ธุรกิจครอบครัวนี้ สืบทอดมาสู่ชนรุ่น 2 อย่างเต็มที่แล้ว หลังจากจงฮิวกวง
ผู้บุกเบิกได้วางมือไปตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่เมื่อปี 2513 ภาระในการนำธุรกิจนี้ไปสู่การเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป
บนรากฐานของการยอมรับในระบบอาวุโสและความสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่นในหมู่พี่น้อง
เป็นตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งที่น่าศึกษาถึงศักยภาพของระบบธุรกิจครอบครัวไทยในทศวรรษนี้
ลูกเอ๋ย… เราทำมาหากินเกี่ยวกับของเบื้องต่ำ อย่าไปหวังร่ำรวยอะไรกันนัก
พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็พอ…" จงอิวกวงพูดกับลูกๆ เมื่อกว่า 30 ปีก่อน…
คำพูดของผู้พ่อที่กล่าวด้วยน้ำเสียงเรียบๆ กับลูกๆ นี้ บ่งบอกถึงส่วนลึกของคนจีนโพ้นทะเลในยุคสมัยนั้นส่วนใหญ่
ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบข้ามน้ำข้ามทะเลหากินในเมืองไทย เพียงเพื่อความปรารถนาจะมีชีวิตรอด
ดำรงชีพอย่างสมถะ ไม่ได้หวังร่ำรวยอะไร
"จงอิวกวง" เป็นชนรุ่นบุกเบิกธุรกิจครอบครัว "จงสถิตย์วัฒนา"
ที่ทำธุรกิจซื้อมาขายไปรองเท้าหนังยี่ห้อ 555 มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่
2 โดยปักหลักอยู่ที่เยาวราชย่านไชน่าทาวน์ของไทย
สงครามทำให้ "จงอิวกวง" สูญเสียที่มั่นในการประกอบอาชีพ เขาต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่
ด้วยจิตใจที่ทรหดอดทน เข้าหาทำเลค้าขายใหม่ มาอยู่ที่เจริญกรุงบริเวณสามแยก
จงอิวกวง ไม่ทำมาหากินอย่างอื่นเลย เขายังคงสร้างหลักปักฐานอยู่กับรองเท้าอย่างเดียวเท่านั้น…
สงครามไม่ทำให้เขามีจิตใจหวั่นไหวเลย
เมื่อสงครามยุติลง จงอิวกวง ยังคงค้าขาย (ปลีก) รองเท้ายี่ห้อ 555 ของเขาต่อไป
ลูกค้าทั้งหมดก็เป็นคนในเมืองหลวงนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน กล่าวกันว่า
รองเท้าที่จงอิวกวงนำมาขายนั้น ผลิตขึ้นในประเทศไทยนี้เอง เป็นหัตถกรรมในครัวเรือน
หนึ่งในจำนวนนี้คือบริษัท SCS ในปัจจุบันนี้เอง
ออกจะเป็นเรื่องแปลกที่ จงอิวกวง ไม่เคยร่ำเรียนการตลาดหรือบริหารธุรกิจสาขาใดมาก่อน
แต่การค้าขายกับลูกค้าชาวจีนในเมืองหลวง เป็นประสบการณ์ที่ดีที่ทำให้เขารับรู้ว่า
สินค้ารองเท้ายี่ห้อ 555 ที่เขาตั้งขึ้นดูจะเป็นชื่อที่เรียกขานกันได้ยาก
ด้วยชาวจีนมีสำเนียงพูดไม่ชัดเจน ความทรงจำในยี่ห้อสินค้า ซึ่งในหลักการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ถือว่าเป็นหัวใจในการค้าขาย
ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในจิตใจผู้ซื้อ
จงอิวกวง จับจุดนี้ออก เขาจึงเปลี่ยนยี่ห้อรองเท้าใหม่จาก 555 เป็น "ตราอูฐ"
ที่มีความหมายถึงความทนทาน และเรียกขานกันได้ง่าย
นับแต่นั้นธุรกิจค้าขายรองเท้าของจงอิวกวงก็เริ่มติดลมบน!…
ตลาดค้าปลีกในเมืองหลวงแคบเกินไปเสียแล้ว จงอิวกวงเริ่มเล็งตลาดออกไปที่ต่างจังหวัด
ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นคนจีนที่มีความรู้แคบในการหยั่งรู้ถึงรสนิยมในการซื้อรองเท้าของคนต่างจังหวัด
แต่เขาก็มี "พิชัย" ลูกชายคนโตที่เกิดจากภรรยาคนที่ 2 เป็นคนคอยช่วยเหลือในการบุกเบิกตลาด
พิชัย เป็นลูกชายคนโตของจงอิวกวง เขาจบจากอัสสัมชัญ แล้วไปทำงานฝ่ายขายอยู่ที่บริษัทคอลเกตฯ
อยู่ 1 ปี การเป็นเซลส์แมนอยู่ที่คอลเกตฯ ทำให้พิชัยมีประสบการณ์ในการทำตลาดต่างจังหวัด
ที่นำมาปรับใช้ให้กับธุรกิจของครอบครัวมากๆ
จงอิวกวง มีลูกอยู่หลายคน คนโตสุดเกิดจากภรรยาคนแรกชื่อ เจริญ ส่วนพิชัยเป็นลูกชายคนโตที่เกิดจากภรรยาคนที่สอง
เจริญกับพิชัย เมื่อออกมาทำงานกับครอบครัว จงอิวกวงให้เขาทั้ง 2 แยกความรับผิดชอบออกจากกัน
เจริญ รับผิดชอบตลาดขายปลีกในเมืองหลวงในนามบริษัทสิงคโปร์ สโตร์ ขณะที่พิชัยรับผิดชอบตลาดต่างจังหวัด
ในนามบริษัทเกษมเทรดดิ้ง
การให้ลูกๆ ที่เกิดต่างมารดา แยกความรับผิดชอบในธุรกิจครอบครัวออกจากกัน
นับว่าเป็นความฉลาดของจงอิวกวง เพราะวิธีการนี้สะท้อนให้เห็นว่า จงอิวกวงได้ปูพื้นฐานโครงสร้างการทำธุรกิจครอบครัวให้แก่ชนรุ่น
2 ได้เป็นระบบขจัดปัญหาการแย่งชิงทรัพย์สินกันในภายหลัง เมื่อตนเองปลดเกษียณลง
จงอิวกวง เริ่มเปลี่ยนมือจากธุรกิจเพื่อผ่องถ่ายไปให้ลูกๆ เมื่อปี 2513
เขาก็เหมือนกับคนจีนโพ้นทะเลทั่วไปที่ภายหลังสร้างหลักปักฐานให้แก่ครอบครัวได้
ก็คิดจะปลดเกษียณเมื่อวัยชราได้มาเยี่ยมเยือน
"ตอนปล่อยมือ คุณพ่อปล่อยจริงๆ ธุรกิจทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นที่สิงคโปร์
สโตร์ และเกษมเทรดดิ้ง ท่านให้ลูกๆ ทำกันเองหมด ท่านให้เวลาที่เหลือท่องเที่ยวพักผ่อนอย่างเดียว
เพื่อความสุขในบั้นปลาย" พิษณุ จงสถิตย์วัฒนา ลูกชายคนที่ 4 ต่อจากพิชัย
พิเชษฐ์ พิจิตร ที่เกิดจากภรรยาคนที่ 2 ของจงอิวกวง เล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟัง หลังจากพยายามชี้ให้เห็นว่า จงอิวกวงเป็นเถ้าแก่คนจีนโพ้นทะเลน้อยรายเหลือเกิน
ที่ปลดเกษียณตัวเองจากธุรกิจขณะที่มีชีวิตอยู่อย่างจริงๆ โดยไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวเลย
"ผมรู้สึกแปลกใจเอามากๆ ที่คุณพ่อทำใจได้เช่นนั้นจริงๆ" พิษณุกล่าว
พิชัยและน้องที่เกิดจากภรรยาคนที่สองของจงอิวกวงได้มรดกจากพ่อ คือ บัญชีลูกหนี้ต่างจังหวัด
ขณะที่เจริญลูกที่เกิดจากภรรยาคนแรกของจงอิวกวง ได้บัญชีลูกหนี้ในกรุงเทพฯ
ไป
พิชัยยอมรับว่า การแบ่งบัญชีลูกหนี้กัน แม้จะเป็นความต้องการของจงอิวกวง
แต่ลึกๆ แล้ว พิชัยก็ยังสงสัยอยู่ เพราะขณะนั้นเจริญเป็นคนคุมการเงินของบริษัททั้ง
2 แห่ง
จุดนี้เชื่อมโยงไปสู่ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งกันในชนรุ่น 2 อย่างช่วยไม่ได้
หลังจากจงอิวกวงได้เสียชีวิตลงเมื่อปี 2516
สาเหตุการทะเลาะเบาะแว้งก็อยู่ที่เรื่องเจริญซึ่งคุมการเงินของบริษัททั้ง
2 แห่ง ต้องการขาย TRADE MARK LICENSE ยี่ห้อตราอูฐออกไปในราคา 10 ล้านบาท
แต่พิชัยไม่ยอมเพราะถือว่าตนเองเป็นผู้บุกเบิกยี่ห้อตราอูฐมากับมือจนติดตลาด
"คุณเจริญ เป็นคนจดทะเบียนลิขสิทธิ์ยี่ห้อนี้ ผมเสนอให้โอนลิขสิทธิ์นี้มาให้
แต่คุณเจริญไม่ยอมเพียงต้องการให้ผมทำตลาดให้อย่างเดียวเท่านั้น" พิชัยกล่าว
เมื่อตกลงกันไม่ได้ พิชัยกับน้องๆ ก็แยกตัวออกมาทำเอง โดยจัดตั้งบริษัทรองเท้าตราอูฐขึ้นเมื่อปี
2520 โดยมุ่งหวังจะสร้างยี่ห้อใหม่ขึ้นมาคือ AA
ตรงนี้เอง คือจุดแยกกันอย่างสิ้นเชิงในทางธุรกิจของชนรุ่น 2 ที่เกิดต่างมารดากันของครอบครัว
"จงสถิตย์วัฒนา" และประวัติศาสตร์ธุรกิจครอบครัวตระกูลนี้ของชนรุ่น
2 ที่เกิดจากภรรยาคนที่ 2 ของจงอิวกวงก็เริ่มขึ้นอยางจริงจัง
ชนรุ่น 2 ของสายเมียคนที่ 2 จงอิวกวง ประกอบด้วยพิชัย พิเชษฐ์ พิจิตร พิษณุ
สุนันทา พิชิต สุวรรณา และพิศิษฐ์ ช่วงการลงหลักปักฐานบริษัทรองเท้าตราอูฐ
มีพิชัย พิเชษฐ์ และพิจิตร เป็นหัวเรือใหญ่
บริษัทรองเท้าตราอูฐ จดทะเบียนด้วยทุน 4 ล้านบาท พิชัยและพิเชษฐ์ ถือหุ้นคนละ
10% ลักษณะการทำธุรกิจในช่วงแรกนี้ยังคงเป็นการซื้อมาขายไปเหมือนเดิม สินค้าที่ขายเป็นรองเท้าหนัง
และรองเท้านักเรียน ยี่ห้อ AA ซึ่งเป็น TRADE MARK ที่พิชัยและน้องๆ มุ่งหวังจะสร้างให้เป็นที่นิยมของตลาดให้ได้
พิชัย พี่ใหญ่ คุมฐานลูกค้าเก่าต่างจังหวัดสมัยเขาบุกเบิกตราอูฐ ขณะที่พิเชษฐ์
น้องพิชัยผู้บุกเบิกตราอูฐมากับพิชัยในตลาดต่างจังหวัดมาก่อนเป็นคนคุมหน่วยรถ
กล่าวกันว่า คู่แข่งขันที่ครองตลาดรองเท้าหนังเวลานั้น คือ บาจา ซึ่งมีทุนและเครือข่ายตลาดที่เหนือกว่ามากมาย
เพราะความเป็นผู้มาก่อนในธุรกิจอุตสาหกรรมรองเท้าระดับสากล
บริษัท บาจา เริ่มกิจการครั้งแรกในบ้านเรา ตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
2475 เสียอีก โดยนำรองเท้าจากบริษัทมาขายในบ้านเรา จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทบาจา
ประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกปี 2493 ด้วยทุนจดทะเบียน 100,000 บาท เริ่มมีฐานการผลิตในบ้านเราตั้งแต่ปี
2497 ที่ตำบลบางคอแหลม อีก 5 ปีต่อมาก็ย้ายมาผลิตที่โรงงานของบริษัทที่ซอยทองหล่อ
ถ.สุขุมวิท (บางนา) ในปี 2516
ในปี 2521 บริษัทได้ขอ BOI และได้รับอนุมัติส่งเสริม จึงเปิดอีกโรงงานหนึ่งที่บางพลี
รวมความแล้ว บริษัทบาจาแห่งนี้มีฐานการผลิตในบ้านเรา 3 แห่ง ผลิตรองเท้าเกือบทุกประเภท
ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าหนัง ผ้าใบ นักเรียน แตะฟองน้ำ จนบริษัทสามารถประกาศให้ตลาดรู้ว่า
ตนเองคือ "ผู้รู้เฟื่องเรื่องรองเท้า"
ถ้าให้บริษัทบาจาเลือดแคนาคาเป็นผู้มาก่อนในธุรกิจรองเท้าในบ้านเราแล้ว
สำหรับธุรกิจรองเท้าเลือดไทยก็มีบริษัทรองเท้าตราอูฐของตระกูล "จงสถิตย์วัฒนา"
ลูกๆ ของจงอิวกวงนี่แหละ ที่พอจะพูดได้ว่าเป็นผู้มาก่อนใครทั้งหมด!!
มรดกทำธุรกิจรองเท้าจากพ่อ ทำให้พิชัยและน้องๆ วางตำแหน่งธุรกิจครอบครัวของตนเองอยู่ที่รองเท้าเพียงอย่างเดียว
และหมายมั่นที่จะลบล้างทัศนคติของพ่อที่เคยกล่าวกับลูกๆ ว่า "การทำมาหากินกับของต่ำ
อย่าไปหวังร่ำรวยอะไร เอาพอกินพอใช้ก็พอ" นั้นให้จงได้เพราะชนรุ่นลูกอย่างพิชัยและน้องๆ
ที่เกือบทุกคนได้รับการปูพื้นจากประสบการณ์การทำงานบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่อย่างคอลเกตฯ
และระดับการศึกษาด้านธุรกิจการค้าจากอัสสัมชัญ เขาย่อมมองธุรกิจทุกประเภทอย่างมีความหวัง
ถ้าทำกันอย่างจริงจังและมีระบบการทำงานที่ดี
"ผมคัดค้านพ่อในเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าธุรกิจรองเท้าถ้าทำให้ดีอย่างจริงจังย่อมสำเร็จและร่ำรวยได้"
พิชัยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ชนรุ่น 2 ของจงอิวกวง วางกลยุทธ์สู่ความสำเร็จโดยสร้างแบรนด์ AA ให้โด่งดังกว่าตราอูฐ
แต่จะไม่ไปแข่งกับบาจาโดยตรง เขาทราบดีว่า ในยุคของพวกเขามีธุรกิจรองเท้าเลือดไทยหลายรายก้าวเข้ามาแข่งขันอย่างเต็มตัว
เช่น กลุ่ม SCS ที่เคยผลิตป้อนรองเท้าให้กลุ่ม SENSO ที่ผลิตรองเท้าแฟชั่นสตรี
ดังนั้นการที่จะให้กลุ่มจงสถิตย์วัฒนาสามารถต่อกรกับคู่แข่งขันเลือดไทยได้ต้องมีฐานการผลิตของตนเอง
ด้วยเหตุนี้ในปี 2522 บริษัทรองเท้าตราอูฐของตระกูลจงสถิตย์วัฒนา จึงขยายธุรกิจออกไปโดยสร้างฐานการผลิตของตนเองในนามบริษัทรองเท้าเอเอ
และวางเป้าหมายการผลิตเฉพาะรองเท้านักเรียน รองเท้าแตะ PVC และรองเท้าผ้าใบเท่านั้น
เมื่อกลยุทธ์ธุรกิจปรับเปลี่ยนไปจากซื้อมาขายไปสู่การผลิตจัดจำหน่าย และนอกจากนี้กลุ่มสินค้าที่เคยจำกัดในไลน์แคบไม่กี่ตัวก็เริ่มมีมากขึ้น
จากเฉพาะรองเท้าหนังและรองเท้านักเรียน ไปสู่รองเท้าแตะ PVC และรองเท้าผ้าใบ
ลักษณะกลยุทธ์ที่ปรับเปลี่ยนไปเช่นนี้บ่งบอกว่า ธุรกิจครอบครัวเริ่มขึ้นสู่วงจรเติบโตขึ้นแล้ว
พิชัย พิเชษฐ์ และพิจิตร 3 พี่ใหญ่ของครอบครัวรุ่น 2 "จงสถิตย์วัฒนา"
รู้ดีว่า การปรับระบบบริหารให้ขยายตัวตามกลยุทธ์ที่เปลี่ยนไปเป็นสิ่งจำเป็น
พิชัยดึงสุนันทาน้องสาวคนโตที่จบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้านบัญชีจากบริษัทบอร์เนียว
มาควบคุมดูแลด้านบัญชีให้กับธุรกิจครอบครัวดึงพิศิษฐ์มาคุมด้านการขายส่งและปลีกในประเทศหลังจบอัสสัมชัญมา
ดึงสุวรรณาน้องสาวคนเล็กมาคุมด้านแผนก P.C. หลังจบจากอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
การดึงเอาน้องๆ เข้ามาร่วมงานบริหารในฝ่ายต่างๆ แสดงแจ่มชัดว่า ระบบการบริหารของชนรุ่น
2 เริ่มมีการกระจายหน้าที่และอำนาจความรับผิดชอบ จากแต่เดิมมีลักษณะการรวมศูนย์อยู่ที่พิชัยและพิเชษฐ์
ในปี 2523 ตลาดภายในประเทศอ่อนเปลี้ยลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยลง เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยแพง
สภาพไม่เอื้ออำนวยของตลาดภายในนี้ พิชัยและน้องๆ เริ่มเล็งไปที่ตลาดส่งออกย่านตะวันออกกลาง
ที่ขณะนั้นเป็นตลาดยอดนิยมของผู้ส่งออกไทยในสินค้าทุกประเภท
พิชัยมองคนในครอบครัวที่เหมาะกับงานนี้ไปที่พิชิต อดีตผู้สื่อข่าวพิเศษ
FAREASTERN ECONOMIC REVIEW ประจำฮ่องกง ด้วยความที่วิชาชีพทำให้เขาต้องเดินทางไปต่างประเทศอยู่เรื่อยๆ
พิขัยเห็นว่าเขาเหมาะกับงานนี้ จึงดึงพิชิต น้องชายมาร่วมงานนี้ด้วย
งานส่งออกแรกที่พิชิตทำ เขาบุกเบิกส่งรองเท้าหนัง AA สู่ตะวันออกกลางจาก
TRADE MISSION ที่สภาหอการค้าไทยจัดนำไป ด้วยยอดขาย 30 ล้านบาทเป็นการบุกเบิกตลาดส่งออกและรองเท้า
AA ภายในนามบริษัทรองเท้าตราอูฐได้สดสวยงามยิ่ง
ชนรุ่น 2 ของ "จงสถิตย์วัฒนา" กำลังนำธุรกิจสู่ INTERNATIONAL
แล้ว !
ปี 2524 พิชัยตั้งแผนกส่งออกขึ้นในบริษัทรองเท้าตราอูฐ ให้พิชิตน้องชายที่แสดงฝีมือไว้แล้วในตลาดตะวันออกกลางเป็นหัวหน้าแผนก
ซึ่งจังหวะก้าวเช่นนี้เป็นนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ธุรกิจครอบครัว "จงสถิตย์วัฒนา"
อย่างยิ่ง ด้วย 4 ขาหยั่งทางโครงสร้างของธุรกิจที่พิชัยวาดหวังไว้เมื่อปี
2520 ได้ปรากฏชัดเจนขึ้น คือ หนึ่ง - ความเข้มแข็งของตลาดภายใน สอง - ความเข้มแข็งทางการเงิน
สาม - ความเป็นไปได้ในตลาดส่งออก และสี่ - ความแข็งแกร่งของฐานการผลิต
อย่างไรก็ตามกล่าวสำหรับตลาดส่งออกแล้ว ยังไม่ใช่จุดทำกำไรเป็นชิ้นเป็นอันแก่ธุรกิจมากนัก
เมื่อเทียบกับตลาดภายในประเทศ สาเหตุสำคัญก็เพราะสินค้ารองเท้าส่งออกมีการแข่งขันด้านราคากันมาก
คู่แข่งขันเช่นไต้หวันและเกาหลีใต้มีประสิทธิภาพการผลิตทีดี่กว่าผู้ผลิตไทยมา
อันเป็นผลจากการรู้จักประดิษฐ์คิดค้น เทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ที่ประหยัดต้นทุนแรงงานอยู่ตลอดเวลา
จุดนี้สอดคล้องกับคำพูดของพิชัยที่บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ตลาดส่งออกของรองเท้า
AA เป็นการช่วยสร้างภาพพจน์มากกว่าความสามารถทำกำไร ความสามารถในการแทรกตัวเข้าไปในตลาดโลกได้
ทั้งๆ ที่ต้นทุนการผลิตด้านแรงงานสูงกว่า ซึ่งย่อมเสียเปรียบคู่แข่งขันในด้านราคา
ย่อมแสดงว่าตลาดโลกยอมรับในคุณภาพรองเท้าจากผู้ผลิตไทย
การทะยานออกไปสู่ตลาดส่งออกของพิชิตจากระดับไม่กี่สิบล้านบาทในช่วงปีแรกๆ
(2523) สู่ระดับ 100 ล้านบาทในอีก 5 ปีต่อมา และจากฐานตลาดส่งออกในตะวันออกกลางสู่ตลาดในยุโรปตะวันตก
แสดงว่าตลาดส่งออกเริ่มมีนัยสำคัญต่อความเติบโตของธุรกิจครอบครัวแล้ว ซึ่งจุดนี้พิษณุ
จงสถิตย์วัฒนา น้องชายพิชัยคนที่ 4 ที่ถูกดึงเข้ามาร่วมงานกับครอบครัวด้วยเป็นรายล่าสุด
ก็ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า ยอดขายจากส่งออกมีสัดส่วนประมาณ 30%
ของยอดขายรวม ณ สิ้นปี 2530
พิษณุจบ MBA จาก UCLA เขาเป็นลูกชายจงอิวกวงที่เรียนสูงที่สุดในบรรดาพี่น้อง
ก่อนหน้าพิชัยจะดึงเขามาร่วมงานกับครอบครัว เขาดำรงตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล
เอ็นจิเนียริ่ง เครือปูนใหญ่ ขายวิทยุ โทรศัพท์ MOBIRA
พิษณุร่วมงานกับครอบคัวเมื่อต้นปี 2530 นี้เอง มีความเป็นนักบริหารที่มีความรู้เชิงเทคนิควิชาการระดับมืออาชีพ
เขาเข้ามาสู่ธุรกิจครอบครัวด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะมีส่วนร่วมกับพี่น้อง
ในการจัดระบบการบริหารธุรกิจในครอบครัวให้มีระเบียบแบบแผนมากยิ่งขึ้น
บทบาทาของพิษณุถูกวางไว้ในระดับมีความสำคัญพอๆ กับพิชัย ความแตกต่างของคนทั้ง
2 อยู่ที่พิษณุได้รับการยอมรับในพี่น้องว่าเป็นคนมีความสามารถด้านเทคนิคและวางแผนเสมือนเสนาธิการของครอบครัว
ขณะที่พิชัยเป็นนักปฏิบัติการ
พิษณุเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท AA FOOT WEAR ที่ตั้งขึ้นใหม่ล่าสุดด้วยทุนจดทะเบียน
10 ล้านบาท บริษัทแห่งนี้ใช้ทุนจากำไรสะสมของบริษัทโฮลดิ้งรองเท้าตราอูฐเป็นเงินทุนลงทุน
และใช้เครดิตไลน์จากแบงก์ 40 ล้านบาทในการลงทุนจัดสร้างโรงงานผลิตรองเท้าเพื่อส่งออกอย่างเดียว
จุดนี้แสดงว่า หนึ่ง - ธุรกิจครอบครัว "จงสถิตย์วัฒนา" กำลังมุ่งสู่ตลาดส่งออกผ่านยุโรปตะวันตกที่เน้นสินค้ารองเท้าที่มีคุณภาพดี
สอง - สะท้อนว่า ปรัชญาในการลงทุนของครอบครัวเน้นความมั่นคงมากกว่าการเติบโต
ซึ่งเห็นได้จากการพึ่งเงินทุนในครอบครัวเป็นจุดหลักมากกว่าเงินกู้จากแบงก์
ตรงนี้สอดคล้องกับคำพูดของพิษณุที่บอกว่า
"การขยายธุรกิจครอบครัวให้โตขึ้นต้องอาศัยการระดมทุนจากภายนอก ขณะที่เราพึ่งเงินทุนภายในเอง
เพราะพวกเราคิดเสมอว่า ทุกบริษัทในเครือ AA เราเป็นของครอบครัวทุกคนที่ร่วมชะตากรรมเดียวกัน
จึงต้องระมัดระวังมาก"
พิษณุได้เสริมรูปธรรมในปรัชญาการลงทุนของครอบครัวในจุดนี้ว่าสัดส่วน DEBT/EQUITY
RATIO ตกราว 1.8 : 1 เท่านั้น
การดำเนินนโยบายธุรกิจของครอบครัวนี้ ในลักษณะอนุรักษ์นิยมสูง ว่าไปแล้วด้านหนึ่งอาจหมายถึงการเติบโตในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมของครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเล ที่เน้นบทบาทาความมั่นคงการสืบทอดภารกิจทางธุรกิจจากชนรุ่นหนึ่งสู่อีกชนรุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่อง
อีกด้านหนึ่งเป็นการแสดงออกถึงความระมัดระวังในการปกป้องตัวเอง ยามที่ภาวะธุรกิจประสบความเลวร้ายอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมภายนอก
ในแง่นี้เคยเกิดขึ้นในปี 2527 และ 2528 ที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างเลวร้าย
และแบงก์ดำเนินนโยบายคุมกำเนิดอัตราการเติบโตของสินเชื่อไว้ 18%
ปรากฏว่าในช่วง 2 ปีดังกล่าว ธุรกิจครอบครัว "จงสถิตย์วัฒนา"
ขาดทุนดำเนินงานติดต่อกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทำธุรกิจมา
แต่ภายใต้ภาวะวิกฤติเช่นนี้ ความเป็นปึกแผ่นในชนรุ่น 2 ของครอบครัวก็ไม่แตกสลายไปเหมือนธุรกิจครอบครัวอื่นๆ
ตรงนี้พิชัยได้กลาวกับ "ผู้จัดการ" ว่าเป็นเพราะ หนึ่ง - พี่น้องทุกคนที่บริหารในธุรกิจของครอบครัวร่วมใจกันลดเงินเดือนและงดปันผล
เพื่อแสดงสปิริตในความพยายามลดค่าใช้จ่ายส่วนที่เป็นค่าจ้างเงินเดือน และสอง
- การดำเนินนโยบายบริหารเงินทุนแบบอนุรักษ์ที่พึ่งฐานเงินทุนของครอบครัวเป็นหลัก
ทำให้ธุรกิจของครอบครัวสามารถลดแรงกดดันดอกเบี้ยจ่ายลงไปได้มาก ซึ่งเท่ากับเป็นแรงลดค่าใช้จ่ายไปในตัว
การต้านวิกฤติแบบนี้ ถ้าเป็นธุรกิจที่บริหารโดยมีคนภายนอกเข้ามาด้วย (PROFESSIONAL
ORGANIZATION) คงทำไม่ได้ง่ายๆ
แต่นี่มีแต่คนในครอบครัวทั้งนั้น สปิริตแบบนี้จึงเกิดขึ้นและไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง
นับว่าเป็นความโชคดีของจงอิวกวง ที่ลูกๆ มีความเป็นปึกแผ่นในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน
อย่างไรก็ตามในการดัดแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปให้องค์กรธุรกิจของครอบครัวเป็น
PROFESSIONAL ORGANIZATION พิชัยและน้องๆ ก็ไม่ปฏิเสธในทิศทางนี้ เขาแสดงทัศนะถึงอนาคตของกลุ่มธุรกิจครอบครัวของเขาว่า
บริษัท AA FOOTWEAR จะเป็นบริษัทแรกที่จะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยจะให้ลูกค้าและพนักงานเข้าซื้อหุ้นของบริษัท
ขณะที่คนในครอบครัวจะลดสัดส่วนการถือหุ้นกันลงมา
ทัศนะนี้แม้พิชัยจะยังไม่สามารถมีรายละเอียดในการปฏิบัติ แต่ก็แสดงออกถึงแนวคิดบางนโยบายที่ชัดเจน
ในการบริหารกลุ่มธุรกิจของครอบครัวมี 4 บริษัท คือ บ.รองเท้าตราอูฐ ซึ่งเป็นบริษัทแม่
บริษัท AA MARKETING ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่าย บริษัทรองเท้า AA ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเพื่อขายในประเทศ
และบริษัท AA FOOTWEAR ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเพื่อส่งออกอย่างเดียว พิชัยกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า บริษัทแต่ละแหล่งเหล่านี้ แม้พี่นองในครอบครัวจะถือหุ้นกันเองโดยไม่มีคนภายนอก
แต่การบริหารจะให้แต่ละแห่งยืนอยู่ได้ด้วยลำพังตนเอง จะไม่มีการอาศัยเงินทุนจากบริษัทแม่อีกต่อไป
พิจิตร น้องชายคนที่ 3 ของพิชัย ซึ่งจบด้านการออกแบบรองเท้าจากสถาบัน ARS
SUTORIA อิตาลี ผู้ชำนาญการด้านรองเท้าเด็ก เขาได้รับการส่งเสริมจากพิชัยและพี่น้องให้ดูแลบริษัทแม่รองเท้าตราอูฐ
พิเชษฐ์ น้องชายรองจากพิชัย ที่มีประสบการณ์ลุยงานขายมากับพิชัยโดยตลอดเกือบ
30 ปีในต่างจังหวัด คุมบริษัท AA MARKETING ซึ่งเป็นหัวใจหลักของครอบครัวในการทำรายได้ให้กับธุรกิจจากตลาดภายในประเทศ
"ยอดขายจากตลาดภายในยังเป็นหัวใจและทิศทางหลักของธุรกิจเพราะมีกำไร/หน่วยยอดขายสูงกว่าส่งออก"
พิษณุกล่าว
นอกจากพิเชษฐ์แล้วในบริษัทแห่งนี้ยังมีพิศิษฐ์นอ้งชายคนเล็กสุดของครอบครัว
ได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านการขายส่งและขายปลีกในตลาดภายในร่วมกับพิเชษฐ์ด้วย
พิศิษฐ์ก็เหมือนกับพี่ๆ ของเขา เขาอยู่ในธุรกิจนี้มานานนับ 10 ปีแล้ว นับตั้งแต่จบจากอัสสัมชัญ
ก็ถูกพิชัยพี่ใหญ่ดึงเข้ามาทำงานด้วย นอกจากนี้ยังมีสุวรรณาน้องสาวคนเล็กอีกคนหนึ่งที่ช่วยงานดานขายตรงที่มีสต๊าฟในอาณัติอีก
100 คน
มองในแง่นี้ บริษัท AA MARKETING จึงเต็มไปด้วยคนในครอบครัวที่ควบคุมดูแลงานขายที่เต็มไปด้วยประสบการณ์อันยาวนาน
พิชัยพี่ชายคนโตสุดที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ในช่วงนี้บริษัทครอบครัวที่เขาปลุกปั้นมากับมือเติบโตขึ้นมากแล้ว
เขาเริ่มปล่อยมืองานหลายส่วนแก่น้องๆ นับตั้งแต่งานขายในบริษัท AA MARKETING
งานบริหารการเงินในบริษัทแม่รองเท้าตราอูฐ ทุกวันนี้เขาเป็นรองประธานกรรมการบริษัทที่มีแม่เป็นประธานฯ
อยู่ทุกบริษัทในเครือ
พิชัยพอใจที่จะวางบทบาทตนเองในงานบริหารโรงงานบริษัทรองเท้า AA ทีผลิตเพื่อขายในประเทศเพียงอย่างเดียว
เขาเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า การจะผลิตรองเท้าประเภทใดออกมาสู่ตลาดบริษัทจะดูแลด้าน
INVENTORY CONTROL เป็นจุดหนักมากกว่าการคำนึงถึง MARKET SHARE ซึ่งจุดนี้ก็สะท้อนถึงปรัชญาในการบริหารได้อย่างดีว่า
หนึ่ง - ธุรกิจครอบครัวมีจุดร่วมกันเอง หนึ่งคือรักษาความมั่นคงมากกว่าการเติบโตอย่างหวือหวา
เหมือนดังที่พิษณุได้กล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า รองเท้าแฟชั่น
กลุ่มบริษัทครอบครัวเขาจะไม่ลงไปแข่งขันมากนัก เพราะผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ผู้บริโภคมีรสนิยมในแบบเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินไป
มันเสี่ยงต่อการดำรงสินค้าคงคลังสูงเกินไป และสอง - มันชี้ให้เห็นว่า กลุ่มธุรกิจครอบครัวมักคำนึงถึงผลตอบแทนกำไรต่อหน่วยยอดขายที่สูงมากกว่าปริมาณของยอดขาย
ธุรกิจครอบครัวทำรองเท้าอย่าง "จงสถิตย์วัฒนา" มีวงจรชีวิตที่ทอดยาวมาไกลแล้วเมื่อเทียบกับคู่แข่งขันหน้าใหม่ๆ
ที่เข้ามาอย่างกลุ่ม SENSO หรือกลุ่มอื่นๆ ที่วางขายผลิตภัณฑ์รองเท้าในตลาด
เส้นทางในอนาคตของกลุ่มครอบครัวนี้ จากชนรุ่น 2 สู่รุ่น 3 ยังทอดยาวต่อไปในเวทีธุรกิจรองเท้า
มันไม่ง่ายนักต่อการลงหลักปักฐานธุรกิจนี้เติบโตต่อไปอย่างมั่นคง เหมือนบรรพบุรุษได้สร้างมาภายใต้สภาวะการแข่งขันที่แหลมคมขึ้นทุกวัน
แต่สปิริตที่สร้างสมกันมาอย่างยาวนาน จนเป็นวัฒนธรรมของครอบครัวนี้ในการสามัคคีกันอย่างแน่นแฟ้น
และการยอมรับในระบบอาวุโส ไม่ว่าจะเผชิญปัญหาใดๆ นับว่าเป็นจุดเด่นที่ตอกย้ำถึงคุณลักษณะของธุรกิจครอบครัวไทยที่มีรากฐานมาจากชนรุ่นบุกเบิกชาวจีนโพ้นทะเลที่มีความขยัน
อดทน และถูกเสริมสร้างด้วยวิทยาการสมัยใหม่ของชนรุ่นลูกๆ ในการวางทิศทางของธุรกิจอย่างมีระเบียบแบบแผน
เหตุนี้กระมังที่ธุรกิจครอบครัวในระบบธุรกิจไทยยังคงความศักดิ์สิทธิ์ได้ต่อไป