สมชาย สุขกนิษฐ ผู้ขายข้อมูลผ่านจอทีวี


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

หากวันหนึ่งภาพและเสียงที่เคยดูเคยฟังจากจอโทรทัศน์ทุกเมื่อเชื่อวันเกิดหายวับไป มีเพียงตัวอักษรปรากฏอยู่เต็มจอ แต่ก็ล้วนเป็นเรื่องของข้อมูลข่าวสารที่ควรรู้และอาจจะจำเป็นในหลายโอกาส ก็คงจะเป็นเรื่องที่ดีอยู่บ้างสำหรับผู้ที่หาสาระและความบันเทิงอะไรไม่ได้มากนักจากรายการต่างๆ ทางโทรทัศน์

แต่ถ้ารายการโทรทัศน์ยังคงอยู่ขณะที่เพิ่มช่องทางเลือกสำหรับการดูข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเข้ามาอีก มันก็คงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อยสำหรับผู้ชมโทรทัศน์โดยทั่วไป

เทเลเทคซ์เป็นช่องทางเลือกที่เพิ่มเข้ามาเพื่อมอบความรู้หรือข้อมูลจำเป็นให้กับผู้สนใจ โดยผู้ที่ต้องการดูเทเลเทคซ์อาจทำได้ 2 ทางคือ ไปซื้ออุปกรณ์ที่เรียกว่าดีโคดเดอร์ (DECODER) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้แปลงสัญญาณคลื่นวิทยุโทรทัศน์มาเป็นสัญญาณภาพ แล้วนำมาติดตั้งเข้ากับทีวีก็จะสามารถรับเทเลเทคซ์ที่ส่งมาพร้อมกับสัญญาณภาพของช่อง 5 ได้ หรืออีกวิธีหนึ่งก็โดยซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ที่มีเทเลเทคซ์อยู่ในตัว ไม่ว่ายี่ห้อใดก็ได้ แต่จะต้องเป็นโทรทัศน์ขนาดจอภาพ 19 นิ้วขึ้นไปและประกอบในต่างประเทศ โทรทัศน์เหล่านี้สามารถรับเทเลเทคซ์ได้ในตัวโดยไม่ต้องมีอุปกรณ์ดีโคดเดอร์

ข้อมูลข่าวสารต่างๆ จะถูกส่งมาพร้อมสัญญาณภาพของช่อง 5 หากผู้รับต้องการดูก็เพียงแต่กดรีโมทคอนโทรลช่องเทเลเทคซ์ สัญญาณภาพช่อง 5 ก็จะหายไปกลายเป็นข่าวหรือข้อมูลเทเลเทคซ์แทนและเมื่อต้องการดูรายการปกติของช่อง 5 ก็เพียงกดเทเลเทคซ์ทิ้งสัญญาณภาพช่อง 5 ของรายการปกติก็จะกลับเข้ามาแทน

ระบบการส่งข้อมูลข่าวสารแบบเทเลเทคซ์เริ่มเป็นครั้งแรกในอังกฤษ โดยแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ของ BBC และ IBA เมื่อปี 2513 จากนั้นก็มีการพัฒนาและขยายออกไปยังประเทศต่างๆ มากมายทั้งในทั่วยุโรปซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในอเมริกา ออสเตรเลียและบางประเทศในแถบเอเชีย

ส่วนที่เป็นต้นแบบให้บริษัทเทเล อินฟอร์เมชั่นนำมาใช้กับช่อง 5 ในเวลานี้คือสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ของออสเตรเลียหรือ AUSTRALIA TELEVISION NETWORK (ATN) ซึ่งทำการค้นคว้าวิจัยเทเลเทคซ์หรือที่เรียกว่า AUSTTEXT มานาน 12 ปีเต็ม

สมชาย สุขกนิษฐ กรรมการผู้จัดการเทเล อินฟอร์เมชั่น กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ราคาโนว์ฮาวรวมทั้งเรื่องการฝึกอบรมที่เราซื้อจาก ATN นี่ไม่แพงหรอก คือรวมค่าใช้จ่าย เครื่องมือต่างๆ ด้วยแล้วก็อยู่ในวงเงิน 10 ล้านบาทที่เราจดทะเบียนตั้งบริษัทไว้เท่านั้น"

สมชายคลุกคลีอยู่กับงานคอมพิวเตอร์ในด้านของการจัดการข้อมูล และการผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อยู่นาน ก่อนที่จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการดูโครงการด้านไฮเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ให้ช่อง 5 และกรมการทหารสื่อสาร วุฒิปริญญาโทด้านไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัย WEST VIRGINIA ผนวกกับประสบการณ์ผู้ควบคุมระบบข้อมูลโรงงานด้วยคอมพิวเตอร์ และระบบออน-ไลน์ข้อมูลสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งการผลิตไอซี ไมโครชิพ และยูพีเอส (เครื่องจ่ายไฟฟ้าสำรอง) ที่ญี่ปุ่นและไทย ทำให้สมชายพอใจมากในการทำเทเลเทคซ์ ซึ่งมีทั้งงานการจัดการข้อมูลและการผลิตดีโคดเดอร์ผสมกัน

สมชายกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมรู้ว่าผู้ใหญ่ทางช่อง 5 สนใจผมก็ทำโครงการเสนอเข้ามาเมื่อปี 2532 ผู้ใหญ่พิจารณาแล้วตกลงก็เซ็นสัญญากัน การที่เทเล อินฟอร์เมชั่นได้ทำเพราะทางช่อง 5 เองก็ต้องการเทเลเทคซ์อยู่แล้วและข้อเสนอของเราก็เป็นธรรมด้วยคือเราเป็นผู้ผลิตและติดตั้งให้ และใน 7 ปีข้างหน้าเราก็จะยกเครื่องมือต่างๆ ให้ช่อง 5 ทั้งหมด

ข้อมูลที่ผู้ชมเทเลเทคซ์จะได้รับเป็น "ข้อมูลจำเป็นในชีวิตประจำวัน" โดยแบ่งเป็นหมวดประมาณ 10 กว่าหมวด ได้แก่ ราคาและการซื้อขายที่ดิน ราคาและสภาพการเคลื่อนไหวของหุ้น ข่าวสารด้านการเงินการธนาคาร อัตราแลกเปลี่ยนเงิน-ทองคำ ข้อมูลการเดินทางท่องเที่ยว โรงแรม การพยากรณ์อากาศและโชคชะตาราศี ข้อมูลการศึกษา รายการบันเทิง การลงประกาศโฆษณาต่างๆ ข้อมูลราคาสินค้าตามห้างสรรพสินค้า

สมชายกล่าวว่า "เราต้องการสร้างคลังข้อมูลประจำบ้านที่คนทุกคนสามารถดูได้เพราะคนเราใช้ข้อมูลกันโดยไม่รู้ตัว อย่างเรื่องราคาสินค้า ราคาหุ้น ซึ่งหากเป็นเมื่อ 3 ปีก่อนผมคงไม่ทำ แต่เวลานี้คนเล่นหุ้นเสียเงินซื้อโทรทัศน์ที่มีเทเลเทคซ์อีกสักเครื่องคงไม่เป็นไร ขอให้มีข้อมูลที่ดีแล้วกัน"

ก่อนหน้าที่ช่อง 5 โดยเทเล อินฟอร์เมชั่นจะทำเทเลเทคซ์ได้สำเร็จนั้น ช่อง 7 และช่อง 9 ก็เคยออกข่าวแล้วโดยทางสถานีแต่ละแห่งจะเป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งค่อนข้างจะล่าช้ามาก จึงยังไม่สำเร็จ เทเล อินฟอร์เมชั่นชิงออกตัวก่อนแต่สมชายก็ให้ความเห็นว่า "ผมอยากให้ทำกันเยอะๆ เพื่อที่จะให้เป็นที่ยอมรับของตลาด และเราก็จะได้รายได้จากการโฆษณาที่ผสมอยู่ในเทเลเทคซ์"

ทั้งนี้ระบบเทเลเทคซ์เปรียบเป็นการกระจายเสียงทางอากาศรูปแบบหนึ่ง สมชายกล่าวว่ารายการนี้ได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการบริหารวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) เรียบร้อยแล้ว มันเป็นเรื่องง่ายยิ่งกว่าโทรทัศน์ด้วยซ้ำเพราะมีแต่ตัวอักษรไม่มีเสียงและภาพ

สมชายกล่าวถึงลูกค้าเป้าหมายว่ากลุ่มแรกเป็นชาวต่างประเทศ นักท่องเที่ยวนักธุรกิจที่เข้ามาพักในเมืองไทยก่อนเดินทางต่อ พวกนี้จะคุ้นเคยกับการใช้เทเลเทคซ์ในต่างประเทศมาแล้ว พวกนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนในที่ดินซึ่งจริงจังกับเรื่องข้อมูลมาก ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นนักวิชาการที่ต้องการข้อมูลด้านการศึกษาต่างๆ

สมชายเปิดเผยด้วยว่า "ข้อมูลเรื่องหุ้นของเทเลเทคซ์ต่างไปจากที่อื่นๆ คือเราไม่ได้มีเฉพาะเรื่องราคาซื้อขายขณะทำการเท่านั้น แต่เรามีข้อมูลพื้นฐานต่างๆ วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ อันนี้สามารถดูได้ทั้งวันโดยไม่เสียสตางค์ โดยเราได้รับความร่วมมือจาก บงล.ทิสโก้"

ส่วนที่มาของข้อมูลอื่นๆ นั้นสมชายกล่าวว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานราชการอย่างกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงพาณิชย์ แบงก์ชาติได้ให้ความร่วมมือให้ข้อมูลมาเป็นอย่างดี

สมชายมีความมั่นใจอย่างสูงเพราะเทเลเทคซ์ไม่มีคู่แข่งขัน "มันเป็นของฟรี คุณไม่ต้องซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ต้องเสียคู่สายโทรศัพท์ ค่าสมาชิกอะไรต่างๆ นอกจากมีทีวีที่มีเทเลเทคซ์ แล้วก็ดูกันตลอดไป"

ที่มารายได้ของเทเล อินฟอร์เมชั่นจะมาจากการขายโฆษณา เหมือนที่โทรทัศน์ทำกัน โดยมีโฆษณา 3 แบบคือ FOOTING หรือข้อความโฆษณาด้านล่าง โฆษณาเต็มหน้าและการแบ่งออกเป็นหมวดๆไปโดยคิดอัตราโฆษณาหลายราคาตั้งแต่เดือนละไม่กี่พันบาทถึงหมื่นกว่าบาท

นอกจากนี้สมชายยังมีโครงการตั้งโรงงานเพื่อผลิตเครื่องดีโคดเดอร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนบางอันมาประกอบขายในราคาเครื่องละประมาณ 5,000-10,000 บาท โรงงานที่จะตั้งขึ้นนี้คงจะเป็นการร่วมทุนกับต่างชาติ หรือมิฉะนั้นก็อาจจะให้บริษัททีวีเป็นผู้ผลิต และสามารถทำการส่งออกได้ด้วย เพราะยังมีความต้องการอยู่สูงมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดย่านเอเชียและยุโรป

สมชายเปิดเผยด้วยว่านอกจากเรื่องเทเลเทคซ์แล้วต่อไปจะมีการพัฒนา TELECAST หรือ DATA BROADCASTING คือแทนที่เครื่องรับจะเป็นจอทีวี ก็ใช้เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์แทน โดยไม่ต้องต่อกับสายโทรศัพท์แต่ต่อกับสายอากาศแทนซึ่งต้องใช้อุปกรณ์ดีโคดเดอร์อีกตัวหนึ่ง

โครงการต่อไปจะเป็น TELE-VIEW คล้ายเทเลเทคซ์บวกโทรศัพท์ คือดูข้อมูลข่าวสารทางโทรทัศน์ แต่เวลาที่จะติดต่อกับศูนย์ต้องติดต่อทางโทรศัพท์ ซึ่งข้อมูลที่จะใช้บริการในโครงการนี้จะเป็นการสั่งซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ อันเป็นวิธีการที่นิยมใช้ในต่างประเทศ

สมชายตั้งความหวังด้วยว่าจะทำการเชื่อมโยงเทเลเทคซ์ของไทยกับของต่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องการโฆษณา "หากเราต้องการไปสิงคโปร์ก็อาจจะเปิดดูเทเลเทคซ์โฆษณาสิงคโปร์ได้ว่ามีที่พักที่ไหน ราคาเป็นอย่างไรซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างเรากับโรงแรมที่โน่น ตอนนี้ช่อง 7 ที่ออสเตรเลียก็เริ่มหาโฆษณาให้เราแล้ว ขณะเดียวกันถ้านักธุรกิจไทยต้องการโฆษณาธุรกิจของตัวเองให้คนออสเตรเลียรู้ ก็ทำผ่านทางผมได้เวลานี้คนออสเตรเลียดูเทเลเทคซ์ประมาณสองสามแสนคน ส่วนที่ยุโรปนั้นเป็นสิบๆ ล้านเครื่อง"

ปัญหาของสมชายมีอยู่เพียงประการเดียวเท่านั้นซึ่งเป็นหัวใจของธุรกิจคือเทเลเทคซ์จะได้รับความนิยมมากหรือไม่ เพราะนั่นหมายถึงรายได้จากการโฆษณาซึ่งเป็นรายได้ทางเดียวที่จะเอาเข้ามาจุนเจือบริษัท

และยังไม่คิดกันว่าเป้าหมายนักเล่นหุ้นจะหันมาเฝ้าจอเทเลเทคซ์กันมากน้อยเพียงไร ในเมื่อต่อไปพวกเขาอาจจะไปทำคำสั่งซื้อขายได้เองที่โบรกเกอร์เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.