“ร่มบ่อสร้าง” จิตวิญญาณล้านนาที่หวนกลับมา!?!

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับสินค้าหัตถกรรม การสร้างจุดขายและยอดขายเพื่อรักษาความอยู่รอดในปัจจุบัน อาจเป็นเรื่องสำคัญ แต่การสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาสืบสานงานหัตถกรรมดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า เพราะไม่ใช่แค่อนาคตของธุรกิจ แต่นั่นยังหมายถึงอนาคตของมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชนชาติอีกด้วย

...นวลนางน้องกางจ้อง พี่นี้แอบมองนานสองนาน เสื้อทรงรัดเอวสั้น ยืนเฝ้าหน้าร้านดูเข้าที พูดจาอ่อนหูดูดีดี บ่อสร้างเจ้ามีแม่ศรีลานนา ของถูกของแพงคนแย่งกันซื้อ ฝากไว้เป็นชื่อ ฝีมือไทย ทุกสิ่งสวยงามตามแบบชาวเหนือ อุดหนุนจุนเจือเพราะถูกใจ...

เพลง “บ่อสร้างกางจ้อง” ของวงซูซู ไม่ได้ยินมานานหลายสิบปี ...นานพอๆ กับที่ไม่เคยได้รับของฝากเป็น “ร่มบ่อสร้าง” จากญาติมิตรที่มีโอกาสไปเที่ยวเชียงใหม่ แต่จะว่าไปแล้วผู้เขียนเองก็ไม่เคยคิด ซื้อร่มกระดาษเป็นของฝากใครอีกเลย ตั้งแต่โตขึ้นมา

ภาพ “แม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง” แม้ไม่ใช่สัญลักษณ์แต่ก็ทำให้หลายคนคิดถึงเมืองเชียงใหม่ทันที

วิถีชีวิตที่ทันสมัยของเมืองเชียงใหม่ส่งผลต่อภาพจำที่ว่า เชียงใหม่เคยเป็นเมืองหลวงแห่งอารยธรรม ล้านนาเมื่อกว่า 700 ปีก่อน เลือนรางไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีให้ได้สัมผัสอย่างเบาบาง

นอกจากวัดวาอารามและการแสดง ทางวัฒนธรรม อีกสิ่งที่ส่งกลิ่นอายล้านนาได้เป็นอย่างดีคือสินค้าหัตถกรรมที่ประณีต อ่อนช้อย ซึ่ง “ร่มบ่อสร้าง” ก็เป็นหนึ่งในสินค้าหัตถกรรมอันขึ้นชื่อของเมืองนี้

ร่มบ่อสร้างเป็นร่มซึ่งทำจากผ้าฝ้าย ผ้าแพร ผ้าดิบ หรือกระดาษสา หุ้มบนโครง ไม้ไผ่ มีตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ มีสีสัน งดงามและมีการวาดลวดลายบนร่ม

ตามทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญายังระบุว่า

ร่มบ่อสร้างต้องเป็นร่มที่ผลิตในเขตอำเภอดอยสะเก็ดและสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เท่านั้น

ร่มบ่อสร้างมีตำนานมากว่า 200 ปี เชื่อว่าเริ่มต้นเมื่อพระอินถาจากสำนักวัดบ่อสร้างออกธุดงค์ไปชายแดนไทย-พม่า มีชาวพม่าใจบุญนำกลดมาถวาย ท่านพิจารณาแล้วเห็นว่ากลดดังกล่าวสวยแปลกตาและสะดวกในการป้องกันแดดฝน จึงเดินทางเข้าไปใน พม่าเพื่อศึกษาวิธีทำกลดและการทำร่มกระดาษสา แล้วนำกลับมาถ่ายทอดให้กับชาวบ้านบ่อสร้าง

ในอดีต ชาวบ้านบ่อสร้างทำร่มกระดาษเพื่อเป็นพุทธบูชาในวันสำคัญทางศาสนาหรือในพิธีกรรมต่างๆ และทำเพื่อใช้เองใน ครัวเรือน ด้วยลวดลายและสีสันที่สะดุดตาทำให้ผู้คนและนักท่องเที่ยว สนใจและสั่งซื้อกลับบ้าน

จากงานอดิเรกหลังการทำนา การทำร่มกระดาษสาจึงเป็นอาชีพหลักของชาวบ่อสร้างและเกิดการรวมกลุ่มกันใน 7-8 หมู่บ้านในเขตอำเภอสันกำแพงและดอยสะเก็ด เพื่อกระจายการผลิตชิ้นส่วนของร่มไปในแต่ละหมู่บ้านตามความถนัดของชาวบ้าน เช่น หมู่บ้านสันพระเจ้างามเป็นแหล่งผลิตทำหัวร่มและตุ้มร่ม บ้านออนทำโครงร่ม บ้านหนองทำโค้งหุ้มร่มและลงสี บ้านแม่ฮ้อยเงินผลิตด้ามร่ม บ้านต้นเปาผลิตกระดาษสา เป็นต้น โดยบ้านบ่อสร้างเป็นแหล่งประกอบชิ้นส่วน และเป็นแหล่งลงลวดลายและสีสันบนผืนร่ม

ทั้งนี้ แหล่งผลิตร่มบ่อสร้างที่ใหญ่และเป็นระบบที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงใหม่อยู่ที่ “ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่ม (1978)” หรือ “บริษัท ศูนย์ทำร่ม (1978) จำกัด” บุกเบิกโดยถวิล บัวจีน ชาวบ้านบวกเป็ด (อยู่ทางทิศเหนือของบ้านบ่อสร้าง) เพราะเคยเป็นไกด์พานักท่องเที่ยว ตระเวนเยี่ยมชมการทำร่มไม้ไผ่ใน 2 อำเภออยู่บ่อยๆ ถวิลจึงเห็นว่าจำนวนชาวบ้านผู้ผลิตร่มบ่อสร้างเริ่มลดลงเรื่อยๆ เขาจึงตั้งศูนย์ทำร่มเพื่อเป็นโรงงานผลิตร่มบ่อสร้าง โดยเริ่มต้นจากญาติมิตรที่เคยทำร่มไม้ไผ่เพียง 12 คน

“คุณพ่อมีแนวคิดจะนำวิธีการทำร่มมารวมไว้ในที่แห่งเดียวกันแบบครบวงจรเพื่อเผยแพร่กรรมวิธีการทำร่มให้เข้าใจง่าย และเพื่อเป็นจุดฟื้นฟูชีวิตร่มบ่อสร้าง ซึ่งเวลานั้นความนิยมเริ่มเลือนหายไปเพราะมีร่มสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ รวมทั้งเพื่อยกระดับหัตถกรรม ใต้ถุนบ้านมาเป็นหัตถอุตสาหกรรมที่เลี้ยงตัวเองได้” กัณณิกา บัวจีน กล่าวในฐานะทายาทธุรกิจและผู้จัดการ บจ.ศูนย์ทำร่ม (1978)

อาคารขนาดใหญ่อายุกว่า 30 ปี ภายใต้หลังคาสไตล์ล้านนาเป็นที่ตั้งของศูนย์ทำร่ม อันเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าล้านนาหลายชนิด นอกจากร่มบ่อสร้างที่นี่ยังมีของที่ระลึก เป็นไม้แกะสลักและเครื่องเงินเครื่องเขินแบบล้านนาให้ซื้อหา

ร่มบ่อสร้างที่วางจำหน่ายในศูนย์นี้ มีทั้งร่มที่รับมาขายต่อจากชาวบ้าน ร่มที่นำชิ้นส่วนจากหมู่บ้านต่างๆ มาประกอบและเขียนลายที่นี่ และร่มที่ทุกขั้นตอนผลิตที่ศูนย์ทำร่ม โดยราคาแตกต่างกันตามระดับในการควบคุมคุณภาพของศูนย์

นอกจากการขึ้นทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อปี 2552 ศูนย์ทำร่มยังได้รับรางวัล The Seal of Excellence in Southeast Asia Award ปี 2007 และ 2008 จาก UNESCO เพื่อรับรองว่า ร่มบ่อสร้างของที่นี่เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และได้รับความไว้วางใจจากต่างประเทศ

“70% ของร่มที่นี่เป็นสินค้าส่งออก เพราะเราผลิตร่มได้วันละ 300-400 คัน ถ้าขืน รอนักท่องเที่ยวมาซื้อทางเดียว รายได้ไม่พอแน่ๆ” กัณณิกาให้ข้อมูล

หลายปีที่ผ่านมา ศูนย์ทำร่มและร้านขายสินค้าหัตถกรรมในเชียงใหม่ต้องพบกับวิกฤติทางธุรกิจ อันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองไทย ที่ไม่ได้แค่ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อสินค้าที่ศูนย์ฯ ลดลง แต่ยังกระทบต่อยอดส่งออกด้วย

เพื่อความอยู่รอด กัณณิกามีความคิดที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับร่มบ่อสร้างด้วยการพัฒนา คุณภาพสินค้าเป็นอันดับแรก เริ่มจากการแก้ปัญหามอดในไม้ไผ่ใช้ด้วยเทคโนโลยีเตาอบไม้ไผ่ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจาก iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย) เครือข่าย สวทช. ภาคเหนือ

ปัจจุบันศูนย์ทำร่มยังสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้สินค้าด้วยการจับกระแส “กรีน” ผ่านความพยายามใช้วัตถุดิบธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ให้มากที่สุดและลดการใช้สารเคมีให้เหลือน้อยที่สุด

นอกจากนี้ การเข้าร่วมกับ iTAP ยังจุดประกายให้กัณณิกาเห็นความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าเชิงวัฒนธรรมให้กับสินค้า โดยหยิบยกเอา “ความเป็นล้านนา” มาใช้พัฒนารูปแบบและลวดลายของร่ม

“ก่อนร่วมกับ iTAP เราเพิ่มมูลค่าด้วยการตามใจลูกค้า ไม่ว่าอยากได้แบบไหนเราทำให้ได้ เพียงแต่ขอค่าใช้จ่ายเพิ่มซึ่งมันก็ไม่ได้มากอะไร แต่กลายเป็นเราต้อง เดินตามฝรั่ง แย่กว่านั้นคือบางทีเราก็ตกเป็นเหยื่อ เพราะงานของเรากลายเป็นแค่ต้นแบบให้เขาไปสั่งผลิตจากเมืองจีนแทน ทำให้คิดว่าแล้วทำไมเราไม่เป็นคนกำหนดเทรนด์เสียเอง”

ทั้งนี้ ศูนย์ทำร่มเป็น 1 ใน 7 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ “iTAP ล้านนา คอลเลคชั่น” (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ) อันเป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ที่เป็นหัตถอุตสาหกรรมในเชียงใหม่ให้พัฒนาสินค้าด้วยเทคโนโลยีและดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์ล้านนา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และผลักดันสไตล์ล้านนาไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

“ผมเชื่อมั่นว่า สไตล์ล้านนาไทยก็สามารถขายได้เหมือนสไตล์บาหลีที่เป็นที่รู้จักกัน ทั่วโลก แต่จำเป็นต้องมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง” ผู้บริหารผู้ดูแลสายงานโครงการ iTAP กล่าวด้วยความเชื่อมั่น

พร้อมยกวลีที่ได้ยินจากผู้มีประสบการณ์ตรงว่า “คนรวยปานกลางแต่งบ้านสไตล์บาหลี คนรวยจัดแต่งบ้านสไตล์ล้านนา” เพราะเขาเชื่อว่า บาหลีคือศิลปะแบบวิถีชาวบ้าน ล้านนาคือศิลปะแบบวัดวัง

แน่นอน! ปัญหาแรกที่ต้องตอบให้ได้นั่นก็คือ “ความเป็นล้านนา” คืออะไร

อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาและสืบสานศิลปวัฒนธรรมสถาปัตยกรรมล้านนา (ไต) มหาวิทยาลัยพะเยา ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ ให้นิยามกว้างๆ ว่า “ล้านนา คือ จินตนาการ”

หลังจากตระเวนชมศิลปวัฒนธรรมสไตล์ล้านนากับผู้เชี่ยวชาญในโครงการนี้ กัณณิกาได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาต่อยอด และกลับมาถ่ายทอดสู่ช่างชาวบ้านในโรงงาน พร้อมกับนำช่างเหล่านี้ออกไปสัมผัสกับศิลปะล้านนาจากวัดวาอารามในเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง

จากเดิมที่ช่างมักเขียนลายช้าง ลายน้ำตก ลายภูเขา ลายนก ลายผีเสื้อ และลงสีสัน แบบเยอะเข้าไว้ แต่หลังจากซึมซับความเป็นล้านนาจากจิตรกรรมฝาผนังตามวัด ช่างเริ่มใช้จินตนาการในการเขียนลายเลียนแบบงานเขียนตามวัด และใช้ 3 สีหลัก ได้แก่ ดำ แดง และทอง อันเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาแท้

ความพยายามคืนความเป็นล้านนาให้ร่มบ่อสร้างทำให้ช่างรุ่นป้าหลายคนได้โอกาส ฟื้นฟูศิลปะการทำร่มบ่อสร้างที่เคยละเลยไปในยุคการผลิตเน้นเชิงพาณิชย์ อาทิ การสนด้ายด้านในร่มเป็นลายต่างๆ เพื่อทำให้ร่มดูมีมิติและคงทน ทั้งยังดูอ่อนช้อยสวยงาม และการ ทำโครงร่มแบบบางโค้งช่วยเพิ่มนิ่มนวลให้กับร่ม เป็นต้น

สำหรับการลาดลวดลายด้านในร่ม กัณณิกาได้แรงบันดาลใจจากลวดลายบนคานวัดที่เชียงตุง อันเป็นกุศโลบายของชาวล้านนาที่ต้องการ ให้คนเข้าวัดเงยหน้าขึ้นมาเห็นลายดวงดาวเพื่อเป็นพร หลังจากก้มลงกราบแสดงความเคารพต่อพระประธานแล้ว

สิ่งสำคัญที่กัณณิกาย้ำให้กับช่างรุ่นป้าฟังเสมอ นั่นคือ การใช้เรื่องเล่าเพิ่มมูลค่าให้ร่ม ทั้งนี้เพราะคุณค่าและมูลค่าเชิงวัฒนธรรมเกิดจากการที่ผู้ซื้อมีความซาบซึ้งกับวัฒนธรรมนั้น ยิ่งผู้ซื้อรู้ที่มาหรือประวัติ ศาสตร์มาก อารมณ์ร่วมและความซาบซึ้งก็มากตามไปด้วย

“ร่มพรจากสวรรค์” เป็นผลงานการ เล่าเรื่องของช่างรุ่นป้าหลังจากที่ศูนย์ทำร่ม เข้าร่วมโครงการได้ไม่นาน ทั้งที่ลายวงกลม คล้ายฟองอากาศบนร่มเกิดจากความพยายามวาดลายข้างขึ้นข้างแรม แต่ช่างเขียนสร้างเรื่องเล่าใหม่ว่า ฟองอากาศเหล่านี้เป็นน้ำมนต์ที่เทวดาให้พร หลังจากมนุษย์ทำความดี

“พอเข้าโครงการนี้ก็ทำให้เราต้องกลับมาหาตัวตนของตัวเอง พอรู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ที่มาที่ไป เวลาวาดลายก็ไม่เรื่อยเปื่อย จากที่ไม่เคยตระหนักในศิลปวัฒนธรรมที่เห็นอยู่ทุกวัน วันนี้เรากลับมามองอะไรละเอียดขึ้น พอทำงานก็ละเอียดอ่อนขึ้น จิตใจเราก็อ่อนลงด้วย” กัณณิกาอธิบายอานิสงส์ที่ได้จากความเป็นล้านนา

ในช่วงแรก เธอยอมรับว่าเหนื่อยใน การอธิบายและทำความเข้าใจให้กับช่างรุ่น ลุงป้า แต่หลังจากที่ช่างเริ่มเข้าใจ จากนั้นก็ทำงานง่ายขึ้นเพราะช่างรุ่นใหญ่เริ่มสนุกในการทดลองแนวคิดใหม่และมีไอเดียบรรเจิดในการรังสรรค์ศิลปะ ร่มบ่อสร้างจึงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

“ตอนแรกอาจต้องใช้เม็ดเงินเป็นตัวล่อ แต่พอทำแล้วได้ค่าแรงเยอะขึ้น มีออเดอร์มากขึ้น เขาก็รู้สึกว่าสิ่งที่ทำมันขาย ได้จริง ตอนนี้ก็เลยไม่มีใครอยากทำแค่ร่มถูกๆ ทุกคนประณีตมากขึ้นเพื่อทำร่มดีๆ”

เพียง 1 ปี หลังจากเข้าร่วมโครงการร่มไม้ไผ่คันใหญ่ที่เคยขายอยู่ที่ 500-600 บาท เมื่อใส่ลวดลายและเรื่องเล่าความเป็นล้านนาเข้าไป ขายได้ 14,000 บาท ซ้ำยังมีออเดอร์ เพิ่มจากลูกค้าชาวออสเตรเลีย และร่มขนาดกลางที่เคยขายได้ไม่กี่ร้อยบาทก็อัพราคาขึ้นไปอยู่ที่กว่า 1,200 บาท

ออกจากอาคารแสดงสินค้า พื้นที่ด้านหลังของศูนย์ทำร่มถูกจัดให้เป็นแหล่งสาธิต การทำร่มบ่อสร้าง ซึ่งเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาชมกระบวนการผลิตร่มไม้ไผ่ได้ครบทุกขั้นตอนโดยไม่มีค่าเข้าชม สมดังเจตนารมณ์ผู้ก่อตั้ง

ช่างทำร่มหลายสิบชีวิตทั้งหนุ่มสาวและผู้สูงวัย กำลังตั้งหน้าตั้งตาทำงานตามความถนัดของตน หากดูจากจำนวนช่างในแต่ละงาน งานเขียนลายร่มน่าจะเป็นความถนัดและความชอบของช่างหนุ่มสาว ขณะที่งานสำคัญอย่างการเหลาไม้ไผ่ ขึ้นโครงร่ม และทำโค้งหุ้มร่ม ดูจะเป็นงานถนัดของช่างผู้อาวุโส

“หัวใจของร่มบ่อสร้าง ไม่ใช่การเขียนลาย แต่อยู่ที่การเหลาโครงไม้ไผ่ แต่คนที่ทำงาน “หัวใจ” ของเราคนที่อายุน้อยที่สุดก็อายุปี 48 ขึ้นไป นี่คือสิ่งที่กำลังกังวลอยู่ว่า เราจะอยู่ได้อีกสักกี่ปี กลัวเหมือน กันว่าภูมิปัญญาเหล่านี้จะหายไปพร้อมอายุขัยของคน เพราะเราห้ามไม่ได้ที่พ่อแม่อยากส่งลูกเรียนสูงๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน บวกกับทัศนคติของคนรุ่นใหม่กับงานหัตถกรรมก็แย่ลง ขณะที่เราก็ลืมเก็บสะสมองค์ความรู้พื้นบ้านเอาไว้ สิ่งเหล่านี้ก็เลยค่อยๆ หายไป”

ความกังวลของกัณณิกาไม่ได้มีต่อการทำร่มบ่อสร้างเท่านั้น เธอยังห่วงไปถึงภูมิปัญญาการเขียนลายเครื่องเงินและเครื่องเขิน ซึ่งช่าง ที่มีทักษะสูงส่วนใหญ่อายุ 70 ขึ้นไป โดยยังขาดรุ่นต่อไปมาสืบทอด

นอกจากการพัฒนาเมืองที่รวดเร็ว กัณณิกามองว่า อีกปัจจัยที่ทำให้การสืบทอดภูมิปัญญาการทำร่มบ่อสร้างขาดตอน มาจากความหวังดีของผู้เป็นพ่อที่เปลี่ยนจากระบบหัตถกรรมใต้ถุนบ้านแบบเดิมมาเป็นหัตถอุตสาหกรรม เพื่อให้ช่างชาวบ้านมีสวัสดิการดีขึ้น แต่กลับทำให้วิถีการเรียนรู้และส่งต่อภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นหล่นหายไป

“ทุกวันนี้ ช่างทำร่มที่มีทักษะล้วนอายุเกินกว่า 45 ปี ถ้าไม่มีแผนพัฒนาช่างฝีมือรุ่นใหม่ตั้งแต่วันนี้ เชื่อว่าในอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า ร่มบ่อสร้างที่เป็นมรดก ตกทอดของชาวล้านนาและชาวเชียงใหม่ คงเหลือเพียงตำนาน” เป็นความกังวลของทายาทแห่งศูนย์ทำร่มที่ปรากฏเป็นบรรทัดสุดท้ายบนโฮมเพจของบริษัท

เพื่อรักษาสัญลักษณ์ “ร่มบ่อสร้าง” และมรดกทางวัฒนธรรมของชาวล้านนาและคนไทยไม่ให้สูญหาย กัณณิกาวางแผน จะเปิด “ศูนย์การเรียนรู้การทำร่ม” ภายในโรงงาน เพื่อเป็นโรงเรียนสอนทักษะในการ ทำร่มไม้ไผ่ให้กับลูกหลานแถบอำเภอดอย สะเก็ดและสันกำแพงในจังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ “ความเป็นล้านนา” อาจเป็นหนทางรอดในแง่ธุรกิจสำหรับ สินค้าหัตถอุตสาหกรรมพื้นเมืองของเชียงใหม่ โดยเฉพาะร่มบ่อสร้าง แต่ความเป็นล้านนาก็ไม่อาจการันตีความอยู่รอดให้สินค้าเหล่านี้ได้ เพราะในกระบวนการสร้างแบรนด์ “ล้านนา” ยังต้องอาศัยฐานข้อมูล อีกมากสำหรับการอ้างอิงถึง “รากเหง้า” และความเป็นมาที่แท้จริงและถูกต้อง

ขณะที่รางวัลจาก UNESCO และการขึ้นทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ยังไม่ใช่สิ่งที่จะการันตีความอยู่รอดของร่มบ่อสร้างและศูนย์ทำร่มได้เช่นกัน

ทว่า สิ่งหนึ่งที่พอจะสร้างความหวังให้กับร่มบ่อสร้างและช่างทำร่มต่อไปได้ คงจะมีเพียงปริมาณนักท่องเที่ยวที่แวะมาเยี่ยมเยือนและซาบซึ้งกับศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่แฝงอยู่ในร่มไม้ไผ่...

“ถ้าไม่มีคนมาเที่ยวดูการทำร่ม ถ้าไม่มีคนซื้อร่ม ช่างก็ไม่อยากทำเพราะรู้สึกว่างานศิลปะที่เขาทำไม่มีคนสนใจ แต่ถ้ามีคนมาเที่ยว มาชื่นชมกับงานที่เขาผลิต นี่ไม่เพียงเป็นกำลังใจให้กับผู้ประกอบการและช่าง แต่ยังจะช่วยสร้างช่างรุ่นใหม่ได้ด้วย” กัณณิกาทิ้งท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.