ดร.รณยุทธ จิตรดอน "เราเชื่อว่าในส่วนของเรานี่เราพร้อม"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

"คณะกรรมการก็คงจะพิจารณาความพร้อมของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่สมัครเข้ามาเป็นโบรกเกอร์ เราก็เชื่อว่าในส่วนของเรานี่ เราพร้อม ส่วนเรื่องการพิจารณาตัดสินก็เป็นเรื่องของ คณะกรรมการ

… ที่จริงเราก็มีมาตรฐานของเราอยู่แล้ว เรายึดมาตรฐานของเรามากกว่า ส่วนใครจะว่าเราเป็นตัวเก็ง เก็งไม่เก็งอย่างไร เราก็ต้องรู้ตัวเราเองเพราะว่าเรามีมาตรฐานของเราอยู่แล้ว

… มาตรฐานนั้นก็เป็นมาตรฐานของตลาดหลักทรัพย์ เขาควรจะพิจารณาอะไร ก็ควรจะดูความพร้อมและปริมาณการซื้อขาย เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าข่ายเข้าหลักเกณฑ์ แล้วถ้าเกิดมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน เขาก็ต้องพิจารณาว่ารายหนึ่งรายใดเหมาะสม …"

นั่นคือความเห็นของ ดร.รณยุทธ จิตรดอน กรรมการบริหารบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อินเตอร์เครดิต แอนด์ ทรัสต์ จำกัด (ไอซีที) ที่ได้ยื่นของเข้าเป็นบริษัทสมาชิก (โบรกเกอร์) ในตลาดหลักทรัพย์งวดล่าสุดนี้ด้วย

การเปิดรับโบรกเกอร์ครั้งนี้จะเปิดรับเพียง 3 ตำแหน่งจากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ที่ยื่นขอเข้ามารวม 15 บริษัท ทั้งนี้เป็นการเปิดรับต่อเนื่องจากเมื่อปลายปี 2530 ซึ่งเปิดรับเพิ่ม 5 บริษัท แต่บริษัทส่วนมากที่สมัครตอนนั้นมีคุณสมบัติไม่ครบ ยกเว้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตรและธนสยาม ซึ่งก็ได้รับคัดเลือกให้เข้าเป็นบริษัทสมาชิกเมื่อธันวาคม 2530 ส่วนผลการพิจารณาครั้งนี้จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น จะรู้ได้ก็ในเดือนกันยายน 2530 และโบรกเกอร์รายใหม่จะเริ่มซื้อขายหลักทรัพย์ได้ในต้นเดือน ตุลาคม

สำหรับตัว ดร.รณยุทธ นั้น หลังจากจบการศึกษาปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์สาขาการวางแผนเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์คแล้ว ก็กลับมารับราชการสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2524 แต่ทว่าแทบจะไม่ได้สอนหนังสือหนังหาเลย เพราะถูกยืมตัวไปช่วยราชการที่โน่นที่นี่ตลอดเวลา

และจะว่าไปแล้ว ดร.รณยุทธ ก็ร่วมหัวจมท้ายกับคณะรัฐบาลของป๋าเปรมมาถึง 3 สมัย คือปี 2525 ไปอยู่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยรัฐบาลเปรม 3 ต่อมาปี 2526-2529 ไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัยในสมัยเปรม 4 ครั้นยุบสภาฯ ในปี 2529 และเริ่มสมัยรัฐบาลเปรม 5 ก็ถูกขอให้มารับผิดชอบงานด้านนโยบายและกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เอสทีดีบี) ซึ่งขึ้นกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงาน

หลังจากที่ใช้ทุนรัฐบาลไป 6 ปีแล้ว ก็ออกจากราชการ แต่ยังทำงานที่เอสทีดีบีในเวลาราชการ และมานั่งเป็นกรรมบริหารของไอซีทีในเวลาเย็น

จริงๆ แล้ว ดร.รณยุทธเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้แก่ไอซีทีตั้งแต่เมื่อปี 2527 แล้ว ซึ่งช่วงนั้นเป็นภาวะวิกฤติของสถาบันการเงิน แต่สำหรับไอซีทีอาจกลาวได้ว่า หลังจากช่วงวิกฤตินั้นผ่านพ้นไป บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งนี้ก้าวรุดหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสินทรัพย์เพียง 417 ล้านบาทเมื่อปี 2527 ก็เพิ่มพรวดมาเป็น 1,017 ล้านบาทในปี 2530 และปัจจุบันก็พุ่งขึ้นมาเป็นเกือบ 3 เท่าตัวคือประมาณ 1,500-1,600 ล้านบาท

แม้ว่าไอซีทีได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2515 ซึ่งนับรวมถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 16 ปีแล้วก็ตาม แต่ยุคทองของไอซีทีเพิ่งเริ่มเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมานี่เองในเวลาประจวบเหมาะกับที่ ดร.รณยุทธก้าวเข้ามาร่วมงานด้วย

ส่วนกิจการค้าหลักทรัพย์ แม้จะรับซื้อขายมาตั้งแต่เมื่อปี 2522 ในฐานะซับโบรกเกอร์ แต่ก็เพิ่งจะเริ่มเปิดห้องค้าของตัวเองเมื่อเดือนมีนาคม 2531 พร้อมกับมีการปรับปรุงฝ่ายบริการค้าหลักทรัพย์อย่างมากมายมหาศาล ภายหลังจากที่ไม่ได้รับพิจารณาเข้าเป็นโบรกเกอร์เมื่อตุลาคม 2530

หากพิจารณาจากการสนทนาและสำรวจของ "ผู้จัดการ" ปรากฏว่า "ความพร้อมและมั่นใจ" ของ ดร.รณยุทธในการยื่นของเข้าเป็นโบรกเกอร์ครั้งนี้มีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง กล่าวคือทางด้านจำนวนบัญชีลูกค้าที่ซื้อขายหุ้นผ่านไอซีทีเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม มีรวม 150 คน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 250 คนและคาดว่าจะมีถึง 300 คนในเวลาอีกไม่ช้านี้

ก่อนหน้านี้ไอซีทีเคยประมาณเอาไว้ว่าเมื่อเป็นโบรกเกอร์แล้วจะมีบัญชีลูกค้า 300 คน แต่ในเวลานี้ซึ่งผลการพิจารณายังไม่ออกมาก็มีบัญชีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว และคาดว่าปี 2532 จะเพิ่มขึ้นเป็น 700 คน

ทางด้านมูลค่าการซื้อขายหุ้นผ่านไอซีทีนั้นทำได้ 2% ของมูลค่าการซื้อขายในตลาด นอกจากนี้ในแง่ของผลการประกอบการ ดร.รณยุทธ ผู้ว่างเว้นจากการสอนหนังสือมานานและคงจะไม่ได้สอนหนังสืออีกแล้วก็กล่าวอย่างพออกพอใจว่า "เรากำไรแล้ว" โดยในปลายปี 2531 นี้ไอซีทีตั้งเป้าว่าจะมีกำไร 50 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้มากกว่านั้นเสียด้วยซ้ำ

ความพร้อมที่สำคัญของไอซีทีในการที่จะดินเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในฐานะโบรกเกอร์รายใหม่จากการพิจารณางวดนี้ มาจากการให้บริการด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่แม่นยำ โดยไอซีทีมีเจ้าหน้าที่ด้านวิเคราะห์หลักทรัพย์ 32 คนให้บริการวิเคราะห์ทั้งทางด้าน FUNDAMENTAL & TECHNICAL ANALYSIS มีข้อมูลเอกสารประกอบ มีแฟ้มข้อมูลหุ้นแต่ละตัวและสามารถให้บริการยืนยันการซื้อขายหุ้นได้อย่างรวดเร็วโดยผ่านระบบคอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ยังมีการจัดพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ของตลาดหุ้นทั้งไทยและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ เช่นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมก็เชิญ ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญในวงการหุ้นที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีมาพูดเรื่อง "แนวโน้มตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ" ซึ่งปรากฏว่ามีลูกค้าและผู้สนใจมาฟังกันจนล้นห้องค้า และบางคนถึงกับโดดงานมาฟังก็มี

จากความพร้อมดังกล่าว ทำให้ไอซีทีเกิดความมั่นใจว่าจะได้เข้าเป็นโบรกเกอร์ในการพิจารณางวดนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติด้านเครื่องไม้เครื่องมือ บุคลากร การให้ข้อมูลวิเคราะห์หลักทรัพย์ มูลค่าการซื้อขาย และที่สำคัญการปรับตัวอย่างมาก ภายหลังจากที่ไม่ได้รับพิจารณาในคราวก่อน ซึ่งชี้ให้เห้นว่าไอซีทีมีความตั้งใจจริงที่จะร่วมขบวนพัฒนาธุรกิจการเงินของไทยด้วยนั้น ก็น่าที่จะทำให้ ดร.รณยุทธมั่นใจตนเองได้

อย่างไรก็ดี การพิจารณาตัดสินนั้นเป็นเรื่องของคณะกรรมการ แม้ไอซีทีจะเปิดตัวโปรโมทอย่างเต็มที่ เพื่อแสดงถึงภาพลักษณ์ที่ดี ทั้งต่อคณะกรรมการตลาด ลูกค้า และสาธารณชนทั่วไป ทว่าอะไรๆ ก็อาจจะมีการพลิกล็อคได้ทั้งนั้น

ก็คงต้องรอให้ผลการตัดสินออกมาก่อนนั่นแหละ จึงจะทราบได้ว่า "ความพร้อม" ของไอซีที ซึ่งตระเตรียมโดย ดร.รณยุทธและทีมงานนั้น เป็น "ความพร้อม" ในสายตาของกรรมการตลาดหลักทรัพย์ด้วยหรือไม่?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.