ภาพลักษณ์ใหม่ของ CPF

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

เดือนมีนาคม 2544 เป็นเดือนที่จะเริ่มมีภาพยนตร์โฆษณาของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ปรากฏออกมาในสื่อโทรทัศน์เป็นครั้งแรก หลังจากบริษัทแห่งนี้ได้ก่อตั้งมาแล้วเป็นเวลากว่า 40 ปี

ภาพยนตร์โฆษณาของ CPF ที่จะเริ่มยิงออกมาในเดือนนี้ มีทั้งสิ้น 7 เรื่อง สร้างสรรค์โดยบริษัทโลว ลินตาส แอนด์ พาร์ทเนอร์ส ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 50 ล้านบาท

ภาพยนตร์โฆษณาทั้ง 7 เรื่อง มี concept โดยรวมคือ การสร้าง corporate image ใหม่ให้กับ CPF นอกจากนี้แต่ละเรื่องยังสร้างตามวัตถุประสงค์ย่อยอีก 3 วัตถุประสงค์

4 เรื่องแรก จะเน้นเรื่องความปลอดภัย และปลอดสารพิษในอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าหลักของ CPF ประกอบด้วยชุด "ห้องเย็น", ชุด "ปรุงมากับมือ", ชุด "ไก่แฮปปี้" และชุด "เช็ดแล้วเช็ดอีก"

อีก 2 เรื่อง เน้นเรื่องระบบการจัดการที่ดีของบริษัท ประกอบด้วยชุด "เด็กใหม่" และชุด "เพื่อ 1 คำ"

เรื่องสุดท้าย คือชุด "สิ่งแวดล้อม" เน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม

มีการวิเคราะห์กันว่า การยิงโฆษณาของ CPF ครั้งนี้ นอกจากเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับบริษัทในสายตาผู้บริโภคแล้ว ยังถือเป็นการประกาศตัวเป็นผู้ผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ อย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ซึ่งเป็นทิศทางใหม่ของ CPF จากธุรกิจดั้งเดิมที่ผลิตอาหารสัตว์

"เดิมเราขายอาหารสัตว์ให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ใช่สินค้าคอนซูเมอร์ จึงไม่จำเป็นต้องมีโฆษณา แต่เมื่อเปลี่ยนชื่อ และมีการปรับธุรกิจใหม่ สินค้าจะมีเป้าหมายอยู่ที่ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ เราจึงต้องโฆษณา" อดิเรก ศรีประทักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส CPF กล่าว

เมื่อวันที่ 17 มกราคมปีที่แล้ว (2543) CPF ได้แจ้งเปลี่ยนชื่อกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ เป็นเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการปรับโครงสร้างทางธุรกิจของเครือซีพี ตามยุทธศาสตร์ใหม่ที่ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มได้กำหนดขึ้น หลังจากต้องประสบปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ยุทธศาสตร์ใหม่ดังกล่าว คือ การสร้างบทบาทให้กับกลุ่มซีพีเป็นผู้ผลิตอาหารครบวงจรรายใหญ่ โดยมีเป้าหมายเป็นครัวของโลก (kitchen of the world) โดยมี CPF เป็นธงนำ

กระบวนการปรับโครงสร้างตามยุทธศาสตร์ใหม่ CPF ได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารทุกแห่งที่กระจัดกระจายอยู่ในกลุ่ม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้เริ่มซื้อกิจการมาตั้งแต่ปลายปี 2541

ปัจจุบันยังเหลือบริษัทในเครืออีกเพียง 3 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยอยู่ในขั้นตอนของบริษัทหลักทรัพย์เจเอฟ ธนาคมประเมินมูลค่าหุ้น ได้แก่ บริษัท ซี.พี. เมจิ, บริษัท ซี.พี.อินเตอร์ฟู้ด และบริษัทไฟว์สตาร์ ผู้ผลิตและจำหน่ายไก่ย่าง 5 ดาว และคาดว่าจะเสร็จประมาณไตรมาส 2 ของปีนี้

การเปลี่ยนชื่อบริษัท ตลอดจนการรวมศูนย์ธุรกิจอาหารทั้งหมดมาไว้ใน CPF ได้ดำเนินมาจนเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ผู้บริโภคเริ่มรู้จัก ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญ และได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว กับภาพยนตร์โฆษณาทั้ง 7 ชุด ที่จะเริ่มยิงในเดือนนี้

"เราต้องการสร้างภาพลักษณ์ของ CPF ให้ยิ่งใหญ่ติดอันดับโลก เหมือนคาร์กิลล์ ไทรสัน หรือคอนนากา" อดิเรกเคยกล่าวไว้เมื่อต้นเดือนตุลาคมปีก่อน

สิ้นปี 2543 CPF มีรายได้รวม 60,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการส่งออก 25% และขายในประเทศ 75%

จากรายได้รวม 60,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นรายได้จากการขายอาหารสัตว์ 40% รายได้จากวัตถุดิบ ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และไข่ไก่ 30% และรายได้จากผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป 30%

ตามแผนระยะยาวของบริษัท จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นปีละ 5-10% โดยตั้งเป้าหมายว่าใน 5 ปีข้างหน้า รายได้จากอาหารสำเร็จรูปจะมีสัดส่วนสูงถึง 50% ของยอดรายได้รวมของบริษัท

"การมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพราะเราต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และกำไรจากอาหารสำเร็จรูปจะมีมากกว่ากำไรจากการขายในรูปวัตถุดิบ" อดิเรกกล่าวว่าสัดส่วนกำไรจากการขายอาหารสัตว์เฉลี่ยอยู่ในระดับ 10-15% ขณะนี้การขายผลิตภัณฑ์จากเนื้อมีกำไรเฉลี่ย 5-35% ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า แต่กำไรจากการขายอาหารสำเร็จรูปจะสูงถึง 15-25%

ปัจจุบันการขายอาหารสำเร็จรูปของ CPF ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยบริษัทซี.พี.อินเตอร์ฟู้ด ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยสินค้าหลักของซี.พี.อินเตอร์ฟู้ด มีอยู่ 9 ตัว ประกอบด้วยไส้กรอกและเบคอน, สินค้าพื้นเมือง เช่น แหนม, เครื่องปรุงรส ยี่ห้อช้อยส์, อาหารแช่แข็ง, ซุปไก่สกัด ตราเบสท์, เบเกอรี่, อาหารกระป๋อง, ธุรกิจขายตรง และอาหารขบเคี้ยว ประเภทสแน็ก ในปี 2543 ซี.พี.อินเตอร์ฟู้ดมียอดขายรวม 2,500 ล้านบาท แบ่งเป็นขายในประเทศ 60% และส่งออก 40% แต่ได้ตั้งเป้าหมายในอนาคตว่าจะเพิ่มยอดขายเป็น 10,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี และเพิ่มสัดส่วนการส่งออกเป็น 60% ของยอดขาย

ซึ่งหากในไตรมาส 2 กระบวนการเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในซี.พี. อินเตอร์ฟู้ด รวมถึง ซี.พี. เมจิ และไฟว์สตาร์ สามารถกระทำได้เสร็จตามกำหนดการ ดิเรกคาดว่าจะส่งผลให้ยอดขายรวมของ CPF เพิ่มสูงขึ้นถึง 70,000 ล้านบาท

ในวันนี้ ภาพยนตร์โฆษณาของ CPF ได้เริ่มปรากฏต่อสายตา ผู้บริโภคแล้ว แต่คนจะรับรู้ภาพลักษณ์ใหม่ของบริษัท ในฐานะผู้ผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปได้เมื่อใดนั้น คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.