ศึกชิงยอดขายรถนำเข้า เกรย์ใหญ่ทุ่มงบอัปเกรดเซอร์วิส


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 พฤศจิกายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระหรือเกรย์มาร์เกตรายใหญ่ แข่งกันปรับตัวสร้างจุดขายด้านบริการหลังการขาย หนีการแข่งขันด้านราคากับเกรย์ฯ รายย่อย และหน้าใหม่

ตลาดรถยนต์นำเข้าอิสระคุกรุ่น หลังบรรดาผู้นำเข้าอิสระรายใหญ่ ถูกเกรย์มาร์เกตรายเล็กๆ ตีตลาดอย่างหนักด้วยกลยุทธ์ด้านราคา และสิ่งเดียวที่จะสามารถสร้างความแตกต่าง และเป็นจุดขายได้คือ การทำในเรื่องบริการหลังการขายที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะโชว์รูมและศูนย์บริการ

ก่อนหน้านี้ เอส.อี.ซี. กรุ๊ป อดีตผู้นำในตลาดรถยนต์นำเข้าอิสระ นั้นเคยมีการขยายเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการไว้มากถึง 12 แห่ง และสามารถครองความยิ่งใหญ่ในตลาดมาได้เป็นเวลานาน จนล่มสลายด้วยเรื่องของการทุจริตภายใน ซึ่งการมีโชว์รูมและศูนย์บริการที่ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือในการซ่อมบำรุงที่พร้อม ทำให้รถยนต์นำเข้าของ เอส.อี.ซี.ฯ ในเวลานั้นได้รับความนิยมสูง แม้จะต้องแข่งขันกับเกรย์รายย่อยด้านราคาก็ตาม

เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เกรย์มาร์เกต 3 รายใหญ่ในเวลานี้ ต้องเพิ่มจำนวนโชว์รูม หรือศูนย์บริการให้ครอบคลุมในหลายๆ พื้นที่ หรือแม้แต่การขยายศูนย์บริการ เพื่อรองรับปริมาณลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และอีตั้น อิมปอร์ต เป็นหนึ่งในเกรย์มาร์เกตรายใหญ่ที่ เตรียมขยายงานด้านบริการหลังการขายในปี 2554 ว่ากันว่าจะเป็นปีที่มีการแข่งขันรุนแรงมากกว่าปีนี้ และแน่นอนสิ่งที่อีตั้นฯ กังวลคือ สงครามราคา

พีรศุษม์ ตันติยันกุล กรรมการผู้จัดการ อีตั้น อิมปอร์ท บอกว่า การขยายพื้นที่ศูนย์บริการในครั้งนี้จะต้องใช้งบประมาณราว 80 ล้านบาท เพื่อขยายศูนย์บริการใหม่ ประกอบด้วยช่องซ่อมทั้งหมด 23 ช่องซ่อม จากเดิมศูนย์บริการสำนักงานใหญ่บนถนนศรีนครินทร์มีเพียง 8 ช่องซ่อม ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับการให้บริการได้มากถึง 1,500 คันต่อเดือน

ศูนย์บริการใหม่แห่งนี้ จะมีความพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน สำหรับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ อาทิ มุมดูหนัง มินิบาร์ อินเทอร์เน็ต ทั้งนี้เพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ “Excellent Service” เน้นบริการที่ดีเยี่ยม ตั้งแต่การนำรถเข้าบริการจนเสร็จพร้อมส่งมอบ โดยช่างผู้ชำนาญการที่ผ่านการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือ เทคนิคพิเศษในการวิเคราะห์สาเหตุ และปัญหา รวมถึงการแก้ไขเครื่องยนต์ในทุกอาการ สำหรับรถยนต์ทุกรุ่นทุกยี่ห้อที่ทางอีตั้นจัดจำหน่าย ขณะเดียวกัน ศูนย์บริการแห่งใหม่ ยังถือเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจ พร้อมขยายกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น และคาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบได้ราวเดือนมีนาคม 2554

ในขณะที่ค่ายทีเอสแอล เกรยร์มาร์เกตรายใหญ่ย่านหลักสี่ และที่ผ่านมาได้เริ่มขยายโชว์รูมและศูนย์บริการอีก 2 แห่งคือ ย่านสาทร และทองหล่อ (สุขุมวิท 55) โดยทั้งหมดถูกวางกลยุทธ์ด้านบริการหลังการขายด้วยคอนเซ็ปต์ SMRT (Smart team and Smart service) เป็นแผนการยกระดับการให้บริการหลังการขายสำหรับรถยนต์นำเข้าของทีเอสแอล ส่วนในต่างจังหวัดนั้น ทีเอสแอลก็เริ่มรุกตลาดไปยังภูเก็ต พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และมีปริมาณผู้ใช้รถยนต์นำเข้าอยู่จำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ค่ายทีเอสแอล อยู่ระหว่างการดำเนินการขยายโชว์รูมและศูนย์บริการในกรุงเทพฯ อีก 1 แห่งด้วย

แม้แต่บีอาร์จี หรือเบนซ์รามคำแห่งกรุ๊ปเอง นอกจากโชว์รูมและศูนย์บริการที่มีอยู่ 2 สาขาคือที่ถนนรามคำแหง และพหลโยธิน แล้ว บีอาร์จี ก็เลือกกลยุทธ์การเพิ่มเครือข่ายศูนย์บริการผ่านจุดให้บริการขนาดเล็กที่เรียกว่า Pro Care หรือศูนย์ดูแลรักษารถยนต์ และให้บริการ ล้าง ขัด เคลือบ ให้บริการประเภทเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ล้างหัวฉีด แม้จะไม่สามารถให้บริการที่ครอบคลุมบริการหลังการขายได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารกับลูกค้าได้ทางหนึ่ง และใช้งบลงทุนที่ไม่มากมายนัก

เหล่านี้เป็นความพยายามในการสร้างจุดแข็งของบรรดาผู้นำเข้ารถยนต์อิสระรายใหญ่ ที่ทั้งต้องแข่งขันกันเอง ในด้านยอดขาย และบริการหลังการขาย รวมถึงต้องต่อสู้กับผู้นำเข้าอิสระรายเล็ก ที่อาศัยพื้นที่โชว์รูมเพียงไม่กี่ตารางเมตร นำรถยนต์มาขายในราคาที่ต่ำกว่า แต่ไม่มีบริการหลังการขายใดๆ โดยมีตลาดรวมรถยนต์นำเข้าอิสระในปีนี้ที่คาดว่าจะสูงกว่า 3,000 คันเป็นเป้าหมายสำคัญ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.