วิกฤติการณ์เหล็กเส้นที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้วสืบเนื่องมากระทั่งประทุขึ้นอย่างครึกโครมเมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมานี้
หัวขบวนของบรรดาผู้รับเหมาทั้งมวลก็คือ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย
ในฐานะตัวแทนที่เป็นทางการ สมาคมนี้ก้าวเข้ามามีบทบาทเรียกร้องเป็นปากเสียงให้กับผู้รับเหมา
เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเหล็กเส้นขาดแคลนและมีราคาแพง จนทำให้รัฐบาลต้องทลายกำแพงภาษี
เปิดให้เหล็กเส้นถูกนำเข้าอย่างเสรี
ผลงานครั้งนี้ทำให้เกียรติภูมิของสมาคมกระเดื่องเลื่องลือจนผู้คนสนใจใคร่รู้จักกันมาก
สมาคมนี้ก่อตั้งมานานนับ 60 ปีแล้ว แรกเริ่มมิได้ใช้ชื่อดังปัจจุบัน หากแต่เป็นชื่อตามสำนวนโบราณที่เรียกว่า
"สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม" จดทะเบียนเป็นสมาคมตามพระราชบัญญัติเมื่อวันที่
12 ธันวาคม 2471
ดูจากปีก่อตั้งจัดได้ว่าอยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับสมาคมจึงเจ้านายเชื้อพระวงศ์
กระทั่งพระเจ้าแผ่นดิน
นายกสมาคมในขณะนั้นก็คือ นายพลเอกพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน
และได้หม่อมเจ้าเสริฐศิริกับพระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์เป็นอุปนายก
ปีต่อมาคณะกรรมการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่วังสุโขทัย เพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระบรมราชูปถัมภกของสมาคม
จนเมื่อ 2475 เป็นต้นมา บ้านเมืองเปลี่ยนการปกครองตัวสมาคมเองก็เปลี่ยนไปด้วย
ทั้งชื่อเรียกและคณะกรรมการ
ชื่อเรียกใหม่กลายเป็นสมาคมนายช่างแห่งประเทศไทย" โดยที่คำต่อท้าย
"ในพระบรมราชูปถัมภ์" ก็หายไปด้วย
ส่วนคณะกรรมการ มีหลวงยุกตเสวีวิวัฒน์เป็นนายกสมาคมเมื่อปี 2489 ต่อมาก็เป็นสามัญชนไม่มีบรรดาศักดิ์อย่างนายสง่า
วรรณดิษฐ์ (2490) และนายบุญทอง ผ่องสวัสดิ์ (2491-2499) เข้ามาบริหารงาน
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้กิจกรรมของสมาคมหยุดชะงักไปชั่วขณะหนึ่ง พอสงครามสงบ
สง่า วรรณดิษฐ์ก็กลับมาบริหารงานต่อ จนสมาคมได้จดทะเบียนกับกรมการค้าภายในใหม่ในนาม
"สมาคมนายช่างเหมาไทย" เมื่อปี 2510 และย้ายมาตั้งที่ทำการเป็นการถาวรแถวถนนวิทยุจนปัจจุบัน
ชีวิตของสมาคมยังคงเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอิตัลไทยก็เคยเป็นนายกสมาคมช่วงปี
2518-2521
ในปี 2526 สมาคมเปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่งให้ดูทันสมัยขึ้นเป็น "สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย"
และเป็นชื่อที่ยังใช้อยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีสมบัติ เพชรตระกูลเป็นนายกสมาคม
ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกประมาณ 600-700 ราย นับว่าน้อยมาก ไม่ถึง 5% ของผู้รับเหมาทั่วประเทศ
ว่ากันว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า วงการผู้รับเหมายังไม่ตื่นตัวในการร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มอาชีพของตน
และที่สำคัญในวงการยังมีบุคคลที่ยังยึดถือแต่การทำธุรกิจแบบตัวใครตัวมัน
ใช้สไตล์การรับเหมาแบบเก่า ที่เน้นการเติบโตของบริษัทควบคู่ไปกับการสร้างสายสัมพันธ์ทังนอกและในวงจรธุรกิจ
ภูมิสัน โรจน์เลิศจรรยา ประชาสัมพันธ์ของสมาคมในปัจจุบันกล่าววิเคราะห์ถึงอดีต
ปัจจุบัน และอนาคตของการรวมตัวผู้รับเหมาว่า
"ผู้รับเหมาในปัจจุบันในแง่หนึ่งมันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ในด้านการจับงาน
ปัจจุบันต้องใช้หลักวิชาช่างและวิชาบริหารเข้ามาจับอย่างจริงจัง มันน่าจะหมดสมัยที่จะมาทำตัวเป็นนายหน้าเอางานมาได้แล้วชักเปอร์เซ็นต์ไปขายให้คนอื่นทำต่อ
นอกจากนี้ผู้รับเหมารุ่นใหม่ก็เกิดขึ้นมากมาย ส่วนหนึ่งเติบโตจากการศึกษาด้านวิศวกรรม
หรือสาขาอื่นๆ จากรั้วมหาวิทยาลัย อีกส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานของผู้รับเหมาเดิม
คนหนุ่มเหลานี้จะเป็นอนาคตของวงการ"
ยิ่งในทุกวันนี้สถานการณ์ที่นำพาวงการผู้รับเหมาไปสู่ "ที่สุดของการเจ๊ง"
มีมากมาย อาทิวัสดุก่อสร้างแพงอย่างผิดปกติ การที่ผู้รับเหมาแข่งขันกันตัดราคา
ไม่สามารถเข้าใจสภาพตลาดการซื้อขายวัสดุก่อสร้าง การปัดแข้งปัดขา และไม่รักษาสัจจะในการทำงาน
เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ได้เรียกร้องผู้รับเหมาต้องรวมตัวกันปรับปรุงในหลายๆ ดาน
อันหนึ่งก็คือ การเสนอข้อเท็จจริงทางวิชาการต่อสังคม เช่น ข้อมูลด้านราคาวัสดุก่อสร้าง
อัตราการเจริญเติบโตของมูลค่าการก่อสร้าง เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจสถานะของธุรกิจก่อสร้าง
นอกจากนี้น่าจะเสนอรูปแบบใหม่ของประเพณีสัญญาการว่าจ้างที่ทั้งรัฐบาลและเอกชนพึงปฏิบัติ
เรื่องนี้ควรดูของเก่า สมัยก่อนนี้การรับเหมา ถ้าทำช้ามีการปรับ แต่ถ้าทำเสร็จเร็วจะมีรางวัล
โดยคิดตามจำนวนวันก่อนครบตามสัญญา ในปัจจุบันนี้มีสัญญาในลักษณะที่จะปรับเมื่องานไม่เสร็จ
แต่การให้รางวัลไม่มี
ยิ่งกว่านั้น วิชาชีพรับเหมาก่อสร้างก็ควรได้รับการพัฒนายกระดับให้ทันสมัย
ตัวสมาคมเองก็ต้องสร้างวัฒนธรรมการรวมตัวกลุ่มอาชีพที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งจิตใจและการปฏิบัติต่อกันในการทำงานร่วมกัน
ความคิดดีๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ภูมิสันปรารถนาให้เกิดขึ้นเป็นจริงเป็นจังกับวงการ
เขาอยากเห็นสมาคมมีบุคลากรมากขึ้น ทั้งด้านวิเทศสัมพันธ์ วิชาชีพช่าง ด้านกฎหมาย
และด้านเศรษฐศาสตร์การเงินการธนาคารเพื่อปรับปรุงให้สมาคมสามารถรับใช้สมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ทั้งนี้ผู้รับเหมาก็ต้องตื่นตัวที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ด้วย
"อันที่จริงองค์กรแบบนี้มีอยู่ในทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบทุนนิยม
เพื่อปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของกลุ่มตน ของไทยเรายังขาดความเข้าใจอีกมาก
ทุกวันนี้วงการก่อสร้างจึงปั่นป่วนเมื่อเกิดเรื่อง เช่น เหล็กเส้นวิกฤต เราก็รวมตัวรับมือไม่ได้เต็มที่"
ภูมิสันกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในท้ายสุด
ดังนั้น 60 ปีของสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้าง และการรวมตัวของผู้รับเหมาจริงๆ
แล้วก็ยังไปไม่ถึงไหน และรอวันที่จะมีคนหนุ่มไฟแรงมาพัฒนากันต่อไป