|

'AKI' เปิดหลักสูตรธุรกิจอาเซียน สนอง Gen-A ก้าวสู่ผู้นำธุรกิจโลก
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 พฤศจิกายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
“สถาบันองค์ความรู้แห่งเอเชีย” ผนึก “นิด้า” เปิดหลักสูตร Executive Program in Asia Business Leadership ปั้น Gen-A ผู้นำธุรกิจและสังคมเอเชียยุคใหม่ พร้อมหลักสูตรระยะสั้นเรียนทฤษฎี ฝึกปฏิบัติ พร้อมประสบการณ์ตรงจากกูรูชั้นนำของประเทศ ย้ำความสำคัญเอเชียตลาดใหม่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ คน ความรู้ จำเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อองค์กรและธุรกิจยุคใหม่ที่ต้องรู้รอบด้านเพื่อไม่ตกขบวน
เร็วๆ สถาบันองค์ความรู้แห่งเอเชีย (Asian Knowledge Institute-AKI) ร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดหลักสูตร Executive Program in Asia Business Leadership
โดยเป็นหลักสูตรการศึกษาที่นำเสนอทิศทาง โอกาส และความท้าทายทางธุรกิจในไลฟ์สไตล์ของคนเอเชียรุ่นใหม่ พร้อมกระบวนทัศน์การบริหารแนวใหม่เพื่อตอบรับกระแส Gen-A (Generation Asia) หรือผู้นำธุรกิจและสังคมเอเชียยุคใหม่ ในการเริ่มต้นและสร้างธุรกิจอย่างไรให้เกิดในตลาดเอเชีย
ขณะเดียวกันรูปแบบการเรียนการสอนนั้น ยังนำเสนอกรณีศึกษาจากนักลงทุนและผู้บริหารในตลาดเอเชีย การสร้างเครือข่ายนักธุรกิจและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งการปลูกฝั่งแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม
โดยมีวิทยากรผู้ทรงวุฒิจากหลายอาเชีพ เช่น อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการสถาบันฯ ดร.เสนีย์ สุวรรณดี รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ม.เกษมบัณฑิต มร.เฮสเตอร์ ชิว ซีอีโอ บริษัท แมคไทย จำกัด ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แบรนด์บีอิ้ง จำกัด ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ พาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ นิด้า
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมหลักสูตร ยังได้รับประสบการณ์แบบเปิดกว้าง จากผู้เข้ารับการอบรมด้วยกัน ซึ่งเป็นการได้อ่านตำราผู้นำแห่งความสำเร็จ พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อเป็นวิทยาทานในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าอบรมหลักสูตร ได้แก่ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ผู้บริหารรุ่นใหม่ และผู้ประกอบการธุรกิจ เพื่อนำความรู้ประสบการณ์ก้าวสู่ผู้นำธุรกิจโลก
ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวนี้ใช้ระยะเวลาเรียน 3 เดือนหรือ 189 ชั่วโมง แบ่งเป็นการเรียนในห้องเรียน 99 ชั่วโมง กิจกรรมเสริมหลักสูตร 90 ชั่วโมง ค่าฝึกอบรมตลอดหลักสูตร 79,000 บาท ครอบคลุมค่าเดินทางศึกษาดูงานที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสความร่วมมือทางธุรกิจในรูปแบบต่างๆ การต่อยอดธุรกิจ และการสร้างความสัมพันธ์และการทำธุรกิจร่วมกันกับองค์กรธุรกิจในตลาดเวียดนาม ที่กำลังเปิดรับสมัครและเปิดสอนในต้นปี 2554
นอกจากนี้ AKI ยังมีหลักสูตรระยะสั้นสำหรับพัฒนาผู้นำธุรกิจรุ่นใหม่ หรือ AKI Executive Development Network โดยร่วมมือพันธมิตรสถาบันการศึกษาชั้นนำ โดยแบ่งเป็น 3 คณะ คือ 1. School of ASEAN leadership 2. School of Creative DNA 3. School of Green Society และแต่ละคณะก็มีหลักสูตรต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 9 หลักสูตร (อ่านตารางประกอบ) ซึ่งเรียนตั้งแต่ 1 วัน ไปจนถึง 6 สัปดาห์ โดยแต่ละหลักสูตรได้บอกถึงกลุ่มผู้เข้าอบรม ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารรุ่นใหม่ ผู้ประกอบธุรกิจรุ่นใหม่ และบุคคลทั่วไปที่สนใจธุรกิจในอาเซียน ผู้ประกอบธุรกิจรุ่นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความรู้ที่เปิดสอน
ทั้งนี้ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ AKI กล่าวว่า ยุคนี้เป็นยุคสมัยของเอเชีย เทรนด์ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ขณะที่เอเชียทะยานขึ้นบางสิ่ง บางอย่างก็เกิดขึ้น เช่นการเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในเอเชีย เพื่อให้เอเชียวันนี้ก้าวขึ้นเป็นผู้คุมล้อในอนาคตอย่างยั่งยืน ด้วยกระแสดังกล่าวนี้ AKI จึงได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 เป็นมหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ ที่เน้นเรื่องเครือข่าย สร้างความเป็นหุ้นส่วนธุรกิจร่วมกันและเป็นพลังสำคัญของเอเชียแห่งโลกอนาคต ผู้ซึ่งมีหัวใจหลักของนักธุรกิจแฃะผู้นำองค์กรที่ดี ของโลกยุคใหม่ที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นที่ยอมรับอย่างยั่งยืน
และเร็วๆ นี้ AKI ได้จัดงาน “AKI Open House” ชั้น 34 อาคารอินเตอร์เชนจ์ 21 ถนนสุขุมวิท แนะนำแคมปัส AKI แหล่งนัดพบสำหรับการสร้างผู้นำธุรกิจแห่งเอเชีย ซึ่งภายในแคมปัสแห่งนี้ประกอบด้วย ห้องเรียนขนาดใหญ่ ห้องสัมมนาขนาดย่อม คาเฟทีเรีย มุมเทคโนโลยี
หากมองถึงพันธกิจของ AKI คือการสร้างผู้นำในอนาคตที่มีทักษะและคุณภาพเป็นเลิศ ด้วยการเสริมสร้างทักษะ องค์ความรู้ แนวคิด เชิงนวัตกรรมและวิสัยทัศน์เพื่อสังคม เผยแพร่ผลงานทางวิชาการผ่านกระบสนการเรียนรู้ด้วยสื่อสมัยใหม่ ดังที่ AKI ได้มีวิสัยทัศน์ของเอเชียในปี 2020 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ถึงความก้าวหน้าและความเป็นหนึ่งทางธุรกิจในเอเชีย ตระหนักถึงความสำคัญของ Gen-A ซึ่งจะเป็นกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กิจนิสัยในการค้นคว้าปรับปรุงตนเองให้ก้าวหน้า ทันต่อวิทยาการทางเทคโนโลยี เพื่อความก้าวหน้าขององค์กรธุรกิจจนถึงประเทศชาติและนำสังคมไปในทิศทางที่ถูกต้อง
แม้สภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทำให้แต่ละองค์กรต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันกับสถานการณือย่างหลีกเลี่ยงหม่ได้ แต่ความเข้าใจการบริหารจัดการแบบท้องถิ่นยังคงเป็นพลังขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจที่สำคัญ
จะสังเกตได้ว่าหลังวิกฤตโลก ขณะนี้มุมมองเชิงบวกต่อทิศทางการเติบโตทาเงศรษฐกิจย้ายมาอยู่ที่เอเชีย ตลาดใหม่อย่างจีน เอเชีย และตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศอาเซียก้าวมาเป็นเป้าหมายใหม่ที่มีศักยภาพสูง จึงได้เกิดตลาดใหม่ๆ วัฒนธรรมธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงผู้นำหน้าใหม่ๆ ของเอเชีย ให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในโลกธุรกิจ องค์กรชั้นนำที่รู้จักในวันนี้อาจถูกแปรสัญชาติกำลังแรงงานของงอค์กรในที่สุดก็จะกลายเป็นพละกำลังจากสมอง องค์กรที่ประสบความสำเร็จในอนาคตจะเกิดขึ้นจากการสร้างและพัฒนาโดยผู้นำธุรกิจรุ่นใหม่
เทรนด์โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป หลายองค์กรจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อประคองให้อยู่รอดท่ามกลางคลื่นวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทหลายแห่งหันความสนใจมายังตลาดเอเชีย ซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และความเป็นไปได้ในการเจริญเติบดตอย่างยั่งยืน การพัฒนาความรู้ เพื่อเปิดรับกระแสที่เปิดกว้างนี้จึงจำเป็นยิ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|