มองหาโอกาสลงทุนในมาเลเซียและอินโดนีเซีย

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ที่มีจุดกำเนิดจากสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2551 จนกระทั่งลุกลามไปยุโรปมาจนถึงเอเชีย แต่ดูเหมือนว่าเอเชียจะฟื้นฟูได้เร็วกว่า เพราะมียักษ์ใหญ่อย่างจีน อินเดีย ฉุดให้ภูมิภาคนี้เติบโตไปด้วย จนทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเอเชียจะเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่นับจากนี้ไป

ธนาคารซีไอเอ็มบี สถาบันการเงินจากประเทศมาเลเซีย เป็นธนาคารที่มีเป้าหมายขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย ได้มองเห็นโอกาสจึงจัดสัมมนาเรื่อง “เจาะตลาด มาเลย์-อินโดฯ โอกาสโตของธุรกิจไทย” ได้ร่วมกับผู้บรรยาย 3 ราย คือ อดุลย์ โชตินิสากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้า อดีตทูตพาณิชย์ประจำประเทศมาเลเซีย กรมการค้าต่างประเทศ Mr.Yeap Swee Chuan ประธานหอการค้ามาเลเซีย-ไทย และผดุงเดช อินทรลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการเงิน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) มาร่วมแสดงความเห็นและประสบการณ์ในทั้ง 2 ประเทศ

จากข้อมูลสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่ามาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของมาเลเซีย

ในปี 2552 การค้าระหว่างไทยกับมาเลเซียมีมูลค่าเท่ากับ 16,239 ล้านเหรียญ สหรัฐ ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 17.3 โดยไทยส่งออกไปมาเลเซียมีมูลค่าเท่ากับ 7,664 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากมาเลเซียมูลค่า 8,576 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยขาดดุลการค้า 912 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกปี 2553 การค้าระหว่างไทยกับมาเลเซียมีมูลค่าเท่ากับ 14,117.6 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น มากเมื่อเทียบกับช่วงปีก่อน มีมูลค่า 9,796.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลจากการเปิดการค้าเสรีในกรอบอาเซียน (AFTA) ที่ประเทศสมาชิกได้ปรับลดภาษีนำเข้าส่วนใหญ่เป็นร้อยละ 0 ในปี 2553

สินค้าส่งออกหลักของไทยไปมาเล เซีย ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มอเตอร์และน้ำมันดิบ เป็นต้น

อดุลย์จากกรมการค้าเล่าประสบ การณ์การทำงานในมาเลเซียว่า ประเทศมาเลเซียมีอัตราการเจริญเติบโตก้าวหน้าปี 2552 ประชาชนมีรายได้เฉลี่ย 7,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ มีรายได้สูงกว่าประเทศไทย แต่มีประชากรน้อยกว่าเพียง 28 ล้านคน

ประชาชนของมาเลเซียมีเชื้อชาติหลักๆ อยู่ 3 เชื้อชาติคือมาเลเซีย ร้อยละ 60 จีนร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือเป็นอินเดีย และอื่นๆ แต่ธุรกิจหลักของมาเลเซียจะเป็นของเชื้อชาติจีนเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่คนมาเลเซียทำธุรกิจไม่ค่อยเก่ง จึงทำให้ในยุคของมหาเธร์ โมฮัม หมัด อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนมาเลเซียทำธุรกิจ เป็นเป้าหมายของรัฐบาลต้องการพัฒนาผู้ประกอบการ

จุดเด่นของมาเลเซียคือประชากรพูดภาษาอังกฤษได้ดี มีกฎระเบียบชัดเจน รวมถึงวางระบบฐานข้อมูล (data base) สมบูรณ์ ทำให้ข้อมูลของรัฐและเอกชนเชื่อมโยงติดต่อสื่อสารระบบออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว

Mr.Yeap ประธานหอการค้ามาเลเซีย-ไทย แนะนำว่า สำหรับผู้ประกอบ การไทยจะไปลงทุนในมาเลเซียต้องมีเป้าหมายทำธุรกิจระยะยาว มองหาพันธมิตรที่ดี และการเข้าไปลงทุนในครั้งแรกต้องใช้จำนวนเงินไม่มากนัก สิ่งที่สำคัญการทำธุรกิจในมาเลเซียต้องคำนึงถึงแรงงาน และทักษะ เพราะเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรน้อย

อดุลย์บอกว่าธุรกิจของไทยที่ไปลงทุนในมาเลเซีย มีทั้งประสบความสำเร็จ และล้มเหลว เช่น บริษัท สามารถ ไอโมบาย จำกัด (มหาชน) ผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อไอ-โมบาย ปัจจุบันมีรายได้จากการขายโทรศัพท์ 4-5 พันล้านบาทในมาเลเซีย

บริษัท สามารถฯ เริ่มต้นทำธุรกิจในมาเลเซียโดยส่งคนเข้าไป 1 คน นำเงิน ไปลงทุน 20 ล้านบาท เปิดเคาน์เตอร์ขายโทรศัพท์มือถือนำเครื่องมาจากจีน

กลยุทธ์ของบริษัท สามารถนอกจากจะขายเครื่องใหม่แล้ว ยังรับซื้อเครื่องเก่า และนำเครื่องเก่าไปจำหน่ายในประเทศบังกลาเทศ และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อย่างไรก็ดีความสำเร็จของบริษัทที่เกิดขึ้นนี้ อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งบริษัทมีพันธมิตร คือ บริษัท เทเลคอม มาเลเซีย เบอร์ฮัด เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของกลุ่มสามารถคอร์ป ในประเทศไทย จึงทำให้ขยายธุรกิจได้อย่าง รวดเร็ว

สำหรับธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จ คือเสื้อผ้าสำเร็จรูปยี่ห้อ Flynow เข้าไปขยายสาขาเป็นแห่งแรกในมาเลเซีย มีพันธมิตรท้องถิ่นร่วมทุน และได้พื้นที่จำหน่ายสินค้าในตึกแฝดเปโตรนาส เป็นทำเลที่ดีที่สุด แต่หลังจากเปิดได้เพียง 1 ปี กิจการก็ต้องปิดลงไป

สาเหตุเนื่องจากพันธมิตรท้องถิ่นไม่มีความเชี่ยวชาญเสื้อผ้าผู้หญิงบูติกและแบรนด์ไทยยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก และในส่วนของนักธุรกิจไทยยังไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดในการติดต่อสื่อสาร กับลูกค้า เช่น ไม่มีโฆษณาหรือป้ายโฆษณา

ทว่ายังมีธุรกิจของไทยที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เช่น ร้านแบล็คแคนยอน คอฟฟี่มี 5-6 สาขา หรือตู้เสื้อผ้าสำเร็จรูป ยี่ห้อ MAXIMA แต่ธุรกิจเหล่านี้ต้องมีการปรับตัว เพราะปัจจุบันเริ่มมีสินค้าที่คล้าย คลึงกันเข้ามาแข่งขันทำตลาด

อดุลย์มองว่าโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย คือสินค้าประเภทธุรกิจส่งออกอาหารและผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด แม้ว่ามาเลเซียจะมีผลไม้คล้ายคลึงกับไทยก็ตาม แต่รสชาติผลไม้ไทยดีกว่า

ในด้านความปลอดภัยโดยทั่วไปในมาเลเซียยังไม่ดีมากนัก เนื่องด้วยประชากร จำนวนน้อยทำให้แรงงานที่เข้ามาทำงานมีหลากหลาย อาทิ อินโดนีเซีย บังกลาเทศ เนปาล เป็นต้น

ส่วนโอกาสลงทุนในประเทศอินโด นีเซียด้วยจำนวนประชากร 231 ล้านคน จึงทำให้อินโดนีเซียน่าสนใจ เนื่องด้วยมีฐาน ประชากรจำนวนมากจึงทำให้เกิดการบริโภคภายในได้อย่างมหาศาล

ที่ผ่านมาจึงทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยเข้าไปลงทุน เช่น บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ฟาร์มเลี้ยงไก่) ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไก่ทุกชนิด บริษัทเหมืองบ้านปู (เหมืองถ่านหิน) บริษัทเครือ ปูนซิเมนต์ไทย ทำธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตร เคมี เซรามิก วัสดุก่อสร้าง

การลงทุนอย่างต่อเนื่องของอินโด นีเซีย ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวร้อยละ 4.5 สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศจีน และอินเดีย ในปี 2552 ซึ่งในขณะนั้นประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

เหตุผลหลักที่ทำให้อินโดนีเซียเติบโต อย่างน่าสนใจ เพราะมาจากการบริโภคภาย ในประเทศมีอัตราการขยายตัวสูงโดยเฉพาะ ในรอบระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา

ประกอบกับใช้นโยบายการเงินการ คลังสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสาธารณูปโภคทั้งด้านคมนาคม การขนส่ง และการสื่อสาร

ด้วยเหตุผลองค์รวมทั้งหมดนี้เองจึง ทำให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทยตัดสินใจจะสร้างโรงงานปูนซีเมนต์ในอินโดนีเซียเร็วๆ นี้ ในขณะที่ไม่มีแผนขยายโรงงานในประเทศไทย เพราะตลาดไทยมีการแข่งขันสูง และปริมาณปูนซีเมนต์ในไทยในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าความต้องการครึ่งหนึ่ง

ผดุงเดช อินทรลักษณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานการเงิน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เล่าว่า บริษัทเข้าไปทำธุรกิจในอินโดนีเซียเมื่อปี 2539 ในช่วงแรก ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทีมงานที่เข้า ไปทำงานจะมีความรู้สึกด้านลบกับประเทศ อินโดนีเซีย

บริษัทจึงแก้ปัญหาด้วยการฝึกพนักงานทุกคนก่อนให้เข้าใจภาษา และวัฒนธรรม ปรับตัวเพื่อสร้างความรู้สึกด้านบวกกับประเทศอินโดนีเซีย และฝึกให้เรียนภาษาอังกฤษ เพราะนักศึกษาของอินโดนีเซียที่จบมหาวิทยาลัยมีความรู้ภาษาอังกฤษดีกว่านักเรียนไทยเมื่อเทียบในระดับชั้นเดียวกัน

รูปแบบธุรกิจของนักธุรกิจในอินโด นีเซีย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัว เหมือน กับประเทศไทย แต่นักธุรกิจที่มีอิทธิพลมากที่สุดคือ ประชาชนอินโดนีเซียเชื้อสายจีน มีประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร จึงทำให้การบริหารงานบางครั้งขาดความโปร่งใส

นอกจากนี้การเข้าไปลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย จะต้องพิจารณากฎระเบียบที่ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก เช่น กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค ต่อการลงทุน ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่ยังไม่มีความเข้มงวดและรักษาผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน

และแม้ว่าการเมืองจะมีเสถียรภาพ แต่การเมืองในยุคของซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน หรือ (เอสบีวาย) ประธานาธิบดีของอินโด นีเซียในปัจจุบันได้กระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นมากขึ้น การทำงานของนักธุรกิจจึงไม่เป็นไปในรูปแบบของ one stop shop

แต่อินโดนีเซียพยายามรีบเร่งปฏิรูป กฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุน โดยพยายาม ชี้ให้เห็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น น้ำมัน เหมืองแร่ ถ่านหิน นิกเกิล ป่าไม้ ประมง

สำหรับสินค้าไทยที่ส่งออกไปอินโด นีเซีย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำตาลทราย เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

ในช่วง 8 เดือนแรก ปี 2553 การค้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซียมีมูลค่าเท่ากับ 8,678.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจาก ปีก่อน ที่มีมูลค่า 5,158.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะการขยายตัวในระดับสูงของเศรษฐกิจ ไทยในปี 2553 ทำให้มีความต้องการสินค้า ประเภทพลังงานเพิ่มขึ้นด้วย

แม้มาเลเซียและอินโดนีเซียจะมีโอกาสด้านการลงทุน แต่การเข้าใจลูกค้า พันธมิตร และกฎระเบียบต่างๆ ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.