|
จัดการมลพิษ...แบบชาติเศรษฐกิจ
โดย
พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
มลพิษอุตสาหกรรมเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบทุกประเทศที่มีอุตสาหกรรม กรณีมาบตาพุดมิได้เป็นปัญหาพิเศษแต่อย่างใด หากปัญหาทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในชาติอุตสาหกรรมหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย ต่างล้วนมีประสบการณ์การแก้ปัญหามลพิษมาอย่างยากเย็น เข็ญใจ กว่าจะสัมฤทธิผลก็ต้องกินเวลาเข้าไปหลายทศวรรษ
บทเรียนที่ได้ถ่ายทอดจากประเทศเหล่านั้น เป็นตัวอย่างแก่ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเราได้เป็นอย่างดี แม้ว่ารายละเอียดวิธีการและกลยุทธ์ในปฏิบัติการแก้ ปัญหาจะแตกต่างกันไปบ้าง ตามสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมในแต่ละประเทศ แต่หลักการสำคัญก็มิได้แตกต่างกันมากนัก เพราะเป้าหมายของมนุษย์ทั่วโลกนั้นเหมือนกันหมด คือ ความก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง นอกจากนั้น การเรียนรู้บทเรียนที่ผ่านมาของที่อื่นๆ ยังให้ทัศนวิสัยที่กว้างขึ้น ทำให้เราเห็นหนทางแก้ปัญหาได้มากขึ้นด้วย
บทเรียนจากพญาอินทรี
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่บุกเบิกวิทยาการและปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้สหรัฐฯ ผ่านประสบการณ์ทั้งด้านการศึกษา วิจัย การต่อสู้ และได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมมาอย่างโชกโชน กฎหมายสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ นับว่าเข้มงวดและละเอียดครอบคลุมด้านต่างๆ มากที่สุดในโลก ความที่เป็นประเทศเกิดใหม่ให้เสรีภาพ และสิทธิเท่าเทียมกันกับคนทุกชั้นในสังคม มีการกระจายอำนาจไปสู่รัฐต่างๆ อย่างมีระบบ ทำให้สหรัฐฯ สร้างประเทศอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา
แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจสังคมของสหรัฐฯ จะเสื่อมถอยลง อันเป็นไปตามกฎธรรมดาของโลก มีรุ่งโรจน์ก็ต้องมีเสื่อมแต่สหรัฐฯ ก็ยังมีการพัฒนาในวงการวิชาชีพต่างๆ อยู่บนพื้นฐานที่แข็งแกร่ง การเมืองการปกครองก็ยังมั่นคง เป็นพญาอินทรีที่น่าเกรงขามของทุกๆ ประเทศทั่วโลก แนว ทางอันใดเล่าที่สหรัฐฯ ยึดถือเป็นหลักการ
อันดับแรกคือ การกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่ท้องถิ่น รัฐบาลกลางให้สิทธิแก่มวล ชนผู้อยู่ใกล้ชิดปัญหามากที่สุดเป็นผู้ตัดสิน ใจ รัฐท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้เริ่มต้นและกระตือ รือร้นในการจัดการและหาแนวทางแก้ไข รัฐส่วนกลางเป็นผู้สนับสนุน การดำเนินการ จริงมิจำเป็นต้องทำตามรูปแบบตามรัฐส่วนกลางเสมอไป ท้องถิ่นอาจออกข้อกำหนดกฎเกณฑ์ของตนเองที่แข็งกว่าหรืออ่อนกว่า ก็ได้ โดยยึดตามสภาพเศรษฐกิจและความต้องการของมวลชนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ
อันดับที่สองคือ การมีส่วนร่วมของประชาชน และการสื่อสารข้อมูลที่โปร่งใสกับประชาชน ถือว่าเป็นหลักการพื้นฐานในการบริหารปกครองประชาชนในทุกระดับของสหรัฐฯ มีความสำคัญในลำดับต้นของรัฐธรรมนูญ รัฐท้องถิ่นที่บ้านเราเรียกว่า อ.บ.ต. สหรัฐฯ เรียกว่า County จะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ของชาวบ้านท้อง ถิ่น ก่อนจะปล่อยให้ออกมารวมตัวเคลื่อน ไหวเรียกร้องให้ช่วยเหลือปาวๆ การศึกษา ประเมินผลกระทบโครงการ การวิเคราะห์ และประเมินข้อมูล ต้องเป็นไปอย่างเข้มงวด เปิดเผยและโปร่งใสต่อประชาชน
อันดับที่สาม เป็นหลักการที่ช่วยป้อง กันมลพิษก่อนเกิดเหตุ (pollution prevention) หรือการลดมลพิษที่ต้นทาง แนวทางของ pollution prevention นั้นคือให้ผู้ประกอบการดำเนินการป้องกัน ก่อนจะเกิดมลพิษ หรือทำให้มลพิษปลายทางลดลงด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ร่วมกับการประหยัดน้ำประหยัดพลังงาน การใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า การลดของเสีย รวมทั้งเฝ้าระวังการก่อมลพิษด้วยการออกสำรวจตรวจสอบอย่างทั่วถึงสม่ำเสมอ บาง คนอาจจะเรียก pollution prevention ว่า clean technology หรือ waste minimization ก็ไม่ว่ากัน ขอให้ได้ผลสุดท้ายออกมาในทำนองเดียวกัน ผู้ประกอบการเป็นผู้ดำเนินการ pollution prevention ด้วยความสมัครใจ เพราะเล็งเห็นผลดีที่ตอบแทนมาในระยะยาว กล่าวคือ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้จากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นร่วมกับการลดการใช้พลังงาน ลดผลกระทบต่อสังคมทำให้ความสัมพันธ์ต่อประชาชนดีขึ้น สร้างภาพพจน์ในด้านการตลาด ส่วนภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนและแรงจูงใจในบางประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) ก็มีมาตรการพิเศษให้สิทธิ์ในทางภาษีและเงินสนับสนุน
กรณีตัวอย่างที่ Dayton County รัฐ Ohio
ทศวรรษ 1990-2000 อุตสาหกรรม ใน Dayton County ขยายตัว จนทำให้เกิดการปนเปื้อนของมลพิษในสิ่งแวดล้อมไปทั่ว การแก้ไขเน้นไปที่แหล่งน้ำใต้ดินอันเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการดำรงชีวิตของประชาชน มีผู้ประกอบการ 600 แห่งอยู่ในบริเวณแหล่งน้ำใต้ดินของเมือง ในจำนวนนี้ 300 แห่งอยู่ในข่ายที่ใช้สารเคมีอันตรายหรือก่อให้เกิดของเสีย ที่เป็นอันตราย ในการแก้ไขทุกฝ่ายเห็นพ้อง กันว่า แม้ว่าจะมีข้อบังคับให้ผู้ประกอบการ รายงานการจัดการสารเคมีเหล่านี้ให้ทาง การอยู่เป็นประจำทุกปี แต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้ทั่วถึงนัก หนทางที่ดีที่สุดซึ่งจะป้องกันเหตุแห่งการปนเปื้อนไว้ตั้งแต่ต้นมือ คือการป้องกันมลพิษ (pollution prevention) จึงมีการจัดตั้งโครงการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการลดการใช้การก่อสารเคมีลงทุกวิถีทางด้วยความสมัครใจด้วยแรงจูงใจ ที่ตอบแทนผู้ประกอบการด้วย “risk point buy down” คือองค์กรส่วนท้องถิ่นจะจ่ายเงินคืนให้ผู้ประกอบการที่สามารถลดสารเคมีได้มากกว่า 50% ผลสัมฤทธิ์จากปี 1999 คือการลดลงของสารเคมีได้ถึง 70%
การดำเนินการโครงการแม้จะให้ผล ดี เนื่องจากรัฐท้องถิ่นให้การสนับสนุนอย่าง แข็งขันทั้งด้านการเงินและการศึกษาอบรม แต่ก็ยังไม่ยั่งยืนนักเพราะขึ้นอยู่กับความสมัครใจ รัฐจำเป็นต้องมีมาตรการที่สนับ สนุนผู้ประกอบการอย่างเป็นระบบให้หนักแน่นกว่านี้ อาทิ กำหนดให้ผู้ประกอบการ ขนาดใหญ่จัดทำแผนลดสารเคมี ส่งเสริมให้เกิดข้อตกลงโดยตรงระหว่างกลุ่มชุมชนและผู้ประกอบการในการลดมลพิษตามสภาพ ที่เกิดขึ้นจริง (ลดน้อยถ้าเกิดผลกระทบน้อย ลดมากขึ้นถ้าเกิดผลกระทบมาก) โดยไม่อิงกับการบังคับควบคุมตามกฎหมายเสมอไป มีการสนับสนุนผู้นำชุมชนที่รอบรู้ให้ช่วยชี้แจงถึงประโยชน์และโอกาสที่จะพึงได้รับในด้านผู้ประกอบการและชาวบ้าน เมื่อร่วมมือกันนำข้อปฏิบัติที่ดีมาใช้ และนำ นวัตกรรมเข้ามา รวมทั้งร่วมมือตรวจสอบ ติดตามผลให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างต่อ เนื่อง จากนั้นยังมีโครงการระยะยาวที่จะ สร้างกลไกการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ องค์กรรัฐ NGO ผู้ประกอบการ และประชาชนในท้องถิ่นให้ เกิดระบบที่มีเป้าหมายแน่นอนและเชื่อมโยง เข้ากับเป้าหมายทางเศรษฐกิจด้วย
Minamata: ตัวอย่างสะท้านโลกจากญี่ปุน
ในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ผ่านยุคแห่งการทำลายบ้านเมืองและสิ่งแวดล้อมมาอย่างเจ็บแสบที่สุด แต่ด้วยความมีระเบียบวินัย ความเป็นนักสู้ที่เข้มแข็ง อดทนของคนญี่ปุ่นสามารถพลิกฟื้นสภาพเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมาได้อย่างเกินความคาดหมายของคนทั่วโลก ในช่วงทศวรรษ 1950-1970 อุตสาหกรรมและวิทยาการของญี่ปุ่นก้าวรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจก็เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ญี่ปุ่นผลักดันอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ มิต้องการให้เรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นปัจจัยชะลอการเติบโต ผลพวงที่เกิดขึ้นคือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวอนามัยของประชาชน มีอาการเจ็บป่วยและโรคแปลกๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น Minamata disease อันเป็นผลจาก mercury poisoning หรือการเป็นพิษของสารปรอทจากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนของเสียของโรงงานสารเคมี ทำให้คนป่วยถึง 6,500 คน โรค itai-itai จากการเป็นพิษของสารแคดเมียม โรคหอบหืด Yokkaichi จากควันที่มีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนไดออกไซด์ในอากาศ ทั้งหลายทั้งปวงนี้จึงก่อให้เกิดหน่วยงานปกป้องสิ่งแวดล้อมและกฎหมายสิ่งแวดล้อมขึ้นในปี 1971 พร้อมกับสหภาพแรงงาน และองค์กรของผู้บริโภคที่เข้มแข็ง
เนื่องจากชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างดี ทำให้องค์กรแรงงานและมวลชนเหล่านี้ เคลื่อนไหวได้ผลดี ประกอบกับมีการคิดค้น เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแก้ปัญหา อาทิ ปัญหามลพิษของสารแคดเมียมก็มีเทคโนโลยีที่จะสกัดสารแคดเมียมออกมาจากน้ำเสียที่ปล่อยทิ้ง การแก้ไขปัญหามลพิษจึงค่อยๆ ดีขึ้น (อาจเป็นได้ว่า ส่วนหนึ่งญี่ปุ่น ได้โยกย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศอื่นเช่น เมืองไทย จึงนำเอามลพิษออกมาด้วย)
ปัจจุบันจากการสำรวจความคิดเห็นของชาวญี่ปุ่น 31.8% เห็นว่า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง มีเพียง 3.2% เท่านั้นที่เชื่อว่า การมุ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นความสำคัญ ในลำดับที่เหนือกว่าสิ่งแวดล้อม ดูตัวเลขแต่เพียงเท่านี้ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ทรัพยากรที่ สำคัญที่สุดของญี่ปุ่นก็คือทรัพยากรบุคคล นั่นเอง ประชากรที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถเผชิญกับปัญหาทุกด้านได้ และฟื้นตัวกลับได้เสมอ
แล้วประเทศไทยล่ะ! จะคิดแต่เพียงว่า เรามีพระสยามเทวาธิราชคุ้มครองเท่านั้นยังไม่พอ คนไทยทุกคนทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือตัวเองอย่างเต็มที่ ด้วยความมีสติ ความอดทน และเปิดกว้างเรียนรู้บทเรียนที่ผ่านมา จึงจะเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ที่ลำบากทั้งในประเทศและในโลก เช่นปัจจุบัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|