|

อนันดา เทคโนโลยี ต้นทุนไม่ได้เริ่มจากศูนย์
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
อนันดา เทคโนโลยี บริษัทเล็กๆ มีความฝันให้คนไทยเริ่มต้นเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีสื่อสาร หลังจากตกอยู่ในฐานะผู้ซื้อมายาวนานเกินกว่า 20 ปี
เบื้องหลังการใช้บริการโทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อสื่อสารของจำนวนเครื่องลูกข่ายกว่า 60 ล้านเครื่องในปัจจุบันของผู้ให้บริการเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และฮัทช์ มีอุปกรณ์สื่อสารเสริมเป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้การสื่อสารสมบูรณ์ และบริษัท อนันดา เทคโนโลยี จำกัด องค์กรขนาดเล็ก เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าว
การปรากฏตัวของบริษัท อนันดา เทคโนโลยี จำกัดในแต่ละครั้ง จะเข้าไปสอดแทรกในงานแสดงเทคโนโลยีต่างๆ ทั้ง ในและต่างประเทศบ้างเป็นบางครั้ง เช่น ร่วมงานนิทรรศการคอมมูนิคเอเชียในสิงคโปร์
ล่าสุดบริษัทได้เข้าร่วมงานเปิดตัวเทคโนโลยี 3G มีคณะกรรมการกิจการโทร คมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นประธานจัดงานเมื่อต้นเดือนกันยายน ก่อนจะเริ่มประมูล 3G แต่แผนดังกล่าวต้องพับไปเพราะติดข้อกฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้
ก่อนหน้าที่จะมีงานประมูล บริษัท อนันดามีความฝันเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะ ผู้ผลิตอุปกรณ์สถานีฐาน (base station) เช่นกัน เพราะคาดการณ์ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าอุปกรณ์นี้จะมีมูลค่าถึง 150,000 ล้านบาท
แม้ว่านโยบายผลักดัน 3G จะยังไม่สัมฤทธิผล แต่บริษัทก็มีประสบการณ์ผลิตอุปกรณ์รีพีทเตอร์ รองรับเทคโนโลยี 3G ให้กับบริษัทเอไอเอสนำไปทดลองใช้ ใน พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และบริษัททรูมูฟ ได้ทดลองใช้อยู่ในกรุงเทพฯ
แต่เมื่อการประมูลถูกยกเลิกไป ทำให้บริษัทต้องปรับแผนธุรกิจบางส่วนและทำให้รู้ว่าธุรกิจในวงการสื่อสารโทร คมนาคมไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่า 3G จะหยุด ชะงักไป แต่ธุรกิจของบริษัทยังต้องเดินหน้า ต่อไป และหาโอกาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ
บริษัท อนันดา เทคโนโลยี จำกัด (www.anundatech.com) มีทุนจดทะเบียน 22 ล้านบาท ก่อตั้งครั้งแรกในชื่อ ว่า บริษัท อ๊อกเทค (ประเทศไทย) จำกัด ในปี 2541 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อนันดา
บริษัท อนันดาเป็นบริษัทคนไทยแห่งแรกและแห่งเดียวที่ผลิตอุปกรณ์เสริม เช่น Frequency Repeater อุปกรณ์เครื่อง ทวนสัญญาณ และ Booster อุปกรณ์ขยาย สัญญาณและสายอากาศ อุปกรณ์แพร่กระจายคลื่นสัญญาณให้กับโอเปอเรเตอร์ไทยในปัจจุบัน
ก่อนที่บริษัท อนันดาจะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจให้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารให้กับโอเปอเรเตอร์ได้ในทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะภาพของบริษัทเป็นบริษัทเล็กๆ ต้อง ต่อสู้กับแบรนด์คู่แข่งต่างชาติ ทำให้ต้องใช้เวลาหลายปี
แต่ด้วยต้นทุนประสบการณ์ของผู้ก่อตั้งธุรกิจ ดร.ทองทด วานิชศรี ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ดร.หทัยชนก วานิชศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สองสามี-ภรรยา ที่มีมากว่า 20 ปี จากการเรียนรู้ทั้งในและต่างประเทศ
โดยเฉพาะ ดร.ทองทดที่ไปคว้าปริญญาเอกจากวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า Imperial College, University of London หลังจาก เรียนจบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมอิเล็ก ทรอนิกส์ และปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ในขณะที่ ดร.หทัยชนกจบการศึกษาด้านวิศวกรรมเคมี ระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยแห่งเดียวกับ ดร.ทองทด
การเข้ามาในธุรกิจสื่อสารโทร คมนาคมของ ดร.หทัยชนก และ ดร.ทองทด เริ่มต้นจากความฝันของ ดร.ทองทดที่ต้องการก่อตั้งบริษัทไทยให้สามารถผลิตอุปกรณ์สื่อสารภายใต้แบรนด์ไทย เพราะเขามองว่าตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยตกอยู่ในฐานะผู้ใช้เพียงอย่างเดียว
ความคิดของ ดร.ทองทดที่แตกต่าง เช่นนี้อาจเป็นเพราะว่า ดร.ทองทดนอกจาก จะเป็นผู้บริหารในฐานะที่ปรึกษาของบริษัท อนันดาอยู่แล้วในปัจจุบัน เขายังเป็นอาจารย์ สอนนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังอีกด้วย จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจก่อตั้งบริษัท
การก่อตั้งบริษัท อนันดามีความแตกต่างจากบริษัทเทคโนโลยีทั่วไป คือการรวมหน่วยงานวิจัย ห้องแล็บ และการตลาดไว้อยู่ในที่แห่งเดียวกัน
การรวมหน่วยงานวิจัยและการตลาดไว้ด้วยกันเป็นความฝันของนักวิจัยและนักการตลาดหลายๆ คนปรารถนาให้เป็นเช่นนั้น แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะในประเทศไทย หน่วยงานวิจัยส่วนใหญ่ยัง อยู่ภายใต้การดูแลของภาครัฐ ส่วนการตลาดจะอยู่ในการดูแลของบริษัทเอกชน
การอยู่คนละฟากนี้เองทำให้กลายเป็นช่องว่างเทคโนโลยีของไทยที่ไม่สามารถทำให้ก้าวข้ามไปเป็นผู้ผลิตได้เลย
ดร.ทองทดและ ดร.หทัยชนกเริ่มต้นธุรกิจมาจากพื้นฐานของนักวิชาการ
นักวิจัย และกำลังก้าวข้ามไปอยู่ในฝั่งของธุรกิจการตลาด เพื่อผสมผสานการเรียนรู้ทั้งสองด้านให้ชิ้นงานด้านวิจัยกลายเป็นสินค้าที่ขายได้ในตลาด
ประสบการณ์ของ ดร.ทองทดที่ร่วม ก่อตั้งบริษัท อ๊อกเทค จำกัด ในประเทศอังกฤษร่วมกับ Prof.Christofer Toumazou ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาปริญญาเอก เพื่อผลิตชิป เซมิคอนดักเตอร์ส
ความรู้ที่ได้รับการสั่งสมมายาวนานของ ดร.ทองทดจึงเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจ แต่หลังจากที่กลับมาประเทศไทย เขาไม่ได้ผลิตชิปโดยตรง เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีต้นน้ำที่อยู่ในชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารเกือบทุกประเภท ดังนั้นต้องใช้งบประมาณการลงทุนจำนวนมาก และผู้ผลิตในปัจจุบันเป็นผู้ผลิตรายใหญ่แทบทั้งสิ้น
ดร.ทองทดจึงหันมาดูเทคโนโลยีในประเทศไทย และพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่เน้นติดตั้งโครงข่ายสถานีฐาน อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณ
บรอดแบนด์ รวมไปถึงอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย
บริษัทจึงเริ่มต้นธุรกิจให้บริการบำรุง รักษาอุปกรณ์สื่อสารให้กับโอเปอเรเตอร์ เช่น ซ่อมแซมโมดูล รีเพลสเม้นท์ของยี่ห้อโมโตโรล่า หลังจากนั้นได้ขยายไปเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เสริม เพราะโอเปอเรเตอร์ไม่ต้อง การลงทุนซื้ออุปกรณ์ขนาดใหญ่ จะส่งผลให้ใช้งบประมาณลงทุนสูง หรืออุปกรณ์บาง อย่างไม่มีจำหน่ายในตลาด จึงกลายเป็นช่องทางด้านการตลาดที่ทำให้บริษัท อนันดาผลิตอุปกรณ์ตามความต้องการในต้นทุนไม่แพงเมื่อเทียบกับผู้ผลิตรายใหญ่
ดร.หทัยชนก ประธานกรรมการบริหาร กล่าวกับ ผู้จัดการ 360◦ ระหว่างให้ สัมภาษณ์ในสำนักงานบนถนนพระราม 9 ว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้บริษัทได้รับการยอมรับจากโอเปอเรเตอร์ เพราะบริษัททุ่มเทการทำงานทั้งก่อนและบริการหลังการขายทุก ครั้งเมื่อโอเปอเรเตอร์มีปัญหา บริษัทจะเข้า ไปร่วมช่วยแก้ไขปัญหาทันทีและทำอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ได้รับความไว้วางใจแตกต่างจากบริษัทตัวแทนผู้ผลิตในต่างประเทศ จะทำหน้าที่ขายเพียงอย่างเดียว
เธอเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่าบริษัทยังใหม่สำหรับวงการธุรกิจสื่อสาร ไม่รู้จักว่าใครและในช่วงแรกที่นำอุปกรณ์ไปแนะนำติดตั้งทดลองบริการ บริษัทจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งปี เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของอุปกรณ์
“ความตั้งใจของเรา อุปกรณ์สื่อสารจะต้องมีคุณภาพใกล้เคียงกับโนเกีย หรืออีริคสัน แต่ราคาจะต้องแข่งขันกับจีนได้” ดร.หทัยชนกกล่าว
ในด้านประสิทธิภาพของเทคโนโลยี อาจจะไม่เป็นข้อกังหา แต่ในด้านการตลาด ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับบริษัท อนันดา โดย เฉพาะการสร้าง “อนันดา เทคโนโลยี” ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี เพราะแบรนด์ไทยมีภาพลักษณ์ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับในตลาดเท่าที่ควร
จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับบริษัทไม่น้อย แม้ว่าในใจลึกๆ ของ ดร.หทัยชนก ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุนและมีข้อเสนอสิทธิพิเศษให้กับโอเปอเรเตอร์หรือ บริษัทที่ซื้อเทคโนโลยีของคนไทยด้วยกัน
เหมือนดังตัวอย่างเช่นในประเทศจีน และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะเกาหลีใต้เป็นประเทศชาตินิยม รัฐบาลส่งเสริมให้ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมใช้อุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก เช่น อุปกรณ์ทวนสัญญาณ มีการใช้สินค้าในประเทศถึงร้อยละ 60
อุปกรณ์ทวนสัญญาณ เป็นอุปกรณ์เสริมขนาดเล็ก แต่เกาหลีใต้สนับสนุนให้ใช้อุปกรณ์สื่อสารในประเทศจำนวนมาก อาจเป็นเพราะว่าเกาหลีใต้ได้วางแผนการติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารไว้ก่อนล่วงหน้า
แต่การรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐ คงไม่ใช่วิถีแห่งการพึ่งพาตนเองทั้งหมดอย่างแน่นอน ดังนั้นวิธีการทำตลาดของบริษัทอนันดาจึงเน้นขายตรงไปยังกลุ่ม ลูกค้า เพื่อลดช่องว่างการติดต่อสื่อสาร เพราะการสื่อสารโดยตรงได้สร้างการเรียนรู้ของทั้งสองฝ่าย
การเรียนรู้นี้ทำให้บริษัทได้พัฒนาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง จากเดิมรู้เพียงส่วนเดียว ก็จะช่วยต่อยอดผลิตอุปกรณ์ให้ออกมาเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ รวมไปถึงการตกแต่งหน้าตาของอุปกรณ์ให้จำหน่ายได้
นอกเหนือจากการทำตลาดในประเทศแล้ว บริษัทยังมองหาโอกาสตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ประเทศเพื่อนบ้าน ลาว อินโดนีเซีย กัมพูชา ที่ยังใช้เทคโนโลยีใกล้เคียงกับประเทศไทย
แต่ในภูมิภาคอื่นบริษัทก็ไม่ได้เพิกเฉย จึงทำให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ว่าจ้างพนักงานต่างชาติเข้ามาทำตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะ
ดร.ทองทดให้เหตุผลที่ต้องจ้างต่างชาติ ก็เพื่อขจัดอุปสรรคในการติดต่อสื่อสาร เขาเชื่อว่าเจ้าของภาษาคุยกับลูกค้าภาษาเดียวกันจะอธิบายได้ลึกซึ้งมากกว่า และทำให้รู้ว่าลูกค้าต้องการสิ่งใด
แต่การกระโดดเข้ามาร่วมธุรกิจสื่อสารเทคโนโลยีเป็นความเสี่ยงสูงที่บริษัทก็ยังหวั่นวิตกเพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และการวิเคราะห์และติดตามให้ถูกทางจึงเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมาก
บริษัทจะต้องตามทิศทางแนวโน้มเทคโนโลยีให้ถูกทาง เพราะในวงการนี้มียักษ์ใหญ่ที่ควบคุมเทคโนโลยีอยู่ว่าจะให้ไปในทิศทางใด ไม่ว่าจะเป็นไว-ไฟ ไวแม็กซ์ ระบบเทคโนโลยีต่างๆ ทุกอย่างมีการเมืองซ่อนอยู่เบื้องหลังของเทคโนโลยีเหล่านี้ทั้งสิ้น
ทั้ง ดร.ทองทดและ ดร.หทัยชนก ยอมรับว่าการกระโดดเข้าสู่วงการเทคโนโลยี มีความเสี่ยงสูงทุกด้าน เช่น การปรับเปลี่ยนที่รวดเร็วของเทคโนโนโลยี คู่แข่งที่ต้องแข่งขันทั้งคุณภาพสินค้าและราคา นอกจากนี้ ยังมองว่าเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนสูง
แต่ ดร.ทองทดให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “หากเราไม่เสี่ยง เราก็จะไม่มีวันชนะ”
หากมองภาพรวมธุรกิจของบริษัท อนันดาในปัจจุบันยังอยู่ระหว่างเริ่มต้น ที่ ยังต้องแสวงหาโอกาสต่อไป จากผู้ก่อตั้งเพียง 3 คน ขยายกิจการและพนักงานเพิ่มเป็น 36 คนในปัจจุบัน
พนักงานส่วนหนึ่งเป็นศิษย์ของ ดร.ทองทดที่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจที่ทีมงานใฝ่ฝันกันว่าสักวันหนึ่ง บริษัท อนันดา จะเป็นเสมือนโนเกียจากประเทศฟินแลนด์ และอีริคสันจากสวีเดน ประเทศเล็กๆ ที่สามารถสร้างชื่อเสียงจนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารรายใหญ่ของโลก
ทั้งโนเกียและอีริคสันเปรียบเหมือนเป็น Role Model ของบริษัท อนันดา ที่จะเดินตามและสร้างฝันให้เป็นจริง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|