โซลเวย์ "ผู้แปลกหน้า" รายนี้ มาดีหรือมาร้าย!?


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ความยิ่งใหญ่ของโซลเวย์สำหรับยุโรปตะวันตกและหลายๆ ประเทศทั่วโลกแล้ว เป็นข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัด แต่สำหรับประเทศไทยโซลเวย์เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังแปลกหน้าอยู่ไม่น้อย ซึ่งก็คงไม่ใช่ประเด็นสาระสำคัญ เพราะสำคัญกว่านั้นก็คือการเข้ามาตั้งหลักปักฐานในไทยของโซลเวย์นั้นต่างฝ่ายต่างจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง??

โครงการปิโตรเคมีระยะที่หนึ่งที่มาบตาพุดกำลังดำเนินการอย่างรีบเร่ง เพื่อให้ทันตามกำหนดการที่วางไว้ ถึงแม้ความเกี่ยวเนื่องกับโครงการปิโตรเคมีระยะที่สองในแง่ของการผลิตจะมีไม่มากนัก หากนั่นก็คงจะทำให้หลายคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวอยางใจจดใจจ่อ รวมทั้งผู้ร่วมลงทุนทั้งหลายสบายใจว่า โครงการปิโตรเคมีระยะที่สองจะไม่กระทบกระเทือนหรือหยุดชะงับไปจากความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการระยะที่หนึ่ง

ในระหว่างการพิจารณาสรรหาผู้เหมาะสมที่จะมาลงทุน เพื่อให้ประโยชน์แก่ประชาชนในชาติสูงสุด มิให้เป็นการ "ผูกขาด" ของกลุ่มทุนใดเพียงกลุ่มเดียวของโครงการปิโตรเคมีระยะที่สองที่ผ่านมา

ชื่อของกลุ่มทุนหลายกลุ่มเป็นที่คุ้นหูคุ้นตามิใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติศิริ โสภณพานิช ลูกชาย "บิ๊กบอส" ชาตรีที่ขอรับการส่งเสริมทำ PE ยักษ์ใหญ่อย่างทีพีไอ กับอภิพร ภาษวัธน์จากปูนซิเมนต์ไทยที่ขอทำ PP

หรือไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ เช่น PS, PTA, LAB ฯลฯ ก็มีเสือสิงห์กระทิงแรดต่างพากันยื่นขาข้างหนึ่งเข้ามาด้วยหวังจะมีส่วน "เอี่ยว" แม้เพียงเล็กน้อยกับตลาดมูลค่านับแสนล้านบาทนี้

ผู้สังเกตการณ์รอบข้างรู้สึกเมามันและคาดการณ์ไปต่างๆ นานาว่าใครกันแน่ที่จะได้รับการส่งเสริม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์พีวีซี ดูเหมือนจะเฝ้าจับตามองกันมาก

เพราะที่นี่… มีทั้งกลุ่มศรีเฟื่องฟุ้ง เชิดชู โสภณพนิช พิพัฒน์ ตันติพิพัฒน์พงศ์ จากกลุ่มสับปะรดกระป๋องไทยที่ขนเอาเทคโนโลยีจากไต้หวันมาพร้อมจะลงสนามเต็มที่

และมีทั้งพิพัฒน์ สงวนปิยะพันธ์แห่งกลุ่มง่วนเอี้ยวฮวดเทรดดิ้ง จับมือกับเธียร เฟื่องฟูสกุลแห่งโกลด์สปอตที่ควงแขน MARUBENI ญี่ปุ่นและ HELM ของเยอรมนีมาร่วมลุยด้วย

แต่… ผู้ได้รับการส่งเสริมกลับเป็นกลุ่ม "โซลเวย์" จากเบลเยียม ที่มีไม่กี่คนในเมืองไทยรู้จัก

โซลเวย์เป็นใคร มีความเป็นมาอย่างไร ความยิ่งใหญ่ของโซลเวย์นั้นอยู่ในระดับใด เหตุใดจึงสามารถเอาชนะการแข่งขันระดับชาติที่ทราบกันดีอยู่ว่า คนไทยมักใช้ยุทธวิธีระดับท้องถิ่น ด้วยการล็อบบี้บ้าง ใช้สายสัมพันธ์ต่างๆ ที่ตนเองมีอยู่เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการตลาดมาครั้งแล้วครั้งเล่า "ไม้ตาย" ที่โซลเวย์กำอยู่ในมือจะเป็นเช่นดั่งบรรดาพวกที่กล่าวมาทั้งหลายนั้นล่ะหรือ???

ประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ของโซลเวย์นั้นเริ่มต้นเมื่อเออร์เนสต์ โซลเวย์ ชาวเบลเยียมผู้ก่อตั้งบริษัทโซลเวย์ ค้นพบวิธีการใหม่และปฏิวัติกระบวนการผลิตโซดา-แอช และตั้งเป็นบริษัทขึ้นในปี 1863

เออร์เนสต์ โซลเวย์ สร้างโรงงานเล็กๆ ขึ้นที่ COUILLET ในเบลเยียมในปี 1865 เริ่มแรกนั้นเขายังไม่สามารถดำเนินงานได้ทันที เนื่องจากมีปัญหาและความยุ่งยากเกี่ยวกับเทคโนโลยีหลายประการ แต่เขาก็ฟันฝ่าอุปสรรคนานา ดำเนินการผลิตได้ในปีต่อมา (1866)

วิวัฒนาการของผลิตภัณฑ์ที่โซลเวย์คิดค้นขึ้นเริ่มจากโซดา-แอชในปี 1863 เขาเป็นคนแรกที่ค้นพบ ELECTROLYSIS ที่ได้มาจากเกลือในยี่สิบกว่าปีต่อมา จากนั้นโซลเวย์ก็เริ่มขยายตัวอย่างก้าวร้าวด้วยการก้าวเข้าไปสู่อุตสาหกรรมพลาสติก ผลิตพีวีซีและสู่ผลิตภัณฑ์ในการรักษาสุขภาพของมนุษยชาติในปี 1953

ด้วยความเป็นอัจฉริยะของเขากับอัล เฟรด โซลเวย์ผู้น้องและครอบครัวของเพื่อนๆ บริษัทโซลเวย์ขยายตัวไปอย่างรวดเร็วมาก เพียงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไม่นาน โซลเวย์ตั้งสาขาขึ้นใน 13 ประเทศ รวมทั้งในอเมริกาและสหภาพโซเวียต

พัฒนาการที่สำคัญของโซลเวย์ขยายจากโซดา-แอช โซดาไฟ คลอรีน ไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นอีกมากมาย ในสาขาพลาสติก เช่น พีวีซี พีพี พีอี สาขาผลิตภัณฑ์ยาและวัคซีนสำหรับรักษาคนและสัตว์ และที่หลายคนคาดไม่ถึงคือ โซลเวย์ยังเป็นยอดฝีมือทางด้าน HOME DECORATION, BUILDING INDUSTRY รวมไปถึงชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้พลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิต และเป็นผู้ผลิตชั้นแนวหน้าในตลาดยุโรปทีเดียวเชียว

ปัจจุบันโซลเวย์มีสาขากว่า 290 แห่งใน 32 ประเทศ มีการจ้างงานกว่า 45,000 คน และในจำนวนนี้โซลเวย์ใหความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาและวิจัย ซึ่งพวกเขามีนักวิจัยที่ทำหน้าที่ค้นคว้าเพื่อความก้าวหน้าให้แก่โซลเวย์ถึงกว่า 3,000 คน (สาขาต่างๆ, ยอดขาย, กำไรและการขยายตัวของบริษัทในกลุ่มโซลเวย์แสดงไว้ในตาราง)

โซลเวย์มิได้แตกต่างจากบริษัทธุรกิจข้ามชาติอื่นที่ต้องมีทั้งประวัติศาสตร์แห่งความรุ่งโรจน์โชติช่วง และตำนานในด้านของความล้มเหลาหรือเรียกว่า "ล้มลุกคลุกคลาน" ด้วยเหมือนกัน

แต่ก็น่าแปลกที่ว่าความล้มเหลวที่ว่า ในอีกด้านหนึ่งแล้วกลับแสดงให้เห็นความแข็งแกร่งของโซลเวย์เด่นชัดที่สุด!?!

ยี่สิบห้าปีหลังที่ผ่านมาของโซลเวย์ (1963-1988) โซลเวย์มิได้แตกต่างจากบริษัทอื่นในยุโรป พวกเขาต้องเผชิญมรสุมที่รุมเร้าเข้ามาหลายด้าน เช่น วิกฤติการณ์ด้านน้ำมันในปี 1973 และในปี 1979 เกือบช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ชาวยุโรปต้องเผชิญภาวะเงินเฟ้อและการว่างงาน ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลก ความเปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศที่เลวร้ายของยุโรปที่ยากแก่การคาดเดา

ปัญหามากมายเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามที่ว่า โซลเวย์ผ่านพ้นปัญหาเหล่านี้มาได้อย่างไร โดยมิได้บาดเจ็บบอบช้ำมากมายเช่นกับบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ

วิธีการของโซลเวย์ในช่วงเวลาดังกล่าวมีอย่างน้อยสามวิธีด้วยกัน

เริ่มต้นจากปัญหาความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ วิธีการง่ายๆ ก็คือการ "เคลื่อนย้าย" มูลค่าการลงทุนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งลดความรุนแรงของปัญหาไปได้อย่างมาก

"อีกสองวิธีที่เราใช้เสมอก็คือ เปลี่ยนแปลงสินค้าต่างๆ ในประเทศหนึ่งๆ ให้เหมาะกับความต้องการของตลาด โดยใช้วิทยากรที่ก้าวหน้าเขามาเป็นตัวหนุนเสริม และประการสุดท้ายทำให้บริษัทเป็นอิสระจากความต้องการวัตถุดิบในการผลิต หรือพูดง่ายๆ คือไม่ให้บริษัทมีปัญหาเกิดขึ้น หากขาดแคลนวัตถุดิบ หรือเมื่อวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น" วิลลี่ ลาลองด์ บอก "ผู้จัดการ"

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สินค้าที่ทำรายได้มหาศาลมานานปีให้กับโซลเวย์คือ "แก้ว" ในช่วงหนึ่งนั้นโซลเวย์มีปัญหาอย่างมากกับปัญหาพื้นๆ ที่เราท่านต่างทราบดี นั่นคือ "แก้วแตก" หรือความสูญเสียที่เกิดขึ้นง่ายมากๆ ของแก้วไม่ว่าจะมีคุณภาพหรือปริมาณมากน้อยแค่ไหน

ซึ่งตัวเลขความเสียหายเหล่านี้นับวันก็มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเสียด้วย

การแก้ไขปัญหาของโซลเวย์ในเรื่องนี้ ก็โดยเปลี่ยนจากการใช้โซดา-แอช ที่ใช้ในการผลิตแก้ว หันมาใช้พีวีซีแทน ผลก็คือนอกจากจะลดต้นทุนในการผลิต เพราะพีวีซีถูกกว่าแล้ว ยังลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นตลอดมาได้อีกด้วย และทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในทางอ้อมด้วยอีกทางหนึ่ง

"กลยุทธ์" ทางธุรกิจที่โซลเวย์ใช้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานสามประการ

หนึ่ง - โซลเวย์จะทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามด้วยเทคโนโลยีในการผลิตที่ต้องก้าวล้ำนำหน้าเหนือผู้อื่นเสมอ สอง - ต้องมั่นใจว่ามีแหล่งวัตถุดิบที่สมบูรณ์สำหรับใช้ในการผลิต และสาม - จะต้องเป็น "ผู้นำ" อันดับหนึ่งในกิจกรรมใดๆ ที่ตนเองเข้าไปทำนั้น โดยมั่นใจได้จากการศึกษาความเป็นไปได้โดยเฉพาะในทางการเงินของผู้เชี่ยวชาญของโซลเวย์

ซึ่งแนวทางนี้เองเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการเพื่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของโซลเวย์

การที่ BARON DANIEL JANSSEN ประธานกรรมการกลุ่มโซลเวย์เดินทางเข้ามาไทย และจัดแถลงข่าวรายละเอียดการลงทุนในโครงการปิโตรเคมีระยะที่สองด้วยเงินประมาณ 8,200 ล้านบาทเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า โซลเวย์กำลังเริ่มโครงการของพวกเขาอย่างจริงจังแล้ว และนั่นอาจเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับที่จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำหน้ามากกว่าหนึ่งร้อยปีจากบริษัทข้ามชาติแห่งนี้ แม้เพียงส่วนเสี้ยวก็ตาม

สองปีก่อนหน้านี้ (2528-2529) โซลเวย์ส่งผู้เชี่ยวชาญจากบรัสเซลส์เข้ามาจำนวนหนึ่งร่วมมือกับบริษัทที่ปรึกษาชาวไทย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนสำหรับโครงการปิโตรเคมีที่พวกเขามีความเชี่ยวชาญ

แน่นอนพวกเขาไม่เพียงพอต้องศึกษา เพื่อให้ทราบถึงแหล่งวัตถุดิบที่จะต้องใช้ในการผลิตในอนาคต ยังต้องมองไปยังความต้องการของตลาดทั้งในและนอกประเทศไทย รวมไปถึงข้อปลีกย่อยเล็กน้อย เช่น ขั้นตอนต่างๆ ในการติดต่อกับระบบราชการไทย ทัศนคติ ค่านิยม ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย สิ่งเหล่านี้ถึงแม้จะไม่มีคนให้ความสนใจกับมันไม่มากนัก แต่สำหรับโซลเวย์ พวกเขา "ทำการบ้าน" ไว้มากมาย และเพียงพออย่างยิ่งจริงๆ

ความรอบคอบสุขุมของโซลเวย์พิจารณาได้จากการคัดเลือก PARTNER หรือผู้ร่วมทุนชาวไทย ซึ่งพวกเขาใช้เวลานานเป็นพิเศษ

และไม่ได้หมายความว่า พวกเขาลำบากใจหรือมีปัญหาในการตัดสินใจแม้แต่น้อย!!!

"เราไม่มีปัญหาอะไร เพราะการลงทุนของเราส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิต เรามีเทคโนโลยีชั้นสูง มีวิศวกรและผู้มีความสามารถทั้งในด้านการตลาด การเงินจำนวนมาก เราเสียเวลาช่วงนี้ค่อนข้างมากไปกับการค้นหาเอกสารข้อมูลต่างๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในอนาคตของเราให้ดีที่สุดมากกว่า" วิลลี่ ลาลองด์ ตัวแทนของโซลเวย์ในไทยบอกกับ "ผู้จัดการ"

โซลเวย์ในไทยมีหน้าที่ของตนเองที่แน่นอน พวกเขามีหน้าที่ให้ข่าวสารข้อมูลแก่ผู้สนใจกิจกรรมของโซลเวย์ในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโซลเวย์เบลเยียม หรือที่อื่น รวบรวมข้อมูลที่เปลี่ยนแปลง "บ่อยครั้ง" ของเมืองไทย ส่งไปที่สำนักงานใหญ่ที่บรัสเซลส์เพื่อประกอบการวางแผนและตัดสินใจ

พวกเขาทำหน้าที่เป็น "ทัพหน้า" คอยตระเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทางก่อนที่ "ทัพใหญ่" จากเบลเยียมจะเข้ามาเมืองไทยอย่างเต็มตัว เมื่อโครงการปิโตรเคมีระยะที่สองในส่วนของโรงงานของโซลเวย์เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์

การตัดสินใจเขามาลงทุนด้วยเงินจำนวนที่เรียกได้ว่า "มหาศาล" ในเมืองไทยนั้น ออกจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้เรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "คนแปลกหน้า" อย่างโซลเวย์

เพราะมีปัจจัยเพียงไม่กี่ข้อที่ทำให้โซลเวย์ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

"เราต้องการลงทุนในประเทศที่มีเสถียรภาพ ประเทศไทยในห้าปีที่ผ่านมามีเสถียรภาพดีมาก ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจประเทศไทย มีบุคลากรที่มีความสามารถ รวมทั้งความต้องการพีวีซีของตลาดเมืองไทยที่สูงขึ้นมากในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา และยี่สิบปีต่อจากนี้ไป" BARON DANIEL JANSSEN เคยให้สัมภาษณ์ไว้

เมื่อมองดูให้ถ่องแท้แล้วจะพบว่า สิ่งที่ผู้บริหารของโซลเวย์กล่าวมา ในระดับหนึ่งนั้นก็เป็นเพียงแค่ "จิตวิทยา" ที่อาจทำให้เจาของประเทศหลงใหลได้ปลื้มกับคำกล่าวสรรเสริญเยินยอเหล่านี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว นอกจากเสถียรภาพของประเทศไทยที่จัดว่า "มั่นคง" ในสายตาของผู้ลงทุนจากหลายชาติหลายภาษาที่เข้ามาลงทุนแล้ว ปัจจัยอื่นๆ นั้นดูจะขึ้นอยู่กับพื้นฐานความเป็น "อันดับหนึ่ง" ในอุตสาหกรรมนี้ของโซลเวย์เองเกือบทุกประการ

โซลเวย์มีบุคลากรของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งบุคลากรคนไทยมากนัก ขณะเดียวกันสินค้าที่ผลิตก็เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ไม่จำเพาะความต้องการภายใน ประเทศไทย

โซลเวย์เกือบจะไม่ต้องพึ่งพาเจ้าของประเทศเลยในปัจจัยเหล่านี้!?!

ปัญหาที่ผู้บริหารของโซลเวย์ค่อนข้างวิตกกังวล กลับอยู่ที่ความเป็นคนแปลกหน้า เป็นคนต่างถิ่นที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทย โดยไม่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับกลุ่มทุนใดๆ รวมทั้งนักการเมืองและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่จะชี้ความเป็นความตายให้กับโครงการลงทุนระดับหมื่นล้านบาทของพวกเขา

พอจะกลาวได้ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวในระดับหนึ่งนั้นค่อนข้างหวาดเสียวเอามากๆ สำหรับกับโซลเวย์เพราะความไม่แน่นอนของ "อารมณ์" "การตัดสินใจ" รวมทั้ง "ขั้นตอน" ต่างๆ ที่ซับซ้อน (ในความรู้สึกของชาวโซลเวย์) ของผู้ใหญ่ในบ้านเราเมืองเสียมากกว่า

ผู้บริหารระดับสูงในเมืองไทยของโซลเวย์บอก "ผู้จัดการ" ว่า ในวินาทีนี้ โซลเวย์ค่อนข้างพร้อมที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า พวกเขาทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนในเมืองไทยมามากกว่าสองปี

โซลเวย์ไม่มีปัญหาในทางการตลาด เพราะเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่เขาผลิตขึ้นนั้น แม้ความต้องการในตลาดเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไปมากมายเพียงใด หรือลดน้อยอย่างฮวบฮาบแค่ไหน โซลเวย์ก็ยังมีตลาดในต่างประเทศที่ในปัจจุบันนี้ พวกเขาก็ยังไม่สามารถสนองความต้องการได้เพียงพอ

โซลเวย์ไม่มีปัญหาในด้านบุคลากรที่จะมาดำเนินการทั้งในการบริหาร และการผลิต เพราะพวกเขาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มานานจนเป็นลำดับที่ 2 ของบริษัทในสายผลิตภัณฑ์พลาสติกในเบลเยียม บริษัทด้านเคมีภัณฑ์อันดับ 10 ของยุโรป และอันดับ 25 ของโลก มีบริษัทในเครือกระจายอยู่ 32 ประเทศทั่วโลกกว่า 30 แห่ง คงเป็นหลักประกันได้เป็นอย่างดีว่า โซลเวย์มีความพร้อมเพียงใด

แม้ความต้องการคนไทยที่จะเข้าร่วมงานกับโครงการปิโตรเคมีของโซลเวย์ในประเทศไทยจะมีประมาณ 300 คนก็ตาม ในจำนวนนี้จะเป็นวิศวกรชาวไทย ที่โซลเวย์จะส่งไปฝึกฝน ให้ความรู้ในทุกๆ ด้านที่สำคัญ และจำเป็นในการดำเนินงานตามโครงการนี้จะมีเพียงประมาณ 5-10% หรือประมาณ 30 คนก็ตาม แต่นั่นก็เป็นก้าวแรกที่โซลเวย์สนับสนุนและให้ความสำคัญต่อการถ่ายทอดความรู้ความสามารถของพวกเขาแก่ประเทศไทย

การรุกเข้ามาทำธุรกิจของโซลเวย์ในประเทศไทยมิได้หยุดยั้งลงเพียงแค่นี้ เพราะนอกจากโครงการผลิตพีวีซีแล้ว เมื่อไม่นานมานี้โซลเวย์ได้ตั้งบริษัท S.A.H. (SOLVAY ANIMAL HEALTH) ขึ้นในประเทศไทย

S.A.H. เปรียบเสมือนแขนขาที่สำคัญของโซลเวย์ เพราะความเป็นหนึ่งของโซลเวย์ในด้านเคมีภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตวัคซีนที่ใช้สำหรับรักษาโรคของสัตว์ต่างๆ เช่น หมู ไก่ ฯลฯ ที่เป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก

รวมทั้งความเป็นไปได้ในการวางแผนที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมรถผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ด้วยผลิตภัณฑ์จากพลาสติกที่โซลเวย์ถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่คิดค้นเองในยี่สิบห้าปีหลังที่ผ่านมา เข้ามาในประเทศไทยด้วย

ทำให้ก้าวต่อไปของโซลเวย์ในประเทศไทยดูน่าเกรงขามและน่าจับตามองมากๆ

หนึ่งร้อยยี่สิบห้าปีของโซลเวย์จากเบลเยียมได้พิสูจน์ตัวเองให้หลายคนในหลายประเทศทราบดีแล้วว่า พวกเขามีความสามารถมากน้อยแค่ไหนเพียงไร

ปีแรกของโซลเวย์ในประเทศไทยเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ ไม่แพ้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในนานาประเทศที่โซลเวย์เข้าไปบุกเบิกทำธุรกิจเช่นเดียวกันเมื่อก่อนหน้านี้

จับตาดูให้ดีเถอะ ไม่แน่ว่าโซลเวย์นี่แหละจะเป็นผู้นำความเจริญเติบโตทางเทคโนโลยีชั้นสูงให้แก่ประเทศไทย เพราะบทบาทของโซลเวย์คงไม่มีเพียงเท่านี้แน่นอน หากแต่นับวันจะมากขึ้นๆ และเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยในอนาคต???

และเมื่อระยะเวลาผ่านไปสักช่วงหนึ่งแล้ว การพิสูจน์ความจริงใจต่อกันก็คงเริ่มเห็นชัดขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.