|
ซิกส์เซ้นส์ไฮด์อะเวย์ บันไดสู่เวทีโลกของ “ณัฐ”
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
“...พ่อบอกว่า การเป็นเจ้าของโรงแรมมันน่าคบกว่าการเป็นเจ้าของโรงเลื่อยหรือโรงเหล็ก แม้ว่ายอดขายของโรงเหล็กหรือโรงเลื่อยอาจจะสูงปีละแสนล้านบาทก็ได้ แต่ยังไงเจ้าของโรงแรมก็เป็นอาชีพที่คนอยากคบมากที่สุดแล้ว...” เป็นหนึ่งในหลายวาทกรรมของชินเวศ ที่ณัฐประทับใจและเห็นด้วยอย่างมาก
บนเตียงนอนริมสระน้ำที่เส้นขอบสระจรดกับเส้นขอบฟ้าที่ตัดกับขอบทะเล ทิวทัศน์ เบื้องหน้าเต็มไปด้วยเกาะแก่งน้อยใหญ่ ที่เจ้าของพื้นที่อย่างชินเวศ สารสาส เคยนับเอาไว้ ว่ามีมากถึง 13 เกาะ จัดเป็นวิวที่หาชมได้ยาก
จริงๆ แล้ว ชาวไทยและชาวโลกเกือบจะอดชื่นชมกับวิวสวยๆ ที่เป็นหนึ่งเดียวใน ประเทศไทยเช่นนี้ หากเพียงชินเวศไม่เปลี่ยนใจนำที่ดินที่เคยคิดจะปลูกบ้านอยู่เองมาลงทุนทำธุรกิจโรงแรมสุดหรูภายใต้เชนโรงแรม 5 ดาวอย่าง “ซิกส์เซ้นส์ ไฮด์อะเวย์”
แม้ผู้ที่มีโอกาสได้ยลทิวทัศน์ที่สวยงามจะเป็นเพียงคนส่วนน้อย ที่สามารถแบกรับกับค่าที่พักเฉลี่ยคืนละ 47,600-84,000 บาท (ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว) ได้
และคงมีเพียงมหาเศรษฐี celeb ระดับวีไอพีและไฮโซผู้มีอันจะกินเท่านั้น ที่จะมีโอกาสได้พักให้ห้องที่ได้ชื่อว่ามีวิวที่งดงามที่สุดของโรงแรม เพราะ Hill Top Reserve Villa มีค่าห้องอยู่ที่ 4 แสนบาทต่อคืน
สำหรับลูกค้าคนแรกของวิลล่าคืนละ 4 แสนบาทนี้ก็คือตัวชินเวศเอง ทั้งนี้เพื่อเป็นการฉลองโรงแรมแห่งแรกของครอบครัว พร้อมไปกับการฉลองวันเกิดอายุครบ 49 ปี
“จริงๆ ในตอนนั้นไม่ได้คิดจะทำโรงแรม ที่ดินที่ซื้อไว้ตั้งใจจะสร้างบ้านอยู่เอง แต่ทำบ้านก็มีแต่ต้นทุน ผมมีบ้านเยอะ มาก อาจจะมีเยอะที่สุดในประเทศไทย ที่มีอยู่ก็ไปอยู่ไม่ไหวแล้ว ก็เลยสร้างโรงแรม แล้วเป็นคนนิสัยเสีย เวลาทำอะไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด ก็เลยออกมาเป็นแบรนด์นี้” ชินเวศพูดทีเล่นทีจริง
ด้วยบรรยากาศที่ร่มครึ้มและดีไซน์ที่กลมกลืนกับธรรมชาติ “ซิกส์เซ้นส์ ไฮด์ อะเวย์ ยาวน้อย” จึงเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเกรดเอจากทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ แต่ยังไม่ยอมทิ้งชีวิตที่หรูหรา สะดวกสบาย และทันสมัย
วิลล่าทั้ง 56 หลัง ออกแบบและตกแต่งให้แตกต่างในเรื่องพื้นที่ใช้สอยและวิวทิวทัศน์ที่ลดหลั่นตามเนินเขาของอ่าวพังงา โดยทุกวิลล่ามีห้องอาบน้ำแบบเปิด มีอ่างอาบน้ำ และสระว่ายน้ำส่วนตัวที่เปิด โอกาสให้แขกได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิดขณะที่ใช้บริการพื้นที่นั้น
นอกจากทิวทัศน์ที่หรูหรา บริการบัทเลอร์ส่วนตัวตลอด 24 ชั่วโมง ก็เป็นอีกประสบการณ์แห่งความหรูที่ช่วยเพิ่มความคุ้มค่าให้สมกับราคายิ่งขึ้น
ซิกส์เซ้นส์ ไฮด์อะเวย์ ยาวน้อย เปิดตัวอย่างเป็นทางการราวเดือนพฤศจิกายน 2550 ทว่า การเจรจาและการเตรียมงานก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ 4 ปีก่อนหน้านั้น
จุดแรกเริ่มของโรงแรมแห่งนี้มาจากการที่ชินเวศซื้อที่ดินบนเกาะยาวน้อยราว 30 ไร่ไว้ตั้งแต่เกือบ 20 ปีก่อน จนปี 2546 ที่เขาเกิดไอเดียอยากทำธุรกิจรีสอร์ต ที่นี่ จึงได้จัดตั้งบริษัท “โรงแรมป่าเกาะ” ขึ้น เพื่อร่วมทุนกับกลุ่มเจมิ่งเฟรย์จากสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อซื้อที่ดินเพิ่มเป็น 76 ไร่ และรังสรรค์โรงแรมสุดหรูนี้ขึ้นมา
“สมัยก่อน ไม่เคยคิดจะทำธุรกิจโรงแรมเลย เพราะคิดว่าลงทุนสูง ช้า เสียเวลากว่าจะคืนทุน สู้ค้าเงินค้าหุ้นดีกว่า ได้เงินกลับมาเร็วดี ซึ่งวิธีคิดแบบนั้นมันต่าง จากวันนี้เลย” ชินเวศสะท้อนวิธีคิดที่พลิกผันจากวิกฤติการเงินปี 2540
นับเป็นกุศโลบาย เมื่อความคิดที่จะลงทุนในธุรกิจโรงแรมเป็นครั้งแรกในชีวิตของชินเวศ ได้จุดประกายโอกาสแห่งการเรียนรู้และประสบการณ์ทางธุรกิจที่มีค่ายิ่งให้แก่ลูกชายคนโต ที่เพิ่งจบการศึกษาจากต่างประเทศและกำลังค้นหาแนวทางบนเส้นทางธุรกิจของตัวเอง
“ตอนแรก ผมยังไม่มีความคิดที่จะไปช่วยพ่อทำโรงแรม แต่บังเอิญไปเห็นม็อค-อัพโรงแรมแล้วไม่ชอบ พ่อก็เลยบอกให้ไปเข้าประชุมกับเขาแล้วทำให้เป็นอย่างที่คุณอยากให้เป็น ตอนนั้นผมยังอายุยังไม่ถึง 24 ปีดี แล้วต้องไปเจอกับฝรั่งเขี้ยวลากดินทุกอาทิตย์ ก็ค่อนข้างกลัว” ณัฐเล่าถึงก้าวแรกในธุรกิจโรงแรมของตน
ในการเข้าไปดูแลโครงการก่อสร้างโรงแรมแห่งแรกของตระกูล นัฐเริ่มต้นเรียนรู้ตั้งแต่การเจรจาสัญญา คุมการก่อสร้าง หาพาร์ตเนอร์เป็นเชนโรงแรม ฯลฯ ประสบการณ์ เหล่านี้ทำให้นัฐได้ร่วมงานกับสุดยอด “มืออาชีพ” ในวงการต่างๆ มากมาย และ “ก้าวนี้” เองที่เป็นจุดที่ทำให้เขาได้ทำงานกับผู้เป็นพ่ออย่างจริงจัง
เมื่อโรงแรมเปิดให้บริการแล้ว ณัฐก็ยังมีหน้าที่ต้อนรับแขกคนสำคัญระดับประเทศ และระดับโลก ทั้งพระราชวงศ์ชั้นสูง มหาเศรษฐีจากทั่วโลก ดาราฮอลลีวูด นักร้องและนักกีฬาระดับโลก ฯลฯ
“ตั้งแต่ทำโรงแรมมา เห็นชัดว่านี่เป็นช่องทางที่ทำให้ผมเจอกับมหาเศรษฐีทั่วโลก เพราะโรงแรมผมแพงมาก เวลามีแขกวีไอพีมากๆ มาพัก ผมกับพ่อก็ต้องเป็นคนไปพูดคุยดูแลเอง ก็เลยสนิทและกลายเป็นเพื่อนกับทุกคน พ่อบอกแต่แรกว่า โรงแรมจะเป็น marketing arm และเป็น ‘บันได’ ถีบผมไปสู่เวทีระดับโลกได้ แล้วมันก็เกิดขึ้นแล้ว แต่ถ้าเป็นคนอื่นคงไม่คิดที่จะสร้างโรงแรมเป็นบันไดให้ลูกแบบนี้” ณัฐเล่าด้วยความประทับใจ
หลังจากเปิดตัวโรงแรมเพียงไม่นาน ก็มีข่าวว่าตระกูลสารสาสร่วมกับกองทุนเจมิ่งเฟรย์ ซึ่งเป็นกองทุนไพรเวทอิควิตี้จากสวิตเซอร์แลนด์ ตัดสินใจนำโรงแรมหรู แห่งนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจัดตั้งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ลักซ์ชัวรี่ (LUXF: Luxury Real Estate Investment Fund) มีมูลค่า 1,965 ล้านบาท
ทั้งนี้ กองทุน LUXF จะได้รับประโยชน์จากการให้เช่าทรัพย์สินเป็นเวลา 20 ปี แก่บริษัทอีเอชวาย จำกัด ซึ่งมี “โรงแรมป่าเกาะ” ถือหุ้นถึง 90% โดยกองทุนนี้จะได้รับผลตอบแทน 2 ส่วนจากค่าเช่าอัตราคงที่และค่าเช่าที่แปรผันตามความสามารถของการบริหารงานในแต่ละปี และมีนโยบายจ่ายปันผลไม่เกินปีละ 2 ครั้ง
“สำหรับผม การบริหารโรงแรมถือว่าหนักสุด เพราะเราเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว และแต่ละปีเราต้องจ่ายปันผลแบบการันตี ผมก็เลยต้องดูแลผลประกอบการเพื่อจะได้มีเงินปันผลจ่ายเพียงพอ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้อย่างที่ การันตีไว้ เราก็ต้องควักเงินเอง” ทายาทธุรกิจของชินเวศกล่าว
อย่างไรก็ดี ณัฐเชื่อว่าท้ายสุดแล้ว ผู้เป็นพ่อคงต้องพยายามผลักดันให้ทั้ง “go” และ “G Capital” เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับโรงแรม...ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึง ภาระของเขาอาจจะ “หนัก” กว่านี้ก็เป็นได้
จากที่ไม่เคยคิดจะลงทุนทำธุรกิจโรงแรม เพราะมองว่าเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงแต่คืนทุนช้า กระทั่งมีโรงแรมแห่งแรกของตระกูลซึ่งสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก มาวันนี้ ชินเวศและณัฐกำลังเตรียมตัวสร้างโรงแรมหรูแห่งใหม่บนเกาะเต่า ซึ่งสองพ่อลูก ลงพื้นที่ไปสำรวจด้วยกันมาถึง 3 รอบ กว่าจะได้ทำเลพิเศษมาครอง
ณัฐแย้มว่า โครงการลงทุนบนเกาะเต่าจะเป็น Luxury Diving Hotel แห่งแรกของโลกคือเป็นโรงแรมบูทีคหรูที่สามารถเดินออกไปดำน้ำได้จากหน้าห้องพัก ขณะที่บริการ ก็ยังคงเน้นความหรูหราด้วยบริการบัทเลอร์ส่วนตัว โดยโรงแรมใหม่นี้จะยังคงใช้เชนโรงแรมจากต่างประเทศมาบริหารให้ เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ “ซิกส์เซ้นส์” เหมือนเดิม
จากก้าวแรกที่เข้ามาดูแลธุรกิจโรงแรมอย่างจริงจังมาจนถึงวันนี้ ณัฐเชื่อว่า เขามี know-how เพิ่มขึ้นอีกมาก และแทบ จะรู้ในเกือบทุกอณูของธุรกิจโรงแรม เพียงแต่ครั้งนี้เป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับโรงแรมหรูแบบบูทีคเท่านั้น ในอนาคต เขามองว่าอาจจำเป็นที่ต้องมาเรียนรู้ know-how ในการทำโรงแรมแบบแมสเพิ่มขึ้นด้วย
คล้ายกับธุรกิจของ “go” และ “G Capital” นัฐมองว่าธุรกิจโรงแรมก็มีคอนเซ็ปต์ในการทำธุรกิจแบบเดียวกัน นั่นคือ ไม่ได้เริ่มต้นจากเป้าหมายเพื่อการแสวงหากำไรสูงสุด แต่วัตถุประสงค์แรกเกิดจากความต้องการให้ชาวโลกได้ประจักษ์ในความสวยงามของประเทศไทย
ระหว่าง 3 ธุรกิจ หากจะมีสิ่งที่แตกต่างกัน ก็เห็นจะเป็นตรงจุดที่ “go” เป็นธุรกิจเกี่ยวกับงานรูทีนที่ไม่มีใครอยากทำ ส่วน “G Capital” เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับสินเชื่อรากหญ้าที่ไม่ค่อยมีใครอยากเล่น แต่ธุรกิจโรงแรมไม่ใช่ เพราะโรงแรมเป็นธุรกิจที่ดู “สวยหรู” จนไฮโซหลายคนอดใจ ไม่ไหวต้องเข้ามาทำ
ทั้ง 3 ธุรกิจจะยังมีความต่างอะไรอีกบ้าง คงไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับชินเวศและลูกชายนัก เพราะประเด็นที่ทั้งคู่ให้ความสำคัญมากกว่านั่นคือ ทั้ง 3 ธุรกิจนั้นให้ผลดีต่อประเทศชาติ ดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ชินเวศเลือกจับทั้ง 3 ธุรกิจนี้เป็นการเปิดฉากตำนานบทใหม่ของ “สารสาส”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|