เหตุเกิดที่บรรษัท (IFCT) ความสับสนในบทบาทที่แท้จริง? หรือเป็นเพียงนิยายน้ำเน่า


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากที่บรรษัทโดนมรสุมข่าวโหมกระหน่ำอย่างหนัก ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมจนถึงกลางเดือนสิงหาคมก็ยังมีสื่อมวลชนบางฉบับกล่าวถึงอยู่

ภาพพจน์ของบรรษัทในฐานะสถาบันการเงินที่ได้รับความเชื่อถือในระบบการบริหารสมัยใหม่ มีนักบริหารมืออาชีพอยู่เต็มไปหมด เริ่มถูกตั้งข้อสงสัยในประสิทธิภาพเสียแล้ว?

ทางออกของปัญหานั้นบ้างก็ว่าต้องผ่าตัดบรรษัท หนังสือพิมพ์บางฉบับเล่นข่าวนี้อย่างหวือหวา ว่ามีการเสนอให้ยุบทิ้งบรรษัทพร้อมกับมีการปล่อยข่าวลือว่าบรรษัทจะล้ม!

ผู้ที่รับบทหนักที่สุดคือ ศุกรีย์ แก้วเจริญ กรรมการผู้จัดการทั่วไป แทบไม่เป็นอันทำงานทำการเพราะต้องคอยชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ที่ห่วงใยในสุขภาพของบรรษัททั้งหลาย โดยเฉพาะสื่อมวลชน แต่ก็ยังไม่สามารถคลายข้อสงสัยจนหมดสิ้น เพราะส่วนหนึ่งอยู่ท่าทีของกระทรวงการคลังด้วย

จนกระทั่ง สุธี สิงห์เสน่ห์ มอบหมายให้ โมรา บุณยผล รองปลัดคลังออกมาชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร และกระทรวงการคลังก็มีโอกาสเข้าไปดูแลและมีกรรมการของบรรษัทซึ่งได้รับเลือกจากผู้ถือหุ้นของบรรษัท และมีอดีตรัฐมนตรีคลังอย่างสมหมายเป็นประธาน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ข่าวนี้ซาลงไป

ในทางปฏิบัติยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาบทบาทของบรรษัท หรือการใช้มาตรการอื่นใด ข่าวที่บอกว่าคลังสั่งให้บรรษัทปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร ศุกรีย์ยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่า ไม่เคยได้รับคำสั่งเช่นนั้น แต่ผลสะเทือนที่เห็นได้ชัดคือ ราคาหุ้นของบรรษัทที่ตกลงมาอย่างฮวบฮาบ ต้นเดือนกรกฎาคม ราคา 219 บาท กับวันที่เขียนต้นฉบับ (22 สิงหาคม) ราคาหุ้นเหลือเพียง 140 บาท ตกลงมาราวๆ 36% ซึ่งนับว่าหนักเอาการอยู่

ประเด็นของปัญหาอยู่ที่การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน คำนวณเมื่อสิ้นปี 2530 เป็นการขาดทุนทางบัญชี 6,320 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สมมุติว่าบรรษัทต้องชำระหนี้ระยะยาวที่มีอยู่ทั้งหมด ณ ธันวาคม 2530 แต่ความจริงยังไม่ขาดทุนเพราะยังไม่ถึงกำหนด

จำนวนเงินที่ขาดทุนจริงๆ ของปี 2530 คือ 527.7 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังต้องรับภาระออกเงินชดเชยให้บรรษัทก่อน นี่เป็นข้อกล่าวหาว่าบรรษัททำตัวเป็นเฒ่าทารกที่คิดแต่จะอิงหลังคลังไปจนตาย ระเรื่อยไปจนถึงบรรษัทแต่งบัญชี แทนที่จะนำขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนไปลงด้านหนี้สินที่เพิ่มขึ้น กลับไปลงบัญชีเป็นตัวเลขด้านสินทรัพย์ในช่องลูกหนี้ เนื่องจากถือว่าคลังต้องชดเชยเงินจำนวนนี้ ทำให้ตัวเลขสินทรัพย์สวยงาม

ความจริงการทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ละเอียดลึกซึ้งเป็นสิ่งที่ทำได้ โดยแยกพิจารณาเป็นสองส่วน ภารกิจในอดีตที่สืบเนื่องถึงปัจจุบัน และบทบาทในปัจจุบันท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปซึ่งจะเป็นตัวกำหนดบทบาทที่ควรจะเป็นไปในอนาคต

การก่อกำเนิดของบรรษัทเป็นการแทนที่ "ธนาคารอุตสาหกรรม" ซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแก่กิจการอุตสาหกรรมระหว่างปี 2495-2500 แต่เนื่องจากธนาคารอุตสาหกรรมประสบปัญหาในการดำเนินงาน รัฐบาลได้ประกาศพระราชบัญญัติบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม พ.ศ. 2502 แล้วได้ล้มเลิกธนาคารอุตสาหกรรม

รูปแบบของบรรษัทถูกกำหนดให้เป็นสถาบันการเงินที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น แต่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชน โดยนักบริหารมืออาชีพ มี สิทธิพิเศษ ตรงที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ต่างประเทศ มี หน้าที่ ให้บริการทางการเงินเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ตั้งแต่วางรากฐานไปจนกระทั่งกิจการมั่นคงแข็งแรงในที่สุด และช่วยเหลือการพัฒนาตลาดทุนในประเทศอีกด้วย

ขณะเดียวกันก็มี ข้อจำกัด ที่ไม่สามารถระดมเงินจากประชาชนได้โดยตรงอย่างที่ธนาคารหรือบริษัทเงินทุนทำได้

ลักษณะพิเศษเหล่านี้เป็นเหตุให้วิธีการทางบัญชีของบรรษัทแตกต่างออกไป

จากจุดประสงค์ดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลสมัยนั้นต้องการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม แต่รัฐบาลไม่สามารถให้กู้ได้เอง จึงเลือกใช้บรรษัทในฐานะ "กลไก" อันหนึ่ง

แหล่งของเงินทุนระยะยาวในขณะนั้นหายากมาก ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีกู้เงินจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุไถ่ถอนคืน 10-30 ปี และเป็นการผ่อนชำระในเงินตราต่างประเทศหลายสกุล

สิ่งที่ตามมากับการกู้เงินตราต่างประเทศ คือความเสี่ยงจากภาวะผันผวนของค่าเงิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดกำไรหรือขาดทุนก็ได้ ถ้าขาดทุนจะมีการตัดจ่ายตามหลักปฏิบัติ โดยตัดจากกองทุนสำรองอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งบรรษัทได้ตั้งสำรองไว้ทุกปี และถ้าไม่พอสามารถขอชดเชยจากกระทรวงการคลัง ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างคลังกับบรรษัท

ซึ่งเงินชดเชยที่ได้รับจากคลังนี้ บรรษัทจะตัดเป็นรายจ่ายเมื่อชำระคืนหลังในระยะยาว

"ย้อนหลังกลับไปดูในช่วงแรกๆ รัฐให้ผู้ประกอบการเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงไปจากอัตราแลกเปลี่ยนเอง ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ประกอบการเจ๊งไปหลายราย ด้วยเหตุนี้ ราวๆ ปี 2517 จึงมีการเปลี่ยนนโยบายให้บรรษัทรับภาระโดยคลังเข้ามาช่วยเหลือ" ผู้จัดการฝ่ายการบัญชีของบรรษัทเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

หลังจากนั้นมาบรรษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนมาตลอด ยกเว้นปี 2522 ซึ่งขาดทุน 24 ล้านบาท ซึ่งบรรษัทได้ส่งเงินคืนคลังเรียบร้อยแล้ว

จนกระทั่งปี 2530 ซึ่งขาดทุนมากเนื่องจากสาเหตุหลายประการอันเนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆ ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงมีผลทำให้เงินสกุลอื่นๆ แข็งตัวขึ้น โดยเฉพาะเงินเยน ซึ่งการที่บรรษัทเลือกกู้เงินเยนและสกุลอื่นๆ แทนดอลลาร์เพราะอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า และสามารถกู้ระยะยาวได้ นอกจากนั้นการลดค่าเงินบาทในปี 2524 และ 2527 ส่งผลกระทบสะสมต่อเนื่องมา

สำหรับตัวเลขขาดทุน 6,320 ล้านบาทที่คำนวณเมื่อสิ้นปี 2530 เมื่อคำนวณใหม่ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ตัวเลขขาดทุนลดลงเหลือไม่ถึง 4,000 ล้านบาท ซึ่งอนาคตก็คงเปลี่ยนไปอีก

การบริหารหนี้ต่างประเทศเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของผู้บริหารบรรษัทเป็นอย่างยิ่ง "เราไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการใช้มาตรการต่างๆ ในการบริหารหนี้เงินกู้ต่างประเทศตามภาวะการณ์ตลาดจะอำนวย เรากระจายการกู้เงินเป็นหลายสกุลเพื่อกระจายความเสี่ยง การทำ SWAP รวมทั้งการพิจารณาเลือกเงินสกุลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่เดิมเรากู้ผ่าน WORLD BANK และ ASIAN DEVELOPMENT BANK ซึ่งมีข้อจำกัดตรงที่เขาเป็นฝ่ายบริหารเงิน แต่ตอนหลังเรากู้จากที่อื่นสามารถเลือกสกุลเงินได้เอง" ศุกรีย์ชี้แจง

ระยะหลังที่ตลาดเงินบ้านเรามีสภาพคล่องมาก บรรษัทออก "IFCT NOTE" เพื่อระดมเงินจากตลาดภายใน แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศเป็นหลัก

"แต่เราก็พยายามจะยืนบนขาของเราเองตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา เราก็เริ่มกู้เงินจากต่างประเทศโดยที่รัฐบาลไม่ต้องค้ำประกัน เพื่อแสดงเครดิตของเราแม้ว่าจะต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกก็ตาม เว้นแต่กรณีที่สถาบันต่างประเทศระบุว่าต้องมีรัฐบาลค้ำประกัน" ศุกรีย์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เมื่อเราเห็นตัวเลขที่เสียหายดังกล่าว เราจะกล่าวโทษผู้บริหาร หรือจะให้อภัยต่อข้อจำกัดหลายประการดังกล่าว ก็แล้วแต่เกณฑ์วินิจฉัยของแต่ละคน แต่อีกด้านหนึ่งที่ควรจะดูควบคู่กันไป คือผลประโยชน์โดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากบริษัท

อาทิปี 2530 ก่อให้เกิดการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 6,100 ล้านบาท มีมูลค่าเพิ่มกว่า 1,700 ล้านต่อปี มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นมูลค่ากว่า 3,300 ล้านต่อปี เมื่อโครงการเหล่านี้ทำการผลิตเต็มที่ ทำให้มีการจ้างงานโดยตรง 11,000 คน และที่สำคัญโครงการที่ได้รับอนุมัติเงินกู้จากบรรษัทเป็นโครงการในส่วนภูมิภาคถึงร้อยละ 85

นั่นคือภารกิจทางประวัติศาสตร์ของบรรษัท

คำถามก็คือว่า ประเทศไทยเราพร้อมหรือยังที่จะระดมเงินออมภายในประเทศ เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้ระยะยาวสำหรับกิจการอุตสาหกรรมกู้ยืมต่อไปในอัตราดอกเบี้ยคงที่ได้ โดยมีข้อสังเกตว่าตลาดทุนมีการพัฒนาขึ้นมาก แต่การออกหุ้นสามารถกระทำได้ในขอบเขตที่จำกัด ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ให้กู้ยืมระยะสั้นและระยะปานกลาง โดยที่ระยะยาวคิดอัตราดอกเบี้ยผันแปรไปตามราคาตลาด

บรรษัทซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรม ยังคงมีบทบาทเช่นนี้ต่อไป หรือควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เหมาะสม หรือจะยกเลิกไปเลยอย่างที่รัฐบาลเคยทำกับธนาคารอุตสาหกรรม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะพิจารณาให้ถ่องแท้บนพื้นฐานของเหตุผลและข้อเท็จจริง ซึ่งก็นับเป็นโอกาสอันดีของบรรษัทที่จะได้ทบทวนบทบาทของตัวเอง ซึ่ง "ผู้จัดการ" ทราบว่าทางบรรษัทเตรียมที่จะจัดสัมมนาใหญ่เพื่อระดมความคิดในการกำหนดจังหวะก้าวต่อไปของบรรษัท

ความจริงคำถามหรือข้อสงสัยต่อข้อมูลที่เปิดเผยทั่วไปในงบการเงินของบรรษัทเป็นสิ่งที่ดี "ผู้จัดการรายสัปดาห์" เองได้ตั้งข้อสังเกตและแสดงตัวเลขต่างๆ เหล่านี้มาตั้งแต่ต้นปี 2531 ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ก่อนหน้าที่จะมีการพูดถึงเรื่องนี้หลายเดือน ในคอลัมน์ที่เกี่ยวกับหุ้นของบรรษัท นอกจากผู้อ่านจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว มันยังมีนัยยะว่าผู้บริหารสามารถถูกตรวจสอบได้

แต่คงเป็นเรื่องน่าเศร้ามาก ถ้าเบื้องหลังการขุดคุ้ยเรื่องนี้ขึ้นมาจะกลายเป็นเพียงความเคียดแค้นของผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังคนหนึ่ง ซึ่งมีญาติผู้ใหญ่ถูกบรรษัทฟ้องยึดทรัพย์เพื่อชดใช้หนี้เงินกู้ ว่ากันว่าถึงกับมีการประกาศว่าจะล้ม ศุกรีย์ หรือจะล้มบรรษัทซะเลย!!!

มีคนมากมายไปถามศุกรีย์ว่า "คนๆ นั้นใช่มั้ย"

คำถามนี้ออกจะถามผิดคนไปหน่อย ควรจะถามใครทิ้งไว้เป็นปริศนาดีกว่า "ผู้จัดการ" ยังไม่อยากเพิ่มคดีความขึ้นอีกโดยไม่จำเป็น และไม่อยากเชื่อจริงๆ ว่าจะเป็นเรื่องน้ำเน่าเช่นนี้!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.