ความสำเร็จแห่งนวัตกรรมยามวิกฤต


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 พฤศจิกายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงสองสามปีที่ผ่านมาถือเป็นยามยากของธุรกิจทั่วโลกอย่างแท้จริงครับ เนื่องจากผลของวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มจากสหรัฐอเมริกาและลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลให้กิจการต่างๆหลายแห่งต้องล้มพับไป เกิดการว่างงาน การหดตัวของตลาด ขาดความเชื่อมั่นในตลาดเงินตลาดทุนชั้นนำของโลก จนกิจการทั่วไปดำเนินการยากลำบากมากขึ้น

แต่ในวิกฤตก็มักมีโอกาส เนื่องจากหลายๆครั้ง นวัตกรรมที่สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ก็กรุยทางมาจากการดิ้นรนแก้ปัญหาเอาตัวรอดในช่วงยามยากนี้นั่นเอง และยังส่งผลต่อเนื่องไปยังประโยชน์ในอนาคตระยะยาวของกิจการอีกด้วย

ดังกรณีของบริษัทแคดเบอรี่ ผู้ผลิตและจำหน่ายช็อคโกแล็ตชั้นนำของโลก ซึ่งก็มีนวัตกรรมโดดเด่นที่ถูกผลักดันจากสถานการณ์ยากลำบาก และปัญหาต่างๆที่รุมเร้าเช่นกัน

โดยเฉพาะการรุกเข้าไปในตลาดที่แตกต่างจากบ้านเกิดอย่างสิ้นเชิง อย่างอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดที่หอมหวานสำหรับแคดเบอรี่เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีขาดใหญ่โตมหาศาลรองมาจากจีน แถมผู้บริโภคยังชื่นชมความหวานของช็อกโกแลตเป็นอย่างดี ทั้งยังคลั่งไคล้มากด้วย เนื่องจากมองว่าเป็นสินค้าที่มาจากประเทศร่ำรวยในตะวันตก หาทานยากในอินเดีย จึงสร้างโอกาสทางการตลาดที่สูงมากให้กับกิจการ

แต่เมื่อจะทดลองนำผลิตภัณฑ์สู่ตลาด ก็เริ่มประสบปัญหาทันที เพราะสภาวะอากาศที่ร้อนมาก จนทำให้ช็อกโกแลต ไม่เกาะตัว เยิ้มละลายไม่น่าทาน ซึ่งหากมีการปรับสูตรให้มีความคงตัวมากขึ้น มีส่วนผสมของแป้งมากขึ้น ก็มีรสชาติไม่อร่อยเสียอีก เสียชื่อแบรนด์ระดับโลกอย่างแคดเบอรี่เสียเปล่าๆ

ดังนั้น จึงได้มีการขบคิดหานวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ให้จงได้ โดยโจทย์คือต้องมีรสชาติอร่อยตามมาตรฐานจองแคดเบอรี่ ขณะเดียวกันไม่ละลายเยิ้มไหลออกมา จนได้ไอเดียบันเจิด คือ ต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาคลุมไส้ช็อกโกแลตที่ไหลเยิ้ม ไม่ให้ออกมาภายนอก

สุดท้ายจึงกลายเป็น เอแคลร์ที่มีไส้ช็อกโกแลตเหลว กัดแล้วไหลเยิ้มออกมา น่ารับประทานไปอีกแบบ โดยเปลือกเป็นคาราเมลกรุบกรอบ ไม่ใช้แป้งนุ่มแบบเอแคลร์ปกติครับ เรียกว่าได้ทั้งความกรอบ เคี้ยวมันส์ และความหอมหวานชุ่มช็อคโกแลตกันในคราวเดียว

ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดอินเดีย และกลายเป็นต้นแบบในการบุกตลาดในเอเชียใต้อีกหลายประเทศ ที่เผชิญปัญหาด้านอุณหภูมิเช่นเดียวกัน เรียกว่านวัตกรรมยามยากครั้งนี้ สร้างผลตอบแทนมหาศาลให้กับกิจการ

กรณีที่คล้ายคลึงกันของ บริษัท เฮชพี คือการจะพัฒนาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ้คเพื่อเจาะตลาดจีน ที่ไม่พียงแต่มีประชากรจำนวนมากแล้ว ยังมีขนาดพื้นที่ใหญ่โตโอฬาร และพื้นที่ส่วนใหญ่นั้น ก็เป็นพื้นที่นอกเมืองห่างไกล ซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่น ลม ฝน สารพัด ชาวจีนเหล่านี้จึงต้องการโน้ตบุ้คที่มีความทนทานสูงต่อสภาวะอากาศดังกล่าว เรียกว่ารุ่นปกติใช้ไปไม่นานก็พังเรียบร้อย

เฮชพีจึงต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ในโน้ตบุ้คให้ตอบโจทย์กับอุปสรรคขวากหนามดังกล่าว ทั้งเครื่องยนต์กลไก เคสที่ป้องกันฝุ่น ที่กรองป้องกันฝุ่น ฯลฯ จนเครื่องรุ่นนี้ สามารถใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทนทานสมความต้องการของลูกค้า และขายดิบขายดีทะลุเป้าในประเทศจีนไปแล้ว และแน่นอนว่าจะสามารถเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่นำไปจำหน่ายในตลาดเกิดใหม่หลายแห่งในโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

พีแอนด์จี เจ้าแห่งนวัตกรรมสินค้าคอนซูเมอร์ ก็เล็งเห็นประโยชน์ที่เกิดจากนวัตกรรมยามยากเช่นกัน โดยจากช่วงสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกาเหนือช่วงสองปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะทำให้คนตกงานมากเป็นประวัติการณ์ อำนาจซื้อถดถอย ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่ำลงอย่างมาก จนกระทบกับยอดขายสินค้าของกิจการในอเมริกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่วิกฤตดังกล่าว ก็นับว่าเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับพีแอนด์จีในอีกด้านหนึ่งเช่นกัน โดยคนตกงานเหล่านี้ ส่วนหนึ่งก็ถือว่าเป็นแรงงานที่มีความรู้ มีฝีมือทางธุรกิจ ต้องการหางานใหม่และอยากเริ่มธุรกิจเล็กๆของตนเอง ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับการที่ประชาชนที่ประสบปัญหาก็ต้องการบริการแบบพรีเมี่ยมเล็กๆ ที่สามารถจ่ายได้ มาย้อมใจในช่วงยากลำบากนี้เช่นกัน อีกทั้ง ผู้บริโภคยุคเบบี้บูมที่ตอนนี้ก็กว่าห้าสิบกันขึ้นไปแล้ว ต้องการบริการต่างๆที่ไม่อยากทำเองมากขึ้น และเทรนด์การประหยัดน้ำผนวกควบคู่กันมาอีกด้วย

ซึ่งเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้ว จึงเกิดไอเดียปิ้งขึ้นมาว่า พีแอนด์จีจะให้แฟรนไชส์แบรนด์ที่ติดตลาดของตนในธุรกิจผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด คือ มิสเตอร์คลีน กับผู้ประกอบการที่ต้องการทำธุรกิจล้างรถที่มีบริการครบวงจร จากการสร้างสรรค์ของกิจการตลอดจนความแรงของแบรนด์ดังกล่าว

ส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์ล้างรถของมิสเตอร์คลีนเติบโตอย่างมากจนกลายเป็นเชนระดับประเทศไปแล้ว และกิจการก็เล็งๆว่าจะใช้ประโยชน์จากแบรนด์ดังอื่นๆของตน ในการสร้างสรรค์โอกาสทางธุรกิจใหม่ในช่วงยากลำบากนี้ต่อไปอีกด้วย

ดังนั้น ในช่วงยากลำบาก อาจไม่มองธุรกิจแต่เพียงด้านลบด้านเดียว ควรต้องพิจารณาประเด็นต่างๆเพิ่มเติม อาทิ ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ แม้ว่าความต้องการสินค้าปกติของลูกค้าลดน้อยลง แต่มีความต้องการใหม่ๆของลูกค้าเกิดขึ้น จากสภาวการณ์ดังกล่าวหรือไม่ อาทิ ช่วงวิกฤตโลกร้อน ทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำในการบริโภคในหลายพื้นที่มากขึ้น เปิดโอกาสให้ธุรกิจผลิตเครื่องกลั่นน้ำสะอาดจากน้ำทะเลของจีอีเริ่มมีความต้องการมากขึ้น

หรือ ในช่วงนี้ทรัพยากรใดที่ถูกละเลย ไม่เป็นที่ต้องการ จะสามารถนำมาใช้สร้างประโยชน์โดยไม่สูญเปล่าได้หรือไม่ อาทิ โรงงาน เครื่องจักร บุคลากรเปี่ยมทักษะที่ล้นงาน ฯลฯ ประเด็นทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ช่วยให้กิจการมีโอกาสสร้างสรรค์นวัตกรรมยามยากได้ทั้งสิ้น อันจะนำไปสู่การเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆของกิจการในอนาคตอีกด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.