ตลาดรถซีเอ็นจีเดือด ซัปพลายเออร์ปั้นแบรนด์สู้


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 พฤศจิกายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

สมรภูมิรถติดซีเอ็นจีร้อนฉ่า ซัปพลายเออร์หันมาสร้างแบรนด์รถเก๋ง ปิกอัพซีเอ็นจีค่ายผู้ผลิต เนื่องจากตลาดเริ่มขยายตัวอย่างมาก เหตุจากราคาน้ำมันไม่มีแนวโน้มลดลงอีก สเกน อินเตอร์ ผู้ติดตั้งซีเอ็นจีรายใหญ่ ทุ่ม 200 ล้านส่งโตโยต้า อัลติส 1.8 และวีโก้ 2.7VVT-i สร้างแบรนด์ใหม่ สแกน เพาเวอร์ พลัส รุกช่องว่างตลาด อัดโปรโมชั่นเติมแก๊สฟรี 1 ปีไม่กำหนดระยะทาง ด้านสามมิตรเมินเก๋งเน้นตลาดรถปิกอัพเป็นหลัก เทขายชุดคิต วีโก้ รับตลาดรถซีเอ็นจีโตเกินความคาดหมาย

ทิศทางตลาดรถ CNG มีแนวโน้มรุ่ง หลังราคาน้ำมันไม่มีแนวโน้มลดลง บรรดาค่ายรถต่างมียอดสั่งซื้อรถเกินกำลังการผลิต ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า โคโรลล่า อัลติส แอดวานซ์ ซีเอ็นจี, มิตซูบิชิ แลนเซอร์ซีเอ็นจี และโปรตอนเฟอร์โซน่า ซีเอ็นจี ลูกค้าต้องรอคิดกันหลายเดือนโดยเฉพาะอัลติสนั้น แบ็กออเดอร์นานถึง 5 เดือน ขณะที่โรงงานมีกำลังการผลิตเพียงเดือนละ 200 คัน

ทำให้บรรดาผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนและถังซีเอ็นจี เริ่มเบนเข็มมาติดตั้งระบบซีเอ็นจีกับรถยนต์นั่งและรถปิกอัพ สนองความต้องการตลาด ล่าสุด สแกน อินเตอร์ ผู้ผลิตและติดตั้งระบบซีเอ็นจี ในรถบรรทุกและรถยนต์นั่ง หันมาทำตลาดอย่างจริงจังด้วยการสร้างแบรนด์รถซีเอ็นจีของตัวเอง ภายใต้ชื่อ สแกน เพาเวอร์ พลัส (Scan Power Plus)

โดยเริ่มจากรถยนต์โตโยต้า โคโรลล่า อัลติส รุ่นใหม่เครื่องยนต์ Dual VVT-i 1.8 ลิตร และปิกอัพ ไฮลักซ์วีโก้ เครื่องยนต์เบนซิน 2.7 VVT-i ซึ่งเป็นตลาดที่ค่ายผู้ผลิตยังไม่ทำรถซีเอ็นจีออกมาทำตลาด ธัญชาติ กิจพิพิธ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด ผู้พัฒนาระบบคอมเพรสเซอร์ พร้อมอุปกรณ์ส่วนควบสำหรับก๊าซธรรมชาติหลัก (Mother Station) สถานีลูก (Daughter Station) และระบบขนส่งตลอดจนธุรกิจต่างๆ ในเครือข่ายเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก กล่าวว่า รถซีเอ็นจีในอัลติสของทางโตโยต้านั้น เป็นตลาดสำหรับผู้บริโภคที่เน้นความประหยัดเป็นหลัก เพราะเลือกติดตั้งในรถที่ใช้เครื่องยนต์ขนาด 1.6 ลิตร และสำหรับสแกน เพาเวอร์ พลัส ในอัลติส 1.8 ลิตรนั้น จะเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่ต้องการสมรรถนะที่สูงขึ้น แต่ให้ความประหยัดจากพลังงานทดแทนเหมือนกัน

ขณะเดียวกับระบบซีเอ็นจี ของสแกน เพาเวอร์ พลัส ในอัลติส จะติดตั้งถังแก๊สรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า Type 4 มีน้ำหนักเบาเพียง 30 กิโลกรัม ขณะที่ถังในรถซีเอ็นจี ปัจจุบันทั้งหมดรวมถึงของค่ายผู้ผลิตนั้นเป็นถังเหล็กแบบ Type 1 ซึ่งหนักกว่าถึง 3 เท่า ทำให้ สแกน เพาเวอร์ พลัส อัลติส 1.8 ไม่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนช่วงล่างเพื่อรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ปริมาณในการบรรจุแก๊สก็สูงกว่าคือ 17-18 กิโลลิตร ที่สำคัญ สแกน เพาเวอร์ พลัส ได้ผ่านการวิเคราะห์วิจัยโครงสร้างจากทีมงานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเคยได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

“สแกน เพาเวอร์ พลัส อัลติส 1.8 Dual VVT-i จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่แทรกในช่องว่างของตลาด เพราะรถยนต์ซีเอ็นจีส่วนใหญ่จะติดตั้งกับรถยนต์ขนาด 1.6 ลิตรเท่านั้น” ธัญชาติ กล่าว

ส่วนอุปกรณ์ปรับความดันก๊าซ TEN Bar ยี่ห้อ EMER ซึ่งเป็นระบบลูกสูบ ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้งานใน OEM เท่านั้น มีน้ำหนักเบา ประสิทธิภาพสูง ให้ความเสถียรทุกรอบการทำงาน และระบบหัวฉีดก๊าซ ถูกออกแบบให้ตอบสนองการทำงานได้อย่างแม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพในการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ ประหยัด และทนทาน จุดยึดทุกจุด นอตทุกชิ้นติดตั้งโดยอุปกรณ์ที่ป้องกันการเกิดสนิม มีความสวยงาม ทนทานต่อแรงบิดและแรงกระแทกอย่างสูง

ธัญชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับสแกน เพาเวอร์ พลัส ในปิกอัพไฮลักซ์วีโก้ 2.7 VVT-i นั้น ยังใช้ถังบรรจุก๊าซแบบ Type 1 วัสดุทำจากเหล็ก ตัวถังสีฟ้าให้ความแตกต่างในด้านการดีไซน์ที่โดดเด่น โดยติดตั้งถังไว้ใต้พื้นปิกอัพ วางบนแชสซีส์ ซึ่งไม่มีการเจาะโครงสร้างแต่อย่างใด

สำหรับตลาดปิกอัพซีเอ็นจี นั้นถือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง เนื่องจากมีผู้ติดตั้งระบบซีเอ็นจีหลายรายเริ่มเข้ามาทำตลาดมากขึ้น แต่คู่แข่งหลักๆ ยังเป็นรถยนต์จากค่ายผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็น มิตซูบิชิ ไทรทัน ซีเอ็นจี และทาทา ซีนอน ซึ่งใช้ระบบซีเอ็นจี 100% อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทเลือกใช้รถปิกอัพไฮลักซ์วีโก้ เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าส่วนหนึ่ง เนื่องจากปิกอัพของโตโยต้า ถือเป็นผู้นำตลาดที่ลูกค้าให้ความเชื่อมั่นอยู่แล้ว

ด้านแผนการตลาดนั้น หลังการเปิดตัวในงานมหกรรมยานยนต์ต้นเดือนธันวาคมนี้ บริษัทฯ เตรียมแคมเปญส่งเสริมการขายให้กับรถซีเอ็นจี สแกน เพาเวอร์ พลัส ทุกตันด้วยการให้เติมแก๊สซีเอ็นจี ฟรีเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยไม่จำกัดระยะทาง ขณะที่ด้านบริการหลังการขาย บริษัทมีบริการสายด่วน 24 ชั่วโมง สำหรับลูกค้าที่ประสบปัญหาต่างๆ ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีคลังสำหรับอะไหล่ของอุปกรณ์ชุดติดตั้งก๊าซทุกชิ้น เพื่อรองรับการบริการหลังการติดตั้ง ทั้งนี้ บริษัทมีแผนขยายสาขาและศูนย์บริการไปยังเชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ ภายในสิ้นปี 2554 อีกด้วย

ส่วน สามมิตร มอเตอร์ จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตถังแก๊สรายใหญ่ ที่ผ่านมาเน้นทำตลาดรถซีเอ็นจีในรถบรรทุกเป็นหลัก แต่มีการขยายตลาดเข้าสู่กลุ่มปิกอัพซีเอ็นจีด้วยเช่นกัน เพียงแต่ยังไม่มีการสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา ใช้เพียงชื่อ สามมิตร อย่างไรก็ดี สามมิตรมอเตอร์สแมนูแฟคเจอริง ใช้นโยบายไม่ได้ให้ความสำคัญกับลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เน้นความหลากหลายของลูกค้า เพื่อเป็นการขยายฐานในการทำการตลาดให้ครอบคลุม โดยมีการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกตลาดติดตั้ง NGV ชุดคิตให้กับรถกระบะเล็กวีโก้ บางส่วนก็ได้ส่งอุปกรณ์บางชิ้นให้กับโรงงานโตโยต้า ซึ่งสามมิตรฯ มองว่าตลาดของรถซีเอ็นจีนั้นเติบโตเป็นอย่างมาก เป็นที่พอใจกับลูกค้าในด้านการประหยัดน้ำมันกว่า 70% แรงม้าไม่ตก ทำให้เป็นที่ต้องการในตลาดสูง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.