ใต้ร่มเงาความยิ่งใหญ่ของ สุกรี โพธิรัตนังกูร กับ ทีบีไอ. กรุ๊ป ในโลกอุตสาหกรรมสิ่งทอ
คนอย่าง วิโรจน์ อมตกุลชัย ได้พิสูจน์คุณค่าการเป็นมือบริหารอาชีพระดับเนื้อชินของเขาให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า
มิเสียแรงเลยจริงๆ ที่เสี่ยสุกรีไว้เนื้อเชื่อใจให้เข้ามาร่วมชี้เป็นชี้ตายในหลายๆ
กรณี
พูดถึงวิโรจน์แล้ว "ผู้จัดการ" ก็นึกเสียดายอยู่ไม่น้อยที่ไม่อาจหยิบยกเรื่องราวโดยละเอียดของเขาเสนอแก่ท่านผู้อ่านได้ในฉบับ
"ผู้จัดการรุ่นใหม่" ขึ้นปีที่ 5 เมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยเป็นเพราะอุปสรรคขัดข้องทางเทคนิคบางประการ
ทั้งๆ ที่หลืบลึกซับซ้อนทุกแง่มุมที่เกี่ยวกับชีวิตของเขขา เราได้เก็บรวบรวมข้อมูลไว้พร้อมสรรพ!
วิโรจน์ อมตกุลชัย บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หันมาเอาดีทางด้านการตลาดสิ่งทอ
ชื่อเสียงของเขาเริ่มเป็นที่จับต้องส่งประกายวับวาวเมื่อราวปี2529 ในฐานะตัวแทนที่เร่าร้อนของ
ทีบีไอ. กรุ๊ป ก็มีแรงคัดค้านที่โหมกระหน่ำอย่างหนักหน่วงจากคู่แข่งขัน โดยเฉพาะกรุ๊ปสิ่งทอของ
พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ที่ชิงดีชิงเด่นกันมานานปี
แรกทีเดียวเป็นที่เชื่อขนมกินกันได้เลยว่า คณะกรรมการนโยบายสิ่งทอแห่งชาติที่มีประมวล
สภาวสุ คนของพรรคชาติไทย พรรคเดียวกับ พล.ต.ประมาณรั้งอยู่ในตำแหน่งประธานนั้นคงไม่เอออวยเห็นดีเห็นงามไปกับแนวความคิดของทีบีไอ.
กรุ๊ปเป็นแน่แท้
แต่ที่ไหนได้ ราวกับอสนีบาตฟาดเปรี้ยงลงกลางใจของ พล.ต.ประมาณ เมื่อจู่ๆ
ที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายสิ่งทอแห่งชาติเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2529
กลับมีมติเห็นชอบให้มีการส่งเสริมกิจการทอผ้าเพื่อการส่งออก 100% ตามที่
ทีบีไอ. กรุ๊ป เสนอมาโดยไร้ข้อคัดค้าดใดๆ
ชัยชนะของ ทีบีไอ. กรุ๊ป ครั้งนั้นที่สามารถขยายแกนปั่นด้ายเพิ่มได้อีก
240,000 แกนสำแดงความเป็นเจ้าพ่อสิ่งทอรายเดียวแท้จริงออกมาให้เห้นได้เกื้อหนุนจุนเจือให้ชื่อเสียงและเครดิตของวิโรจน์พวยพุ่งขึ้นสู่จุดที่ทุกๆ
คนต้องสนใจในตัวเขา
คนในวงการสิ่งทอสรุปชัยชนะครั้งนั้นไว้สั้นๆ ว่า "นอกจากแรงอัดที่พร้อมทุกด้านของ
ทีบีไอ. กรุ๊ป แล้วนั้น ความเฉียบฉลาดในการผสมผสานหมากกลทางธุรกิจเข้ากับกลเกมทางการเมืองของวิโรจน์ก็มีส่วนช่วยให้ความสำเร็จนั้นเป็นจริงและเร็วขึ้น"
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ลุล่วงมาถึงปี 2531 บทบาทของวิโรจน์ก็เริ่มกระจายกินมุมกว้างมากขึ้น
เขาไม่เป็นเพียงแค่คียแมนคนสำคัญของ ทีบีไอ. กรุ๊ป เท่านั้น ในส่วนรวมในฐานะของนายกสมาคมผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มไทย
เขายังได้แสดงออกมาซึ่งความสามารถในอีกหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะกรณีการประกาศเอกสิทธิ์หน้าท่าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย
ที่ให้สิทธิ์แก่บริษัทบางกอกเครนเนจผูกขาดตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเรื่องนี้วิโรจน์เป็นผู้นำคัดค้านอย่างถึงที่สุด
กระทั่งบรรลุจุดประสงค์ได้สำเร็จ เมื่อรัฐบาลประกาศยับยั้งสิทธิ์ดังกล่าวของบางกอกเครนเนจ
วิโรจน์ก้าวมาไกลจากจุดเริ่มต้นมากเสียแล้ว!!!
ล่าสุดกับข่าวคราวที่ค่อนข้างแน่ชัดมากว่า คนหนุ่มอย่างวิโรจน์กำลังรอจังหวะที่จะก้าวขึ้นเป็นเถ้าแก่อย่างเต็มตัวเสียที
แต่ก็ให้เป็นที่น่าแปลกใจเป็นอันมากว่า ธุรกิจที่เขากำลังกระโดดเข้าไปจับ
หาได้เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับวงการสิ่งทอหรือส่งออกแต่อย่างใด
ธุรกิจที่วิโรจน์หมายมั่นสร้างเนื้อสร้างตัวกลับกลายเป็นเรื่องของการพัฒนาที่ดินและที่อยู่อาศัย
โดยที่เขาได้ร่วมทุนกับพรรคพวกเพื่อนพ้องในวงการสิ่งทอ-ส่งออก อย่าง อนุศักดิ์
อินทรภูวศักดิ์ แห่งบริษัทไทยเดินเรือทะเล สันเดน วธากรณ์วิจิตรแห่งบริษัทไดนัสกี้
แฟบริคส์ ลงทุนในโครงการก่อสร้างออฟฟิศบิลดิ้ง ในชื่ที่ไพเราะเพาะพริ้งว่า
"ซีทีไอ. ทาวเวอร์"
ซีทีไอ. ทาวเวอร์ ที่วิโรจน์กำลังจะเนรมิตให้เป็นจริงขึ้นมานั้นจะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า
700 ล้านบาท โดยจะสร้างอยู่ตรงบริเวณปากซอยอโศกตัดใหม่กับคลองเตย ใกล้ๆ กับโรงงานยาสูบ
กระทรวงการคลัง ซึ่งขณะนี้แผนการทุกอย่างที่ถูกกำหนดอย่างละเอียดสมบูรณ์แล้ว
วิโรจน์และพรรคพวกยังมีที่ดินผืนงามอีกหลายแห่ง พร้อมที่จะวาดความฝันให้เป็นจริง
ซึ่งว่าไปแล้วฝันนี้ก็หาใช่ว่าจะอยู่ไกลเกินเอื้อมมากนัก เพราะทั้งวิโรจน์และพรรคพวกต่างก็มีพร้อมอยู่แล้ว
ทั้งในเรื่องของเงินทุนและฝีมือ
เส้นทางสายใหม่ของวิโรจน์สายนี้ก็น่าจับตามองกันไม่น้อย!!!
แต่ถึงอย่างไรก็ตามความผูกพันที่เขามีต่อเสี่ยสุกรีก็ยังคงแนบแน่นดุจดังเดิม!!!