บางทัศนะจากคนของไอซีไอ


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

เจือ ภวสันต์ : ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบริษัทไอซีไอ เอเชียติ๊ก (เกษตร) จำกัด (ไอเอเอซี) เดิมประจำอยู่กับเอเชียติ๊ก ในตำแหน่งดีพาร์ทเม้นท์ เมเนเจอร์, เคมีคัล แอคติวิตี้ส์ และเมื่อก่อตั้งไอเอเอซี ในปี 2524 ก็มาประจำที่นี่และเป็นหนึ่งในกรรมการของบริษัทด้วย

"เรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี แน่นอนว่า ไอซีไอ พีแอลซีได้ทรานสเฟอร์ เทคโนโลยีมาให้แก่เรา อย่างเรื่องพาราคว๊อทนี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง (คือสารกำจัดวัชพืช) เมื่อเริ่มตั้งโรงงานเขาก็ส่งคนมาชุดหนึ่งเพื่อที่จะฝึกคนของเรา พอรู้พื้นฐานการผลิตแล้ว เราก็ส่งคนของเราไปฝึกที่บริษัทแม่ ไปเรียนรู้ที่นั่น

เริ่มต้นนั้นเขามาช่วยในการสร้างโรงงานตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ คือเขาเป็นคนออกแบบมาให้เราว่าขั้นตอนการผลิตต้องเป็นอย่างนี้ เครื่องไม้เครื่องมือต้องเป็นอย่างนี้ๆ จึงจะผลิตได้ตามมาตรฐานอันนี้ เขาก็ต้องทรานสเฟอร์ เทคโนโลยีกับโนว์ฮาวทุกอย่างมาให้เรา แล้วเราก็เอามาก่อตั้งโรงงานตามที่เขาได้วางแปลนไว้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญของเขามาควบคุม จนเสร็จแล้วกลุ่มที่ควบคุมโรงงานก็กลับไป

เขาก็ส่งอีกชุดหนึ่งที่เก่งในทางการดำเนินงาน เป็นทีมที่เชี่ยวชาญในการผลิตเพื่อทำการฝึกคนของเรา ซึ่งก็จะฝึกกันตั้งแต่พื้นฐานการสร้างโรงงาน ก็เรียนรู้จากเขามาเรื่อยๆ ทีละอย่างจนก่อนที่จะผลิตเราก็จะมีการประชุม เขาก็จะให้ความรู้แก่พวกเราที่เกี่ยวข้องถึงกรรมวิธีการผลิต การจัดการโรงงานว่าจะต้องทำอย่างไร หลังจากนั้นเขาก็จะอยู่กับเราสักหนึ่งประมาณ 3 เดือนจนเขาแน่ใจว่าคนไทยสามารถทำได้เอง แล้วพวกเขาก็กลับไป

ในระหว่าง 3 เดือนนั้น เราก็ส่งผู้จัดการโรงงานไปเรียนจากโรงงานในต่างประเทศ จนถึงปัจจุบันเราก็สามารถดำเนินงานของเรามาเองได้โดยไม่มีปัญหา ในแต่ละปีเราก็ได้มีการส่งคนของเราออกไปเรียนเพิ่มเติมเรื่อย เพื่อไม่ทำให้บริษัทล้าหลังได้

"การริเริ่มคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นั้น บริษัทยังไม่มีความสามารถที่จะทำได้ ต้องรอ เทคโนโลยีจากต่างประเทศ การจะทำเช่นนั้นได้ต้องมีแล็ป ยาตัวหนึ่งๆ ต้องอาศัยเวลานานกว่าจะพบและยังต้องอาศัยการทดลองต่างๆ กว่าจะนำออกมาผลิตเพื่อขายได้ก็ใช้เวลาถึง 8 ปี ใช้งบประมาณ 5-600 ล้านบาท

"เราไม่มีทุนที่จะทำอย่างนั้น ต้องบริษัทใหญ่ๆ ระดับชาติเท่านั้น จึงจะทำอย่างนั้นได้ เมื่อไอซีไอ พีแอลซีค้นพบและทดลองผ่านไป 8-9 ปีแล้ว เขาก็จะติดต่อมาทางเรา แผนกอาร์ แอนด์ ดี ก็จะนำเข้ามาวิจัยดูความเหมาะสมด้านต่างๆ ว่าจะใช้ในประเทศไทยได้หรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-3 ปี เร็วที่สุดที่จะออกสู่ตลาดได้คือ 2 ปี

"เทคโนโลยีที่ไอซีไอถ่ายทอดให้แก่คนไทยก็เป็นความรู้ของคนไทย เป็นสมบัติของเราไป มันก็ฝังอยู่ในหัวของเรา เราก็ถ่ายทอดต่อให้ลูกหลาน จริงอยู่มันอาจจะเป็นความรู้เก่า แต่ยังไงมันก็เป็นความรู้ทำให้คนเราฉลาดขึ้น เรียนรู้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อประเทศอย่างมหาศาล

"อย่างเวลานี้ โรงงานผลิตยาเคมีกำจัดศัตรูพืชแห่งแรกคือ ไอซีไอ ที่ผลิตจริงๆ ไม่ใช่ฟอร์มูเลท ซึ่งถ้าไอซีไอไม่ได้ลงทุนกับเราก่อตั้งบริษัทนี้ เราก็ไม่มีความรู้ทรานสเฟอร์มาสู่คนไทย จนแม้แต่ทุกวันนี้เราอาจจะไม่รู้ว่ากรรมวิธีการผลิตเป็นอย่างไร แต่วันนี้เรารู้แล้วว่าตัวพาราคว๊อทนั้นผลิตอย่างไร มาจากไหน ขบวนการผลิตนั้นเป็นอย่างไร นั่นก็เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย"

วิรัช ชาญด้วยวิทย์ : เจ้าหน้าที่ประจำสำนักพัฒนาธุรกิจไอซีไอ เพิ่งเข้าร่วมงานกับไอซีไอได้ 8 เดือนจบการศึกษาด้านเคมีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิศวเคมีจากแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีปริญญาเอ็มบีเอ จากเอเชี่ยน อินสติติว ออฟ แมเนจเม้นท์ จากมะนิลา พ่วงท้ายมาอีก ประสบการณ์การทำงานนั้นอยู่กับบริษัทคอนซัลเต้นท์มาเป็นเวลา 10 ปีเต็ม ก่อนจะย้ายมานั่งที่ไอซีไอในตำแหน่งที่เจ้าตัวบอกว่า "ไม่ต่างจากที่เดิมนัก"

"เราต้องการให้คนไทยเห็นอิมเมจของไอซีไอว่าไม่ใช่บริษัทที่เข้ามาเอาเปรียบ เราต้องการอยู่ในเมืองไทย ลงทุนในเมืองไทย และเทรนคนไทยให้ขึ้นมาสามารถช่วยเรื่องเทคโนโลยีของเขาได้ มันเป็นปรัชญาของไอซีไอทุกแห่งทั่วโลกว่า บริษัทที่เข้าไปอยู่นั้นจะต้องโอเปอเรท โดยคนในท้องถิ่นนั้นหลังจากที่เทรนเขาขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นตำแหน่งใหญ่ๆ จะไม่เหมือนของญี่ปุ่น

"การเทรนคนไทย ไม่ได้ฝึกเมื่อรับเข้ามาทำงาน แต่ฝึกตั้งแต่เขาเริ่มเรียน คือเรามีทุนการศึกษา เราทำอยู่แล้วคือติดต่อกับปิโตรเลียม ฟาวน์เดชั่นของจุฬาฯ ชื่อปิโตรเคมีคัล คอลเลจ มีอาจารย์จากคณะวิทยาฯ และเคมีคัล เอนจิเนียร่วมกัน ตั้งเป็นวิทยาลัยขึ้นมาเพื่อที่จะสกรีนคนเข้ามาทำงานในวงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีโดยเฉพาะ เรามีทุนที่จะให้โดยนักศึกษาไม่จำเป็นว่าจะต้องมาทำงานกับเรา เพราะเราต้องการจะสร้างคน เรารู้อยู่แล้วว่าจะต้องขาดแคลนคนในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะวิศวกรทางปิโตรเคมี

"เรื่องการตลาดนั้น เรามีตลาดภายในประเทศอยู่แล้ว เราขายพีทีเอให้บริษัทที่ทำโพลีเอสเตอร์ ผ่านอิ๊สต์เอเชียติ๊กอยู่แล้ว คือตลาดทั้งหมดของเรานั้นอยู่ในนี้แล้ว

"ในเรื่องของการนำหุ้นเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นข้อเสนอของเราและเป็นนโยบายของบริษัทด้วยในการที่จะจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน ประมาณ 3 ปีจะนำหุ้น 20-30% เข้าไปในตลาด นี่เป็นนโยบายและเป็นปรัชญาของเราที่ว่าโปรเจคใหญ่ๆ อันไหนที่เราจัดทีมเวิร์คบริหารได้ดีแล้ว เราจะให้คนที่เป็นเจ้าของประเทศเป็นเจ้าของบริษัทนั้นๆ

"เรื่องพีทีเอจะแบ่งพาร์ทเนอร์ออกเป็น 2 แบบ คือไทย เมเจอร์ พาร์ทเนอร์ กับคอนซอร์เทียมของไทยที่เป็นบริษัทเล็กๆ ดึงเขามา อีเอซีอาจจะเป็นคอนซอร์เทียม พาร์ทเนอร์ เพราะเขาไม่ต้องการเป็นเมเจอร์ พาร์ทเนอร์ ส่วนเมเจอร์ พาร์ทเนอร์นั้นก็อาจจะเป็นสหยูเนี่ยน หรือซีพี" (ไอซีไอได้ประกาศเมื่อต้นเดือนกันยายนว่า เมเจอร์ พาร์ทเนอร์คือสหยูเนี่ยน แต่ยังไม่เปิดเผยสัดส่วนการถือหุ้นที่แน่นอน คาดว่าอยู่ระหว่าง 30-40%)"

ร็อบ จอห์นสัน : กรรมการผู้จัดการบริษัทไอซีไอ เอเชียติ๊ก เคมีภัณฑ์ จำกัด (ไอเอซีซี) การศึกษาจบปริญญาเอกด้านเคมีจากประเทศออสเตรเลีย และเริ่มงานเป็นแห่งแรกกับไอซีไอ ออกสเตรเลีย เมื่อปี 2498 ในแผนกวิจัยและทดลอง ตลอดเวลา 33 ปีที่อยู่กับไอซีไอได้โยกย้ายเปลี่ยนตำแหน่งมาตลอด เคยเดินทางไปประจำที่ไอซีไอ อินโดนีเซียเป็นเวลา 3 ปี และอีกครั้งหนึ่งก็เมื่อมาประจำที่ประเทศไทยได้ประมาณ 2-3 เดือน ในวัย 55 ปีของคุณร็อบ จอห์นสันพร้อมกับประสบการณ์จำนวนมากจะสามารถพัฒนาบุกเบิกให้ไอเอซีซีก้าวรุดหน้าไปได้อย่างแน่นอน

"ไอซีไอ ออสเตรเลียนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของไอซีไอ และมีการพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งต่างออกไปจากที่มีในอังกฤษ หรือที่อื่นๆ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนี้ หมายถึง เทคโนโลยีจำเพาะ ความสามารถเฉพาะในการที่จะใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะในเรื่องโรงงานขนาดเล็ก ทั้งนี้ไอซีไอที่อังกฤษนั้นมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรงงานขนาดใหญ่มากกว่า อย่างเช่นที่มาประมูลโครงการพีทีเอที่มาบตาพุด เป็นต้น

"ส่วนไอซีไอ ที่ออสเตรเลียนั้น เนื่องจากว่าเป็นประเทศเล็ก จึงได้พัฒนาการใช้เทคโนโลยีสำหรับโรงงานขนาดเล็ก เพื่อทำให้เกิดการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น โรงงานของไอเอซีซีที่บางปูนั้น ก็มีขนาดเดียวกับโรงงานของไอซีไอในเมลเบิร์น ดังนั้นเราจึงสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีในเมลเบิร์นมาสู่เมืองไทยได้โดยตรง

"เทคโนโลยีที่จะถ่ายทอดมานี้มี 2 ลักษณะคือ - เทคโนโลยีในการสร้างโรงงานขนาดเล็กให้ผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ - การถ่ายทอดความเชี่ยวชาญต่างๆ ให้แก่คนงานไทย รวมทั้งวิธีการดำเนินงานที่ยากๆ ให้กับโรงงานขนาดเล็กที่นี่ ทั้งนี้ไอซีไอ ออสเตรเลียมีความสามารถในการจัดการวัตถุดิบและการที่จะทำให้เครื่องจักรในโรงงานทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานลงได้มาก

"สิ่งที่ไอซีไอ ออสเตรเลียนำมาให้ประเทศไทยก็คือ ความเชี่ยวชาญพิเศษในการดำเนินงานในโรงงานขนาดเล็ก

"ทางด้านเทคโนโลยีนั้นเราก็ได้มีการถ่ายทอดให้กับคนไทย โดยมีการส่งวิศวกรด้านเคมีไปฝึกงานที่ออสเตรเลียเป็นเวลา 6 สัปดาห์ และเขาจะกลับมาดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิต

"ผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตนั้นมีหลายอย่างคือ พลาสติกไซเซอร์ จะเริ่มดำเนินการผลิตในราวกลางปี 2532 แต่ในปลายปี 2531 ก็จะมีการผลิตออกมาบางตัวก่อนแต่ว่าอยู่ในคอมพาวน์เดียวกัน คือเกี่ยวกับน้ำมันเบรกกับน้ำยาใส่หม้อน้ำรถยนต์ และอีกอันหนึ่งเป็นสารผสมพิเศษที่ใช้ในน้ำยากำจัดศัตรูพืช

"ในเรื่องของตลาดภายในประเทศ สำหรับพลาสติกไซเซอร์นั้นก็มีการเติบโตพัฒนาอย่างรวดเร็ว และอยู่ในอัตราที่สูงมาด้วย เราคาดว่าส่วนแบ่งการตลาดของผลิตภัณฑ์คลอรีน พลาสติกไซเซอร์ของเราจะมีอยู่ประมาณ 50-60% เราคาดว่าเราจะมีกำลังผลิตได้เต็มที่ในช่วง 2 ปีและเราก็หวังว่าเราจะมีการขยายกำลังผลิตออกไปได้อีก

"ปรัชญาการทำงานของไอซีไอกับของญี่ปุ่นนั้นต่างกัน ของญี่ปุ่นจะนำผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เข้ามาด้วยเป็น 10 คน แต่ของไอซีไอเอาเข้ามาเพียงคนเดียว นอกจากนี้ยังได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายเทคโนโลยีระหว่างไอซีไอ ออสเตรเลีย กับไอเอซีซี ซึ่งครอบคลุมไปถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นในเวลาต่อไปด้วย นี่คือปรัชญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีของไอซีไอ ไม่ใช่การเข้ามาแล้วก็เอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว

"ในอีกด้านหนึ่งก็คือการฝึกคนไทยให้มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้งในแง่ของกระบวนการผลิตและการบริหารงาน และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมคนไทยก็จะได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและการบริหารงานเหล่านี้เอง แต่เป็นเวลาใดนั้นก็ยังไม่สามารถบอกได้"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.