ความรู้สึกใหม่ของ ดร.ทะนง ลำใย หลังกลับจาก "ฮาร์วาร์ด"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

"HARWARD BUSINESS SCHOOL" โรงเรียนธุรกิจที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งยุค ใครๆ ก็ใฝ่ฝันว่าจะได้เข้าไปเรียนถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงหลักสูตรระยะสั้นก็ตาม

หลักสูตรระยะสั้นจัดให้สำหรับผู้บริหารหลายระดับโดยที่หลักสูตรระดับสูงสุดเรียกว่า "ADVANCE MANAGEMENT PROGRAM" หลักสูตรประเภทนี้ฮาร์วาร์ดมีประสบการณ์มากทำมานานถึง 75 ปี มีคนเรียนจบไปถึง 106 รุ่น ปีหนึ่งอบรมประมาณ 2 ครั้งจำนวนครั้งละประมาณ 160 คน ครึ่งหนึ่งมักจะมาจากบริษัทใหญ่ๆ ในอเมริกาที่ส่งผู้บริหารของตนมาเป็นประจำเมื่อต้องการเลื่อนตำแหน่งระดับสูงให้ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งมาจากทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นชาวยุโรปและเอเชีย

ผู้บริหารของไทยที่ไปเรียนในหลักสูตรระดับนี้ยังไม่มากนัก คนแรกก็คือบรรยงค์ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย ต่อมามีองค์กรใหญ่ๆ บางแห่งที่ให้ความสนใจ เช่นปูนซิเมนต์ไทยที่ผู้บริหารระดับสูงหลายคนผ่านหลักสูตรนี้แล้ว

การอบรมหลักสูตรขั้นสูงครั้งล่าสุดนี้ มีผู้บริหารคนไทยเพียงคนเดียวคือ ดร.ทนง ลำไย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทย

แม้ว่า ดร.ทนงจะผ่านการศึกษาในระบบจนถึงขั้นสูงสุดจนได้ปริญญาเอกด้านบริหารธุรกิจจาก NORTH WESTERN UNIVERSITY มีประสบการณ์จากธนาคารโลก 4 ปี นิด้า 4 ปี กลุ่มธุรกิจน้ำตาลมิตรผล 4 ปี ก่อนที่จะเข้าทำงานเต็มตัวที่ธนาคารทหารไทย เขาเชื่อว่าความรู้นั้นเรียนกันไม่จบ เมื่อทำงานไปถึงจุดหนึ่งก็ต้องขวนขวายหาความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความกระตือรือร้นในการทำงานให้กับตัวเอง

คำถามที่คนทั่วไปสนใจก็คือ "จริงๆแล้วคุณได้อะไรกลับมาจากฮาร์วาร์ด"

"ผู้จัดการ" ถามคำถามนี้ในวันแรกของการกลับเข้ามาทำงาน (28 พฤษภาคม 2533) ดร.ทนงหัวเราะก่อนจะตอบคำถามเพราะอาจารย์ที่ฮาร์วาร์ดบอกไว้ก่อนจบหลักสูตรว่าพวกคุณจะต้องตอบคำถามนี้นับครั้งไม่ถ้วน

"การไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันคน 160 คนที่ล้วนแต่เป็นผู้บริหารระดับสูงจากทุกสาขาอาชีพจากทั่วโลกซึ่งได้มีโอกาสรู้จักกันแทบทั้งหมดเพราะมีการสลับที่นั่งกันตลอด ภายใน 12 สัปดาห์ อ่านกรณีศึกษาไป 150 บริษัท บางกรณีมีการเชิญผู้บริหารบริษัทนั้นๆ มาให้ซักกันเลยว่าที่พลาดนี่เพราะอะไร เรียนวิชาต่างๆ ไป 8 วิชา แต่ละวิชาอาจารย์เป็นอิสระจากกันเลย หลายกรณีที่อาจารย์มีความเห็นไปคนละทาง ตลอดเวลามีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดกันตลอดเวลา มันเป็นการทดสอบตัวเองกับคนอื่นๆ กับทฤษฎีใหม่ๆ ว่าสิ่งที่เราคิดเราทำมานี้มันถูกไหม"

ในแปดวิชานั้นมีทั้งความรู้ในเชิงวิชาการของการจัดการสมัยใหม่ นโยบายของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ วิชาว่าด้วยความเป็นผู้นำ และอีกหลายวิชา กรณีศึกษาจากทั่วโลกทำให้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ ซึ่งมีทัศนะที่หลากหลายมากไม่มีสูตรสำเร็จขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความเชื่อ เช่นขณะที่กระแสทั่วไปของอเมริกาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้เชื่อว่าการระดมทุนโดยการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการกระจายอำนาจการบริหาร ลดภาระหนี้และแก้ปัญหาเรื่องทุน แต่ปรากฏการณ์ใหม่ในระยะหลังก็คือ มีกลุ่มคนที่พยายามทำ LBO หรือ LEVERAGE BUY-OUT เพื่อดึงอำนาจในการบริหารงานกลับมาอยู่ในมือคนกลุ่มเดียว ซึ่ง ศจ.ปีเตอร์ เจนเซ่น แห่งฮาร์วาร์ดมองว่าการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นไม่คล่องตัวทางการบริหาร ซึ่งทำให้บริษัทตัดสินใจได้ล่าช้ามาก เพราะต้องฟังความเห็นจากคนหลายฝ่ายทำให้หลายบริษัทต้องประสบกับภาวะการขาดทุน นับว่าเป็นความเห็นที่ทวนกระแสมากทีเดียวไม่เฉพาะในอเมริกาเอง ประเทศไทยซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ปรารถนาที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ กันทั้งนั้นก็น่าจะสนใจถึงกระแสด้านกลับของอเมริกาที่เกิดขึ้นแล้วและอาจจะเกิดกับประเทศไทยในอีก 5-10 ปีข้างหน้าก็เป็นได้

ดร.ทนงเล่าถึงประสบการณ์มากมายที่คาดว่าจะได้และมีอีกหลายอย่างที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย

สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายก็คือเวลาหนึ่งในสามของชั้นเรียนถูกใช้ไปกับการพูดถึงปัญหาของสังคมที่ผู้บริหารควรจะต้องมีส่วนช่วยแก้ปัญหา

"ผมคิดว่าเป็นความกล้าของฮาร์วาร์ด ที่นำเอาปัญหาสลัม ปัญหาเรื่องผิว ปัญหายาเสพติดขึ้นมาพูด พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหา โดยฉายสไลด์ประกอบการพูดด้วย การพูดว่าอเมริกากำลังจะตายเพราะปัญหาสังคมที่รายล้อม แล้วโยนคำถามไปว่าผู้บริหารอย่างพวกคุณไม่ทำอะไร แล้วใครจะทำ เล่นเอาผู้บริหารหลายคนงงไปเลย เขาเน้นเรื่อง SOCIAL ETHIC มากจริงๆ"

ดร.ทนงยอมรับว่าเวลาทำงานนั้นคิดแต่เรื่องงานที่ทำ มีเวลาคิดเรื่องอื่นๆ น้อยมากแต่ในช่วงสองเดือนครึ่งถูกกระตุ้นให้คิดเรื่องนี้มาก ทำให้มีความคิดอยากจะทำอะไรอีกหลายอย่าง สิ่งที่คิดว่าทำได้ก็คือจะให้เวลากับการสอนหนังสือให้มากขึ้น

จุดไคล์แม็กซ์ของคอร์สนี้อยู่ที่สัปดาห์สุดท้ายของการเรียน ซึ่งทางโรงเรียนเชิญภรรยาของผู้บริหารทุกคนมาเข้าห้องเรียน โดยให้ภรรยาได้แสดงความคิดเห็นว่าการมีสามีเป็นผู้บริหารระดับสูงนั้นรู้สึกเช่นไร ผลที่ออกมานั้นก็คือ

"ภรรยาส่วนใหญ่รู้สึกว่าสามีของตนเครียด บ้างานไม่ค่อยมีเวลาให้กับครอบครัว ซึ่งหลายกรณีทำให้เกิดปัญหาครอบครัว แล้วในด้านกลับก็คือเมื่อมีปัญหาครอบครัวก็จะไปลงกับลูกน้อง และอาจจะทำให้งานเกิดความผิดพลาด โดยมีการยกตัวอย่างรูปธรรมให้ดูหลายกรณี แล้วชี้ให้เห็นการขาดคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ดี ซึ่งจะต้องรู้จักจัดสรรเวลาให้เป็น รักครอบครัวและรักคนอื่นให้เป็น"

นั่นทำให้เกิดความรู้สึกใหม่สำหรับ ดร.ทนงอีกประการหนึ่งหลังจากไปเรียนหนังสือก็คือ "ผมรู้สึกว่าผมรักเมียมากขึ้นนะ"

สำหรับสังคมในยุคปัจจุบันที่ขาดแคลนความรัก เงินประมาณหนึ่งล้านบาทที่ธนาคารทหารไทยจ่ายให้ผู้บริหารไปเข้าโรงเรียนแล้วเกิด "ความรัก" ให้มนุษย์คนอื่น "เป็น" แม้จะเริ่มจากคนใกล้ชิดก่อนมันก็คงจะคุ้ม!!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.