อพท. วางยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวปี 54 ชูสิ่งแวดล้อม เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 พฤศจิกายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

จากปี2553 การดำเนินการของ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เน้นการรักษาสมดุล 3 มิติ ที่เป็นเสาหลัก คือเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกระบวนการมีส่วนร่วมนั้น เน้นเรื่องมิติสังคมมากเป็นพิเศษ มาถึงปีนี้ อพท.วางนโยบายและเป้าหมายรวมทั้งยุทธศาสตร์ในปี 54 ชี้หน้าที่หลักในการบูรณาการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เตรียมผุดโครงการท่องเที่ยวรักษาสิ่งแวดล้อม Low Carbon Tourism รองรับการขยายฐานสู่กลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่

ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า “แผนปฏิบัติงานในปี 2554 จะเน้นที่มิติทางสิ่งแวดล้อม อย่างเรื่องของ Low Carbon Tourism ซึ่งผู้ปร่ะกอบการต้องมีการลงทุน และมีการให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีพฤติกรรมใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งจะมีการจัดสัมนารายภาคเน้นสื่อสารกับ Opinion Leader ให้ตระหนักถึงการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกๆภาคส่วนก็ได้รับทราบแล้ว

ส่วนการดำเนินระหว่างนี้อยู่ในระยะการหาข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจนขึ้นว่า การท่องเที่ยวแต่ละครั้งนั้นปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาในปริมาณกี่กรัม กี่กิโลกรัม แล้วจะมีแพ็คเกจชดเชยการปล่อยคาร์บอนฯออกมาอย่างไร เช่น แพ็คเกจการปลูกต้นไม้ชดเชยกับปริมาณที่ปล่อยคาร์บอนฯออกมา ซึ่งสามารถไปปลูกเองหรือบริจาคเงินเข้ามาแล้วให้คนไปปลูกแทนก็ได้ โดยการประสานกับเครือข่ายที่มีอยู่เช่นกับ GTZ ซึ่งจะจัดสัมมนามาตรการลดภาวะโลกร้อนกับการท่องเที่ยว หรือการท่องเที่ยวจะลดภาวะโลกร้อนได้อย่างไร เป็นต้น หรือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะต้องเข้าไปปรึกษาหารือในเรื่อง Low Carbon Tourism รวมไปถึงเครือข่ายระดับอื่น อย่างการเซ็น MOU กับม.นเรศวร ไปแล้วในปีนี้ ในปี2554 ก็คงจะเซ็นกับจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเรื่องของการบริหารแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”

มิติการท่องเที่ยวทางสิ่งแวดล้อม ยังมุ่งตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้คือ 1.ประสานกับทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการดำเนินงานบริหารการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 2.เตรียมความพร้อมของพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อดำเนินการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี 2 กุมภาพันธ์ 2553 และ 3.ปรับปรุงระบบบริหารงาน อพท. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่และภารกิจทั้งส่วนกลาง และสำนักงานพื้นที่พิเศษ โดยเฉพาะการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากร การสร้างองค์ความรู้ การขยายเครือข่ายภาคีการพัฒนา ระบบสารสนเทศ และการประชาสัมพันธ์

อีกทั้งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ 6 ประการคือ 1.การประสานการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2.การพัฒนาสินค้าบริการและสิ่งอานวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว 3.การส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษและการท่องเที่ยวชุมชน 4.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ 5.การสร้างเครือข่ายการพัฒนาทุกภาคส่วน และ 6.การให้บริการด้านองค์ความรู้เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมการท่องเที่ยว และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น พร้อมๆไปกับการเสริมสร้างกระบวนการ การมีส่วนร่วม ของทุกภาคีการพัฒนา ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อประสานความร่วมมือการบริหารการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างมีเอกภาพ

รวมทั้งพัฒนา “ต้นแบบ” การบริหารการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามประเภทของแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเป็นรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับแห่งอื่นต่อไป โดยเป้าหมายในพื้นที่เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดังนี้ หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง, เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี, เมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง, พื้นที่ท่องเที่ยวเมืองหัวหิน, อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย - กำแพงเพชร, เมืองเก่าน่าน และจังหวัดเลย

ความคืบหน้า 3 พื้นที่พิเศษ

สำหรับความคืบหน้า ใน 3 พื้นที่พิเศษและพื้นที่เชือมโยง อยู่ระหว่างการการดำเนินงานของอพท. คือ หมู่เกาะช้าง, เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวว่า

“ในส่วนพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง อยู่ในช่วงทบทวนแผนแม่บทของหมู่เกาะช้างที่เคยทำเสนอ ครม.ไปตั้งแต่ช่วงปี 2549 กับเรื่องเชื่อมศูนย์การเรียนรู้ที่มีอยู่ 7 ศูนย์ซึ่งก็จะเน้นเรื่องการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม เรื่องพลังงานทดแทน เรื่องป่าชายเลน หาดทรายดำ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แห่งของโลก เรื่องสมุนไพร กระจายกันไปในแต่ละศูนย์ให้แตกต่างกันไป เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เพราะมติครม.ระบุให้ทำให้เสร็จภายใน 2 ปี ก็พิจารณาดูว่าทำแผนแม่บทให้เสร็จเรียบร้อยแล้วลองส่งมอบให้เจ้าของพื้นที่ ว่าควรแบ่งให้ใครรับผิดชอบ ดำเนินการอย่างไรต่อไป

ทางด้านพื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ก็ได้ผู้จัดการคนใหม่มา สิ่งที่เห็นได้ชัดคือในส่วนของ EBITDA (Earnings before interest, taxes, depreciation and amortization = กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา) เพิ่มขึ้น 71% เมื่อเทียบกับ 4 เดือน ของปี 2552 ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่เราคัดเลือกผู้จัดการและรองผู้จัดการเข้ามาเหมาะสมมาก เพราะไนท์ซาฟารีเป็น Business Unit ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดี แต่การบริหารจะไม่ใช่ภาพที่เหมือนพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้าง เพราะพื้นที่แตกต่างกันมาก โดยมิติทางสังคมของไนท์ซาฟารี คือวิสาหกิจของชุมชน 3 ตำบล ที่พัฒนา ยกระดับความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ในมุมมองของไนท์ซาฟารีก็คือยังมีส่วนที่สามารถพัฒนาและปรับปรุงได้

ส่วนพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง ปี 2553 ก็จะเป็นกระบวนการในการจัดทำแผนแม่บท ก็จะเป็นในกระบวนการมีส่วนร่วมเหมือนกัน จะคล้ายๆ กับของพื้นพิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยงที่นำเสนอแผนแม่บทให้กับระดับชาวบ้าน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ได้รับความสำเร็จ

แผนท่องเที่ยวชุมชน

ขณะที่การดำเนินการยังเน้นที่การมีส่วนร่วมของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง พร้อมตั้งสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชนรับภารกิจหลักนี้ โดยนโยบายที่ชัดเจนจากผู้บริหารอพท.สำหรับท่องเที่ยวชุมชนนั้น ในเดือนมกราคม ปี 2554 เตรียมผุดมหกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชนขึ้นมา

สำหรับปีที่ผ่านมา ในเรื่องมิติสังคมที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมมากเป็นพิเศษนั้น ได้มีการจัดตั้งสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชนขึ้นมา เพื่อที่จะเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการท่องเที่ยว

ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสำนักท่องเที่ยว กล่าวว่า สิ่งที่ถือว่าเป็นผลงานปี 53 ที่ผ่านมาของอพท. มี 20 ชุมชนท่องเที่ยว อาทิ สถานที่ที่อพท.กับอบจ.ร่วมปั้นขึ้นมา อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม คือ จังหวัดน่าน ซึ่งกำลังมีชื่อเสียงติดอันดับสถานที่ท่องเที่ยว ตามติดอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนมา อีกทั้งมีถนนสายที่เชื่อมโยงถึงเมืองหลวงพระบาง ซึ่งการเข้าไปร่วมกับชุมชนของอพท. นั้นคือ ให้ความรู้กับชุมชน เพื่อรักษาภาพลักษณ์เอกลักษณ์เดิม ด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของน่านให้คงไว้แม้ว่าจะมีความเจริญเข้ามาก็ตาม

นั่นเพราะเชื่อมั่นว่าแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมดจะยั่งยืนหรือไม่นั้นอยู่ที่ตัวชุมชน หรือเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ อพท.จึงต้องเข้าไปเพื่อที่จะยืนยันว่าเราทำงานร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยชุมชนต้องเป็นคนขับเคลื่อน ต้องมีในแง่ขององค์ความรู้ ประสบการณ์ การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวประทับใจ บอกต่อเพื่อให้กลับมาอีก มิติสังคมในแง่ของท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้น จะร่วมมือกับภาคีในการพัฒนาทั้งหลาย

ทั้งนี้ที่มาของการจัดตั้งสำนักงานท่องเที่ยวชุมชนว่าเกิดจากการแสดงความคิดเห็นหลังจากองค์กรดำเนินงานมาระยะหนึ่งและพบปัญหาว่า ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนน้อย เพราะความเข้าใจของประชาชนกับอพท.และภารกิจหน้าที่ค่อนข้างน้อย ต่อมานโยบายภาครัฐ รวมทั้งจาก ผอ.นาฬิกอติภัค ให้ความสำคัญกับภาคประชาชน ก็เลยเกิดการสร้างเครือข่ายกับการท่องเที่ยวชุมชน และให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวชุมชน

“บทบาทหน้าที่ของสำนักท่องเที่ยวชุมชนจะเริ่มตั้งแต่กระบวนการกับประชาชน ให้รับรู้ถึงภารกิจหน้าที่ของอพท. ว่าจะบูรณาการอย่างไร ที่สำคัญที่สุดคือการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลักดันเรื่องการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้น สาระสำคัญคือชุมชนต้องเป็นผู้มีหน้าที่รักษาทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนเอง ชุมชนก็จะมีบทบาทจากเดิมที่คอยรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว มีความเข้าใจในเรื่องการท่องเที่ยวมากขึ้น เช่น เสน่ห์ของการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเรื่องวิถีชีวิต ถ้าชุมขนคำนึงแต่รายได้ โดยไม่คำถึงถึงผลกระทบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องขยะ มลภาวะ การดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป โฮมสเตย์คือสิ่งที่นักท่องเที่ยวอยากมาสัมผัสชีวิตตามวิถีชุมชน แต่ชุมชนกลับดำเนินชีวิตตามนักท่องเที่ยว ก็จะทำให้เสน่ห์ของชุมชนระยะยาวหมดไป ” ผู้อำนวยการสำนักท่องเที่ยว กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.