ผ่าอาณาจักรพริทซ์เกอร์ตระกูลอภิมหาเศรษฐีขี้อาย


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

กับมูลค่าความมั่งคั่งอย่างน้อยที่สุด 3.5 พันล้านดอลลาร์ในครอบครองของตระกูล "พริทซ์เกอร์" เห็นจะต้องถือว่า เป็นผลพวงจากการใช้เวลาก่อร่างสร้างตัวนาน 4 ทศวรรษเต็มของสองพี่น้องเจย์กับรอเบิร์ต แต่ผิดกับอภิมหาเศรษฐีอเมริกันอีกหลายตระกูล ตรงความมั่งคั่ง ที่สั่งสมกันมานี้ไม่ได้มาจากการทำกิจการใน อุตสาหกรรมแขนงเดียวเหมือนตระกูล "นิวเฮ้าส์" ที่สร้างตัวจากธุรกิจสำนักพิมพ์และกิจการกระจายเสียง จนมีมูลค่าความมั่งคั่ง 7.5 พันล้านดอลลาร์ หรืออภิมหาเศรษฐี "แซม วัลตัน" ที่รวมเละถึง 6.5 พันล้านดอลลาร์จากธุรกิจห้างค้าปลีกเพียงอย่างเดียว

ตระกูล "พริทซ์เกอร์" ทำเงินจากการดำเนินกิจการบริษัทผลิตสินค้าและขายบริการในอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ เป็นส่วนใหญ่

แต่เดี๋ยวนี้เป็นที่รู้กันว่า เจย์ ผู้พี่วัย65 ซึ่งควบคุมนโยบายและการตัดสินใจครั้งสำคัญๆ มาโดยตลอดเริ่มลดบทบาทของตัวเองลง โดยเฉพาะการตัดสินใจครั้งสำคัญเกือบทุกครั้งจะกระทำก็ต่อเมื่อได้ปรึกษาโธมัส หรือทอม ลูกชายคนหัวปี วัย 38 แล้วเท่านั้น และในวงการต่างรับรู้กันว่านักบริหารหนุ่มคนนี้แหละคือหัวหอกของสมาชิกรุ่นใหม่ที่จะรับช่วงดูแลกิจการและผลประโยชน์ของตระกูลพริทซ์เกอร์ต่อไป

"ยิ่งคนทั่วไปเห็นทอมมี่มากขึ้นเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งเชื่อมั่นว่า ตระกูลนี้จะรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นยิ่งๆ ขึ้นไป" วิลเลี่ยม แม็คโดนัฟ รองประธานกรรมการ FIRST NATIONAL BANK แห่งชิคาโกที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในฐานะเป็นทั้งเจ้าหนี้และผู้สนับสนุนการเงินรายใหญ่ที่สุดของตระกูลพริทซ์เกอร์ตั้งข้อสังเกต

พริทซ์เกอร์เป็นตระกูลที่สร้างโรงแรมไฮเทคจากความไม่มีอะไรเลย จนกลายเป็น CHAIN โรงแรมที่มีกิจการกระจายอยู่ทั่วโลก 135 แห่ง ใช้เวลานานปีสร้างมาร์มอน กรุ๊ป จนกลายเป็นแหล่งรวมของกิจการบริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ 60 บริษัทและมีอำนาจการต่อรองสูงมาก กิจการในเครือมาร์มอนกรุ๊ป ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันมี UNION TANK CAR ผู้ผลิตรถไฟบรรทุกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของอเมริกา, GETZ CORP. บริษัทการค้าระหว่างประเทศอายุ 128 ปี ซึ่งเมื่อปีที่แล้วทำเงินจากการนำเข้าและส่งออกสินค้าทั่วเอเชียถึงกว่า 330 ล้านดอลลาร์ นอกเหนือจากนี้เป็นบริษัทผลิตถุงมือ โรงงานถลุงทองแดง กิจการให้เช่าปั้นจั่น โรงงานประกอบรถบรรทุกหนัก ตลอดไปจนถึงบริษัทให้กิจการช่วยผู้ปล่อยกู้ด้านการออกเช็คสินเชื่อให้ลูกค้าอีกทีหนึ่ง

กิจการๆ ของพริทซ์เกอร์ยังหมายรอมถึงการขายตั๋วเข้าชมคอนเสิร์ต การบริหารสนามกีฬาต่างๆ และบริษัทผลิตยาเส้นสำหรับเคี่ยว

นอกจากนี้ยังมีกิจการบริษัทมหาชนที่ตระกูลนี้ถือหุ้นส่วนน้อยคือ S& W BERISFORD ผู้ผลิตน้ำตาลของอังกฤษ และ THE COMMUNICATIONS ผู้ผลิตอุปกรณ์โคมนาคม

คำถามที่ติดค้างอยู่ในใจทุกคน ผู้ได้ยินชื่อและกิตติศัพท์ของตระกูลนี้ จึงหนีไม่พ้นว่า ครอบครัวใหญ่ขนาดนี้สามารถควบคุมกิจการในเครือที่เป็นธุรกิจหลากประเภทได้อย่างไร? ขณะเดียวกันก็ยังผูกพันแน่นแฟ้นกลมเกลียมเป็นหนึ่งเดียวอยู่เสมอ

แต่สำหรับตระกูลพริทซ์เกอร์แล้ว ปัญหาหนักหน่วงที่พวกเขาต้องเผชิญต่อไปน่าจะอยู่ที่การมองอนาคตของตัวเองเมื่อสมาชิกรุ่นใหม่ของครอบครัวเข้ารับช่วงกิจการมาทำต่อมากกว่า

จากอดีตที่ผ่านมาพวกเขาใช้สไตล์การจัดการที่เน้นบทบาทของสมาชิกครอบครัวแต่ละคนอย่างเด่นชัด และให้อิสระกับมือบริหารอาชีพที่เข้ามาบริหารธุรกิจของครอบครัวเต็มที่ แต่ถ้าถูกนักข่าวตั้งคำถามว่า ใครคือผู้มีอำนาจสูงสุดในตระกูลนี้ พวกเขามักหลีกเลี่ยงจะให้คำตอบเสมอ เพราะกลัวที่สุดว่าจะเป็นต้นเหตุแห่งความร้าวฉานในครอบครัว ซึ่งทอมยืนยันเรื่องนี้ว่า "เมื่อนักข่าวเจาะลึกเข้าไปถึงเรื่องในครอบครัวและพยายามขุดคุ้ยเรื่องพวกนี้ขึ้นมาถาม นั่นคือการที่เขาพยายามสร้างความขัดแย้งทั้งๆ ที่มันไม่เคยมีอยู่เลย"

สำหรับตัวเลขมูลค่าความมั่งคั่งที่แน่นอนของตระกูลพริทซ์เกอร์นั้น ไม่อาจประเมินออกมาได้ นอกจากจะพูดกันคร่าวๆ แค่ 3.5 พันล้านดอลลาร์เป็นอย่างต่ำ เนื่องจากสินทรัพย์ของพวกเขาเข้าไปจมอยู่กับกิจการบริษัทหรือไม่ก็ในรูปของการร่วมทุน และการเป็นหุ้นส่วนที่ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขข้อมูลทางการเงินใดๆ ทั้งสิ้น

ถ้าจะศึกษาความเป็นมาและวิธีสะสมความมั่งมีของตระกูลพริทซ์เกอร์ก็เห็นจะต้องมองลึกเข้าไปในกิจการของไฮแอท โฮเต็ล และมาร์มอน กรุ๊ป ที่เป็นตัวทำรายได้หลักในปัจจุบันเป็นเบื้องแรก

ปีที่แล้ว CHAIN ไฮเอท โฮเต็ลที่บริหารกิจการของโรงแรม 80 แห่ง และสถานตากอากาศ 11 แห่งในอเมริกา แคนาดา และแถบทะเลแคริบเบียนทำยอดขายทั้งหมดเป็นเงิน 1.8 พันล้านดอลลาร์ก็จริง แต่รายได้เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นของนักลงทุนเจ้าของสินทรัพย์ในโรงแรมมากกว่า ส่วน CHAIN ไฮแอทจะพยายามซื้อหุ้นเพิ่มทุนกลับเข้าไปในกิจการโณงแรมนอกเหนือจากการได้เข้าบริหารกิจการ

ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมโณงแรมที่คุ้นเคยกับ CHAIN ไฮแอทดีเล่าว่า เฉพาะมูลค่าสัญญาการเข้าบริหารกิจการอย่างเดียวก็ไม่ต่ำกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ "สำหรับนักซื้อจมูกไวแล้ว การบริหารกิจการในประเทศอย่างเดียวอาจทำเงินได้ถึง 2 พันล้านดอลลาร์" ผู้บริหาร CHAIN โรงแรมที่เป็นคู่แข่งกับไฮแอทให้ความเห็น

ยอดตัวเลขที่ว่านี้ไม่รวมของไฮแอท อินเตอร์เนชั่นแนลที่บริหารกิจการโรงแรมและสถานตากอาการ 44 แห่ง ซึ่งทำยอดขายปีละ 530 ล้านดอลลาร์ และการประเมินยอดความมั่งคั่งของตระกูลพริทซ์เกอร์ที่ว่านี้ ยังไม่หมายรวมถึงมูลค่าทรัพย์สินของโรงแรมที่พวกเขามีหุ้นและเป็นผู้บริหารอยู่ด้วยในเวลาเดียวกัน เช่น ในโรงแรม GRAND HYATT ที่นิวยอร์กซึ่งตระกูลพริทซ์เกอร์มีผลประโยชน์ร่วมกับโดนัลด์ทรัมพ์มหาเศรษฐีหนุ่มชาวอเมริกัน

ถ้าจะประเมินมูลค่าความมั่งคั่งของมาร์มอน กรุ๊ป ก็อาจจะง่ายขึ้นชนิดหนึ่ง เพราะทุกปีเครือกิจการนี้จะเปิดเผยตัวเลขผลประกอบการ โดยสรุปของตนอย่างสม่ำเสมอ จากผลประกอบการปี 2530 ซึ่งมาร์มอนกรุ๊ปมีรายได้ 145 ล้านดอลลาร์และมูลค่าสินทรัพย์ตามบัญชี 676 ล้านดอลลาร์นั้น หากเอาไปขายให้กับบริษัทอุตสาหกรรมที่มีกิจการในเครือหลายประเภทแล้วจะทำเงินให้ตระกูลพริทซ์เกอร์ราว 2 พันล้านดอลลาร์ทีเดียว

แม้สมาชิกครอบครัวพริทซ์เกอร์จะไม่ยอมพูดเจาะจงลงไปว่า ใครคือผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุด แต่คนภายนอกต่างรับรู้กันทั่วว่าเขาผู้นั้นคือเจย์ "ก็ไม่มีอะไรผิดจากที่เขาพูดกันนี่" ลอเรนซ์ เกลเลอร์ ผู้บริหาร CHAIN ไฮแอทคนหนึ่งยอมรับ

ขณะที่นิโคลัสลูกเรียงพี่เรียงน้องของเจย์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า "เจย์เป็นประธานกรรมการของทุนเรื่องในครอบครัว" ซึ่งจริงๆ แล้วครอบครัวนี้ทำงานกันแบบลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ของคณะผู้บริหารแล้ว

ตระกูลพริทซ์เกอร์แบ่งหน้าที่ให้สมาชิกมีบทบาทตามความถนัดของแต่ละคน … "เจย์" วัย 66 นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน นอกเหนือจากการเป็นผู้คุมอำนาจสูงสุดของครอบครัว โดยเฉพาะงานเสนอซื้อกิจการ หรือขยายกิจการของตระกูล ส่วน "บ๊อบ" (โรเบิร์ต) น้องชายวัย 62 ของเจย์ควบคุมกิจการมาร์มอน กรุ๊ป และยังได้ชื่อว่าเป็นวิศวกรมือฉมัง ขณะที่ "ทอม" (โทมัส) ลูกชายวัย 38 ของเจย์และ "นิค" (นิโคลัส) ลูกเรียงพี่เรียงน้องของเจย์ที่ขณะนี้วัย 43 ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเรียลเอสเตทและเป็นกำลังสำคัญในงานบริหาร CHAIN ไฮแอท

แม้จะแบ่งแยกอำนาจหน้าที่กันค่อนข้างชัดเจนแล้ว ความซ้ำซ้อนก็ยังเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก ทำให้พวกเขาต้องใช้คำว่า "เรา" หรือ "ของเรา" เสมอเมื่อต้องอธิบายถึงบทบาทของตัวเอง นิคเล่าว่าครั้งหนึ่งแม่ของเขาเคยบ่นเรื่อง "แจ๊ค" ผู้สามีหรือพ่อของนิคที่เป็นน้องชายแท้ๆ ของอับรัมและร่วมหัวจมท้ายกันก่อตั้งกิจการของตระกูล รวมทั้งได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเรียลเอสเตทในยุคนั้น ไม่เคยได้เครดิตจากบทความในหนังสือพิมพ์ที่พูดถึงกิจการของตระกูลพริทซ์เกอร์เลย

นิคเล่าท้าวความบทสนทนาของพ่อกับแม่ครั้งนั้นว่า เมื่อผู้เป็นแม่บ้านว่ามันไม่ยุติธรรม ที่แจ๊คโต้กลับภรรยาสั้นๆ ให้เข้าใจในระบบธุรกิจ แค่ว่า "เมื่ออยู่ในออฟฟิศไม่มีใครสนใจเรื่องเครดิตที่ว่านี้หรอก"

ที่สมาชิกครอบครัวพริทซ์เกอร์ทุกคนมีโลกทัศน์เน้นผลประโยชน์และภาพพจน์ของตระกูล มากกว่าของตัวเองเป็นผลสืบเนื่องจากการวางรากฐานของบรรพบุรุษต้นตระกูล "นิโคลัส พริทซ์เกอร์" ผู้อพยพจาก KIEV ในโซเวียตรัสเซียสู่ชิคาโกเมื่อปี 2524 ที่เขาหาเลี้ยงตัวจากอาชีพเภสัชกรและทนายความมาตลอด เมื่อบั้นปลายชีวิตเขาเขียนหนังสือประจำตระกูลเล่มเล็กๆ ที่กลายเป็นบรรทัดฐานของพริทซ์เกอร์รุ่นแล้วรุ่นเล่า โดยเฉพาะคำขวัญที่ว่า "ความเป็นอมตะของพวกเจ้าคือ การสร้างผลกระทบให้เกิดกับคนรุ่นต่อๆ ไป"

ครั้งนั้นนิโคลัสเป็นเจ้าของสำนักงานทหารความพริทซ์เกอร์ แอนด์ พริทซ์เกอร์ ที่ปัจจุบันยังคงบทบาทการเป็นศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจของตระกูลอย่างเดิม โดยแฮร์รี่, อับรัม และแจ๊ค ลูกชายทั้งสามของนิโคลัสต่างกระโจนเข้าร่วมงานกับพ่อทั้งหมด จวบจนกระทั่งกลางทศวรรษ 1930 อับรัมหรือที่มีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า "แอ๊บเบ้" หรือ "เอ. เอ็น." ลูกชายคนกลางคิดอยากออกมาเผชิญชีวิตด้วยตัวเอง เลยลาออกจากสำนักงานทหารความของพ่อแล้วเริ่มทำธุรกิจที่ทำให้เขาโด่งดังเป็นที่รู้จักในฐานะนักเจรจาต่อรองผู้มีซองเช็คอยู่ในกระเป๋า พร้อมจะเซ็นชื่อซื้อกิจการในราคาที่ตนเสนอได้ทุกเมื่อ

เอ.เอ็น.เริ่มต้นด้วยการเข้าไปลงทุนในบริษัทเล็กๆ แถบชิคาโก รวมทั้งกิจการโรงแรมตามเมืองต่างๆ ที่ขยายรัศมีออกไปถึงฮาวาน่า ชัยชนะครั้งสำคัญในตอนนั้นคือ การร่วมหุ้นกับเพื่อนซื้อกิจการคอรี่ คอร์ป ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านสำเร็จด้วยเงิน 25,000 ดอลลาร์เมื่อปี 2485 อีก 25 ปี ให้หลังเมื่อพวกเขาตัดสินใจขายต่อให้บริษัทเฮอร์ชี่ย์ ฟู้ดส์ ในปี 2510 ราคาของคอรี่ คอร์ปสูงถึง 23 ล้านดอลลาร์

เอ.เอ็น.กับแฟนนี่ คู่ชีวิตคนแรกเลี้ยงดูลูกชาย เจย์, รอเบิร์ต และโดนัลด์ แบบคนมีฐานะสมัยนั้นจะพึงทำกัน สามหนูน้อยได้เข้าเรียนในโณงเรียนราษฎร์เล็กๆ "ฟรานซิส ดับบลิว. พาร์คเกอร์" ที่ชิคาโก …

แต่การศึกษาทรงคุณค่าที่สุดที่พวกเขาได้รับมาจากบนโต๊ะอาหารเย็นที่ เอ.เอ็น ผู้พ่อจะคุยแต่เรื่องธุรกิจกับลูกๆ และลับสมองด้วยการตั้งโจทย์คณิตศาสตร์ให้ตอบ บ๊อบเล่าว่านิโคลัส ปู่ของพวกเขาก็มีบทบาทไม่แพ้พ่อเหมือนกัน โดยเฉพาะการตั้งคำถามทดสอบความจำเกี่ยวกับคำสอนในคัมภีร์ไบเบิ้ลที่เด็กวัย 11 ขวบอย่างเขาต้องอ่านและจำให้ได้ จะได้เป็นที่รักใคร่เอ็นดูของปู่

ส่วนเจย์หลายชายคนหัวปี โชคดียิ่งกว่านั้นที่ตอนอายุ 11 ขวบ ปู่ก็ให้ลาโรงเรียนแล้วพาทัวร์ตระเวนไปแถวตะวันออกกลาง ยุโรป และสหภาพโซเวียต ซึ่งเจย์ยังจำได้ไม่รู้ลืมในวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ 30 มิถุนายน 2477 ขณะพำนักในเบอร์ลินแล้วได้ข่าวจอมเผด็จการฮิตเลอร์สังหารหมู่ศัตรูทางการเมืองของคนอย่างโหดเหี้ยม

หลังจบมัธยมปลาย ขณะอายุเพียง 14 เจย์เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นที่สแตนเลย์ แฟรงเคิ่ล เพื่อร่วมรุ่นรำลึกความหลังให้ฟังว่าต้องวิ่งวุ่นหา "คู่เดท" ให้เจย์หนุ่มน้อยร่างสมบูรณ์ควงออกงานปาร์ตี้อยู่บ่อยครั้ง

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เจย์หาลำไพ่พิเศษด้วยการเป็นครูสอนบินประจำกองทัพเรือ ที่เริ่มต้นในเพนซาโคลาแล้วย้ายไปฟลอริด้า สุดท้ายประจำที่ฐานทัพอากาศกองทัพเรือเกล็นวิว ใกล้ที่ตั้งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นที่เขากำลังเรียนอยู่พอดี ทำให้เจย์มีโอกาสเข้าชั้นเรียนจนจบวิชากฎหมายด้วยในเวลาเดียวกัน

หลังจากรับปริญญาได้ไม่นาน เจย์เข้าพิธีวิวาห์กับมาเรียน "ซินดี้" เฟรนด์ ลูกสาวผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ในอิลลินอยส์ และเพราะผลการเรียนที่นอร์ธเวสเทิร์นดีเยี่ยมนั่นเอง เจย์จึงได้เข้ารับราชการในหน่วยงานที่ควบคุมดูแลกิจการบริษัทต่างชาติ ซึ่งถูกยึดทรัพย์สินในระหว่างสงคราม เขาทำหน้าที่ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลที่เข้าไปคุมการทำงานของคณะกรรมการบริหารของบริษัทเยอรมันระดับยักษ์เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น AMERICAN BOSCH หรือ GAF

เพราะตอนนั้นเจย์ยังหนุ่มฉกรรจ์มาก อายุเพิ่งย่างเบญจเพส ขณะที่คณะกรรมการบริหารในหน่วยงานที่เขาร่วมอยู่ด้วยล้วนอยู่ในวัยไม้ใกล้ฝั่งราว 60 ปีทั้งนั้น ทำให้เขาต้องพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะไม่แสดงลักษณะก้าวร้าวรุนแรงตามแบบฉบับของคนวัยหนุ่มออกมา จะยังไงก็ตาม เจย์เชื่อมั่นในความคิดของตัวเองอย่างแรงกล้าว่า รัฐบาลอเมริกันควรปล่อยมือจากกิจการพวกนั้นไปมากกว่าจะรั้งเอาไว้บริหารต่อ ขณะที่ผู้บังคับบัญชาของเขากลับไม่เห็นด้วย

หลังจากทนอึดอัดกับระบบราชการมาได้ปีเต็มๆ เจย์ก็บอกศาลาชีวิตข้าราชการเดินทางกลับชิคาโกบ้านเกิด แล้วเบนเข็มเป็นนายทุนเอง … กับความคิดที่ขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชา เรื่องต้องการให้รัฐบาลวางมือจากกิจการบริษัทต่างชาติที่ยึดมาได้นั้น หลังจากเจย์ลาออกมาแล้ว ในที่สุดรัฐบาลก็ดำเนินการตามที่เจย์คิดไว้เหมือนกัน

ชีวิตนายทุนของเจย์เริ่มต้นจากกิจการค้าไม้ซุงและไม้อัดในเมืองอูยีน, โอเรกอนที่เขากับซินดี้คู่ชีวิตพำนักอยู่เพียงปีเดียว นอกจากนี้ก็เปิดบริษัทเล็กๆ ผลิตลูกกลิ้งสำหรับทาสีบ้านด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่าเจย์กับเอ.เอ็น. ผู้เป็นพ่อไม่เคยติดต่อธุรกิจช่วยเหลือกันโดยตรงตามประสาพ่อ-ลูกจะพึงทำก็จริง แต่เอ.เอ็น.เข้าไปเกื้อกูลลูกชายคนหัวปีทางอ้อมอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะบารมีของเขาที่เป็นลูกค้ารายสำคัญของ FIRST NATIONAL BANK OF CHICACO มาตั้งแต่ต้น ทำให้แบงก์นี้กระตือรือร้นที่จะปล่อยกู้ให้ลูกชายของลูกค้าผู้ทรงอิทธิพล เจย์เองก็ยอมรับอย่างหน้าชื่นว่า "เพราะบารมีพ่อนี่เอง ผมเลยได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เอ่ยปากกับทางแบงก์ แม้ว่าบางครั้งจะเป็นข้อเสนอที่ดูไม่สมเหตุสมผลนักก็ตาม"

เฉพาะปี 2496 แบงก์ยอมปล่อยสินเชื่อถึง 59% ของเงินหลายล้านดอลลาร์ที่เจย์จำเป็นต้องใช้สำหรับซื้อกิจการบริษัทโคลสันที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเล็กๆ ในเมืองเอลิเรีย, โอไฮโอซึ่งกำลังอยู่ในฐานะย่ำแย่ ต้องการเงินอัดฉีดด่วนที่สุด

เมื่อซื้อโคลสันมาไว้ในครอบครองแล้ว เจย์ออกคำสั่งให้บ๊อบน้อยคนกลางที่ตอนนั้นอายุแค่ 26 ย้ายไปคุมงานที่เอลิเรียทันที เพราะเป็นงานที่เหมาะกับความรู้ของเขาโดยตรง ากที่บ๊อบจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมอุตสาหกรรมจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งอิลลินอยส์ บวกกับประสบการณ์การทำงานฝ่ายผลิตกับบริษัทอื่นอีก 6 ปี

พอเข้ารับงานบ๊อบก็ลงมีดผ่าตัดใหญ่ ปรับโครงสร้างของโคลสัน จากบริษัทผลิตจักรยานสามล้อ, ชิ้นส่วนของจรวด และล้อสำหรับใช้รถสองล้อเทียมม้าและสาลี่สำหรับตั้งกล่องถ่ายภาพยนตร์ที่มียอดขายปีละ 5 ล้านดอลลาร์ ด้วยการเลิกธุรกิจผลิตจักรยานสามล้อและชิ้นส่วนของจรวด แล้วเน้นผลิตล้ออย่างเดียว ซึ่งเมื่อกิจการเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ย้ายจากเมืองเอลิเรียที่คับแคบลงถนัดใจไปอยู่อาร์คันซัส

พอกิจการโคลสันเริ่มฟื้นตัว ทำท่าจะไปด้วยดี เจย์ผู้พี่ก็เริ่มงานถนัดของตัวเองอีก คราวนี้เข้าซื้อบริษัทเล็กๆ ในเมืองเล็กอีกแห่งหนึ่ง ที่กำลังจะล้มมิล้มแหล่ แล้วโยนต่อให้บ๊อบทำหน้าที่หมอผ่าตัดใหญ่ รักษาเยียวยาจนกิจการฟื้นตัวขึ้นมาอีก กลายเป็นวงจรที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า … เจย์ซื้อบริษัทแล้วบ๊อบบริหาร ปรับโครงสร้างจนกลายเป็นทรัพย์สินมีค่าทำเงินทำกำไรให้เจ้าของทุกครั้ง

ส่วนโดนัลด์ลูกชายคนสุดท้องของเอ.เอ็น. เข้าทำงานในสำนักงานทหารความพริทซ์เกอร์ แอนด์พริทซ์เกอร์ หลังจบวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยชิคาโกปี 2502

ก่อนหน้านั้นหลายปีเจย์เข้าซื้อกิจการ "ไฮแอท เฮ้าส์" ซึ่งเป็นแอร์พอร์ทโฮเต็ลขนาดเล็กในลอสแองเจลิส ที่ตั้งชื่อตามเจ้าของเดิม คือ ไฮแอท ฟอน เดห์น จากนั้นราวปี 2504 เจย์ขยายกิจการโรงแรมแห่งนี้เป็น CHAIN ที่มีโรงแรมในเครือ 6 แห่ง แล้วมอบหมายให้ดอน (โดนัลด์) น้อยชายคนสุดท้องรับหน้าที่บริหารจน CHAIN เล็กๆ เริ่มรุ่งเรืองและแกร่งขึ้นมาผิดตา

พูดถึงความร้ายกาจของฝีมือบริหารของดอนแล้ว ก็ไม่ผิดสมาชิกตระกูลพริทซ์เกอร์เกือบทุกคน แถมมีรูปร่างเหมือนแกะจากพิมพ์เดียวกัน คือเตี้ยเป็นจุดเด่น ผิดแต่ว่าดอนออกจะสมบูรณ์เจ้าเนื้อกว่าคนอื่นๆ เขายังเป็นคนยิ้มง่าย เวลาหัวเราะก็ระเบิดเสียงแบบไม่เกรงใจใคร และอารมณ์ขันของเขานั้นไม่แพ้ดาวตลกมืออาชีพ

ดอนบริหาร CHAIN ไฮแอทจนกิจการเจรญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เจย์จะเข้าไปมีส่วนบ้างก็เฉพาะเวลาต้องตัดสินใจครั้งสำคัญเท่านั้น ในที่สุด ไฮแอทเข้าตลาดหลักทรัพย์ปี 2510 และปีเดียวกันนี้เองที่พริทซ์เกอร์เข้าซื้อโรงแรมขนาดยักษ์ในแอตแลนต้า ที่กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง เพราะกลุ่มนักพัฒนาที่ดินมีปัญหาทางกาเงินอย่างหนัก

โรงแรมในแอตแลนต้าที่ออกแบบโดยสถาปนิกจอห์น พอร์ทแมน มีความสำคัญต่อ CHAIN ไฮแอทในแง่เมื่อมีการสร้างโรงแรมแห่งใหม่ๆ นี้ขึ้นมาอีกหลายแห่ง ไฮแอทก็ยึดเอาผลงานการออกแบบของที่นี่เป็นหลักจนดูเหมือนจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของไฮแอทก็ว่าได้

แต่เสียดายที่โดนัลด์อายุสั้นเกินไป เขาลาโลกตั้งแต่อายุ 39 ด้วยอาการหัวใจวาย ขณะอยู่ในสนามเทนนิส ทิ้งภรรยาและลูกอีก 3 คนไปเมื่อปี 2515

มรดกล้ำค่าคือ CHAIN ไฮแอทที่ดอนทิ้งไว้เบื้องหลังหาได้ตายตามไปด้วย ผลจากการฝึกสต๊าฟรุ่นหนุ่มสาวไฟแรงเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ CHAIN ไฮแอทผงาดขึ้นมากลายเป็นน้องใหม่ที่น่าสะพึงกลัวของคู่แข่งในอุตสาหกรรมโรงแรม แต่หลังจากนั้นไม่นาน คือปี 2520 ไฮแอทตกเป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อเรื่องแดงออกมาว่า กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ฮูโก เอ็ม. "สคิพ" เฟรนด์ จูเนียร์ ยักยอกเงินบริษัทกว่า 300,000 ดอลลาร์ ไปใช้ส่วนตัว ที่หนักหนาสาหัสกว่าการที่ผู้บริหารตัวเบิ้มคอร์รับชั่นคือ สคิพมีศักดิ์เป็นน้อยเขยของเจย์ด้วย

เจย์จัดการเรื่องอัปยศของตระกูลฐานกรุณาที่สุดด้วยการลดตำแหน่งของสคิพ แต่ไม่นานนักเขาก็ชิงลาออกไปก่อน … ฝ่ายเอ.เอ็น.นั้นหัวฟัดหัวเหวี่ยงมากที่ตระกูลพริทซ์เกอร์ตกเป็นเป้าแห่งคำครหา ถึงกับมีข่าวว่าเขาไม่ยอมพูดกับสคิพอีกเลย

ปัจจุบันสคิพ ผู้ก่อเรื่องอื้อฉาว ไปเป็นนายหน้าค้าที่ดินในแคลิฟอร์เนีย จะติดต่อธุรกิจกับ CHAIN ไฮแอทบ้างเป็นครั้งคราว

เจย์ต้องหนีความอัปยศถึงขนาดย้ายสำนักงานใหญ่ของไฮแอทจากลอสแองเจลิสไปอยู่ชิคาโก เพื่อควบคุมดูแลใกล้ชิดขึ้น หลังจากย้ายสำนักงานใหญ่ได้ไม่นาน เจย์เริ่มโครงการระยะยาวด้วยการกว้านซื้อหุ้นที่เสนอขายไปแล้วกลับคืนมาหมด ทำให้ไฮแอทกลับกลายเป็น PRIVATE COMPANY ที่ไม่ได้จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งหนึ่งเมื่อปี 2522

ปัจจุบันมีกิจการในเครือที่ตระกูลพริทซ์เกอร์ถือหุ้นใหญ่ ที่มีฐานะเป็นบริษัทมหาชนเพียงแห่งเดียวเท่านั้นคือ "BRANIFF"

ไม่เพียงแต่จะชอบดำเนินกิจการในเครือแบบ PRIVATE เท่านั้น คนของตระกูลพริทซ์เกอร์เองก็ชอบใช้ชีวิตแบบ PRIVATE ไม่ชอบตกเป็นข่าว ไม่นิยมโอ้อวดความมั่งมีมั่งคั่ง ทั้งๆ ที่ความเป็นอยู่ของพวกเขาก็หรูหราตามฐานะ แต่พริทซ์เกอร์ทุกคนชอบรู้กันเฉพาะวงในมากกว่า

ความสมานฉันท์ในครอบครัวพริทซ์เกอร์ยังสะท้อนถึงการเกาะกลุ่มอยู่ใกล้กันทั้งหมด … "เจย์กับซินดี้" อยู่ในอพาร์ทเมนท์ที่ตกแต่งด้วยผลงานทางศิลปะมากมาย และมองลงไปเห็นทิวทัศน์ของทะเลสาบมิชิแกนเต็มตา ถัดไปบนถนนสายเดียวกันเป็นคฤหาสถ์ของ "ลอร์เรน" คู่ชีวิตคนที่สองของเอ.เอ็น. ที่เขาแต่งงานด้วยเมื่อปี 2515 หลังจากแฟนนี่คู่ชีวิตคนแรกตายจากไปแล้ว 2 ปี และปัจจุบันลอร์เรนก็ตกพุ่มม่ายด้วยเหมือนกัน เมื่อสามีตายจากไปปี 2529 อีกไม่กี่ช่วงตึกถัดไปก็เป็นที่พำนักของ "บ๊อบกับไอรีน ดรายเบิร์ก" ภรรยาคนที่สองที่แต่งงานกันเมื่อปี 2523 หลังหย่ากับภรรยาคนแรก ปีเดียวทั้งสองมีลูกเล็กๆ 2 คน ส่วน "นิค" กับภรรยาและทายาทอีก4 เป็นเพื่อนบ้านของครอบครัวบ๊อบนั่นเอง มีครอบครัวของ "ทอม" ที่อยู่ห่างออกไปมากหน่อย แต่ก็ราว 2 ไมล์เท่านั้น

พริทซ์เกอร์เน้นบริจาคเงินช่วยเหลือแก่องค์กรต่างๆ ของยิวและองค์การกุศลในชิคาโก โดยเฉพาะปี 2511 ที่เป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อบริจาค 12 ล้านดอลลาร์ให้คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก แต่เป็นที่รู้กันว่าตระกูลนี้ไม่แคร์เรื่องวงเงินบริจาคนักและวิธีมอบเงินของพวกเขาก็เป็นที่เลื่องลือไม่แพ้กัน เห็นได้จากปี 2519 เมื่อสองสามีภรรยาเจย์-ซินดี้ไปบริจาคเงินให้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสำหรับวิจัยด้าน NEURO CHEMISTRY ซึ่งก่อนจะทำพิธีรับมอบเงินกันนั้น ทั้งสองเดินดูงานทั่วห้องแล็บแล้วคุยกับทุกคน ตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์ไปจนถึง พนักงานล้างจาน หลังจากนั้นเมื่อผู้อำนวยการห้องแจ๊ค สาร์คัสตั้งคำถามให้ทั้งสองกล่าวตอบได้หลายข้อแล้ว เจย์พูดในตอนหนึ่งว่า

"เรามีปรัชญาว่าจะไม่ซื้อบริษัทมาเพียงเพื่อต้องการสินทรัพย์ของพวกเขา เราเน้นความสำคัญของทรัพยากรบุคคลที่ทำให้งานบริษัทนั้นดำเนินไปได้ และเราก็ยึดปรัชญานี้กับสถาบันที่เราพิจารณาบริจาคเงินให้ด้วยเช่นกัน"

กิจกรรมของธุรกิจของตระกูลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเจรจาซื้อกิจการหรือตลอดไปจนถึงการประสานงานทำเรื่องบริจาคเงินให้สถานบันต่างๆ ล้วนรวมศูนย์อยู่ที่สำนักงานทนายความ "พริทซ์เกอร์ แอนด์พริทซ์เกอร์" ทั้งสิ้น และนับจากเอ.เอ็น. ผู้ก่อตั้งเสียชีวิตไปเมื่อ 2 ปีก่อน ขณะสูงวัยถึง 90 ปี ก็เหลือหุ้นส่นของตระกูลทั้งหมด 4 คนที่ล้วนจบวิชากฎหมายมาแล้วทั้งนั้นคือ เจย์, ทอม, นิค และเพนนี ลูกสาวคนเดียวของโดนัลด์ที่ตายจากไปนานแล้ว

พริทซ์เกอร์ แอนด์พริทซ์เกอร์ หรือที่ครอบครัวนี้เรียกสั้นว่า "พีแอนด์พี" นั้น จริงๆ แล้วทำกิจการลักษณะวาณิชธนกิจ (INVESTMENT BANKING) ขนราดเล็กที่มีมืออาชีพ 17 คนคอยให้บริการลูกค้ารายเดียวคือ ตระกูลพริทซ์เกอร์นั่นเอง ในสำนักงานที่อยู่ตึกเดียวกับที่ตั้งสำนักงานใหญ่ บริษัทไฮแอทจึงเป็นแหล่งรวมข้อมูลและเอกสารทุกอย่างที่ตระกูลนี้เข้าไปมีผลประโยชน์ในรูปของ TRUSTS

"ถ้าคุณถามผมว่าโดยส่วนตัวแล้วผมมีผลประโยชน์ในกองมรดกอยู่เท่าไร? ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน ผมรู้คร่าวๆ แต่ว่าที่ได้รับอยู่ทุกวันนี้ก็ยุติธรรมดีแล้ว" ทอมตอบข้อสงสัย

เอ.เอ็น.เป็นคนโอนทรัพย์สินส่วนใหญ่ของตนเข้า TRUSTS ในทศวรรษ 1930 แถมยังพูดอวดในตอนหลังอีกว่า "เมื่อใช้วิธีนี้แล้ว ผมกับเพื่อนๆ สามารถประหยัดค่าภาษีได้ 100-200 ล้านดอลลาร์ทีเดียว"

ปัจจุบันแม้ว่า TRUSTS จะไม่สามารถใช้เพื่อปิดบังซ่อนเร้นรายได้อีกต่อไป แต่ก็ยังช่วยลดภาษี ESTATE TAX ได้ โดยทรัพย์สินที่อยู่ใน TRUST ซึ่งตั้งขึ้นก่อนปี 2528 และในกรณีของตระกูลพริทซ์เกอร์แล้วตั้งขึ้นก่อนทั้งหมดด้วยซ้ำ อาจมอบให้ทายาทรุ่นต่อไปได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ESTATE TAX ซึ่งเป็นภาษีที่เก็บบนทรัพย์สินของผู้ตายก่อนแบ่งแก่ทายาทหรือบุคคลือ่น และวิธีการนี้เปิดเผยขึ้นหลังจากเปิดพินัยกรรมของ เอ.เอ็น. แล้วนั่นเอง ตามบันทึกของศาลระบุว่า เอ.เอ็น.มีทรัพย์สินส่วนตัวมูลค่าเพียง 25,000 ดอลลาร์เท่านั้น

แม้สมาชิกครอบครัวพริทซ์เกอร์จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินทุกอย่างร่วมกัน แต่เมื่อบริหารกจการแล้วพวกเขาจะรักษาผลประโยชน์ในความควบคุมของตนเองอย่างเด่นชัดดังคำบอกเล่าของดาร์ริล ฮาร์ทลีย์ เลียวนาร์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่ของไฮแอทผู้ทุ่มเทกับงานบริหาร CHAIN ไฮแอทมาแล้ว 24 ปีเต็มว่า "ตลอดหลายปีที่ผ่านมาบ๊อบจะไม่ยอมปล่อยให้ธุรกิจของมาร์มอนกรุ๊ปเข้ามาใช้บริการของเราเด็ดขาด เพราะติดว่าเราชาร์จแพงเกินไป"

เอ็ดเวิร์ด กิลล์ จูเนียร์ ผู้จัดการของโคลสัน คาสเตอร์ คอร์ปที่เป็นกิจการในเครือของพริทซ์เกอร์ด้วยอย่างหนึ่งก็เล่าความหงุดหงิดใจว่า "เวลาผมเห็นไฮแอทใช้ลูกล้อรถเข็นที่บริษัทอื่นผลิตแล้ว มันทำให้เดือดดาลอย่างบอกไม่ถูก แต่เราทำได้แค่ยิ้มแล้วก็ทนเอา"

ปรัชญาการบริหารแบบให้ธุรกิจแต่ละประเภทเลี้ยงตัวเอง โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกันยังมีผลไปถึงการบริหารรายได้ของกิจการในเครือด้วย ดังที่รอเบิร์ต กลัท กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ของมาร์มอน กรุ๊ป เล่าว่า เขาไม่เคยเห็นเงินที่มาร์มอนทำได้ถูดดึงเอาไปช่วยเหลือธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในเครือเลย

สมาชิกของพริทซ์เกอร์ทุกคนไม่เพียงแต่จะยอมรับระบบนี้เท่านั้น แต่ยังช่วยกันสนับสนุนให้มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่เคยมีข่าวอื้อฉาวการฟ้องร้องแย่งชิงผลประโยชน์กันเองเลยสักครั้งเดียว

ถ้าเกิดจะมีใครสักคนออกนอกลู่นอกนางล่ะ?

"ถ้าเราจะมีปัญหาละ" เจย์ไขปัญหา "มันคงจะมาจากความขี้เกียจของคนมากกว่า คืออาจจะมีใครสักคนคิดว่าเขามีสิทธิในบางสิ่งบางอย่างเพียงเพราะนามสกุลพริทซ์เกอร์ แต่จริงๆ แล้วไม่มีใครในตระกูลมีสิทธิในทรัพย์สินอะไรทั้งนั้น จนกว่าจะได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์และต้องทำได้ดีด้วย เขาอาจะไม่จำเป็นต้องเข้ามาร่วมในธุรกิจของตระกูลก็ได้ อาจไปเป็นศาสตราจารย์สอนบทกวีของยูโกสลาเวีย แต่ต้องเป็นเลิศเช่นกัน"

เจย์นั่นเองที่เป็นคนวางหลักเกณฑ์ปรัชญาการทำธุรกิจของครอบครัวและตัวหลักในงานเจราจาธุรกิจที่เริ่มตั้งแต่ 6 โมงเช้าของวันใหม่ไปเรื่อยๆ แต่ก่อนจะเริ่มธุรกิจประจำวัน เขาต้องเล่นเทนนิสออกกำลังกายกับสตีฟ เออเรนเบิร์ก เพื่อนสนิทที่คบกันมา 20 ปีเต็ม

เจย์โชคร้ายตรงที่เป็นโรคหัวใจเข้ารับการผ่าตัดมาแล้ว 4 ครั้ง ทำให้ระหว่างพักฟื้นเขาต้องลดการหักโหมงานโดยปริยาย ต้องพักผ่อนตอนกลางวันด้วยการงีบสักพัก ต้องเลิกกีฬาโลดโผน คือเล่นสกีที่ผู้เล่นถูกปล่อยตัวลงจากเขาสูงแล้วสกีมาตามไหล่เขาโดยเด็ดขาด แต่เมื่อไม่นานมานี้มีลางบอกเหตุบางอย่างที่ยืนยันว่าเจย์กำลังกระโจนเข้าวงการเต็มตัวอีกแล้ว เมื่อในสมองของเขาเต็มไปด้วยความคิดจะเจรจาซื้อกิจการมากมายในแต่ละปี พอนึกชอบใจบริษัทไหนขึ้นมา เจย์จะดำเนินการด้วยตัวเองอย่างรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องพึ่งคำแนะนำจากทีมทนายความเหมือนคนอื่น

เห็นได้จากปี 2523 ที่เขาตัดสินใจเสนอซื้อกิจการ "TRANS UNION" บริษัทให้เช่ารถไฟบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ในเวลาไม่ถึงอาทิตย์หลังจากประธานกรรมการของ TRANS UNION เข้าพบ ครั้งนั้นเขาใช้เงินไป 690 ล้านดอลลาร์ก็ได้ TRANS UNION เข้ามาอยู่ในเครือมาร์มอน กรุ๊ป

เจย์เองยอมรับว่าเขาเป็นคน "ใจร้อนเป็นไฟ" ถ้าอีกฝ่ายตอบสนองไม่ทันใจหรือพยายามเตะถ่วงละก็เขาจะลุกเดินหนีทันที

"ถ้าการเจรจาต่อรองไม่เป็นที่พอใจไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดด้านการเงินหรืออื่นๆ ที่เจย์เป็นฝ่ายเสนอ เมื่อลุกหนีไปแล้วเขาจะไม่หวนกลับมาอ้อยอิ่งด้วยการขอต่อรองใหม่อีกครั้ง" แดน ลัฟคิน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเดนัลสัน ลัฟคิน แอนด์ เจนเรตต์และหุ้นส่วนในกองทุนลงทุนของตระกูลพริทซ์เกอร์ พูดถึงเจย์ในฐานะที่เป็นผู้ใกล้ชิดคนหนึ่ง

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับนักธุรกิจสำคัญรายอื่นๆ ดูเหมือนเจย์จะกล้าเสี่ยงน้อยกว่า "มีธุรกิจอีกมามายที่เจย์ควรเจรจาแล้วซื้อได้สำเร็จแต่เขาก็ไม่ทำ" เจอร์รี่ เซสโลว์ กรรมการผู้จัดการของกิจการวาณิชธนกิจในนิวยอร์กแห่งหนึ่งซึ่งพริทซ์เกอร์มีหุ้นส่วนอยู่ด้วยเล่า "และก็ไม่มีการเจรจาใดเหมือนกันที่คิดว่าเขาไม่ควรตัดสินจทำลงไปแล้วเขากลับทำ"

เจย์มีหลักการผิดแผกจากนักเทคโอเวอร์อีกหลายคนในแง่เขาชอบกระจายเงินเข้าซื้อกิจการขนาดกลางหลายๆ แห่งหรือไม่ ก็เข้าไปเป็นหุ้นส่วนรายใหญ่มากกว่าจะทุ่มเงินเข้าซื้อเพียงรายเดียว … วิธีนี้นอกจากจะทำให้พริทซ์เกอร์สามารถกระจายรูปแบบการลงทุนให้หลากหลายออกไปแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนด้วย

ยิ่งกว่านั้นเจย์ยังเมินกิจการที่มีผลประกอบการดีและมั่นคง กลับไปสนใจกิจการที่กำลังเผชิญปัญหาหนักหน่วงที่สุดและสลับซับซ้อนท้าทายการแก้ปัญหามากกว่า เห็นได้จากเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ที่เขาแสดงตัวว่าอยากเข้าเทคโอเวอร์ SEATRAIN LINES บริษัทเดินเรือที่กำลังล่อแหลมต่อการถูกฟ้องล้มละลายในปี 2529 หรือบริษัท WESTERN UNION ที่มีกิจการย่ำแย่มานานเต็มที หรือสายการบิน PAN AM ซึ่งมียอดขาดทุนช่วง 2 ปีหลังรวมกันแล้ว 727 ล้านดอลลาร์ แม้แต่ BRANIFF และ TICKETMASTER ซึ่งบริษัทหลังให้บริการขายตั๋วด้วยระบบคอมพิวเตอร์ก็ล้วนจะล้มมิล้มแหล่ทั้งนั้น เมื่อตอนที่เจย์เข้าไปซื้อมา

เจอร์รี่ เซสโลว์เผยกลเม็ดอีกว่า เจย์มุ่งเข้าเจรจาขอซื้อกิจการเหลานี้ขณะฐานะย่ำแย่ เพราะรู้ว่านักเทคโอเวอร์อื่นต้องไม่สนใจอยากได้แน่ ยิ่งมีคู่แข่งเสนอราคาซื้อน้อยรายเท่าไร โอกาสจะกดราคาก็มีมากขึ้นเท่านั้น

เพราะรูปแบบการลงทุนของพริทซ์เกอร์หลากหลายมาก ทำให้พวกเขาสามารถสร้างผลประโยชน์ด้วยการรวมกิจการที่ซื้อมาเข้าอยู่ด้วยกัน แล้วใช้ระบบบริหารคล้ายกับของกิจการที่ตนเป็นเจ้าของอยู่เดิมแล้ว ยิ่งกว่านั้น เพราะวีธีบริหารกิจการในเครือที่แยกกันโดยเด็ดขาดอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้มีความคล่องตัวสูงมากในการฉวยโอกาสหาข้อได้เปรียบจากกฎหมายภาษี เช่น การจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากความสูญเสียทางด้านภาษีที่สะสมในกิจการที่ตนเพิ่งซื้อมา ผู้ซื้อก็ต้องทำให้กิจการนั้นมีกำไรให้ได้ไม่ว่าจะด้วยการปรับปรุงระบบบริหารหรือนำไปรวมกับกิจการอื่น ซึ่งอยู่ในเครือและมีกำไรอยู่แล้ว

ทอมเองก็ยอมรับอย่างอารมณ์ดีว่า "ถ้าคุณต้องการยุทธวิธีที่จำเป็นต้องแก้เรื่องความสูญเสียทางด้านภาษี ผมก็มีให้คุณได้ ถ้าคุณต้องการยุทธวิธีที่จำเป็นต้องมีหุ้นส่วนที่มีกำไรอยู่แล้ว ผมก็มีอีกนั่นแหละ และถ้าต้องการยุทธวีธีบริหารกิจการที่ขาดทุน ผมก็มีให้ดูเหมือนกัน คือคุณจะเอ่ยยุทธวิธีอะไรขึ้นมาเรามีให้คุณดูทั้งนั้น!"

เมื่อเจย์เสี่ยงซื้อ BRANIFF ในปี 2526 นั้น ดูเหมือนเขาจะหวังพึ่งการได้ผลประโยชน์ทางภาษีถึง 325 ล้านดอลลาร์ที่สายการบินนี้พึงได้รับจากการอยู่ในฐานะสายการบินล้มละลาย แล้วเจย์เข้าไปพลิกฟื้น BRANIFF ด้วยโครงการสลัดธุรกิจอื่นๆ ออกจนเหลือแต่แผนกซ่อมบำรุงที่มีกำไร ขณะเดียวกันก็ยังได้ผลประโยชน์จากภาษีอยู่อย่างเดิม และตั้งชื่อใหม่ว่า DALFORT มีฐานะเป็นเหมือนบริษัทแม่อีกที

เพื่อให้ได้ผลประโยชน์เต็มที่ยิ่งขึ้น DALFORT ซึ่ง CONWOOD ผู้ผลิตยาเส้นสำหรับสูบและเคี้ยว ขณะเดียวกันเจย์ก็เร่งสร้างฐานะ BRANIFF ขึ้นใหม่ด้วยธุรกิจเช่าซื้อเครื่องบิน 30 เครื่อง และจ้างคนงานเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง

ถ้าพูดในแง่เศรษฐศาสตร์แล้ว การตกลงซื้อกิจการครั้งนี้ก็คุ้มกันดี แม้ว่ากิจการสายการบินจะเกิดทรุดลงอีกครั้งหนึ่ง และเหตุการณ์ที่ว่านี้ก็เกือบอุบัติขึ้นเหมือนกัน คือหลังจากเริ่มดำเนินกิจการใหม่ไปได้ 6 เดือน ด้วยผลประกอบการขาดทุนเดือนละ 8 ล้านดอลลาร์โดยเฉลี่ยนั้น เจย์ก็เกือบจะหมดหวังอยู่แล้ว ดีแต่ว่าตอนนั้นผลประโยชน์ของเขาอยู่ในรูปของหุ้นมากกว่าเงิน และบรูซ ลีดบัทเทอร์ หุ้นส่วนคนสนิทของเจย์ ผู้ให้กำลังใจยุส่งให้เจย์กัดฟันทำกิจการ BRANIFF ต่อไปอีกเล่าว่า แรงยุของเขาได้ผลเมื่อเจย์เกิดความรู้สึกว่า เขามีพันธะต้องทำให้สายการบินแห่งนี้มีกำไรขึ้นมาให้ได้ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะความรู้สึกสบายใจที่ได้รับความร่วมมือด้วยดี เมื่อฝ่ายลูกจ้างเองตกลงยอมให้มีการลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าจ้างลงก้อนใหญ่

แพทริค โฟลีย์ ประธานฝ่ายปฏิบัติการของ BRANIFF และอดีตผู้บริหารระดับสูงของไฮแอท จึงเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า "เจย์ชอบพูดเสมอว่า ลองบอกชื่อนักธุรกิจที่ว่ามือแน่เรื่องการเจรจาซื้อกิจการมาซิ แล้วผมจะบอกให้คุณรู้ถึงการตัดสินใจซื้อกิจการที่ประสบความล้มเหลว" เพราะในฐานะที่โฟลีย์บริหาร BRANIFF มากับมือ เขาไม่เชื่อว่าการตัดสินใจของเจย์เกี่ยวกับการซื้อ BRANIFF จะเป็นความล้มเหลว เขาเชื่อมั่นว่าสายการบินแห่งนี้จะมีกำไรเล็กน้อยในปีนี้ ไม่ได้ล้มเหลวอย่างเจย์คิดไว้

วิธีการที่เจย์ทำจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวไปแล้วคือ เมื่อซื้อกิจการเข้ามาไว้ในมือแล้วเขาเกือบจะไม่เข้าไปแตะต้องเรื่องงานบริหารเลย ถ้ากิจการที่ซื้อมาถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของ "มาร์มอน กรุ๊ฟ" เป็นอันรู้กันว่า บ๊อบคือคนเข้าไปรับผิดชอบดูแลบริหารงานให้ฟื้นตัวขึ้นมา คนที่รู้จักบ๊อบดี อดไม่ได้ที่จะยอมรับว่าเขาคือ "วิศวกร" ในตระกูล "นักกฎหมาย"

ฮัล บูรโน ผู้ควบคุมรายการทีวีด้านการเมืองของสถานีโทรทัศน์เอบีซีและสนิทสนมกับบ๊อบมา 28 ปีเต็ม เล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งการประชุมผู้ว่าการรัฐแห่งชาติ ซึ่งจัดที่ไฮแอท รีเจนซี่ในเซาท์แคลิฟอร์เนียว่า ผู้ว่าการรัฐคนหนึ่งถามบ๊อบว่าเขามีอาชีพอะไร

"เป็นวิศวกรครับ" คือคำตอบสั้นๆ จากปากของบ๊อบ และบูรโนก็พูดถึงเพ่อนรักต่อว่า "เขาไม่เคยต้องการเป็นคนเก่ง วิเศษอะไรทั้งนั้น ที่เขาบอกกับใครต่อใครว่าเป็นวิศวกรก็เพราะนั่นคือสิ่งที่เขาคิดว่าเขาเป็นอยู่"

ความเป็นวิศวกรของบ๊อบ นอกจากตัวเขาจะเข้าใจกลไกความเป็นไปของทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องในสายงานอาชีพแล้ว เขายังสามารถกวาดออกมาเป็นภาพให้ความกระจางได้อย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะการสเก็ตซ์ส่วนประกอบของเครื่องมือแต่ละอย่างให้ได้รายละเอียดครบถ้วนเป็นเรื่องที่เขาถนัดเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงการอภิปรายโต้เถียงเกี่ยวกับวิธีควบคุมค่าใช้จ่ายในโรงงานที่เขาก็ทำได้ไม่แพ้กัน และบ๊อบยังเคยเขียนบทความเกี่ยวกับการควบคุมการผลิตลงตีพิมพ์ในนิตยสารธุรกิจต่างๆ

"น่าทึ่ง" คือคำสั้นๆ ง่ายๆ ที่เจย์ พี่ชายพูดถึงบ๊อบ ในแง่ความเชี่ยวชาญในโรงงานต่างๆ ที่อยู่ในเครือมาร์มอน กรุ๊ป และบ๊อบเป็นคนควบคุมทั้งหมด "แต่ถ้าเรียกให้บ๊อบเข้ามานั่งคุยเรื่องการเจรจาที่เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ละก็ เพียง 5 นาทีเท่านั้น เขาจะทำอย่างนี้" เจย์เล่าพร้อมกับทำท่ากลอกตาไปมาแล้วก็เริ่มหงุดหงิดนั่งไม่ติด "หลังจากนั้นราว 10 นาที เขาจะขอตัวบอกว่า ยังมีธุระอื่นต้องทำ"

ใช่แต่บ๊อบจะมุ่งแต่งานวิศวกรรมอย่างเดียว เขายังเป็นประธานพิพิธภัณฑ์ CHICAGO'S FIELD MUSEUM OF NATURAL HISTORY และพูดย้ำแล้วย้ำอีกถึงความจำเป็นของบริษัททุกแห่ง รวมทั้งบริษัทของเขาเองด้วยที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บ๊อบไม่เพียงแต่พูด เขายังให้เงินอุดหนุนคณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมในสถาบันเทคโนโลยีแห่งอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นสถาบันเก่าที่เขาร่ำเรียนมาด้วย เวลาอีกส่วนหนึ่งที่บ๊อบอุทิศให้กับงานสอนวิชาการจัดการในหลักสตรเอ็มบีเอ. ภาคค่ำของมหาวิทยาลัยชิคาโก ก็นับว่าได้ผลคุ้มค่าในแง่ที่เป็นวิชาท้อปฮิตของคณะเหมือนกัน

ในห้องรับรองที่จัดไว้สำหรับต้อนรับผู้มาเยือนสำนักงานต่างๆ ของมาร์มอน กรุ๊ฟก็สะท้อนถึงทฤษฎีการบริหารของบ๊อบอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเน้นความเรียบง่ายและสไตล์การจัดห้องให้โล่งสบายตาเป็นหลัก มีเพียงแผนฟังแสดงส่วนประกอบทางเคมีของน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เมื่อไหลผ่านพื้นโลกเป็นเครื่องตกแต่งห้อง

บ๊อบบริหารบริการในเครือของมาร์มอน กรุ๊ฟ 60 บริษัทด้วยหลักการกระจายอำนาจที่ ผู้จัดการทั่วไปมีอำนาจการบริหารเต็มที่ โดยเขาไม่เข้าไปก้าวก่ายเด็ดขาด และผู้บริหารเหล่านี้ก็เห็นว่าวิธีให้อิสระในการบริหารกับตนจะเป็นแรงกระตุ้นและรางวัลในเวลาเดียวกัน

"มันเหมือนการที่คุณได้เป็นเจ้าของบริษัทของตัวเอง แต่มีเงินทุนของพริทซ์เกอร์หนุนหลัง" เมอร์ลิน วิลล์ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทผลิตคอนกรีตสำเร็จรูปให้ความเห็น

บ๊อบจะติดต่อกับผู้บริหารของแต่ละบริษัทอย่างจริงจังก็เฉพาะช่วงพิจารณางบประมาณประจำปี ซึ่งเขาจะเดินทางตระเวนเยี่ยมแต่ละบริษัทและพูดคุยสอบถามเอากับผู้จัดการที่รับผิดชอบ เขายังช่วยให้งานดำเนินไปด้วยดีโดยอนุมัติค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เกินกว่า 15,000 ดอลลาร์เป็นการส่วนตัวให้

จากหนังสือคู่มือของมาร์มอน กรุ๊ฟที่ทำแจกลูกค้าและพนักงานกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา กิจการมีผลตอบแทนต่อหุ้นโดยเฉลี่ย 20.2% เปรียบเทียบกับริษัทที่ติดอันดับ FORTUNE 500 ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งมีผลตอบแทนต่อหุ้นโดยเฉลี่ยเพียง 13% ส่วนกำไรเมื่อปีที่แล้ว 145 ล้านดอลลาร์นั้นอยู่ในระดับเดียวกันกับของบริษัทเฮอร์ชีย์ ฟู้ด และบริษัทผลิตซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครย์ รีเสิร์ช

ดูเหมือน "ทอม" จะเป็นพริทซ์เกอร์คนเดียวที่บริหารงานใกล้ชิดกับกิจการหลักของตระกูลมากที่สุดคือ CHAIN "ไฮแอท" ที่เขาเข้ามาร่วมงานเมื่อปี 2520 คือหลังจากจบเอ็มบีเอ. และวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยชิคาโกเพียงปีเดียว

ทอมใช้เวลาประมาณครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่หมกมุ่นกับไฮเทคคอร์ป ในตำแหน่งกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ไฮแอท คอร์ป เป็นเจ้าของบริษัทที่บริหาร CHAIN โรงแรมไฮแอทในอเมริกา แคนาดา และแถบทะเลแคริบเบี้ยนโดยตรง 91 แห่ง รวมทั้งควบคุมควบคุมกิจการโดยอ้อมของบริษัท DALFORT , CONWOOD, BRANIFF, TICKETMASTER และอีกหลายบริษัทที่พริทซ์เกอร์เข้าไป AFFIATE ด้วย

แม้กระทั่งกิจการของไฮแอท อินเตอร์เนชั่นแนลที่มีลักษณะบริหารงานในฐานะบริษัทที่แยกตัวออกไปต่างหาก ทอมก็มีหน้าที่เข้าไปดูแลเช่นกัน เวลาที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งเขาก็อุทิศให้กับการบริหารธุรกิจในสำนักงานทนายความพริทซ์เกอร์พริทซ์เกอร์ แอนด์พริทซ์เกอร์

ในฐานะลูกชายคนหัวปีของเจย์ ทอมกลับเป็นคนสุขุมรอบคอบและช่างพูดน้อยกว่าผู้เป็นพ่อเขาสนใจวัฒนธรรมของอินเดียและเนปาลเอามากๆ ถึงกับเดินทางไปอินเดียเมื่อปี 2514 กับคณะเดินป่าฝ่าเทือกเขาหิมาลัยระยะทาง 400 ไมล์ ตอนนั้นทอมอายุแค่ 21 และเขาไม่ยอมกลับอเมริกา จนกระทั่งอีก 5 ปีให้หลังพร้อมคู่ชีวิต MARGOT LYN BARROW-SICREE ที่พบและแต่งงานระหว่างอยู่อินเดีย ปัจจุบันทั้งสองเช่าอพาร์ทเมนท์ทิ้งไว้ที่กาฎมัณฑุ พอมีวันหยุดก็จะบินไปพักผ่อนที่นั่นทุกครั้ง

เมล ไคลน์ หุ้นส่วนในกิจการของตระกูลพริทซ์เกอร์หลายโครงการเล่าว่า ถ้าทอมไม่ได้ตั้งใจแน่วแน่แต่ต้นแล้วว่าต้องเดินตามรองเท้าพ่อให้ได้ เขามีสิทธิเป็นศาตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญวิชาศิลปะและวัฒนธรรมของอินเดียได้สบายๆ

ทอมเขามามีบทบาทในการติดต่อเจรจาธุรกิจต่างๆ แทนเจย์มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จริง แต่เขามีความคิดและแบบฉบับของตัวเองด้วยเหมือนกัน "เจย์สนใจแต่จะเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่อย่าง PAN AM ขณะที่ทอมเน้นซื้อกิจการเกือบทุกอย่างที่คิดว่าคุ้มค่ากับการลงทุน" เจอร์รี่ เซสโลว์ เปรียบเทียบให้ฟัง

ตัวทอมเองก็เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2525 เมื่อหมอในชิคาโกคนหนึ่งเสนอความคิดและวิธีทำเงินจากการเข้าไปช่วยเหลือกิจการดูแลรักษาสุขภาพหลายๆ แห่งให้เขาฟัง ทอมเห็นด้วยพร้อมกับให้ทั้งคำแนะนำและสนับสนุนทางการเงินจนกระทั่งเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาคือ บริษัท HEALTHCARE COMPARE ที่เพิ่งจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์เมื่อปีที่แล้วด้วยการเสนอขายหุ้นในราคาหุ้นละ 11 ดอลลาร์ และเมื่อไม่นานมานี้ราคาเขยิบสูงขึ้นเป็น 17 ดอลลาร์ โดยตระกูลพริทซ์เกอร์ยังถือหุ้นส่วนน้อยของกิจการนี้อยู่

แต่ผลงานโดดเด่นที่สุดของทอม ที่นำมาซึ่งความมั่งคั่งแบบทวีคูณของพริทซ์เกอร์เห็นจะได้แก่การที่เขาตัดสินใจเข้าไปเร่งและกระตุ้นการขยายตัวของไฮแอทอย่างรวดเร็วเมื่อหลายปีที่ผ่านมา โดยมีนิคลูกเรียงพี่เรียงน้องของเจย์กับบ๊อบแต่อยู่ในวัยรุ่นราวคราวเดียวกับทอม เป็นคนเคียงบ่าเคยงไหล่ดำเนินตามยุทธวิธีนี้ …

คือในช่วงทศวรรษ 1970 ไฮแอทยังคงดำเนินธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการเซ็นสัญญาเข้าบริหารโรงแรมของบรรดานักพัฒนาที่ดินและนักลงทุนไปเรื่อยๆ แต่พอถึงทศวรรษ 1980 นักลงทุนพวกนั้นเริ่มสร้างเงื่อนไขเรียกร้องว่า บริษัทที่จะได้สัญญาเข้าบริหารโรงแรมของตนต้องมีข้อแลกเปลี่ยน ด้วยการเข้ามาช่วยรับความเสี่ยงจากการซื้อหุ้นมีส่วนเป็นเจ้าของด้วย และพริทซ์เกอร์เองก็ตระหนกดีว่า ไฮแอทจะเติบโตอย่างรวดเร็วได้ก็ต่อเมื่อบริษัทตัดสินใจเข้าไปลงทุนด้านเรียลเอสเตทนั่นเอง

คนที่นำบริษัทเข้าไปลงทุนด้านเรียลเอสเตทคือ "นิค" ซึ่งอยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายพัฒนาของไฮแอท เขาทุ่มเททำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้ไฮแอทเข้าไปมีบทบาทสำคัญในธุรกิจสถานตากอากาศขนาดมหึมาให้ได้ เริ่มต้นจากสถานตากอากาศ HYATT REGENCY WAIKOLOA มูลค่า 360 ล้านดอลลาร์ในฮาวายที่ร่วมทุนกันระหว่างไฮแอท, พี่น้องตระกูลบาส และบริษัทญี่ปุ่นอีก 2 แห่ง ซึ่งมีกำหนดเสร็จและเปิดบริการในเดือนกันยายนนี้ในฐานะ "โรงแรมราคาแพงที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา"

เป็นที่รู้กันว่า นิคคลั่งไคล้กีฬาเป็นชีวิตจิตใจ และเป็นสมาชิกของตระกูลพริทซ์เกอร์เพียงคนเดียว ที่เอาชื่อของตัวเองไปตั้งเป็นชื่อบริษัทด้วยคือ NICK'S AQUA SPORT กิจการให้เช่ากระดานโต้คลื่นและอุปกรณ์กีฬาอื่นๆ ที่ปักหลักอยู่ตามโรงแรมและสถานตากอากาศต่างๆ

แต่ "พริทซ์เกอร์" เพียงคนเดียวที่มีสิทธิ์พาใครต่อใครเช็ค-อินเข้าพักในไฮแอทคือ "จอห์น" ลูกชายคนที่สองวัย 34 ของเจย์ ชีวิตของเขาออกจะโลดโผนผิดกับลูกคนมีสตางค์ทั่วไปในแง่อายุ 14 ก็ไปเป็นบัสบอยหาประสบการณ์หลังเลิกเรียน และก่อนจะรับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายภาคพื้นในซานฟรานซิสโกควบคุมกิจการโรงแรมในเครือ 10 แห่ง จอห์นเคยผ่านการฝึกงานตามโรงแรมไฮแอทใน 6 เมืองใหญ่มาก่อน

ส่วน "เพนนี" ลูกสาวคนเดียวของโดนัลด์ที่เสียชีวิตไปแล้วและปัจจุบันอายุ 28 ปีก็ทำงานกับไฮแอทมานานพอๆ กับจอห์นผู้มีศักดิ์เป็นพี่ชาย เธอมีส่วนในงานบริหารมาตั้งแต่เด็ก เมื่อติดสอยห้อยตามพ่ออยู่เรื่อยๆ และบ่อยครั้งที่โดนัลด์ชอบแวะเข้าโรงแรมไฮแอทที่อยู่ใกล้บ้านเพื่อตรวจตราเล็กๆ น้อยๆ ว่าห้องน้ำสะอาดหรือเปล่า?

เพนนีจบวิชากฎหมายและบริหารธุรกิจ จากโครงการหลักสูตรร่วมของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปัจจุบันควบคุมโครงสร้างสถานพักฟื้นคนชราสำหรับคนมีฐานะ ซึ่งไฮแอทเข้าไปร่วมทุนอยู่ด้วย

สำหรับ "โทนี่" น้องชายวัย 27 ของเพนนี จบวิศวกรรมศาสตร์จากดาร์ทมัธและเป็นความหวังของตระกูลว่าจะเป็น "ทายาท" รับช่วงงานบริหารกิจการมาร์มอน กรุ๊ฟ ที่ "บ๊อบ" ผู้มีศักดิ์เป็นลุงควบคุมอยู่ในเวลานี้ ปัจจุบันโทนี่รับผิดชอบฝ่ายขายและการตลาดของบนริษัทในเครือมาร์มอน ที่ผลิตเส้นลวดและสายเคเบิ้ลในเมืองนิวเฮฟเว่น, คอนเนคติกัท

นอกเหนือจากนี้แล้ว ไม่มีสมาชิกตระกูลพริทซ์เกอร์คนอื่นๆ ที่สนใจเข้าบริหารกิจการในเครืออีก ไม่ว่าจะเป็น "แดนนี่" ลูกชายวัย 28 ของเจย์ ซึ่งจบวิชากฎหมายมาก็จริง แต่ไม่สมัครใจทำธุรกิจของตระกูล กลับหันไปยึดอาชีพนักดนตรีเพลงร็อคแทน หรือ "จิจี้" ลูกสาววัยเบญจเพสของเจย์ก็เพิ่งเดินทางไปผลิตรายการสารคดีที่ภูฐานสำหรับขายให้กับสถานีวิทยุโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ

ลูกๆ ทั้งสามของบ๊อบที่เกิดจากภรรยาคนแรก ก็ไม่มีใครเข้ามาในวงการธุรกิจของครอบครัวเช่นกัน จะมีติ่งอยู่คนเดียวคือ "คาเรน" ลูกสาวคนสุดท้องที่เคยเป็นบรรณาธิการนิตยสาร WORKING MOTHER ที่อยู่ในเครือพริทซ์เกอร์ก่อนจะขายทิ้งไป ต่อมาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร McCALL'S ที่ตระกูลพริทซ์เกอร์ร่วมทุนกับ TIME INC. ผู้ตีพิมพ์นิตยสาร FORTUNE ตีพิมพ์ออกขายเมื่อปี 2529

เหลือ "เจย์ รอเบิร์ต" หรอที่เรียกกันเล่นๆ ว่า "เจ.บี." ลูกชายคนสุดท้องของโดนัลด์ผู้ล่วงลับ ซึ่งตอนนี้อายุ 23 ปีแล้ว เขาก็ไปเป็นผู้ช่วยฝ่ายนิติบัญญัติของวุฒิสมาชิกเทอร์รี่ แซนฟอร์ด แห่งรัฐนอร์ธแคโรไลน่า และประกาศเจตนารมณ์ไว้แล้วเหมือนกันว่า ในที่สุดจะมุ่งเข็มไปเล่นการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

แม้ว่าคนรุ่นทอมจะแสดงอกอย่างเด่นชัดถึงความตั้งใจจริงที่จะอุทิศตัวให้ธุรกิจของครอบครัว แต่พวกเขาก็ยังต้องการการชี้นำของคนรุ่นพ่อต่อไปอีกนาน ตอนนี้วงการจึงตั้งความหวังว่า ถ้าเจย์กับบ๊อบแข็งแรงเหมือน เอ.เอ็น. ผู้เป็นพ่อละก็ ทั้งสองคงเป็นเสาหลักของตระกูลต่อไปได้อีกนานถึง 25 ปีทีเดียว

คนรุ่นต่อไปของพริทซ์เกอร์จึงเผชิญกับความท้ายทายในแง่การคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความยิ่งใหญ่ของตระกูลให้ได้ แม้ว่าขณะนี้พริทซ์เกอร์จะมีนโยบายขยายธุรกิจสู่กิจการอื่นให้หลากหลายออกไป เพื่อป้องกันความหายนะที่อาจเกิดขึ้นหากหวังพึ่งแต่ธุรกิจหลักเพียงอย่างเดียว เหมือนตระกูลเศรษฐีน้ำมันที่ล่มจมกันเป็นแถบเมื่อเกิดภาวะวิกฤติราคาน้ำมันตกต่ำแบบดิ่งเหว

แต่ยิ่งขยายกิจการสู่ธุรกิจมากประเภทเท่าไร ก็ยิ่งยากแก่การควบคุมมากเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว ในความคิดของผมแล้ว สิ่งท้าทายใหญ่หลวงที่สุดคือ การคงไว้ซึ่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในครอบครัวให้ได้ ยิ่งสมาชิกของตระกูลมีครอบครัวแตกหน่อออกไปมากเท่าไร การประสานความรักความผูกพันให้รวมศูนย์ไว้เพียงจุดเดียว ก็ยิ่งทำได้ยากขึ้นเท่านั้น และเมื่อมาถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว หลักการที่ว่านี้คงเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป แต่จุดนั้นจะมาถึงเมื่อสมาชิกของตระกูลเราเพิ่มขึ้นเป็น 30 คนหรือ 130 คน หรือเท่าไรแน่นั้นผมไม่อาจรู้ได้" … ทอมเปิดหัวใจพูด

แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ตระกูล "พริทซ์เกอร์" มีสมาชิกรวมแล้ว 29 คนพอดิบพอดี และยังผูกพันรักใคร่กลมเกลียวกันเหนียวแน่น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.