ไต้หวันเป็นประเทศหนึ่ง ที่จะมีบทบาทต่อการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยมากขึ้น
กระแสการเคลื่อนย้ายทุนของไต้หวันในไทยนั้น สูงขึ้นเป็นอันดับที่สองแล้ว
และจากสถานภาพการผลิตที่ใกล้เคียงกับนักลงทุนในไทย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่า
ความหวังใหม่จากไต้หวันนั้นเสมือนหนึ่งตวัดดาบเชือดคอหอยตัวเองหรือไม่!?
"คุณรู้ไหม… ต่อไปจะไม่เหลือที่ดินเป็นของคนไทยอีกแล้ว"
"ทุเรศสิ้นดีที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนร่วมมือกับนักลงทุนต่างชาติหลอกชาวบ้านที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
ให้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับตน แล้วยังได้ นส.3 แสดงสิทธิโดยสมบูรณ์อีกด้วย"
"ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้น่ะหรือ… อย่าไปคิดฝันมันนักเลย ทุกวันนี้ที่ทำกันอยู่ชาวบ้านนับวันจะกลายสภาพเป็นลูกจ้างติดที่ดินกันมากขึ้น
หลายคนที่หลงทำตามไม่อาจทำให้เป็นจริงเหมือนเขาได้ มันเป็นเรื่องของความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีการผลิต
เขาเพียงแต่ยืมแผ่นดินเราทำมาหากิน"
"ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือเครื่องมือทันสมัยต่างๆ กลายเป็นตัวทำลายธรรมชาติอย่างน่าเวทนา"
ทุกถ้อยประโยคเหล่านี้ล้วนเป็นความจริง… เป็นเสียงสะท้อนห่วงใยส่วนหนึ่งของชาวบ้านในเขต
จ.สมุทรสาคร และจ.จันทบุรี ที่ปรากฏข่าวนักลงทุนไต้หวันพากันกว้านซื้อที่ดินเพื่อลงทุนเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลกันอย่างเอิกเกริก
สถานการณ์การเลี้ยงกุ้งทะเลที่ว่าสดใสนั้นอาจเป็นจริง… ทว่ามันอาจเป็นความหวังที่เป็นไปได้ของคนบางกลุ่มเท่านั้น
แต่ที่สำคัญอนาคตของประเทศไทย ใครว่ามันจะจำกัดวงอยู่เพียงแค่ความหายนะของป่าชายเลน
ระบบนิเวศวิทยาที่ทรงคุณค่าเท่านั้น…
การเปลี่ยนแปลงสภาพสิทธิในที่ดินเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง!!!
"คุณรู้ไหม… โรงเพาะเห็นที่เห็นเรียงรายสลอนจากเชียงใหม่ยันเชียงรายนั้น
ล้วนเป็นของคนไต้หวัน พวกนี้ขึ้นมากว้านซื้อที่ดินแถวภาคเหนือตั้ง 2-3 ปีแล้ว
และพวกเขายังซื้อไม่หยุดหย่อน"
"นิคมอุตสาหกรรมลำพูนที่กำลังจะตายซากพวกนักลงทุนไต้หวันก็สนใจไม่น้อย"
"และถ้าคุณเคยไปเชียงใหม่คงเคยเห็นเชียงใหม่อาเขต ศูนย์การค้าขนาดยักษ์ที่ยืนตายซากมาหลายปีดีดัก
อีกไม่ช้าที่นั่นกำลังจะแปลงโฉมเป็นโครงการขนาดยักษ์ คิดแค่เสาก็ 2,000 ต้น
โครงการนี้ก็เป็นของคนไต้หวันอีก"
นั่นก็เป็นความจริงในอีกเสี้ยวหนึ่งของประเทศไทยที่สะท้อนให้เห็นถึง การเคลื่อนไหว
เปลี่ยนแปลงอย่างน่าจับตามองของกลุ่มนักลงทุนไต้หวัน โดยเฉพาะความเป็นไปได้สูงของภาคเหนือที่พร้อมต่อการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป
(AGRO INDUSTRY)
การลงทุนในลักษณะนี้นักลงทุนไต้หวันชอบดีนักล่ะ!!
………………………………
ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า กระแสการเคลื่อนย้ายทุนออกสู่ต่างประเทศของกลุ่มนักลงทุนไต้หวันในระยะปีสองปีมานี้มีปริมาณค่อนข้างสูง
โดยเฉพาะการอพยพมาลงทุนในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไต้หวัน-ไทย
ย่อมมีความแปรปรวนในระยะยาวที่น่ามอง….
จากตัวเลขของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพบว่า มูลค่าทุนจดทะเบียนของไต้หวันในช่วงปี
2530 เพิ่มมากกว่าเท่าตัวของมูลค่าทุนจดทะเบียนในปี 2529 โดยเพิ่มจาก 291
ล้านบาท เป็น 1,515 ล้านบาท และเพียง 8 เดือนในปี 2531 ก็สูงกว่าปี 2530
ไปเสียแล้ว
ถ้านับจำนวนโครงการที่เข้ามาลงทุนใน 8 เดือนของปี 2531 กลุ่มนักลงทุนไต้หวันก็ดีดตัวเองสูงขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง
และหากมองถึงมูลค่าทุนจดทะเบียนคงเป็นรองเพียงญี่ปุ่นเท่านั้นเอง!!!
ละครบทเดิม
คนเดือนร้อนรายใหม่
ไต้หวันน่ะเก่งเกินไป!!! เก่งเสียจนน่ากลัว???
คลื่นอพยพการลงทุนของไต้หวันที่ทะลักล้นเข้ามาในไทยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับตัวของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ที่ไม่อยู่ในภาวะสมดุลกับยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาเป็นหลัก โดยที่สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลกับประเทศอุตสาหกรรมใหม่อย่างไต้หวันมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ปี 2523 ไต้หวันได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ เพียง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่พอสิ้นปี 2529 กลับพุ่งพรวดเป็นเงินถึง 16,000 ล้านดอลลาร์ สภาวการณ์ล่อแหลมปางตายอย่างนี้
ยักษ์ใหญ่ก็ยักษ์ใหญ่เถอะ… ทนได้ก็เกินไป…
ความจำเป็นดังกล่าวนี้จึงทำให้สหรัฐอเมริกาจำต้องดิ้นรนหาทางออกด้วยมาตรการแข็งกร้าว
2 ประการคือ หนึ่ง - ออกกฎหมายบีบคั้นให้ประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าจำนวนมากอย่างไต้หวัน
จะต้องดำเนินการผ่อนปรนความได้เปรียบนั้นลงในระยะเวลา 3 ปี สอง - ใช้มาตรการทางการเงินตอบโต้
โดยใช้วิธีปล่อยให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง เพื่อบังคับให้ค่าเงินไต้หวันแข็งขึ้น
ซึ่งมาตรการนี้ใช้ได้ผลมาก ดังจะเห็นว่านับจากปี 2528-2529 ค่าเงินเอ็นที.ของไต้หวันแข็งขึ้นถึง
23% โดนกำราบความเก่งด้วยวิธีนี้ไต้หวันถึงกับลมจับ หากดื้อดึงปล่อยให้ค่าเงินแข็งต่อไปแล้ว
นั่นย่อมหมายถึง กาลอวสานของอุตสาหกรรมหลายอย่าง เนื่องจากจุดแข็งของอุตสาหกรรมไต้หวันก็คือ
การอาศัยแรงงานมากเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ของเด็กเล่น
สิ่งทอ
แรงกดดันดังกล่าวนี้เองที่มีผลทำให้รัฐบาลไต้หวันต้องปฏิรูประบบการเงินในประเทศเสียใหม่เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม
2530 โดยให้มีการยกเลิกการควบคุมการขนย้ายเงินตราออกนอกประเทศ ประชาชนคนหนึ่งสามารถแลกเงินตราต่างประเทศ
เพื่อนำออกได้ไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปริมาณเงิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็เพียงพอแล้วที่จะกระตุ้นให้เอกชนหลายรายแสวงหาทางออกในการปรับตัวเองให้อยู่รอด
ด้วยการเคลื่อนย้ายทุนออกสู่ต่างประเทศ และแน่นอนล่ะว่าในภูมิภาคเอเชียนี้
จะมีสวรรค์แห่งไหนเลอเลิศเทียมเท่าแผ่นดินไทยไม่มีอีกแล้ว….
กระแสการเคลื่อนย้ายทุนของไต้หวันมาสู่ประเทศไทยนั้นมองผิวเผินคงไม่มีอะไรต้องน่ากลัว
ทว่าพิจารณาอย่างลุ่มลึก คำถามที่ต้องขบคิดกันมากคือว่า…
"เขาเข้ามาเพื่อเสริมสร้างหรือทำลายล้างศักยภาพการพัฒนาอุตสาหกรรมของนักลงทุนไทยกันแน่"
ประเด็นนี้มองจากโครงการลงทุนของไต้หวันที่ได้รับการส่งเสริมส่วนใหญ่จะเป็นโครงการตั้งแต่ระดับปานกลางลงมาหาขนาดย่อม
มีโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนเกินพันล้านบาทเพียง 2 โครงการ คือ โครงการของบริษัทไทยแทฟฟิต้ากับกลุ่มทุนเทกซ์
ที่ลงทุนด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ สำหรับโครงการขนาดเล็กถึงปานกลางที่พบมากก็ได้แก่
ผักและผลไม้กระป๋อง รองเท้า ถุงมือยาง และของเด็กเล่น และเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้
โครงการลงทุนเหล่านี้ในส่วนของนักลงทุนไทยก็ทำกันมาก และมีอนาคตที่ไปได้สวยเสียด้วย
เมื่อต้องมาเจอกับคู่แข่งอย่างไต้หวันที่ว่ากันไปแล้ว ได้เปรียบเราในด้านเทคโนโลยีการผลิตค่อนข้างมาก
นี่หมายความว่า… เรากำลังจะฆาตกรรมตัวเองอย่างนั้นหรือ!!?
การพัฒนาของไต้หวันมีลักษณะพื้นฐานใกล้เคียงกับที่ประเทศไทยดำเนินการอยู่อย่างมากก็คือ
อาศัยพื้นฐานจากภาคการค้าและพาณิชย์เป็นจุดของการพัฒนาอุตสาหกรรม รูปลักษณ์อุตสาหกรรมของไต้หวัน
ส่วนใหญ่เน้นความสำคัญที่การใช้แรงงานมากและมีวัตถุดิบในประเทศสูง ไม่ได้ใส่ใจกับงาน
R&D มากนัก ดังนั้นเรื่องที่จะหวังให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย
ก็ในเมื่อแกะออกมาจากพิมพ์เดียวกัน โครงการที่ขนเข้ามาลงทุนก็หาได้แตกต่างไปจากที่เคยทำกันมาแล้วในประเทศของเขา
หนำซ้ำยังมาชนกับสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว จึงเป็นปุจฉาในหมู่นักลงทุนไทยมากว่า
"เราคิดดีแล้วหรือ ที่ปล่อยให้ไต้หวันเติบโตโดยไม่จำกัดขอบเขตอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้"
กุ้งทะเล
ตัวอย่างอันตราย
กุ้งทะเลหรือกุ้งกุลาดำเลี้ยงกันมานมนานร่วมครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ก็เงียบหงอย???
แต่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา กับการอพยพทุนของไต้หวันมาในไทย อาชีพการเลี้ยงกุ้งทะเลกลับกลายเป็นอาชีพที่เฟื่องสุดขีด
หลายคนละเมอเพ้อฝันว่า กุ้งทะเลจะทำให้ร่ำรวยในพริบตา ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยความเชื่อที่ว่า
เดินตามรอยผู้เชี่ยวชาญอย่างไต้หวันที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้เลี้ยงและส่งออกกุ้งทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลกแล้วย่อมไม่ผิดหวัง…
ข่าวคราวของการเลี้ยงกุ้งทะเลในระยะเวลาดังกล่าวจึงมีไม่เว้นวัน ทั้งในรูปแบบที่ชาวบ้านคนไทยทำกันเอง…
บริษัทใหญ่อย่างเต็กเฮงหยู เบอร์ลี่ฯ ไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย กระโดดลงไปทำจนถึงการรุกเงียบของไต้หวัน
พื้นที่การเลี้ยงกุ้งทะเลนั้นนิยมเลี้ยงบริเวณป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารสำหรับสัตว์น้ำที่มีค่ามากที่สุด
ทั้งยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์นั้นที่ดี เดิมทีเดียวป่าชายเลนใน ประเทศไทยเคยมีถึง
2,299,375 ไร่ในปี 2504 แต่กลับเหลือเพียง 1,227,680 ไร่ในปี 2529 ซึ่งพบว่าสาเหตุหลักของการทำลายป่าชายเลนเกิดขึ้นจากการบุกรุกเพื่อใช้เป็นพี้นที่เลี้ยงกุ้งทะเล
ในปี 2528 ที่การบุกรุกส่วนใหญ่ยังเป็นชาวบ้านที่ไม่รู้ถึงโทษานุโทษของการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศวิทยาจากป่าชายเลน
ยังมีพื้นที่เพียงแค่ 254,800 ไร่ ทว่าในปี 2530 พื้นที่ของการทำลายกลับสูงขึ้นถึง
404,878 ไร่ เรียกว่าเพิ่มขึ้นถึง 58% ในระยะเวลา 2 ปีเท่านั้น
อัตราการบุกรุกทำลายดังกล่าวนี้ ลำพังเพียงชาวบ้านธรรมดาๆ ย่อมทำไม่ได้แน่นอน
นอกเสียจากจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนอิทธิพลขนาดใหญ่หรือไม่ก็กลุ่มทุนต่างชาติ…
ตัวอย่างของป่าชายเลนที่ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับคือ ป่าชายเลนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี
ซึ่งมีพื้นที่ป่าชายเลนอยู่ประมาณ 176,181 ไร่ ปัจจุบันประมาณว่าป่าชายเลนของจังหวัดนี้ถูกทำลายลงไปแล้ว
80-90% และกำลังถูกทำลายลงไปอย่างรวดเร็ว
อย่าว่ายังงั้นยังงี้เลย แม้แต่ในเขตอนุรักษ์ซึ่งมีพื้นที่ป่าชายเลนเพียง
18,743 ไร่ ก็ไม่รอดพ้นจากการถูกทำลาย อย่างป่าชายเลนปากน้ำเวฬุ ซึ่งอยู่ในเขตอนุรักษ์
1,668 ไร่ ได้ถูกทำลายลงไปแล้วกว่า 1,000 ไร่
หลับตานึกคิดกันเอาเถอะว่า ความหายนะของป่าชายเลน ป่าไม้ที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมของประเทศไทยกำลังจะคืบคลานมาถึงในไม่ช้านี้แล้ว!!!!
ที่น่ามองมากไปกว่านี้ก็คือ จากการระบุอย่างแน่ชัดของ ร.ต.ดำรง รัตนโสภณ
ป่าไม้จังหวัดจันทบุรี เล่าถึงเบื้องหลังการทำลายป่าชายเลนว่า เกิดจากการเพาะเลี้ยงกุ้งโดยนายทุนรายใหญ่
ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายทุนต่างประเทศอย่าง "ไต้หวัน" เป็นสำคัญ
และนายทุนต่างชาติเหล่านี้ปัจจุบันได้ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างถูกต้องแล้วหลายราย
นี่จึงเป็นความน่าห่วงใยประการหนึ่งเกี่ยว การเปลี่ยนแปลงของที่ดิน!!! นอกเหนือไปจากการปั่นราคาที่ดินบางแห่งให้สูงเกิดความเป็นจริงมาแล้ว
"เขามาติดต่อขอซื้อในราคาถูกๆ ชาวบ้านที่รู้เท่าไม่ทันก็เลยเฮโลขายกันไป
บางทีสัญญาแม้จะซื้อขายกันไม่ได้ก็ขอทำสัญญาเช่ากันเป็นร้อยปี คิดดูเอาเถอะว่าหากรูปการณ์ยังเป็นอยู่อย่างนี้
ในอนาคตป่าชายเลนจะมีเหลืออีกหรือ และที่ดินของคนไทยจะมีให้ชื่นชมอีกไหม"
ชาวนาจาก จ.จันทบุรีรายหนึ่งบอกเล่ากับ "ผู้จัดการ"
สำหรับสาเหตุใหญ่ที่ทำให้นักลงทุนไต้หวันพากันมาลงทุนเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลในไทยนั้นก็เป็นเพราะว่า
"อาชีพการเลี้ยงกุ้งทะเลกำลังจะกลายเป็นของต้องห้ามในไต้หวัน เนื่องมาจากผลกระทบจากการทำฟาร์มกุ้งก่อให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดินถึงปีละ
8 นิ้ว จนทำให้กลุ่มนักธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ ต้องทำหนังสือบันทึกถึงรัฐบาลให้จำกัดพื้นที่เพราะเลี้ยงกุ้งทะเล
สถานการณ์บ้านเขามันเป็นอันตรายอย่างนี้ จึงต้องเบี่ยงเบนเป้าหมายมายัง
ประเทศไทยที่มีสภาพความพร้อมทุกๆ ด้านรองรับ ไม่ว่าจะเป็น ที่ดินป่าชายเลนที่มีเหลือเฟือ
แรงงานราคาถูก และยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยที่เห็นว่า ต้นแบบการเลี้ยงกุ้งทะเลของไต้หวันน่าจะเสริมสร้างความมั่งคั่งให้กับคนไทยได้
น่าเสียดายที่รัฐบาลคาดการณ์ผิดไปถนัดใจ… ทั้งนี้เพราะว่ากรรมวิธีการเลี้ยงระหว่างไทยกับไต้หวันนั้นแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน
ขณะที่เราเลี้ยงกันได้โดยถัวเฉลี่ย 75 กก./ไร่ ของไต้หวันกลับเลี้ยงได้สูงถึง
1,000 กก./ไร่
เทคโนโลยีการเลี้ยงเหล่านี้เป็นเรื่องที่เขาไม่เคยแย้มพรายให้กับเกษตรกรไทยรับทราบสักนิดเลย…
และอย่าว่าแต่เกษตรกรรายย่อยเลย แม้แต่นักลงทุนไทยรายใหญ่ๆ บางรายก็ไม่อาจซึมซัมเทคโนโลยีของไต้หวันได้เช่นกัน
จนถึงกับทำให้หลายรายล้มคว่ำไม่เป็นท่ามาแล้ว
"เรื่องของการทำลายป่าชายเลนนั้น เราต้องคำนึงเป็นสำคัญ แต่ถ้ายับยั้งมันไม่ได้
ก็ต้องหาทางแก้ไขด้วยการพัฒนาการเลี้ยงให้ได้คุณภาพและปริมาณสูง/พื้นที่ที่ลดน้อยลง
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราต้องเรียนรู้จากไต้หวันที่มีชื่อ เราต้องเรียกร้องการลงทุนของเขาให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เราเป็นการตอบแทนบ้าง"
พีรพงศ์ ถนอมพงศ์พันธ์ ส.ส. กทม. ผู้สนใจในเรื่องนี้กล่าวให้ฟัง
เป็นข้อเสนอแนะที่น่ารับฟัง และควรร่วมมือกันทำให้เป็นจริง!!!
เราจะปล่อยให้เขาตักตวงผลประโยชน์ไปแต่เพียงถ่ายเดียวได้ยังไง ???