Money Game เอส เอสฯ บีบ “บุลสุข” ก่อนเทขายเป๊ปซี่ โค


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 พฤศจิกายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

เปิดแผนกิน 2 ต่อ เอส เอสฯ หลังได้หุ้นเสริมสุข 25% เตรียมเดินหน้าบีบกลุ่ม “บุลสุข” ให้ซื้อหุ้น หวังฟันกำไรเท่าตัว ก่อนขายต่อให้กับเป๊ปซี่ โค จับตาอนาคตเสริมสุข มีสิทธิหลุดจากตลาดฯ หากปล่อยต่างชาติถือหุ้นใหญ่

ในสภาพฝุ่นตลบระหว่าง 2 ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหญ่ใน บมจ.เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ที่เปิดฉากฟ้องร้องกันวุ่นวายระหว่าง บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 24.9% และกลุ่ม “บุลสุข” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นดั้งเดิม 21%

รวมไปถึงความลึกลับของบริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด นิติบุคคลจดทะเบียนซึ่งจัดตั้งไว้ที่เกาะบริติช เวอร์จิ้น ไอส์แลนด์ ในทะเลแคริบเบียน ซึ่งโผล่เข้ามาอย่างกะทันหันในฐานะผู้ทำคำเสนอซื้อหุ้นจำนวนอย่างต่ำ 25% ของบริษัท เสริมสุข

นักลงทุนรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยของ บมจ.เสริมสุข เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ว่า รู้สึกสับสนและงุนงงกับสิ่งที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่กลุ่มเป๊ปซี่-โค อิงค์ ได้ยื่นแบบประกาศเจตนาในการเข้าถือหลักทรัพย์ เพื่อครอบงำกิจการ บริษัท เสริมสุข เมื่อ 27 เม.ย.2553 โดยแต่งตั้ง บริษัท สตราทีจิค เบฟเวอร์เรจเจส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ทำคำเสนอซื้อจากนักลงทุนทั่วไป ในราคาหุ้นละ 29 บาท แต่ไม่ประสบความสำเร็จแล้ว

“ครั้งนั้นทางกลุ่มบุลสุข ได้ออกมาบอกกับผู้ถือหุ้นรายย่อยว่า ไม่ให้ขายในราคานี้เพราะต่ำเกินไป แต่ปรากฏว่า ทางกลุ่มโอสถานุเคราะห์ก็ได้ขายหุ้นออกไปให้ทางกลุ่มบุลสุข ซึ่งตอนนั้นทุกคนก็คิดว่า เป็นความร่วมมือของสองตระกูลนี้ที่ไม่ต้องการให้หุ้นใหญ่ตกไปอยู่ในมือของต่างชาติ”

เขากล่าวต่อว่า แต่ยิ่งประหลาดใจมากขึ้น เมื่อจู่ๆ ก็ปรากฏกลุ่มทุนใหม่อย่าง เอส เอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 โดยมีทุนจดทะเบียนเพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้ แถมยังไม่มีปูมหลังที่แสดงถึงประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจขนาดใหญ่อย่าง บมจ.เสริมสุข ได้ แต่กลับต้องการที่จะเข้ามาเป็นผู้ทำคำเสนอซื้อหุ้นบริษัท เสริมสุข ถึง 25% ด้วยราคาที่แสนจะจูงใจ คือ 42 บาท/หุ้น จากก่อนหน้านี้ที่เป๊ปซี่-โคฯ ตั้งราคาไว้เพียง 29 บาทเท่านั้น ส่วนแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการเสนอซื้อหลักทรัพย์มาจากการกู้ยืมจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นมูลค่า11,167,820,328 บาท โดยแบงก์กรุงเทพนั้นได้ปล่อยให้กู้ยืมเต็มจำนวนหุ้น 100%

“ผมแปลกใจว่า ตามปรกติการนำใบหุ้นไปจำนำส่วนใหญ่แบงก์จะปล่อยอย่างมากก็ 70% ของราคาหุ้น ไม่น่าจะถึง 100% ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไรแบงก์กรุงเทพถึงเกรงใจบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่แห่งนี้มากนัก”

ผู้ถือหุ้นรายย่อยของเสริมสุข เชื่อว่า หลังจากที่ กลุ่ม เอส เอสฯ ได้หุ้นเสริมสุข 25% แล้ว สิ่งที่พวกเขาจะทำต่อไปมีอยู่สองทางเลือกด้วยกัน ทางเลือกแรก จะขายหุ้นกลับคืนให้กับกลุ่มบุลสุขทันที ในราคาหุ้นละ 70-80 หรือ 100 บาท และกลุ่มบุลสุข ก็น่าจะตัดสินใจซื้อเสียด้วย

“สาเหตุที่กลุ่มบุลสุขรับซื้อหุ้นดังกล่าว แม้ว่าจะมีราคาสูงมากกว่าเดิมกว่าเท่าตัว ก็เพราะว่าถ้ากลุ่มบุลสุขไม่ยอมซื้อ ทางกลุ่ม เอส เอสฯ ก็จะนำหุ้น 25% นี้ไปขายให้กับเป๊ปซี่-โคฯ นั่นหมายความว่า พวกเขาก็จะเสียเปรียบในด้านสัดส่วนการถือหุ้นทันที เพราะเป้าหมายของเป๊ปซี่-โคฯ เมื่อซื้อเสร็จแล้ว ก็จะนำบริษัทออกนอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย อาทิ ยูนิลีเวอร์ หรือพีแอนด์จี ในปัจจุบัน ซึ่งสะดวกในการบริหารงานและควบคุมต้นทุน”

ส่วนทางเลือกที่สองก็คือ ซื้อหุ้นของกลุ่มบุลสุขในราคาหุ้นละ 70-100 บาท เช่นเดียวกัน แล้วนำมาขายต่อให้กับกลุ่มเป๊ปซี่-โคฯ ในราคาที่อาจจะมากกว่า 100 บาทต่อหุ้น

นักวิเคราะห์ตลาดน้ำดำอีกรายกล่าวเสริมว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เป๊ปซี่-โคฯ จะต้องกลับมาซื้อหุ้นของเสริมสุขอีกครั้ง และต้องซื้อให้ได้ เพราะก่อนที่จะประกาศเจตนาว่าจะซื้อหุ้นจากเสริมสุขในรอบแรกนั้น เป๊ปซี่-โคฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจในอเมริกาเหนือ ด้วยการซื้อกิจการผู้ผลิต 2 กิจการ คือ เป๊ปซี่ บอทเทิลลิง กรุ๊ป และเป๊ปซี่ อเมริกา ด้วยเงินกว่า 7,800 ล้านดอลลาร์ จนสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดไปตามๆ กัน เพราะเป็นการเปลี่ยนลักษณะการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มน้ำอัดลมในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา

โดยนอกจากเป๊ปซี่แล้ว โคคา-โคลา ก็ได้ประกาศซื้อกิจการของบริษัทที่รับช่วงการบรรจุขวดน้ำอัดลมชื่อ โคคา-โคลา เอนเตอร์ไพรส์ ซึ่งเป็น Bottler รายใหญ่ที่สุด ดูแลพื้นที่อเมริกาเหนือด้วยเช่นเดียวกัน

นักวิเคราะห์มองว่า ที่มาของการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจทั้งของเป๊ปซี่ และโคคา-โคลา เกิดจากความต้องการที่จะลดต้นทุนการผลิตลงไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องขยับราคาขาย ในภาวะที่วัสดุหรือวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตน้ำอัดลมขยับราคาสูงขึ้นตามลำดับ แต่ผู้บริโภคไม่อยู่ในสภาวะที่จะจ่ายเงินมากขึ้นได้ ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่า เป๊ปซี่มองการเข้ามามีบทบาทในตลาดที่ตัวเองประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างเมืองไทย ในลักษณะเดียวกัน

นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ ยังเป็นหัวใจสำคัญในการทะลุทะลวงตลาดเพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมในการดื่มแตกต่างกัน หรือแม้แต่ผู้บริโภคคนเดียวกัน ที่เลือกดื่มบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างในวาระและโอกาสต่างๆ กันไป

ความหลากหลายของบรรจุภัณฑ์จึงเป็น Key Point อย่างหนึ่ง ดังนั้น Bottler จึงต้องไล่กวดเทรนด์นี้อย่างไม่ลดละ ทั้งสีสัน รูปทรง ขนาด และวัตถุดิบที่ใช้ แต่บางครั้งก็ไม่อาจสนองตอบความต้องการของเจ้าของแบรนด์ได้มากพอ

นอกจากประโยชน์ในธุรกิจน้ำดำแล้ว ยังส่งผลต่อการแตกขยายไปยังน้ำดื่มประเภทอื่นๆ ของเป๊ปซี่ และโค้ก มีโอกาสสัมฤทธิผลได้ดียิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมา Bottler ของทั้ง PepsiCo และ Coca-Cola Co ล้วนแล้วแต่มีผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของตนเองจำหน่าย เหมือนกับที่เสริมสุขมีน้ำดื่มคริสตัล คลับโซดา และไทยน้ำทิพย์มีน้ำดื่มน้ำทิพย์

เมื่อกิจการของ Bottler ตกไปอยู่ในมือของ PepsiCo และ Coca-Cola Co แล้ว ย่อมต้องยกเลิกการจัดจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ และหันมาทำโฟกัสตลาดให้กับแบรนด์น้ำดื่มที่ส่งตรงมาจากบริษัทแม่เกือบทั้งหมด

ชนินทร์ เทียนเจริญ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท อาเจ ไทย จำกัด ให้มุมมองว่า จากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดน้ำดำทั่วโลก ทางเดียวที่จะคุมคอร์สค่าใช้จ่ายได้ นั่นคือ จะต้องเป็นผู้ลงทุนเองทั้งระบบ ซึ่งทุกวันนี้ บริษัท เสริมสุข หรือบริษัท ไทยน้ำทิพย์ ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์สินค้าให้กับบริษัทแม่ปีละไม่ต่ำกว่า 20% ของยอดขาย ทำให้ไม่สามารถทำราคาสินค้าให้ถูกลงได้ แต่บิ๊กโคล่า ทำราคาต่ำได้ เนื่องจากไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์สินค้าให้กับบริษัทแม่ เพราะบริษัทแม่เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด

“ประเด็นก็คือ เอส เอสฯ หวังสองเด้ง เพราะพวกเขาไม่ได้มองถึงตัวรายได้จากน้ำดำ แต่มองถึงอนาคต มูลค่าเพิ่มของธุรกิจเสริมสุข นั่นก็คือ โลจิสติกส์และธุรกิจจัดจำหน่ายอื่นๆ ที่มีตัวเลขโตขึ้นมาเรื่อยๆ แม้ปัจจุบันรายได้จากน้ำดำจะเป็นรายได้หลักแต่ก็อิ่มตัว ไม่เติบโตมากนัก ตรงนี้เขาไม่ได้สนใจเท่าใด แต่สนใจธุรกิจอื่นๆ ที่มีอนาคตมากกว่า” นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกรายสะท้อน

สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ถือหุ้นรายย่อยของเสริมสุข และนักลงทุนอีกหลายราย มองตรงกันว่า เอส เอสฯ จะทำเทนเดอร์ฯ 25% ได้แน่นอน เพราะลึกๆ แล้ว พวกเขามั่นใจว่า PepsiCo จะต้องกลับเข้ามาซื้อใหม่ เนื่องจากถูกแรงบีบจากการแข่งขัน โดยเฉพาะการรุกคืบของกลุ่มน้ำดำจากเปรูอย่างบิ๊กโคล่า ที่ปัจจุบันเป็นผู้นำในตลาดละตินอเมริกาไปแล้ว

ดังนั้น เป๊ปซี่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สิทธิในการถือหุ้นใหญ่ เพราะจะมีผลกระทบกับตำแหน่งทางการตลาดของเป๊ปซี่ โดยเฉพาะในเมืองไทยซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่มีชัยเหนือโค้ก และแน่นอนว่า อีกไม่นานเราก็อาจจะเห็นโค้กไปใช้วิธีการเดียวกันกับเป๊ปซี่-โคฯ ในบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และบมจ.หาดทิพย์ เช่นเดียวกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.