50 ปี “บาร์บี้” มนต์ขลังที่ยังคงอยู่


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 พฤศจิกายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ปีนี้เป็นปีที่ตุ๊กตาบาร์บี้ซึ่งเป็นตุ๊กตาของเล่นเด็กผู้หญิงจะมีอายุทางการตลาดครบ 50 ปีแล้ว นักการตลาดจึงอดไม่ได้ที่จะต้องตั้งคำถามว่าความเป็น “ไอคอน” ของตุ๊กตาบาร์บี้จะยังคงอยู่ต่อไปหรือไม่

ก่อนอื่นคงจะต้องวิเคราะห์ก่อนว่าอะไรคือความเป็น “ไอคอน” ของตุ๊กตาบาร์บี้สำหรับลูกค้า?

ถ้าตุ๊กตาบาร์บี้คือไอคอนของสาวสวยในอุดมคติ และหน้าตารูปร่างที่ใฝ่ฝันของหญิงสาวทั่วโลก ตุ๊กตาบาร์บี้ คือ ไอคอนของสาวสวยที่แต่งตัวล้ำ นำสมัยด้านแฟชั่น และตุ๊กตาบาร์บี้ คือ ตัวแทนของผู้หญิงเก่งที่สามารถทำอาชีพต่างๆ ได้ทุกอย่าง อย่างที่ผู้หญิงทั่วไปไม่คิดว่าผู้หญิงจะทำได้

เพราะฉะนั้นตุ๊กตาบาร์บี้จึงเป็นต้นแบบของสาวมั่นที่มีอาชีพ มีงานมีการทำ ไม่ใช่เพียงเจ้าหญิงในนวนิยายโบร่ำโบาณอีกต่อไป

คำอธิบายความเป็นไอคอนของตุ๊กตาบาร์บี้ที่ยกมาให้เห็นเป็นตัวอย่างข้างต้น ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า รสนิยมการเล่นตุ๊กตาของเด็กผู้หญิงสมัยนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก และมีความเป็นสาระและตัวแทนของความฝันของตนที่ไม่ใช่เจ้าหญิงในนิยาย

เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้อาจจะมาจากโลกของเด็กผู้หญิงสมัยนี้ไม่ได้ไร้เดียงสาและอ่อนเยาว์ต่อโลกเหมือนสมัยก่อน เพราะเด็กผู้หญิงสมัยนี้มีเครื่องคอมพิวเตอร์แล็ปทอปเป็นของตนเอง เพื่อใช้เป็นช่องทางในการเข้าไปค้นหาสิ่งแปลกใหม่บนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในส่วนของจินตนาการที่เด็กผู้หญิงอยากรู้ว่าตุ๊กตาบาร์บี้ของตนมีอาชีพอะไรกันแน่

จากจุดเริ่มต้นของตุ๊กตาบาร์บี้ในงาน ทอย แฟร์ ในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 1959 ในฐานะของโมเดลแฟชั่นวัยทีนเอจ ตุ๊กตาบาร์บี้ซึ่งเป็นชื่อที่ย่อมาจาก Barbie Millicent Robert วางจำหน่ายในราคาตัวละ 3 ดอลลาร์

เพียงปีแรกที่บริษัท แมทเทล ครีเอชั่น เจ้าของตุ๊กตาบาร์บี้วางจำหน่ายสินค้า ก็สามารถจำหน่ายตุ๊กตาบาร์บี้ได้ถึง 300,000 ชิ้น และในปัจจุบันมูลค่าทางการตลาดของตุ๊กตาบาร์บี้ตกปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์

แคมเปญโปรโมตตุ๊กตาบาร์บี้ในวันนี้จึงต้องเน้นความยิ่งใหญ่ อลังการ และทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าตุ๊กตาบาร์บี้ยังคงจะอยู่ในดวงใจของลูกค้าในอีก 50 ปีข้างหน้าต่อไป

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จุดโดดเด่นของตุ๊กตาบาร์บี้ที่ได้รับการยอมรับมาตลอดคือ เสื้อผ้าที่ออกแบบให้ตุ๊กตาบาร์บี้สวมใส่มาจากฝีมือการออกแบบของดีไซเนอร์มืออาชีพระดับโลก อย่าง กุชชี่ คาลวิน ไคลน์ แกลลิเอโน่ และเวอร์ซาเช่ ตุ๊กตาบาร์บี้จึงเป็นตุ๊กตาที่มีเสื้อผ้า แบบทรงผมที่สามารถใช้ได้จริงกับคนที่อยากจะเลียนแบบตุ๊กตาบาร์บี้

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าตุ๊กตาบาร์บี้จะไม่มีคู่แข่งทางธุรกิจเสียทีเดียว และคู่แข่งสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ ก็คือ โมซี่ เกิร์ลซ ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่บริษัท เอ็มจีเอ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ คู่แค้นทางการตลาดของแมทเทลนำหวนคืนวงการเพื่อทวงส่วนแบ่งทางการตลาดคืนจากตุ๊กตาบาร์บี้

โมซี่ เกิร์ลซ เป็นตุ๊กตาที่เหมือนกับตุ๊กตาบาร์บี้ตรงจุดที่มีลักษณะของเด็กสาวที่เป็นตัวของตัวเอง ดูมีพลัง จึงอยู่ในตำแหน่งทางการตลาดที่พอจะแข่งขันกับตุ๊กตาบาร์บี้ได้

สิ่งที่เป็นความแตกต่างสำคัญของโมซี่ เกิร์ลซ อีกประการหนึ่งคือ หน้าตาของตุ๊กตาที่ออกเป็นเด็กวัยรุ่นมากกว่าหน้าของตุ๊กตาบาร์บี้ที่ดูเป็นสาวเต็มตัวกว่า ตาโตกว่าของตุ๊กตาโมซี่ เกิร์ลซ ทำให้เป็นตุ๊กตาในจินตนาการมากกว่าตุ๊กตาบาร์บี้ ที่เป็นดวงตาสวยแบบหญิงสาว และโมซี่เน้นผมสีเข้มมากกว่าตุ๊กตาบาร์บี้

ภาพลักษณ์ของความอ่อนเยาว์กว่าจึงน่าจะเป็นจุดขายที่โมซี่ เกิร์ลซ หวังว่าจะดึงดูดความสนใจของเด็กหญิงที่ต้องการตุ๊กตาที่ไม่แก่เกินวัยกว่าตัวเอง และสามารถเป็นเพื่อนได้สนิทใจกว่า

จุดสำคัญของการทำธุรกิจตุ๊กตาของเล่นเด็กก็คงไม่ได้แตกต่างจากธุรกิจสินค้าประเภทอื่นๆ คือ ต้องเน้นการออกแบบ การดีไซน์ โดยเฉพาะแนวของเสื้อผ้าแฟชั่นที่ต้องอาศัยแนวคิดของดีไซเนอร์โดยเฉพาะที่ไม่ไปออกแบบให้กับแบรนด์อื่นๆ

แถมหน้าของตุ๊กตาจะต้องอาศัยฝีมือของคนเขียนไม่ใช่การออกแบบจากเครื่องจักร ทั้งยังต้องมีทรงผมที่เสมือนจริงมากที่สุดและดกหนา เพื่อให้เจ้าของสามารถดัดแปลงทรงผมเป็นแบบต่างๆ ได้ และทนทานในการใช้งาน

สีผิวของตุ๊กตาสมัยนี้ก็ต้องออกแบบให้มีหลากหลายเฉดสี อย่างของตุ๊กตาบาร์บี้มี 12 เฉดสี และของ ลิฟ ดอลล์ มี 14 เฉดสี เพื่อให้รองรับความต้องการที่แตกต่างของลูกค้าจากทั่วโลกที่มีสีผิวไม่เท่ากัน

และที่สำคัญ ในช่วงหลังๆ ผู้ประกอบการชั้นนำจะต้องค้นคว้า สำรวจหาความต้องการของบรรดาลูกค้าตัวน้อยอายุ 6-8 ขวบ ให้เกิดความเข้าใจต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของความต้องการอย่างต่อเนื่อง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.