ธุรกิจที่ทำมาหากินอยู่กับการขุดเจาะและสำรวจน้ำมันนั้น ใครๆ ก็รู้ว่าทำรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ
ลองได้มีบ่อน้ำมันอยู่ในมือแล้ว สิ่งที่ไหลพุ่งขึ้นมาพร้อมกับของเหลวสีดำๆ
จากใต้พื้นพิภพก็ไม่พ้นจากเงินๆ ทองๆ ไปได้
แม้สถานการณ์ด้านพลังงานของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่พยายามลดการพึ่งพาน้ำมันให้น้อยลง
ราคาน้ำมันดิบก็ผันผวนและมีทีท่าว่าจะดิ่งลงไปเรื่อยๆ ถึงอย่างนั้นก็เถอะ
น้ำมันก็ยังคงความเป็นชีพจรใหญ่ของพลโลกอยู่ บ่อน้ำมันก็คือบ่อเงินบ่อทองเราดีๆ
นี่เอง
แต่ทว่าจะเห็นดอกเห็นผลก็ต้องผ่านการลงทุนอย่างมหาศาลสำหรับการสำรวจและขุดเจาะเบื้องต้น
และใช่ว่าลงเงินกันไปแล้ว ผลตอบแทนจะกลับคืนมาอย่างแน่นอน สมการการลงทุนขุดเจาะน้ำมันไม่ใช่หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสองเสมอไป
หลายๆ ครั้งที่สมการการลงทุนในธุรกิจนี้ให้คำตอบที่ติดลบ เพราะอีกข้างหนึ่งของมันมีแต่ความว่างเปล่า
ความเสี่ยงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เงินที่ลงทุนไปต้องสูญเปล่ามานักต่อนักแล้ว
ถึงแม้เทคโนโลยีกาสำรวจหาแหล่งน้ำมันจะก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ แต่ความซับซ้อนของธรรมชาติใต้ธรณีก็ยังอยู่เหนือวิทยาการของมนุษย์
ข้อมูลจากการสำรวจเป็นเพียงตัวบอกความน่าจะเป็นเท่านั้น อยากจะรู้กันให้แน่ๆ
ก็ต้องลงมือขุดกันจริงๆ ซึ่งเป็นการลงทุนที่สูงเอาการ
ความเสี่ยงที่จะต้องเสียเงินฟรีๆ ก็อยู่ตรงนี้แหละ ที่ว่าเสี่ยงก็คือ ขุดลงไปแล้วจะมีน้ำมันหรือเปล่า
ถ้ามีคุณภาพและปริมาณจะคุ้มต่อการผลิตหรือไม่
ไทยเชลส์ เอ็กซพลอเรชั่น เพิ่งจะผ่าน ประสบการณ์ความเสี่ยงนี้มาหมาดๆ จากบ่อน้ำมันนางนวลในอ่าวไทยเมื่อขุดลงไปแล้วเจอน้ำมันในปริมาณและคุณภาพที่ทำให้ตัดสินใจนำขึ้นจากก้นอ่าวมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป
แต่สิ่งที่พุ่งขึ้นมาจากหลุมนางนวล มีของแถมพ่วงมาพร้อมกับน้ำมันด้วย คือน้ำ
และแถมมาแบบใจกว้างในปริมาณที่เกินพอดีเสียด้วย ความโชติช่วงชัชวาลเหนือผืนน้ำสีครามจึงต้องดับวูบลงในชั่วเวลาเพียงหกเดือนเท่านั้น
แหล่งน้ำมันนางนวลอยู่ในแปลงสัมปทาน บี 6/27 บริเวณอ่าวไทยห่างจากฝั่งจังหวัดชุมพร
30 กิโลเมตร มีพื้นที่ 10,490 ตารางกิโลเมตร ลึกลงไปจากผิวน้ำ 50 เมตร ไทยเชลส์ได้รับสัมปทานสำรวจและขุดเจาะจากกรมทรัพยากรธรณีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
2528
ตามข้อตกลงที่ทำกับกรมทรัพยากรธรณี ภายในสามปีแรกไทยเชลส์จะต้องทำการสำรวจโดยวิธีวัดความไหวสะเทือนของพื้นโลกเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า
3,000 กิโลเมตร ขุดหลุมสำรวจอย่างน้อย 3 หลุม และใช้เงินลงทุนสำรวจไม่ต่ำกว่า
18 ล้านเหรียญสหรัฐ
แต่โครงสร้างทางธรณีวิทยาที่ซับซ้อนของ ประเทศไทย ทำให้ไทยเชลส์ต้องทำมากไปกว่าข้อตกลงเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากที่สุด
ในช่วงสามปี ไทยเชลส์ทำการสำรวจเป็นระยะทางกว่า 6,000 กิโลเมตร ด้วยวิธีวัดความไหวสะเทือนของพื้นผิวโลกแบบสามมิติ
ซึ่งเป็นวิทยาการการสำรวจที่ก้าวหน้าที่สุด ในปัจจุบันขุดหลุมสำรวจไป 4 หลุม
และหมดเงินไป 35 ล้านเหรียญสหรัฐ
มีเพียงหลุมแรกเท่านั้นที่พบน้ำมันดิบในระดับลึก 3,000 เมตรจากผิวดิน โดยมีอัตราการไหลราว
3,400 บาร์เรลต่อวัน คุ้มต่อการที่จะทำการผลิต
ไทยเชลส์ให้ชื่อหลุมนี้ว่า นางนวล เอ-401 ตามวิธีการตั้งชื่อที่ใช้ชื่อนกเรียกบ่อน้ำมันในแปลงสัมปทานของตน
ข้อมูลเบื้องต้นจากการสำรวจที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วบอกว่า นอกจากน้ำมัน
ในหลุมนางนวลยังมีน้ำอยู่ด้วยในชั้นหินลึกลงไปจากชั้นหินที่เก็บกักน้ำมันไว้
แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าชั้นหินที่มีน้ำมันอยู่ต่อเนื่องกับชั้นหินที่อุ้มน้ำที่ความลึกระดับไหน
หลังจากที่ทดลองอยู่ประมาณ 10 วันก็ยังไม่พอน้ำปนขึ้นมากับน้ำมัน
ไทยเชลส์จึงตัดสินใจทำการผลิต โดยขุดหลุมใหม่ห่างจากนางนวล เอ-401 ราว 40
เมตร เรียกกันว่า นางนวล เอ-402 เพราะนางนวล เอ-401 นั้น ไทยเชลส์วางแผนไว้สำหรับเป็นหลุมทดสอบไม่ใช่หลุมผลิต
และใช้เวลาเพียงสามเดือนเท่านั้น นับตั้งแต่ลงมือขุดเจาะหลุมใหม่ในเดือนพฤศจิกายน
2530 จนผลิตน้ำมันขึ้นมาได้เมื่อเดือนมกราคมต้นปีนี้ เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำมันที่เร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
ระบบที่ใช้กับหลุมนางนวลเรียกกันว่า EARLY PRODUCTION SYSTEM (EPS) หรือระบบการพัฒนาการผลิตน้ำมันก่อนกำหนด
ซึ่งมีความคล่องตัว อุปกรณ์ที่ใช้มีต้นทุนต่ำ จัดหามาโดยการเช่าและเป็นระบบการผลิตแบบชั่วคราว
"ถ้าใช้การพัฒนาแบบปกติต้องใช้เวลานาน 3- 4 ปี ที่เราต้องผลิตก่อนกำหนดเพราะต้องการผลิตไปทดสอบหาข้อมูลเพิ่มเติมไปพร้อมๆ
กันด้วย ข้อมูลที่มีอยู่ไม่ชัดเจน และเราก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในช่วงไหน
จึงต้องใช้การผลิตแบบชั่วคราว" จอห์น บรุคส์ กรรมการผู้จัดการไทยเชลส์อธิบายเหตุผลที่เลือกใช้ระบบนี้
วันที่ 26 มกราคม 2531 น้ำมันดิบใต้อ่าวไทยก็ถูกนำขึ้นมา ถ่ายไปยังเรือขนถ่ายเพื่อนำไปกลั่นที่โรงกลั่นไทยออยส์
ศรีราชา นับเป็นแหล่งน้ำมันในทะเลแห่งแรกของไทย
ในระยะแรกๆ บ่อนางนวลให้น้ำมันดิบวันละ 6,000 บาร์เรลและเพิ่มขึ้นเป็น 10,000
บาร์เรลต่อวัน จนถึงเดือนเมษายน ปัญหาที่หวั่นเกรงกันแต่แรกก็เริ่มปรากฏเมื่อน้ำมันดิบที่สูบขึ้นมามีน้ำปะปนมาด้วย
"ปริมาณน้ำที่ปนเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 30% ภายในเวลาเพียง
36 ชั่วโมง เราคาดกันมาก่อนแล้วว่าจะต้องเจอน้ำด้วย แต่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นเร็วถึงเพียงน้ำ"
บรุคส์ เปิดเผย
การผลิตจึงต้องหยุดเป็นช่วงๆ เพื่อให้น้ำมันและน้ำในชั้นหินใต้ผิวโลกแยกตัวออกจากกัน
พร้อมๆ กับการหาวิธีการแก้ไข แต่ปริมาณน้ำกลับเพิ่มขึ้นอีกจนถึง 50% น้ำมันดิบที่ได้ต้องผ่านการแยกเอาน้ำออกเสียก่อน
ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบลดน้องลงไปจนเหลือเพียง 1,000 กว่าบาร์เรลต่อวันเท่านั้น
ซึ่งไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการผลิต
จึงถึงเวลาที่นางนวลตัวนี้จะต้องหยุดพักเสียที เพราะขืนปล่อยให้บินต่อไป
เจ้าของคงจะต้องกระเป๋าฉีกเป็นแน่ ไทยเชลส์ตัดสินใจปิดหลุมนางนวลเมื่อวันที่
16 กรกฎาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อสังเกตว่า เป็นเพราะราคาน้ำมันดิบตกต่ำก็เลยถือโอกาสหยุดการผลิตเสียเลย
"ไม่จริงครับ ตอนที่เราตัดสินใจทำการผลิต ราคาน้ำมันก็มีแนวโน้มที่ลดลงอยู่แล้ว
ถ้าเป็นเพราะเรื่องนี้ เราก็คงหยุดตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว" บรุคส์ ปฏิเสธพร้อมกับย้ำว่าสาเหตุจริงๆ
คือปัญหาทางด้านเทคนิค
ไทยเชลส์ขายน้ำมันให้กับ ปตท. ได้เกือบครึ่งล้านบาร์เรลก่อนที่จะปิดหลุม
คิดเป็นเงิน 5.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการสำรวจ 34.4 ล้านเหรียญ
ต้นทุนในการพัฒนาแหล่งน้ำมันอีก 15 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมกับเงินค่าภาคหลวงและค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้กับรัฐบาลไทยไปแล้ว
5.7 ล้านเหรียญสหรัฐ บวกลบกันแล้ว งานนี้ไทยเชลส์ควักเนื้อไปประมาณ 1,200
ล้านบาทไทย
ถึงจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ สำหรับไทยเชลส์ แต่เห็นหรือยังว่าเสี่ยงแค่ไหน แม้แต่ยักษ์ใหญ่ในวงการน้ำมันของโลกยังต้องเพลี่ยงพล้ำ
แต่ไทยเชลส์ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาๆ สำหรับธุรกิจนี้และพร้อมที่จะเสี่ยงต่อไป
เพราะเชื่อแน่ๆ ว่า แหล่งน้ำมันนางนวลมีน้ำมันดิบอยู่ถึง 16 ล้านบาร์เรลและยินดีที่จะควักกระเป๋าอีก
600 ล้านบาทเพื่อทำการสำรวจเพิ่มเติมอีกหนึ่งปีครึ่ง หาตำแหน่งที่ดีที่สุดสำหรับขุดเจาะหลุมใหม่