ดร.จิราวุธ วรรณศุภ เบื้องหลังความเงียบคือการตระเตรียมอย่างหนัก


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

หากจะถามว่าในระยะ 4-5 ปีผ่านมา โครงการก่อสร้างศูนย์การค้า ออฟฟิศคอนโดมิเนียม หรืออาคารสำนักงานสิบอันดับแรกที่อยู่ในความสนใจของนักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลายมากที่สุด ทั้งในแง่ความเป็นไปได้ของโครงการ จำนวนเงินที่ต้องใช้และรายละเอียดอื่นๆ อีกมากที่ผู้สร้างสรรค์แต่ละรายต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขกว่าโครงการที่ตน "ฝัน" ที่จะเห็นนั้นเป็นจริงแล้ว

ไม่แน่นัก … อาจจะเป็น "มาบุญครองเซ็นเตอร์" ของศิริชัย บูลกุล ที่ยังคงมีปัญหาหนี้สินค้างคายังไม่รู้จักจบสิ้น

หรืออาจจะเป็น "ตึกหุ่นยนต์" สำนักงานใหญ่ของธนาคารเอเชีย ที่หลายคนภาคภูมิใจมากๆ ด้วยเป็นรูปแบบอาคารสำนักงานที่ล้ำยุค แสดงถึงความก้าวหน้าทางวิทยาการ และเทคโนโลยีที่ผู้อยู่ในตึกดังกล่าวจะร่วมสร้างให้เกิดขึ้นแก่ผู้มาเยือน

แต่ไม่ว่าอย่างไร หนึ่งในสิบของโครงการที่จะขาดเสียมิได้ก็คงจะได้แก่ "เวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ" ของกลุ่มเตชะไพบูลย์ร่วมอยู่ด้วยอย่างแน่นอนไม่มีทางเลี่ยง

ด้วยความไม่มั่นใจของบางคนว่าโครงการมูลค่าเกือบหมื่นล้านนี้จะเป็นจริงขึ้นมาได้อย่างไร โดยเฉพาะสิ่งที่ค่อนข้างจะเรียกได้ว่า "เชิดหน้าชูตา" โครงการนี้มากที่สุด คือ อาคารสำนักงานสูง 63 ชั้น ที่ถูกขนานนามว่าเป็น "ตึกอัจฉริยะ" (INTELLIGENT BUILDING) นั้น ก็ดูเหมือนโครงการนี้มีความน่าสนใจมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะด้านลบหรือด้านบวก

"คนนอกไม่รู้หรอกว่า กว่าจะ "เข็น" โครงการใหญ่ขนาดนี้ออกมาต้องทำอะไรบ้าง อย่าลืมอย่างหนึ่งว่า เจ้าของเขาลงทุนไปตั้งหลายพันล้าน อย่างนี้แล้วเขาจะปล่อยให้สูญไปเปล่าๆ ได้อย่างไร" ดร.จิราวุธ วรรณศุภ รองผู้อำนวยการผู้รับผิดชอบโครงการเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์กรุงเทพฯ (DEPUTY DIRECTOR PROJECT GROUP) บอก "ผู้จัดการ" ถึงความในใจของเขากับข่าวคราวที่ได้ยินกันอยู่ทุกบ่อยว่า โครงการนี้จะต้อง "มีปัญหา" แน่ๆ

จิราวุธจบ ม.6 ที่กรุงเทพคริสเตียน แล้วสอบเข้าเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นเข้าศึกษาต่อวิศวกรรม-โยธาที่จุฬาฯ

ด้านพื้นฐานครอบครัว เจ้าของบริษัทรับเหมาะเกี่ยวกับเครื่องกลไฟฟ้าที่พอมีฐานะอยู่บ้าง จิราวุธจึงไปเรียนต่อปริญญาโทในสาขาเดียวกันที่ OKLAHOMA STATE UNIVERSITY หลังจากจแล้วเขายังคงสมัครเรียนไปเรื่อยๆ จนได้ปริญญาโทมาอีกใบจากสแตนฟอร์ด

เพิ่งเก็บข้าวของลงกระเป๋ายังไม่ทันขึ้นเครื่องบิน ด้วยความหวังว่าจบแล้วจะมาช่วยทำกิจการทางบ้านให้รุ่งเรืองต่อไป ทาง UNIVERSITY OF MICHIGAN ก็เกิดสนใจใบสมัครที่แสดงความต้องการจะเรียนต่อปริญญาเอกของเขา โดยจะให้ทุนช่วยเหลือในรูปของ RESEARCH ASSISTANT ซึ่งจะทำให้ค่าเล่าเรียนถูกลงกว่าครึ่ง

แทนที่เขาจะยกกระเป๋าขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน ก็กลายเป็นต้องขนของขึ้นรถและขับไปเรียนต่อที่มิชิแกนอีกเป็นเวลาสามปี

จิราวุธมาช่วยกิจการที่พ่อของเขาดูแลอยู่เมื่อจบดอกเตอร์แล้ว เขาเก็บเกี่ยว ประสบการณ์ในการติดต่อวางแผนเกี่ยวกับเครื่องกลไฟฟ้าในโครงการที่เขาเสนอเข้าไปทำโดยตลอด งานที่เขารับผิดชอบก็มีไม่น้อย ทั้งงานที่ทำให้กับแบงก์ชาติ ดุสิตธานีในส่วนที่ต่อเติม รวมทั้งเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างน้อยก็เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง หรือเครื่องกลไฟฟ้าที่ติดตั้งตามโรงแรมต่างๆ ไม่ต่ำกว่ายี่สิบแห่ง

รวมทั้ง "บ้านสามเสา" ผลงานสุดยอดที่แสดง "อัจฉริยภาพ" ที่มีอย่างเปี่ยมล้นของเขากับเพื่อร่วมงานอย่างนิตย์ จารุศร สถาปนิกผู้ออกแบบ จนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมประเภทบ้านพักอาศัยจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในปี 2521 (เรื่องราวที่น่าใจของ "บ้านสามเสา" ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร "กรุงเทพ 30" มีนาคม 2531)

ตัวเขาเองก็ไม่เคยคิดเลยสักนิดว่า วันหนึ่งจะต้องมาเป็นผู้รับชอบโครงการก่อสร้างมูลค่าไม่ต่ำกว่าหกพันล้านบาท ซึ่งเชื่อแน่ว่าจะถูกบันทึกไว้เป็นเรื่องราวที่สำคัญหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมก่อสร้างเมืองไทย

"พอดีผมเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับคุณวิรุฬ (เตชะไพบูลย์) ที่กรุงเทพคริสเตียน แกบอกว่าแกปวดหัวให้มาช่วยกันหน่อย ผมก็ไปบอกพ่อว่างานนี้น่าสนใจ บอกตรงๆ ตอนนั้นก็อยากดังเหมือนกัน พ่อบอกว่าเอาสิสนในเรื่องนี้ก็เอา ผมก็ตกลงกับพ่อว่าขอลามาสักพัก เสร็จแลว้ผมจะไปช่วยพ่อตามเดิม" จิราวุธให้เหตุผลกับ "ผู้จัดการ"

ตอนจิราวุธเข้ามาร่วมโครงการเมื่อเดือนมีนาคม 2528 นั้น "เวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ" ที่ว่ายังเป็นเพียงมาสเตอร์แพลนในกระดาษแผ่นเดียว ที่วาดไว้อย่างสวยหรู บอกแค่ว่าจะทำอะไร ค่าก่อสร้างเงินลงทุนต่างๆ ก็คำนวณไว้คร่าวๆ จิราวุธใช้เวลาปีกว่าจึงได้แบบถาวรที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการที่ทำอยู่ทุกวันนี้

ปัญหาสำคัญต่างๆ ที่เขาแก้ไขลุล่วงไปแล้วหลายประการ มีทั้งการเจรจารซื้อสิทธิ์มาจากอาคารเดิมที่ส่วนใหญ่จะหมดสัญญาในเดือนสิงหาคม 2531

การออกแบบอาคารที่ใหญ่มากนั้น ทำให้การตัดสินใจแต่ละขั้นตอนต้องคิด และวางแผนอย่างรอบคอบ กว่าจะหาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจต้องใช้เวลา สิ่งเหล่านี้ดูจากสายตาภายนอกทำให้ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไร

และปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศในสองสามปีที่ผ่านมา ทำให้การตัดสินใจบางเรื่องต้องชะงักงันไปช่วงหนึ่งด้วย

"เราโชคดีที่พอมาถึงจุดนี้มันเหมือนกับว่าพ้นโค้งแล้ว ก็พอจะมองออกว่าจะไปทางไหน การก่อสร้างก็เริ่มแล้ว การเจรจาราคาต่างๆ ผมก็ได้เจรจาไปเรียบร้อยแล้ว ในแง่ของการขายก็นับว่าดีมาก ถ้าเศรษฐกิจของบ้านเมืองดี มันก็สิ่งที่ทำให้ผมคิดว่าจะเบาใจได้" จิราวุธบอก "ผู้จัดการ" อย่างสบายใจ

โครงการใหญ่ๆ ที่ใช้เงินลงทุนมากกว่าหกพันล้านบาทเช่นนี้ ใครๆ ก็คือว่าปัญหาทางการเงินน่าจะเป็นปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่ง แต่จิราวุธคิดว่าตอนนี้เขาไม่ค่อยซีเรียสกับมันมากนัก

"ตอนนี้เฟสหนึ่งที่เป็นห้างสรรพสินค้า เราทำสัญญากับเซ็นทรัลเรียบร้อยแล้ว ร้านค้าย่อยก็มีผู้สนใจจองเข้ามามากกว่า 80% นั่นก็คือเราสามารถใช้เงินที่เราได้มาทำให้งานในเฟสอื่นเดินต่อไปได้ตามแผนที่เราวางไว้ ส่วนที่เป็นโรงแรมก็เป็นนโยบายของเราอยู่แล้วว่า เราจะเป็นผู้ให้เช่า ไม่ลงทุนเอง เพราะเราไม่มีความชำนาญด้านนี้ ดังนั้นจึงเหลือเพียงส่วนที่เป็นตึก 63 ชั้น ซึ่งก็มีธนาคาร สถาบันการเงินหลายแห่งให้ความสนใจที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เรา" จิราวุธอธิบายให้ฟัง

และนั่นยังรวมไปถึงความไม่เข้าใจของบริษัทผู้รับเหมาชาวไทย ต่อผู้บริหารของเวิล์ดเทรด เซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ ที่ไม่ติดต่อประเทศในประเทศแม้แต่รายเดียวในการสร้าง "ตึกอัจฉริยะ" นั้น อีกปัญหาหนึ่งด้วยที่ทำให้เกิดกระแสไม่พอใจขึ้น

"มันเป็นปัญหาทางด้าน CONSTRUCTION MANAGEMENT มากกว่า เราทราบดีว่าคนไทยมีฝีมือไม่แพ้ต่างประเทศ แต่ในเมืองไทยยังไม่มีใครทำตึกสูงเท่านี้มาก่อน เรากลัวว่าอาจจะมีปัญหา …

… แต่เราก็เชื่อว่า ใครได้เขาก็ต้องมาทำ SUB-CONTRACT กับบริษัทคนไทยอยู่ดี บอกตรงๆ เราเป็นห่วงเรื่อง CONSTRUCTION MANAGEMENT นี่มากกว่าเรื่องอื่นจริงๆ" จิราวุธกล่าวถึงเบื้องหลังการตัดสินใจที่ทำให้กลุ่มผู้รับเหมาคนไทยไม่สบอารมณ์

เวิล์ดเทรด เซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ ในความตั้งใจของจิราวุธและคณะกรรมการบริหารทุกคนนั้น พวกเขาตั้งใจที่จะให้เป็นศูนย์กลางเพื่อส่งเสริมการส่งออก โดยมีศูนย์แสดงสินค้า โรงแรม และสถานที่อำนวยความสะดวกที่สมบูรณ์แบบที่สุดให้กับนักธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศที่จะมาใช้บริการ เช่นเดียวกับเวิล์ดเทรด เซ็นเตอร์ ที่ประสบความสำเร็จมากมายในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฯลฯ

ดังนั้น เวิล์ดเทรด เซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ จะแตกต่างจากอาคารสำนักงานที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป โดยเวิล์ดเทรดฯ จะกำหนดชัดเจนลงไปในทุกๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ร้านค้าย่อย รวมไปถึงบริษัทต่างๆ ที่จะเข้าไปตั้งอยู่ในโครงการของพวกเขาว่า ควรจะเป็นใครบ้าง ทำกิจการประเภทใด จำนวนเท่าใด เพื่อให้เป็นการส่งเสริมการส่งออกอย่างแท้จริง

"ประเทศไทยเราคงมีศูนย์ส่งออกที่ดีไม่ได้ ถ้าเขามาแล้วไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีเครื่องแฟ็กซ์ ไม่มีสาธารณูปโภคต่างๆ ที่รัฐฯ จะเอื้ออำนวยให้ได้ เราเป็นเอกชนก็ทำในสิ่งที่เราทำได้อย่างเต็มที่คือการลงทุน ในส่วนอื่นก็ต้องให้รัฐฯ ช่วยเหลือด้วยเช่นกัน" จิราวุธกล่าวถึงความต้องการในส่วนที่เขาคิดว่าจำเป็นยิ่งกับความเป็นไปได้ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออก เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ

จนขณะนี้ก็กว่าสามปีแล้วที่จิราวุธ "ลา" ออกมาจากกิจการทางบ้านของเขา และถึงแม้โครงการที่เขารับผิดชอบจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้างแล้ว แต่คงอีกนานกว่าที่เขาจะได้กลับไปช่วยพ่อของเขาได้เต็มตัวอีกครั้ง

"ผมอยากให้ตึก 63 ชั้นนี้เป็นตัวอย่างว่าเราทำได้ ว่าในกรุงเทพฯ นี่ทำได้ แล้วก็ไม่มีปัญหา ตอนนี้ความอยากดังมันไม่มีอยู่ในใจอีกแล้ว เวลากลับบ้านผมต้องขับรถผ่านไปทางราชประสงค์ทุกวัน …

… ผมบอกตัวเองว่าถ้าตึกนี้ออกมาในลักษณะที่ผมวางไว้ ผมคงจะภูมิใจมาก และไม่สนใจด้วยว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ แต่ผมรู้ ซึ่งก็เป็นความรู้สึกของพวกเราที่เวิล์ดเทรดฯ นี้ทุกคนเช่นกัน" จิราวุธบอก "ผู้จัดการ" ด้วยสีหน้าและแววตาที่บ่งบอกความปรารถนาสูงสุดในส่วนลึกของหัวใจที่จริงจังยิ่งของเขา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.