มองธุรกิจแฟรนไชส์ ปี 2011 ผ่าน 'สมจิตร ลิขิตสถาพร'


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 พฤศจิกายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

สมาคมธุรกิจแฟรนไชส์ไทยชี้แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ไทยปี 2011 โตเพิ่มอีก 4-5% ระบุมาจาก 4 ปัจจัยหลัก นโยบายภาครัฐ มาตรฐานแฟรนไชส์ สมาคมภาคเอกชน แบงก์ ผนึกความร่วมมือดันยอดธุรกิจ ขณะที่งานโอกาสธุรกิจแฟรนไชส์ ครั้งที่ 16 ที่เตรียมจัดในปีหน้า เกาะกระแสความต้องการมีอาชีพเพิ่มธุรกิจสินค้า บริการที่หลากหลายเข้าร่วมงาน ชี้เป็นทางเลือกให้ผู้ชมงาน คาดเงินสะพัด 800 ล้านบาท ผู้ชมงานตลอดการจัดงานวันที่ 25-27 ก.พ. ฮอลล์ 3 อิมแพค เมืองทอง ทะลุ 100,000 คน สร้างผู้ประกอบการใหม่-กิจการใหม่ไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ มีอัตราการเติบโตทั้งแฟรนไชซอร์และแฟรนไชซีต่อเนื่องเฉลี่ยเลข 2 หลักทุกปี แต่ในระ 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ไทยต้องประสบกับวิกฤตการเมืองที่เป็นปัจจัยหลักได้สร้างความหวั่นไหวให้กับผู้ลงทุนทำให้การเติบโตในช่วงดังกล่าวเฉลี่ยไม่ถึง 2 หลัก

แต่อย่าไรก็ตาม ด้วยระบธุรกิจที่พิสูจน์ว่าเป็นรูปแบบธุรกิจที่สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจเป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลานได้ และเป็นธุรกิจที่มีระบบสามารถตรวจสอบสร้างการบริหารงานที่มีมาตรฐานและสร้างความเข้มแข็งจากการขยายเครือข่ายหรือสาขาสร้างความมั่นคงต่อการดำเนินธุรกิจ ฯลฯ

ด้วยเหตุผลที่ชี้ถึงข้อดีของการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์นี้ ทำให้ที่ผ่านมาการรับรู้ระบบการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ของผู้ประกอบการเดิมและผู้ประกอบการใหม่ให้ความสนในดำเนินธุรกิจในระบบแฟรนไชส์มากขึ้น แต่ในอีกมุมมองนั้นก็ต้องยอมรับว่ายังมีแฟรนไชซอร์บางรายที่อาศัยกระแสแฟรนไชส์นำธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อมในการบริหารจัดการสาขาทำให้สัดส่วนการล้มเหลวของธุรกิจแฟรนไชส์ยังเป็นตัวเลขที่สูง แต่ยังนับว่าส่วนเสียยังมีน้อยกว่าส่วนดี

“สมจิตร ลิขิตสถาพร” นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทยให้ข้อมูลถึงแนวโน้มการเติบโตของแฟรนไชส์ในปี พ.ศ. 2554 หรือปี 2011 ว่า จะมีอัตราการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ โดยแบ่งเป็นการเติบโตของแฟรนไชซอร์ 12-15% สำหรับแฟรนไชซี 28-30% ซึ่งมีผลมาจาก 5 ปัจจัยหลัก ดังนี้

1.ส่งเสริมของภาครัฐ ด้วยนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐ ในเรื่องของการส่งเสริมเอสเอ็มอีทั้งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีบทบาทสำคัญไปด้วย เพราะด้วยรูปแบบของธุรกิจแฟรนไชส์นั้นเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมมีการพัฒนา และสามารถสร้างการขยายตัวให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีได้อย่างรวดเร็ว ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่มีโครงการแฟรนไชส์อะคาเดมี่ และการให้รางวัลมาตรฐานของอุตสาหกรรมแฟรนไชส์

2. การให้สินเชื่อของสถานบันการเงิน นำโดย ธนาคารกสิกรไทย ที่ได้มีนโยบายให้เงินกู้สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ในวงเงิน 3,000 ล้านบาท โดยมีเงื่อนที่ผ่อนปรน และมีการสร้างความร่วมมือกับแฟรนไชซอร์หรือผู้ขายแฟรนไชส์โดยตรง

3. ความตื่นตัวเรื่องการสร้างมาตรฐานธุรกิจ การให้รางวัลมาตรฐานกับธุรกิจแฟรนไชส์ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ มีการพัฒนามากขึ้น แม้ว่าบทบาทของการให้รางวัลมาตรฐาน ไม่ได้ลงมือเรื่องพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ก็ตาม แต่ก็สร้างความตื่นตัวได้พอสมควร อันมีผลให้ธุรกิจต่างๆ ตั้งใจเข้าสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นและช่วยไทยเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสุดในการเติบโตธุรกิจแฟรนไชส์

4. กิจกรรมส่งเสริมของสมาคมและเอกชน การสร้างกิจกรรมของสมาคมแฟรนไชส์โดยการรวมตัวของภาคเอกชน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันมีอยู่ถึง 3 สมาคมก็ตาม แต่ก็มีแนวทางสร้างความร่วมมือกัน อีกทั้งกิจกรรมที่เกิดขึ้น ก็มีส่วนช่วยให้เรื่องแฟรนไชส์แพร่ขยายในวงกว้างขึ้น

และในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท แฟรนไชส์โฟกัส จำกัด บริษัทผู้จัดการโอกาสธุรกิจแฟรนไชส์ 2011 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์นี้ที่ Hall 3 อิมแพค เมืองทองธานี กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 16 แล้วนั้น จากแนวโน้มของการขยายตัวและความต้องการประกอบธุรกิจมากขึ้นนั้น ทำให้การจัดงานในปีนี้แตกต่างจากที่ผ่านๆ โดยขยายกลุ่มอาชีพ สินค้า บริการ ที่กว้างข้างมากขึ้น ในรูปแบบของการดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์และโอกาสธุรกิจ ทั้งในส่วนของการค้าปลีกและค้าส่ง และเพิ่มความหลากหลายของชนิดสินค้า บริการมากขึ้น

นอกจากความมุ่งหวังของผู้จัดงานในเรื่องของการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังเพิ่มช่องทางใหม่ ๆ โดยการรวบรวมสถาบันสอนอาชีพต่างๆ ภายในงานอีกด้วย โดยเลือกสรรคกลุ่มอาชีพและธุรกิจที่ประชาชนให้ความสนใจ เพื่อเป็นความรู้ควบคู่ไปกับการซื้อขายธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในงานอีกด้วย

สำหรับธุรกิจที่ตอบรับเข้าร่วมแสดงงานในครั้งนี้ประกอบด้วยธุรกิจที่หลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้า บริการ และหมวดต่างๆ ทั้งอาหาร คอนวีเนี่ยนสโตร์ เครื่องดื่ม กาแฟ น้ำผลไม้ ไอศกรีม หมวดความงามงาม สระ อุปกรณ์เสริมความงามต่างๆ เป็นต้น รวมถึงกลุ่มอาชีพที่มาแรงอย่างธุรกิจการเกษตร ทั้งนี้จากการคาดการณ์คาดว่าจะเกิดผู้ประกอบการใหม่และกิจการใหม่ไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย และการซื้อขายธุรกิจไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท

“แม้จะมีแรงหนุนอย่างแรงกจากภาครัฐ ธนาคารและสมาคมเอกชนต่างๆ ที่พร้อมส่งให้ธุรกิจแฟรนไชส์เติบโต ที่เรียกได้ว่าเป็นยุคทองแฟรนไชส์ได้ก็จริง แต่แฟรนไชส์จะโชติช่วงชัชวาลหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับบริษัทแม่ที่เป็นผู้ขายแฟรนไชส์หรือแฟรนไชซอร์ว่าจะมีความแข็งแกร่งทางธุรกิจมากน้อยแค่ไหน เพราะแรงหนุนเหล่านั้นจะเป็นเพียงสิ่งที่เอื้ออำนวยความสะดวกและเป็นแรงกระตุ้นเท่านั้น แต่จุดที่จะทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์เกิดเป็นยุคทองได้จริงคือความแข็งแกร่งของแต่ละแฟรนไชส์นั่นเอง” สมจิตรกล่าวในตอนท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.