เอทีแอนด์ทีมาเมืองไทยอย่างฟอร์มโต แต่หลายคนสรุปให้เสร็จว่าไปๆ มาๆ ก็
"ตายน้ำตื้น" ทุกวันนี้ เอทีแอนด์ทีเก็บเนื้อเก็บตัวมากขึ้น เหมือนประหนึ่งจะรอบางสิ่งพร้อมสรรพสมบูรณ์เสียก่อน
หรืออาจจะต้องทำตัวเงียบๆ ตลอดไปก็เป็นได้!
เอทีแอนด์ที AMERICAN TELEPHONE AND TELEGRAPH เชื่อมั่นตัวเองเสมอมาว่าเป็นบริษัทที่มีการบริหารดีที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่
20 เป็นผู้ทำกำไรต่อเนื่องกันมาได้มากที่สุด
เอทีแอนด์ทีเริ่มก่อตั้งเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว โดยนักประดิษฐ์โทรศัพท์คนแรกของโลก
อเล็กซานเดอร์ แกรแฮม เบลล์ นับแนั้นมาเอทีแอนด์ทีได้กลายเป็นผู้นำทางด้านการให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศทั่วโลก
เอทีแอนด์ทีตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ ณ กรุงนิวยอร์ก มีสินทรัพย์ทั้งสิ้นประมาณ
1,000,000 ล้านบาท มียอดจำหน่ายกว่า 825,000 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันเอทีแอนด์ทีมีสาขา
กิจการร่วมทุน โรงงานผลิตใน 33 ประเทศ และธุรกิจผ่านตัวแทนจำหน่ายอีกกว่า
70 ประเทศ
เอทีแอนด์ทีเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ในเมืองไทยเอทีแอนด์ทีเริ่มเจาะแนวรบอย่างเด่นชัดในปี 2524 เมื่อเอทีแอนด์ทีให้บริษัท
ADVANCE INFORMATION SYSTEMS บริษัทในเครือกลุ่มศรีกรุงวัฒนาที่มี สว่าง
เลาหทัย เป็นประธาน เป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายและบริการของเอทีแอนด์ที ทางด้านระบบสำนักงานประเภท
VOICE COMMUNICATION และอุปกรณ์สายตอนนอก (OUTSIDE PLANT APPARATUS)
ในสถานการณ์ช่วงนั้นมีแต่ผู้คนมองว่า เอทีแอนด์ทีช่างชาญฉลาดเสียนี่กระไร
เพราะการเริ่มมีสัมพันธภาพกับ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย
ที่สำคัญขณะนั้นพลเอกอาทิตย์เป็นผู้บัญชาการทหารบกและเป็นประธานคณะกรรมการบริหารองค์การโทรศัพท์
ปี 2525 เอทีแอนด์ทีได้รับเลือกจากองค์การโทรศัพท์ ในฐานะเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญถึง
2 โครงการ
ถึงอย่างไรเอทีแอนด์ทีก็มีท่าทีเจียมเนื้อเจียมตัวอยู่บ้าง เมื่อเป็นสิงห์ข้ามแดน
แต่มิได้ละเลยเสือเจ้าถิ่น ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2528 เจมส์ โอลสัน ประธานคณะกรรมการบริหารเอทีแอนด์ทีขณะนั้น
อุตส่าห์เดินทางมาเมืองไทยเพื่อร่วมประชุมกับบุคคลสำคัญในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก
ที่โรงแรมโอเรียลเต็ล การประชุมครั้งนั้นถือว่าเป็นการประชุม คณะกรรมการที่ปรึกษาในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก
ซึ่งหลายคนเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในภาคธุรกิจเอกชน เช่น โยชิโซ อิเคด้า ที่ปรึกษาอาวุโสของคณะกรรมการบริษัทมิตซุย
ท่านเซอร์ วาย เค เปา อภิมหาเศรษฐีทางการเดินเรือของฮ่องกง และ ดร.อำนวย
วีรวรรณ ประธานคณะกรรมการบริหารของธนาคารกรุงเทพ
การประชุมครั้งนั้นเกิดขึ้นภายหลังจากที่เอทีแอนด์ทีประสบชัยชนะในศึกการประมูลสมุดโทรศัพท์ในเดือนมกราคม
2528 แล้ว
สิ่งที่เอทีแอนด์ทีมุ่งมั่นมานานสำหรับการลงทุนอย่างขนานใหญ่ในไทยนั้นก็คือ
การลงทุนตั้งโรงงานผลิตและประกอบอุปกรณ์โทรศัพท์เพื่อใช้ในประเทศและการส่งออกมูลค่า
480 ล้านบาท มีการจ้างแรงงาน 595 คน กำลังการผลิต 250,000 เครื่องต่อปี
แต่โครงการนี้จบลงที่บีโอไอ เมื่อบีโอไอบอกปัดการให้สิทธิบัตรโครงการของเอทีแอนด์ที
เช่นเดียวกับอีก 4 โครงการของกลุ่มอีริคสัน, เอ็นอีซี, เอเอส.อีเล็กทรอนิกส์
ของนอร์เวย์ และกลุ่มซาเทลโก ซึ่งล้วนคล้ายคลึงกัน เพราะบีโอไอให้เหตุผลว่าได้ให้การส่งเสริมแก่กลุ่มไอทีทีไปแล้ว
และความต้องการใช้อุปกรณ์โทรศัพท์ในประเทศและลู่ทางส่งออกยังไม่สูงมากถึงขั้นต้องตั้งโรงงานเพิ่ม
อีกโครงการหนึ่งที่เอทีแอนด์ทีสนใจมากๆ ในห้วงเวลา 2528 คือ การเข้าร่วมประมูลโครงการขยายการติดตั้งคู่สายโทรศัพท์เพิ่มจาก
3 แสนเลขหมายเป็น 9 แสนเลขหมาย องค์การโทรศัพท์ตั้งงบประมาณไว้เกือบ 4 หมื่นล้านบาท
ผู้ใกล้ชิดกล่าวว่า ตอนนั้นเอทีแอนด์ทีค่อนข้างจะกระตือรือร้นมาก เพราะคาดว่าโครงการนี้จะมีความสำคัญในอนาคตของโลกสื่อสารโทรคมนมคมเมืองไทยมาก
และมองว่าจะต้องเผชิญหน้ากับเจ้าถิ่นคือ อีริคสันแห่งสวีเดน กับเอ็นอีซีแห่งญี่ปุ่นเป็นแน่แท้
แต่งานนี้เอทีแอนด์ทีฝันค้าง เพราะกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วยกับกรณีการกู้เงินจากธนาคารโลก
โครงการนี้จึงเก็บพับไปในปลายปี 2528
เหนือกว่านั้น กลางเดือนพฤษภาคม 2528 บริษัทเบลล์ แคนาดา อินเตอร์เนชั่นแนล
(บริษัทในเครือของเอทีแอนด์ทีที่แคนาดา) เสนอโครงการเทเลสตาร์ซึ่งเป็นโครงการสร้างโทรศัพท์สายเสริม
130,000 เลขหมาย รูปแบบเป็นการร่วมทุนระหว่างองค์การโทรศัพท์ การสื่อสาร
และเอกชน เบลล์เสนอจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในการดำเนินงานแก่รัฐถึง 2,300 ล้านบาทต่อสัญญา
5 ปี
แต่งงานนี้ก็พับไปอีก เมื่อลักษณะ "ร่วมทุน" นี้จะต้องนำไปสู่การแก้พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการสื่อสารที่ให้รัฐผูกขาดแต่ผู้เดียว
ซึ่งไม่มีใครกระตือรืนร้นจะตามต่อ
ดูเหมือนว่าแนวรบทุกด้านที่เอทีแอนด์ทีพยายามจะลุยฝ่ามาให้ได้นั้น จะเจอทางตันไปเสียหมด
โดยเฉพาะแนวรบการสื่อสารโทรคมนาคมของเมืองไทย
แม้แต่ "ศึกสมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง" งานที่จัดว่าเล็กน้อยมากสำหรับยักษ์เช่นเอทีแอนด์ทีก็เถอะ
งานนี้เล่นเอาเอทีแอนด์ทีหน้าเหลืองหน้าซีดมาจนเดี๋ยวนี้
สงคราม "สมุดโทรศัพท์" นั้นอีรุงตุงนังมาตั้งแต่ 2527 ซึ่งมีการเปิดประมูลหาผู้จัดทำรายใหม่
ความยุ่งเหยิงของเรื่องทั้งปวง "ผู้จัดการ" ได้เขียนถึงอย่างละเอียดมาโดยตลอด
(ฉบับล่าสุดคือ "ผู้จัดการ" เดือนมกราคม 2531)
ผู้สังเกตการณ์ให้ความเห็นว่า ชัยชนะของเอทีแอนด์ทีในครั้งนี้มีนัยอยู่
2 ประการ คือ หนึ่ง - การทุ่มเทอย่างสุดตัวของเอทีแอนด์ที โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์แก่องค์การโทรศัพท์สูงมากอย่างเหลือเชื่อ
คือ ภายใน 5 ปี (2529-2533) เป็นเงิน 1,673 ล้านบาท สูงกว่ากลุ่มอื่นที่เป็นคู่แข่งถึง
200%
นั่นอาจหมายถึงการตีค่าให้แก่สมุดโทรศัพท์อย่างสูงมากจากเอทีแอนด์ทีเองว่า
สมุดโทรศัพท์น่าจะเป็นหัวหอกในการบุกเข้าเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคม แต่เอทีแอนด์ทีก็เจออุปสรรคในหลายๆ
โครงการดังที่กล่าวข้างต้น
สอง - เอทีแอนด์ทีเข้าใจสถานการณ์และลักษณะพิเศษของสังคมไทยค่อนข้างมาก
เอทีแอนด์ทีเข้าผูกติดกับผู้มีอำนาจทางทหารและนักธุรกิจบางคน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในองค์การโทรศัพท์ขณะนั้น
ซึ่งกลับกลายเป็นภาพลบแก่เอทีแอนด์ทีต่อสาธารณชนอยู่เรื่อยๆ ในทำนองว่าผู้ใหญ่ในองค์การฯ
มีความ "เห็นอกเห็นใจ" เอทีแอนด์ทีมากเป็นพิเศษ แม้กระทั่งปัจจุบัน
แม้เอทีแอนด์ทีจะพ้นขวากหนามครั้งนี้มาอย่างหืดขึ้นคอ แต่ทุกวันนี้เอทีแอนด์ทีก็ยังต้องมาพะวักพะวงกับการสูญค่าปรับ
30 ล้านบาท เนื่องจากจัดพิมพ์และแจกจ่ายสมุดโทรศัพท์ล่าช้า
ความล่าช้านี้เกิดขึ้นเพราะฤทธิ์เดชของจีทีดีซีที่ยังฟาดหางอยู่กว่าจะสงบก็ปลายปี
2530 รวมทั้งปัญหาการโฆษณาและปัญหาด้านเทคนิคการพิมพ์ที่ยังต้องอาศัยเวลาเพื่อสะสมประสบการณ์อีกสักระยะ
โครงการที่เอทีแอนด์ทีดำเนินไปได้ราบรื่นชัดเจนคือ การเทคโอเวอร์บริษัทฮันนี่เวลล์-ซินเนอร์เท็กซ์
(ไทย) เพื่อผลิตแผงวงจรไฟฟ้า (ไอซี) ซึ่งมีโรงงานที่นวนครปทุมธานี การเทคโอเวอร์นี้เป็นผลมาจากการกว้านซื้อหุ้นบริษัทซินเนอร์เท็กซ์
อันเป็นบริษัทในเครือกลุ่มฮันนี่เวลล์โดยเอทีแอนด์ทีในสหรัฐฯ
โครงการนี้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอต่อเนื่องมาจากผู้ลงทุนเก่า
เป็นโรงงานผลิตไอซี (INTEGRATED CIRCUIT) กำลังการผลิต 208 ล้านชิ้นเพื่อส่งออกทั้งสิ้นมีคนงานประมาณ
700 คน ใช้เงินลงทุนครั้งแรกประมาณ 700 ล้านบาทหลังการเทคโอเวอร์
วัตถุดิบสั่งซื้อจากตางประเทศทั้งสิ้น ยกเว้นวัตถุดิบประเภทตะกั่ว ตัวบัดกรี
บรรจุภัณฑ์ คอนเทนเนอร์ชิพ ซึ่งเป็นส่วนน้อยมากๆ โรงงานในเมืองไทยจึงเป็นเพียงฐานการประกอบชิ้นส่วนเท่านั้น
และเป็นการผลิตเพื่อป้อนบริษัทแม่ที่สหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่
โครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่เป็นการปัดฝุ่นโครงการที่เอทีแอนด์ทีเคยเสนอมาแล้ว
แต่ไม่ผ่านบีโอไอ คือ โครงการผลิตโทรศัพท์มีสาย ใช้เงินทุน 1,140 ล้านบาท
นับเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงที่สุดในไทยของเอทีแอนด์ที โรงงานผลิตเครื่องโทรศัพท์มีสายนี้
กว่าจะเริ่มการผลิตก็ราวปี 2533 มีกำลังการผลิต 5 ล้านเครื่องต่อปี เป็นการผลิตเพื่อส่งออก
และใช้แรงงานทั้งสิ้น 1,100 คน
โครงการนี้โครงการของเอทีแอนด์ที ผ่านฉลุยเช่นเดียวกับโครงการของศรีไทยซุเปอร์แวร์ที่ร่วมทุนกับโกลด์สตาร์
นอกเหนือจากโครงการต่างๆ ที่เอทีแอนด์ทีพยายามจะลงมาลุยเองแล้ว เอทีแอนด์ทีก็เป็น
SUPPLIER ผลิตภัณฑ์ชุมสายโทรศัพท์ อุปกรณ์สื่อสัญญาณและคอมพิวเตอร์ หลายคนบอกอีกว่าช่วงหลังมานี้
เอทีแอนด์ทีหันไปเป็น SUPPIER หรือ SUBCONTRACTOR ให้กับหลายเจ้า มักจะไม่ออกหน้าออกตามาประมูลด้วยตัวเอง
เอทีแอนด์ทีก็ควรจะพลิกมาเป็น SUBCONTRACTOR เสียดีกว่า
ปลายปี 2530 มีการเปิดประมูลโครงการโทรศัพท์ทางไกลมูลค่า 2,000 ล้านบาท
โครงการนี้เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังในการขยายเครือข่ายโทรศัพท์ทางไกลไปทั่วประเทศ
ซึ่งเมื่อวางเครือข่ายเรียบร้อยแล้ว การเก็บเกี่ยวงานต่อเนื่องภายหลังย่อมตามมาอีกหลายพันล้าน
อีกทั้งการใช้สายเคเบิ้ลใยแก้วก็เป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยอย่างมากๆ (รายละเอียดของความวุ่นวายในการประมูลครั้งนี้อ่านได้จาก
"ผู้จัดการรายสัปดาห์" ฉบับวันที่ 1-7 สิงหาคม 2531)
เอทีแอนด์ทีเข้าประมูลงานครั้งนี้ด้วยมีบริษัทเข้าประมูลทั้งสิ้น 14 บริษัท
แต่สามารถแบ่งเป็นกลุ่มๆ กลุ่มที่สำคัญมี 2 กลุ่มคือ กลุ่มบริษัทญี่ปุ่น
ประกอบด้วย โตโยเมนก้า, มิตซุย และมารุเบนนี กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มบริษัทฝรั่ง
คือ บริติช เทเลคอม, อีริคสัน, เทเลททร้า และเอทีแอนด์ที
เอทีแอนด์ทีหลุดจากวงโคจรตั้งแต่การคัดเลือกขั้นที่ 1 คือการพิจารณา MANAGEMENT
PROPOSAL และ TECHNICAL PROPOSAL ทั้งยังเป็นการหลุดไปด้วยเหตุผลที่ตลกมากๆ
คือ ในขณะที่เอทีแอนด์ทีเป็นผู้ขายอะไหล่ให้บริษัทอื่นที่ยื่นซองประกวดราคาครั้งนี้
โดยกำหนดว่าจะสำรองอะไหล่สำหรับโครงการของตัวเองเพียง 10 ปี แม้ทางองค์การโทรศัพท์ฯ
จะทักท้วงแล้ว เอทีแอนด์ทีก็ไม่ขอเปลี่ยนแปลง เอทีแอนด์ทีก็เลยปิ๋ว
หลังจากนั้น เอทีแอนด์ทีก็ยังทำตลกร้ายตามมาอีก ด้วยการทำบันทึกลงวันที่
30 มิถุนายน 2531 ถึงมหิดล จันทรางกูร ประธานคณะกรรมการพิจารณา โดยอ้างว่า
เอทีแอนด์ทีเป็น SUBCONTRACTOR ของเทเลททร้า มีความสงสัยเกี่ยวกับรายละเอียดของวัสดุอุปกรณ์และการกำหนดราคาที่ทางองค์การฯ
ยังไม่ได้ระบุให้ชัดเจน ทั้งที่เหลือเวลาก่อนเปิดซองประมูลอีกเพียง 10 วัน
เท่านั้นก็ได้เรื่อง ทางองค์การโทรศัพท์ฯ ย้อนตอบกลับมาทันใจ ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนขึ้น
แถมเป็นข้อกำหนดที่ช่างสอดคล้องกับบริษัทญี่ปุ่นมากๆ และทางองค์การฯ ก็แจ้งไปยังบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกขั้นที่
1 ทั้งหมดด้วย กว่าทางบริษัทฝรั่งจะเปลี่ยนรายละเอียดของข้อเสนอให้สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การโทรศัพท์ฯ
ก็ฉิวเฉียดวันที่เปิดซองประมูล คือวันที่ 11 กรกฎาคม
ในวันนั้น โตโยเมนก้า บริษัทจากญี่ปุ่นชนะการประมูล (ก่อนการพลิกมติโดยรัฐมนตรีคมนาคมในภายหลัง)
หลังจากวันนั้น คนที่เซ็งมาๆ คือ เทเลททร้า และไม่ได้เซ้งใครอื่น ก็เซ็งเอทีแอนด์ทีเพื่อนซี้ของตัวเองนั่นแหละ
กว่า 7 ปีที่เอทีแอนด์ทีมาลงหลักปักฐานในเมืองไทย เอทีแอนด์ทีอาจจะพบว่าเมืองไทยนั้นมีข้อยกเว้นมากมายเหลือเกิน
และเอทีแอนด์ทีกำลังศึกษาบทเรียนเหล่านั้นอย่างใจเย็นมากขึ้นก็ได้ เอทีแอนด์ทีอาจเป็นพยัคฆ์รายฟอร์มโต
แต่ก็มีวันจะมาตายน้ำตื้นในเมืองไทยได้ง่ายๆ เพราะความไม่รู้เหนือรู้ใต้
เข้ามาอย่างอหังการ ย่อมแพ้คนที่มาแต่เดิมที่มีกลยุทธ์พราวแพรวอย่างมิตซุย
โตโยแมนก้า เอ็นอีซี บริษัทจากญี่ปุ่น หรืออีริคสันจากสวีเดน เป็นต้น
เอทีแอนด์ทีกำลังไตร่ตรองเวทีที่ตัวเองจะกระโจนขึ้นไปอย่างรอบคอบมากขึ้น
ทางด้านกิจการไอซี เอทีแอนด์ทีคงอิ่มอกอิ่มใจไม่น้อยสำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย
ดังจะเห็นได้จากการตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตเครื่องโทรศัพท์มูลค่าพันล้านในเวลาต่อมา
เหตุผลข้อหนึ่งที่เอทีแอนด์ทีให้สำหรับการสร้างโรงงานครั้งนี้คือ "…แรงงานที่ขยันขันแข็งและมีประสิทธิภาพ"
อีกด้านหนึ่งของโครงการผลิตไอซี เราอาจหลงใหลได้ปลื้มกับมูลค่าการลงทุนความใหญ่โตมโหฬารของตัวโรงงาน
แต่บางทีเราก็ต้องถามตัวเองบ้างเหมือนกันว่า ที่เอทีแอนด์ทีลงทุนมโหฬารเช่นนี้เราได้อะไรบ้าง?
เอทีแอนด์ทีได้รับการส่งเสริมการลงทุน ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
ยกเว้นอากรขาเข้า ภาษีการค้าสำหรับวัตถุดิบ ยกเว้นภาษีเครื่องจักร ไม่เสียภาษีขาออก
วัตถุดิบจากเมืองนอกเกือบ 100% ทั้งยังแพงจนเกินเหตุ
ที่ไทยได้ก็คือ ค่าจางแรงงาน 700 คน และ "หน่ออ่อน" สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านไอซี
ซึ่งยังอีกไกลนักที่ไทยจะพัฒนาจนเป็นตัวของตัวเองได้ หรือต่อให้ผลิตเอง ถึงตอนนั้นอาจต้องถามว่า
เราจะเอาไปขายให้ใคร ถ้าบริษัทแม่เขาไม่เอา เพราะไม่มีตลาดในเมืองไทย
สิ่งเดียวที่มีผลชัดเจนที่สุดที่เอทีแอนด์ทีกระทำต่อเมืองไทยคือ การแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิ์ผู้รับอนุมัติจัดทำ
พิมพ์และเผยแพร่รายชื่อผู้ใช้โทรศัพท์ ซึ่งทำให้องค์การโทรศัพท์ฯ ได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย
เบื้องหลังของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ การผลักดันอย่างเต็มกำลังจากเอทีแอนด์ที
หลังจากที่ไม่เคยมีการคุ้มครองลิขสิทธิ์เช่นนี้เลยตลอด 17 ปีที่จีทีดีซีดำเนินงาน
เป็นคณูปการของเอทีแอนด์ทีที่องค์การโทรศัพท์ฯ จักต้องจดจำ
ในอนาคตของเอทีแอนด์ทีในเมืองไทยเพียงสิ่งเดียวที่ย้ำได้คือ คำวิจารณ์จากบริษัทคู่แข่งที่เฝ้ามองเอทีแอนด์ทีก็คือว่า
"เอทีแอนด์ทีอาจจะลงทุนสร้างโรงงาน แต่การตลาดและยุทธวิธีของเขาในด้านอื่นๆ
ระยะหลังมานี้ไม่กระตือรือร้นเอาเลย แต่ภายหน้า … ไม่แน่"