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศว่า กระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมให้โรงงานมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล มีการเปิดเผยข้อมูล พร้อมกับส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน ในการร่วมแก้ไขปัญหาและตรวจสอบมลพิษในสถานประกอบการ

ตั้งแต่ปี 2551-2553 มีโรงงานอุตสาหกรรมผ่านเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมแล้ว 500 ราย จากเป้าหมายกำหนดไว้เพียง 233 ราย นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในท้องถิ่นให้มีส่วนร่วม

ในการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมได้แล้วถึง 58 เครือข่ายใน 7 จังหวัดในแถบภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ นอกจากนี้ ยังเป็นการสื่อสารถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียว GO GREEN สนับสนุนโรงงานสีเขียว การประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม

เน้นหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล (ISO 14000) การใช้เทคโนโลยีสะอาด และการประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ส่วนมาตรการระยะยาว กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ECO-industrial Town) โดยการพัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดภายใน 10 ปีนับจากนี้ไป โดยนำร่อง 3 แห่งคือ นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ และนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด นอกจากนี้ จะต้องสื่อสารทำความเข้าใจและอธิบายให้ชุมชน ประชาชน โดยเฉพาะระดับผู้นำชุมชน ท้องถิ่น ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจน โดยจะเน้นสื่อสารถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวสู่ประชาชน ที่เห็นชัดเจนคือ การปลูกต้นไม้แนวป้องกัน (Buffer Zone) และแนวช่องลม (Protection Stript) ในมาบตาพุด ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรมและเขตประกอบอุตสาหกรรมให้มากขึ้น

โดยสิ่งที่ดำเนินการไปแล้วคือ 1.การส่งเสริมการผลิตสินค้าสีเขียว ลดใช้ทรัพยากรพลังงาน ตลอดจนมลพิษตั้งแต่ต้นกำเนิด 2.ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม (CSR) 3.ภาครัฐกำหนดเกณฑ์จัดซื้อจัดจ้าง พิจารณาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก่อน 4. การส่งเสริมรถยนต์ประหยัดพลังงานตามมาตรฐานสากล (Eco Car)

จากนี้ไป ในทุกๆ ปี เรายังคงจะได้เห็นรถยนต์ใหม่ของโลกจากการส่งเสริมรถยนต์ประหยัดพลังงานตามมาตรฐานสากล ซึ่งปีต่อไปคือ รถจากซูซูกิ ถัดจากนั้นคือ มิตซูบิชิและโตโยต้า ยักษ์ใหญ่ โดยรถเหล่านี้ยังมีรุ่นย่อยอีกมากมายที่จะออกมาทำตลาด ทั้งหมดนั้นถือ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย กรีน คาร์ ที่นโยบายของภาครัฐมีส่วนช่วยสนับสนุน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.