ลมที่เปลี่ยนทิศของเลี่ยวไพรัตน์


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

เลี่ยวไพรัตน์เป็นกลุ่มธุรกิจที่พลิกแพลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา เริ่มต้นสั่งสมทุนด้วยธุรกิจภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ครั้นถึงจุดจุดพลุกลับหักเหเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีศักดิ์ศรี บัดนี้ส่งมอบสู่มือที่ 2 ด้วยความมั่นคงและท้าทายที่จะเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยุคใหม่อย่างแท้จริง…

ความผันแปรต่อนเองของสถานการณ์แต่ละยุคสมัยให้คำตอบที่แจ่มชัดมากกว่าธุรกิจที่เคลื่อนไฟวไม่หยุดนิ่ง ปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเยี่ยงธุรกิจของ "เลี่ยวไพรัตน์" นั้นทรงอิทธิพลมากพอที่จะตัดสินชะตากรรมคนในประเทศให้ร้อนๆ หนาวๆ ได้ไม่ยากเย็น

"เลี่ยวไพรัตน์" ปรากฏตัวให้เป็นที่กล่าวขานด้วยการจ้วงจาบยามที่ ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะอึมครึมของสงครามโลกครั้งที่สองประสานเข้ากับหมากกลทางการค้าที่ตัวเองมีอยู่แล้วอย่างเหมาะเจาะ "เลี่ยวไพรัตน์" อาศัยฐานความเป็นโรงสีไฟขนาดใหญ่ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการส่งมอบข้างเปลือกขายให้กับบริษัทข้าวไทย ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำและผ่อนคลายการกุมอำนาจเศรษฐกิจในการขายข้าวที่ตกอยู่ในกำมือของคนต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่

ความสำเร็จของบริษัทข้าวไทยที่เอื้อพยุงฐานะของประเทศให้ทรงตัวอยู่ได้นั้น ในอีกด้านหนึ่งย่อมต้องเป็นความสำเร็จของ "เลี่ยวไพรัตน์" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคนที่ต้องพูดถึงเป็นคนแรกของเลี่ยวไพรัตน์ ก็ย่อมหนีไม่พ้น พร เลี่ยวไพรัตน์

พร เลี่ยวไพรัตน์ - เป็นลูกชายคนแรกของเปี๊ยะยู้-ไน้ แซ่เลี่ยว คหบดีใหญ่ของเมืองสระบุรีที่มีกิจการค้ามากมายทั้งโรงสี โรงฆ่าสัตว์ โรงเหล้า โรงยาฝิ่น เดิมทีครอบครัวของพรจะส่งเขาไปเรียนต่อที่เซี่ยงไฮ้ บังเอิญเกิดสงครามโลกขึ้นมาเสียก่อน เขาเลยชวดโอกาสดังกล่าว ทำให้พรต้องกลับมาช่วยทางบ้านทำการค้าอย่างจริงจัง และเป็นเขานี่ล่ะที่เสนอความคิดขยายกำลังผลิตของโรงสีที่มีอยู่แลว้ให้ผลิตได้สูงถึง 40 เกวียน ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังควบคุมการส่งมอบข้าวให้กับบริษัทข้าวไทย

พรทำให้ "เลี่ยวไพรัตน์" ร่ำรวยขึ้นมาจนพุ่งขึ้นเป็นนายทุนข้ามชาติภาคเกษตรกรรมได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว กระทั่งทำให้สนามภูธรที่เขาคลุกคลีอยู่กับพวกพืชไร้ทั้งหลายนั้นแคบเกินไปเสียแล้ว ที่สุดพรจึงตัดสินใจเข้ามาวัดดวงความยิ่งใหญ่ในเมืองกรุงหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง

คนที่รู้จักพรดีบอกว่า "พรทะเยอทะยานมานานแล้วที่จะเป็นพ่อค้าระดับโลก"!?

การย้ายฐานเข้ามาในกรุงเทพฯ แทนที่พรจะปักหลักหากินกับธุรกิจเดิม เขากลับปรับทิศไปตามความต้องการของสังคม ซึ่งระยะนั้นการขายผ้าเป็นกิจการที่ทำรายได้ดีมาก พระจึงร่วมกับคนในตระกูล "แต้ไพสิฎพงศ์" ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกันมาจากสระบุรีตั้งร้านฮ่งเฮี้ยะเซ้ง เพื่อเป็นเอเยนต์ค้าผ้าในระยะไล่เลี่ยกับที่สุกรี โพธิรัตนังกูร "เจ้าพ่อสิ่งทอ" ตั้งร้านกิมย่งง้วน

ทั้งพรและสุกรีจับเส้นสายนายทหารถูก จึงทำให้กิจการค้าไปได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะพรในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขาสามารถเข้านอกออกในกลุ่มซอยราชครูของจอมพลผิน ชุณหะวัณ พล.อ.เผ่า ศรียานนท์ และ พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร ได้อย่างสบายๆ และพรก็ไม่รอช้าที่จะแฝงบารมีกลุ่มอำนาจกลุ่มนี้ให้ช่วยสนับสนุนเขาตั้งโรงงานทอผ้าลักกี้เท็กซ์ขึ้นมาในราวปี 2530

พรตัดสินใจได้รวดเร็วมาก เพราะหากเขายึดเวลาออกไปหนทางอาจไม่สะดวกอย่างที่คิดไว้ก็เป็นได้ เนื่องจากหลังปี 2500 กลุ่มซอยราชครูที่เขาสนิทสนมอยู่ด้วยนั้นได้หมดอำนาจวาสนาลง พร้อมๆ กับที่กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ก้าวขึ้นครองอำนาจทดแทน

ในการตั้งโรงงานลักกี้เท็กซ์พรได้เลือกเอาสมาน โอภาสวงศ์ แห่งบริษัทฮ่วยชวนค้าข้าว ซึ่งเป็นผู้ส่งส่งออกข้าวรายใหญ่ในขณะนั้น และเป็นคนที่กว้างขวางในกลุ่มอำนาจต่างๆ เข้าร่วมหุ้นด้วย นอกจากจะเป็นการกระจายความเสี่ยงแล้ว บารมีของสมานช่วงนั้นยังเกื้อหนุนช่วยเหลือพรในการติดต่อค้าขายกับส่วนงานต่างๆ ให้หายใจได้คล่องคอยิ่งขึ้น

……………………

"เลี่ยวไพรัตน์" เป็นปึกแผ่นมากขึ้นเมื่อพรตัดสินใจตั้งบริษัทค้าข้าวธนาพรชัย ด้วยความได้เปรียบที่มีโรงสีไฟปากเพรียว สระบุรี เป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่จึงไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงอะไรเลย ที่ธนาพรชัยจะกระโจนขึ้นติดอันดับ 1 ใน 5 ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อย่างรวดเร็ว

"เลี่ยวไพรัตน์" ในยุคของพร ตามเก็บดอกผลอยางมหาศาลได้อีกเมื่อเขาตั้งโรงงานทอกระสอบสหธัญพืชขึ้นมาเป็น "เสือนอนกิน" เพราะเพียงแค่รับออร์เดอร์ผลิตกระสอบบรรจุข้าวให้กับผู้ส่งออกและโรงสีทั่วประเทศก็ลอยตัวได้แล้ว พรยังใช้โรงสี-โรงทอกระสอบเป็นฐานรับซื้อพืชไร่ชนิดอื่นเพื่อส่งออกอีกด้วย

ในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งทศวรรษกลุ่มเลี่ยวไพรัตน์ เศรษฐีภูธรก็ผันตัวเองเป็นนายทุนระดับชาติที่น่าครั่นคร้ามยิ่งนัก!?

การขยายตัวของเลี่ยวไพรัตน์ในรุ่นที่ 1 นั้น ระยะแรกมุ่งอยู่กับภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก กระทั่ง มาลินี เลี่ยวไพรัตน์ ลูกสาวคนโตของพรเรียนจบ

ระยกปี 2516 เป็นต้นมานับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งของกลุ่มเลี่ยวไพรัตน์ เนื่องจากในห้วงเวลานั้นกลุ่มนี้ได้แตกตัวขยายธุรกิจออกไปจากภาคเกษตรกรรมที่เคยทำมา ที่สำคัญก็คือ การไปร่วมทุนกับตระกูลแต้ไพสิฎพงศ์ตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์เบทาโกร-เซนทาโกร ซึ่งถ้าเลี่ยวไพรัตน์ไม่แยกตัวออกมาเสียก่อนตามโครงการที่สมบูรณ์แบบของเลี่ยวไพรัตน์ แต้ไพสิฎพงศ์จะพัฒนาตัวเองให้เป็นกลุ่มปศุสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ ไม่แพ้กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์

ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ลูกชายคนโตของพร ได้เคยบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า หากคุณย่าของเขาไม่ขอร้องให้เลิกทำกิจการอาหารสัตว์แล้ว รับรองได้ว่า เลี่ยวไพรัตน์เอาแน่ที่จะวัดดวงกับกลุ่มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ทั้งหลาย ด้วยเชื่อว่าฐานกำลังเงินของเขากับแต้ไพสิฎพงศ์นั้นมีมากพอที่จะสู้คู่แข่งได้อย่งสบายๆ

……………………….

ดร.ประมวล เลี่ยวไพรัตน์ ลูกชายคนที่สามของพร เขาเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยความรู้ด้านวิศวเคมีที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในปี 2521 ทันทีที่เขากลับมาและพบว่า หุ้นส่วนที่เลี่ยวไพรัตน์เคยถืออยู่ในเบทาโกร-เซนทาโกรได้ขายออกไปแล้วนั้น เขาจึงเสนอความคิดที่จะดำเนินธุรกิจปิโตรเคมี-อุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งเป็น "ของใหม่" ในเมืองไทยกับพี่น้อง

ปิโตรเคมีนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมพลาสติก ที่ประมวลมองว่าจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากขึ้นในอนาคต เดิมทีโครงการนี้เคยมีคนศึกษามาแล้ว 2 ราย โดยรายหลังสุดก็คือ ปูนซิเมนต์ไทย แต่พบว่าไม่มีทางเป็นไปได้จึงเลิกรา ทว่าด้วยความเชื่อมั่นในวิชาความรู้กอปรกับตรวจสอบก๊าซธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตมีมากพอที่จะทำได้ ดังนั้นพี่น้องเลี่ยวไพรัตน์อันประกอบไปด้วย ประชัย - ประทีป - ประมวล จึงตัดวนใจตั้งบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคัลไทย (ทีพีไอ.) ขึ้นมาในปี 2521 นั้นเอง นับเป็นการเปิดศักราชรุ่นที่ 2 ของเลี่ยวไพรัตน์ที่กระโดดเข้าสู่การลงทุนภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว

รุ่นที่ 2 ของเลี่ยวไพรัตน์เปิดตัวด้วยความแข็งแกร่งทางการเงิน แต่ในสายตาคนทั่วไปมองเห็นถึง "ความเปราะบาง" ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ของโครงการปิโตรเคมี!?

การขยายฐานธุรกิจของเลี่ยวไพรัตน์ในรุ่นที่ 2 นี้จะพบว่ายุทธศาสตร์ที่พวกเขาเลือกใช้นั้น ค่อนข้าง "เสี่ยง" เอามากๆ ซึ่งหลายคนที่รู้จักตระกูลนี้ดีบอกว่า "มันเป็นจิตสำนึก เป็นวิญญาณของลูกชายพรไปเสียแล้ว โดยเฉพาะกับประชัย ลูกชายคนโต"

ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ - ปริญญาโท วิศวกรรมไฟฟ้า จากเบอร์กเลย์คนนี้ เขากลับมาเป็นแม่ทัพเอกของเลี่ยวไพรัตน์ทันทีที่เรียนจบ แม้จะเรียนมาด้านวิศวกรรม แต่ประชัยก็แหลมคมในเรื่องการตลาดไม่แพ้กัน ระยะที่ธนาพรชัยรุ่งโรจน์ที่สุดในปี 2520 ก็เป็นปีที่ประชัยเข้ามาคุมกิจการแทนพ่ออย่างเต็มตัวแล้ว

ประชัยกับธนาพรชัยสร้างความตะลึงให้กับวงการค้าข้าวอย่างมาก เมื่อเข้าประมูลขายข้าวล็อตใหญ่ๆ ได้ติดต่อกันหลายปี บางปีกลุ่มนี้สามารถส่งข้าวออกไปขายได้ถึง 500,000 ตัน โดยเฉพาะการเสี่ยงขายข้าวให้กับตะวันออกกลางและอเมริกา ก็เป็นประชัยที่เป็นคนต้นคิด ซึ่งสองตลาดนี้ยังไม่มีพ่อค้าข้าวรายไหนจะแหย่ธนาพรชัยได้เลย

ความกล้าที่จะเสี่ยงของหัวขบวนรุ่นที่ 2 อย่างประชัยมีอีกก็ในเรื่องการสต็อกข้าว ซึ่งวิธีการนี้สุ่มเสี่ยงอยู่ไม่น้อย เนื่องจากราคาข้าวผันผวนขึ้นลงไม่แน่นอน แต่ปรากฏว่าในปี 2530 ธนาพรชัยทำกำไรจากการสต็อกข้าว 200,000 ตันได้หลายร้อยล้าน เพราะตอนซื้อ ซื้อมาแค่ตันละ 5,000 บาท ทว่าช่วงขายออกไปกลับขายได้สูงถึงตันละ 6,000 บาท

แต่ปี 2531 ที่ราคาขาวยังไม่สูงมากนัก และเป็นปีที่ธนาพรชัยสต็อกข้าวไว้อย่างมากมาย จะเป็นการพิสูจน์ว่า "สิ่งที่ประชัยคาดคิดเอาไว้นั้นจะทำให้เขาเจ็บตัวหรือยิ้มระรื่น"!?

"ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า พวกเรากะเก็งอะไรไม่เคยผิดพลาด" ประชัยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

สำหรับโครงการปิโตรเคมีผลิตเม็ดพลาสติกของเลี่ยวไพรัตน์ในนาม ทีพีไอ. เมื่อตกลงว่าเอาแน่จึงยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอในปีนั้นเอง โดยจะเริ่มผลิตเม็ดพลาสติกชนิด LDPE ได้ในปี 2526 ซึ่งเม็ดพลาสติกชนิดนี้เดิมทีไทยต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นเสียเป็นส่วนใหญ่

โครงการของทีพีไอ.สะดุดขวากหนามเป็นระยะนับจาก หนึ่ง - แบงก์ปฏิเสธเงินกู้ต้องร่อนจม.ขอสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจาก UDHE และการเงินจาก KREDITANSTALTFUR WIEDERAUFBAW แห่งเยอรมนี สอง - ได้รับการคัดค้านจากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่า โรงงานของ ทีพีไอ.ที่ จ.ระยองจะเป็นตัวทำให้เกิดปัญหามลพิษ และ สาม - ถูกขัดขวางจากลุ่มผู้นำเข้าเม็ดพลาสติกที่จะต้องสูญเสียผลประโยชน์ไป หากโครงการของ ทีพีไอ.ปรากฏผลเป็นจริง

ปี 2525 ทีพีไอ. เริ่มเดินเครื่องผลิตเม็ดพลาสติกชนิด LDPE แล้วมาปี 2527 ได้ขยายโรงงานการผลิตเม็ดพลาสติกชนิด LDPE/HDPE ปีละ 60,000 ตันเพิ่มขึ้นอีก ปี 2529 โครงการทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ และทีพีไอ.ยังกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งในบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นแกนหลักของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อเนื่องอีกด้วย

การกล้าเสี่ยงของทีพีไอ.สำเร็จผลค่อนข้างจะงดงามในก้าวเดินขั้นที่ 1 ถึงแม้จะมีกลุ่ม อุตสาหกรรมอื่นกระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ในระยะต่อมาของโครงการปิโตรเคมีแห่งชาติระยะที่ 1 (NPC 1) แต่กลุ่มเหล่านั้นจะพูดได้เต็มปากหรือว่า "เขาเป็นผู้บุกเบิก" ว่าไปแล้วมีเพียง ทีพีไอ. ที่สามารถอ้าปากพูดถึงศักดิ์ศรีดังกล่าวนี้เพียงรายเดียวเท่านั้นจริงๆ

การที่ ทีพีไอ.เป็นผู้ผลิตรายเดียวในระยะ 4-5 ปีก่อนหน้านี้ ทำให้กลุ่มนี้ถูกมองอย่างมากว่า เป็นผู้สร้างบาดแผลให้กับผู้ใช้เม็ดพลาสติกอย่างมาก เนื่องจากราคาเม็ดพลาสติกได้เขยิบขึ้นอยู่บ่อยๆ และมีบางครั้งที่ยี่ปั๊วหลายรายโวยวายจ่ายเงินล่วงหน้าให้ ทีพีไอ.แล้วแต่ไม่ได้รับของ เป็นเพราะเหตุผลนี้เองที่ทำให้ทีพีไอ.ถูกเบรกอย่างมาก เมื่อขอรับการส่งเสริมผลิตเม็ดพลาสติกชนิดต่างๆ ในโครงการ NPC 2

ไม่มีใครใคร่ไว้เนื้อเชื่อใจ ทีพีไอ. มากนักว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นมาอีก แต่แล้วด้วยสายสัมพันธ์ที่แข็งโป๊กกับหน่วยราชการทุกหน่วย ที่สุดโครงการ NPC 2 ก็เป็นโครงการที่ ทีพีไอ. ได้รับสิทธิ์ส่งเสริมอย่างมากมายหลายโครงการ ทำให้มองเห็นกันเลาๆ ได้แล้วว่า อนาคตของเศรษฐกิจไทยได้เลื่อนไหลไปอยู่ในอุ้งมือของเลี่ยวไพรัตน์ไม่น้อยเลย !!??

อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่น่าชมเชยอย่างมากของคนรุ่นที่ 2 เลี่ยวไพรัตน์ ก็คือความหาญกล้าที่จะท้าทายการปฏิวัติอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ไม่มีใครคิดลองดีมาก่อน ทั้งๆ ที่โลกของอุตสาหกรรมพลาสติกอันเป็นผลต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้นนับว่าจะทวีความสำคัญมากขึ้นๆ

เครดิตที่ทำให้ทีพีไอ.ทำได้ เห็นจะเป็นเพราะความเป็น "มืออาชีพ" ที่รู้จริงและรู้ลึกของคนในตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ ซึ่งเครดิตนี้เห็นทีจะต้องยกให้กับ พร เลี่ยวไพรัตน์ อีกครั้งว่าเป็นเพราะเขาวางพื้นฐานการศึกษาของลูกๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคตได้อย่างดีไม่มีที่ติ

พร มีลูกชาย-ลูกสาว ที่จะเข้ามาสานต่อความยิ่งใหญ่ของเลี่ยวไพรัตน์ 6 คนคือ มาลินี เลี่ยวไพรัตน์ - นายกสมาคมประกันวินาศภัยผู้หญิงคนแรกของเมืองไทย มาลินีจบปริญญาตรีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ แล้วได้รับทุนไปเรียนต่อด้านประกันภัยที่มหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เธอจบมานั้น มีคนไทยจบมาไม่กี่คน มาลีนี้ดูแลงานด้านไฟแนนซ์อยู่ที่บางกอกสหประกันภัยและคาเธ่ย์ไฟแนนซ์ ปี 2529 เธอทำกำไรให้กับบางกอกฯ ถึง 70 ล้าน

ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ - มือขวาคู่บุญของพร เรียนปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพียงปีเดียวแล้วได้รับทุนโคลัมโบไปเรียนต่อที่สาขาเดิมที่นิวซีแลนด์ จากนั้นจึงเรียนต่อจนจบปริญญาโทวิศวกรรมไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยเบอร์กเลย์ ประชัยเคี่ยวกรำงานอย่างหนักในธนาพรชัยเพื่อรับภาระเป็นเสาหลักของตระกูล ปัจจุบันนี้เขาเป็นเสนาธิการของเลี่ยวไพรัตน์ที่จะทำธุรกิจทุกประเภท

ประทีป เลี่ยวไพรัตน์ - จบปริญญาตรี วิศวกรรม จุฬาฯ แล้วไปจบโทวิศวกรรม สาขา INDUSTRIAL ENGINEERING ที่สแตนฟอร์ด ก่อนเข้ามารับผิดชอบในโรงงานอาหารสัตว์เบทาโกร-เซนทาโกร ปัจจุบันนี้เขาเป็นผู้ดูแลด้านการตลาดเม็ดพลาสติกของ ทีพีไอ.

ดร.ประมวล เลี่ยวไพรัตน์ - จบปริญญาตรีที่เบอร์กเลย์ แล้วสนใจเรียนด้านปิโตรเคมีที่เอ็มไอทีจนจบปริญญาเอก เขาเป็นกำลังหลักในเรื่องความคิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของเลี่ยวไพรัตน์เป็นคนเดียวที่เลี่ยวไพรัตน์กล้าพิสูจน์ว่า "รู้ดีที่สุดในเรื่องปิโตรเคมีของเมืองไทย"

ประหยัด เลี่ยวไพรัตน์ - จบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แล้วไปจบปริญญาโทที่มิชิแกน ปัจจุบันรับผิดชอบคุมโรงงานทอกระสอบสหธัญพืช

ดวงมณี เลี่ยวไพรัตน์ - จบปริญญาตรี บริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วแต่งงานกับนักธุรกิจชาวมาเลเซีย ซึ่งมีโรงงานผลิตแป้งสาลีขนาดใหญ่ในกัวลาลัมเปอร์

พร เลี่ยวไพรัตน์ เขาอาจมีพื้นฐานมาจากธุรกิจภาคเกษตรกรรม แต่จะเห็นได้ว่าพรกลับไม่ได้ปูพื้นการศึกษาด้านเกษตรกรรมให้กับลูกๆ เลย เขาส่งเสริมให้ลูกๆ เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์-วิศวกรรมศาสตร์เสียมากกว่า อาจเป็นเพราะว่า พรมองการณ์ไกลว่า อนาคตประเทศไทยจะเบี่ยงเบนสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่มากยิ่งขึ้น

สิ่งที่พรคิดและเป็นเรื่องที่ลูกๆ ของเขาชอบอยู่ด้วยกำลังจะเป็นจริงในไม่ช้า ประเทศไทยกับความหวังใหม่ของการเป็น "นิคส์" นั้นอยู่ไม่ไกลเกินฝัน!!!!

การบริหารธุรกิจครอบครัวของ "เลี่ยวไพรัตน์" นั้นแม้ว่าลูกๆ ของพรทุกคนจะเป็นคนสมัยใหม่ แต่จะเห็นได้ว่าพวกเขาไม่ได้นำเอาระบบบริหารด้วยมืออาชีพเข้ามาใช้มากนัก ทั้งนี้เพราะว่าพวกลูกๆ ทุกคนมีความสามารถเพียงพอที่จะเป็นมืออาชีพเสียเอง มีคนพูดกันมากว่าโครงสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่เสียดุลมาช้านานแล้วนั้นอาจได้รับการยกระดับขึ้นมาก็ด้วยฝีมือของคนในตระกูลเลี่ยวไพรัตน์!!!!

ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เขาเอ่ยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "พวกน้องๆ ของผมเขาบรรลุความตั้งใจในสิ่งที่เขาเรียนกันมาแล้ว ประมวลก็ทำให้ ทีพีไอ.กับปิโตรเคมีเป็นจริง สำหรับผมเองนั้นยังไม่ได้ทำในสิ่งที่ผมชื่นชอบเลย นั่นก็คือ ผมสนใจงานด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างมาก"

เขาตอกย้ำกับ "ผู้จัดการ" อีกครั้งว่า ทิศทางเดินต่อไปของเลี่ยวไพรัตน์ในรุ่นที่ 2 นั้นจะให้ความสนใจงานด้านอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล้กทรอนิกส์ที่จะต้องเข้ามามีส่วนสำคัญต่อชีวิตคนเราอย่างมากในอนาคตนั้น ณ เวลานี้เขากับเลี่ยวไพรัตน์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ….

ก็ถ้าดูพื้นฐานความรู้ของประชัยกับน้องๆ ของเขาแล้ว เรื่องที่เลี่ยวไพรัตน์จะเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยก็สำเร็จไปแล้วหลายส่วน ซึ่งถ้าจะให้ถึงที่สุดแล้ว เครดิตความเป็นนักเรียนทุนวิศวกรรมของคนในตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ทั้งหลายน่าจะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพลิกผันพัฒนาเทคโนโลยีทีเป็นของไทยๆ เราขึ้นมาเอง

น่าเชื่อว่า คนรุ่นที่ 2 เลี่ยวไพรัตน์ก็ปรารถนาจะให้เป็นอย่างนี้เช่นกัน!!!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.