บทเรียนที่ไม่มีในตำราของชินเวศ สารสาส

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

มาถึงวันนี้ นักการเงินรุ่นใหม่อาจไม่คุ้นหูกับชื่อ “ชินเวศ สารสาส” เพราะเขาเก็บตัวเงียบมาตลอด 13 ปี นับแต่ “จีเอฟ” อาณาจักรการเงินครบวงจรที่เขาสร้างมากับมือได้ล่มสลายลงจากวิกฤติการเงินในปี 2540 ปรากฏารณ์ครั้งนี้สร้างแง่คิดและมุมมองที่เป็นประโยชน์อย่างไรกับเขาบ้าง เป็นเรื่องที่น่าศึกษา

“ผมคงตายไปแล้ว” !?!

เป็นคำพูดเชิงติดตลกที่ออกมาจากปากของชินเวส สารสาส เมื่อ ผู้จัดการ 360◦ ได้เอ่ยกับเขาก่อนจบบทสนทนากว่า 2 ชั่วโมงเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า หากในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ไม่มีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท วันนี้เขาคงมีสถานะเป็นนายธนาคาร ไปแล้ว...?

“จริงๆ นะ ผมคงหัวใจวายตายไปแล้ว เพราะต้องทำงาน ออกสังคม ชีวิตคงไม่มีสมดุล เสียสมดุลไปเลย ไม่ได้ออกกำลังกาย คิดว่าคงตายไปแล้วจริงๆ” เขาย้ำ

“แต่ก็ดีนะ ผมว่าดี เพราะหลังจากธุรกิจน้อยลง ก็มีเวลาออกกำลังกายมากขึ้น มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น มีเวลาทบทวนอะไรต่างๆ มากขึ้น...ผมได้อะไรจากวิกฤตินี้เยอะนะ ได้ปรัชญาชีวิตเยอะ ได้เยอะมาก ทำให้เห็นเลยว่า ตราบใดที่เรายังสุขภาพแข็งแรงดี เรายังมีสติปัญญาอยู่ ก็โอเค ก็สู้ได้”

ชินเวสเพิ่งอายุครบ 52 ปีเต็ม เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

สำหรับคนวัย 52 ยังไม่ถือว่าแก่ คนวัยนี้หลายคนยังมีไฟ แรงกาย และแรงใจในการ ดิ้นรนทำงานสร้างฐานะ

แต่สำหรับชินเวสจากวิกฤติการเงินครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศไทย เมื่อปี 2540 ทำให้เขาได้ตกผลึกประสบการณ์และความคิดหลายอย่างเกี่ยวกับ “ชีวิต” จนมองว่าฐานะ เงินทอง ตำแหน่ง ลาภยศ ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญของชีวิตเสมอไป

แน่นอน...หลายคนอาจแย้งว่าชินเวศสามารถคิดหรือพูดเช่นนั้นได้ เพราะเขาเป็นคนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว

ชินเวศเองก็ยอมรับว่าฐานะของเขาดีอยู่แล้วจริงๆ แต่คนที่มีฐานะแบบเดียวกับเขา ก็มีน้อยคนนักในโลกนี้ ที่ได้เคยผ่านประสบการณ์ชีวิตอย่างเขา ในขณะที่ยังมีอายุไม่ถึง 40 ปี

“ผมยังเคยนั่งคิดเลยว่าตอนผมทำธุรกิจ มันเป็นขาขึ้นมาตลอด ตั้งแต่ปี 2527 ถึงปี 2539 ขึ้นชันแบบ 90 องศา มาตลอด 12 ปี ไม่มีพักฐานเลย แล้วพอตก ก็ตกอย่างนั้นเลย”


วิกฤติการเงินเมื่อปี 2540 สำหรับชินเวศแล้วเป็นเหมือนคลื่นยักษ์สึนามิที่ซัดถล่มสิ่งปลูกสร้างต่างๆ บนชายหาดจนพังราบเรียบเหลือเพียงผืนทราย

แน่นอนว่าสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นก็คือ “จีเอฟ โฮลดิ้งส์” อาณาจักรการเงินครบวงจรที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ภายใต้การบริหารจัดการของเขา

ปลายปี 2539 จีเอฟโฮลดิ้งส์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทการเงิน 10 แห่ง ประกอบด้วยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 2 แห่ง บริษัทเช่าซื้อ ธุรกิจแฟคตอริ่ง บริษัท ประกันชีวิต ประกันภัย และเพิ่งได้ใบอนุญาตทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์เมื่อเดือนมกราคม 2540

เป็นโมเดลเดียวกับที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งพยายามทำเป็นแฟชั่น อยู่ในปัจจุบัน นั่นคือการเป็นธนาคารที่ให้บริการครบวงจร (universal banking)

แต่ชินเวศสามารถทำได้ก่อนตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว

จีเอฟโฮลดิ้งส์เป็นรูปแบบการจัดโครงสร้างการลงทุนที่ถูกวางรากฐานเอาไว้อย่างเป็นระบบ จากแนวคิดของชินเวศโดยเริ่มตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟในปี 2528 ด้วยวัยที่ยังไม่ถึง 30 ปีด้วยซ้ำ

สำหรับชินเวศในฐานะที่เป็น “เขยเล็ก” ของสุวิทย์-คุณหญิงมาลาทิพย์กับทั้งเป็นผู้บริหารธุรกิจสายการเงินของตระกูล เขามีเหตุผลระดับหนึ่งในการที่จะผลักดันสายธุรกิจที่เขาดูแลรับผิดชอบอยู่นี้ให้เติบใหญ่มากขึ้น ซึ่งในบรรดาชนรุ่น 4 ของโอสถานุเคราะห์ที่หากจะนับชินเวศเข้าร่วมในเครือญาติด้วยแล้ว ต้องนับว่าเขาเป็นผู้ที่มีบทบาทเด่นมากที่สุดคนหนึ่ง

หากจะนับคะแนนการแข่งขันกันทำธุรกิจในชนรุ่นที่ 4 นี้แล้ว เขาอาจจะมา “วิน”

เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งที่นิตยสาร ผู้จัดการ เคยเขียนเอาไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2532

(รายละเอียดเกี่ยวกับอาณาจักรการเงินของจีเอฟ อ่านได้จากเรื่อง “จีเอฟโฮลดิ้งส์ ก้าวกระโดดของธุรกิจการเงิน ตระกูลโอสถานุเคราะห์” นิตยสาร ผู้จัดการ ฉบับเดือนมิถุนายน 2532 หรือใน www.gotomanager.com)

ผลจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีเอฟ อาณาจักรการเงินภายใต้การดูแลของชินเวศนี่เอง ทำให้ในยุคปี 2530-2540 ชินเวศถูกมองว่าเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่น่าจับตา โดยเฉพาะนักลงทุนชาวต่างประเทศที่อยากเข้ามาในไทย แทบทุกคนเป็นต้องได้มารู้จักกับเขา หรือขอนัดกินข้าวกับเขา

“ผมเริ่มไว ผมขึ้นชกรุ่นเฮฟวี่เวทไว ขึ้นชกเวทีใหญ่ไว คือมันมาจากวิธีคิดอย่างนี้ ตอนนั้นเรายังเด็ก เราคิดว่าเราขึ้นชกเวทีใหญ่ ถ้าเราชนะ เราก็ดังเลย ถ้าไม่ชนะก็ไม่เห็น จะมีอะไรเสีย เพราะเขาไม่ได้คิดว่าเราจะชนะอยู่แล้ว มันเป็น simple logic คือเขาไม่ได้ คิดว่าเด็กจะชนะอยู่แล้ว logic มาแค่นั้นเอง ผมถึงได้ทำการใหญ่ เพราะคิดว่าถ้าแพ้ก็ไม่เห็นเสียหายอะไร เพราะเราก็เด็กอยู่แล้ว แต่ถ้าเราทำสำเร็จ เราก็กระโดดเลยนะ พาสชั้นเลย คิดอย่างนั้น ถึงได้ชอบทำของใหญ่”

ในสายตาของนักลงทุนชาวต่างประเทศ ชินเวศจัดเป็นคนที่อยู่ในกลุ่ม most young, bright, powerful และที่สำคัญที่สุดคือ well connection

“สมัยนั้น วันๆ ก็ประชุม กิน ก็หมดแรงแล้ว เพราะมีแต่คนอยากจะรู้จัก มีแต่คนอยากจะกินข้าวด้วย แต่หลังจากตกกระป๋องนี่ดีนะ เพื่อนหายไปเยอะเลย เพราะเราไม่มีประโยชน์อะไรกับเขาแล้วนี่ เมื่อก่อนเพื่อนเยอะ ห้อมล้อมไว้หมด เพราะเรามีอำนาจ มีเงินทอง อำนาจเงินทองมีไว้สำหรับดึงดูดแมลงวัน พอเราไม่มีเงินมาก ไม่มีอำนาจมาก ก็มีแต่ผึ้ง ชีวิตกลับหวานขึ้นอีก” เป็นทัศนคติในแง่ที่เข้าใจชีวิตมากขึ้นของชินเวศทุกวันนี้

อาณาจักรจีเอฟล่มสลายลงชนิดที่เรียกว่า “ไม่เหลืออะไรเลย” หลังการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540

2 กรกฎาคม 2540 เป็นวันที่บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟกำหนดจัดพิธีเปิดที่ทำการสาขาหาดใหญ่ โดยมี ม.ร.ว.สุชาติจันทร์ ประวิตร รองประธานกรรมการ บงล.จีเอฟ ไปร่วมในพิธี

ส่วนตัวชินเวศเองนั้นกำลังเดินสายโรดโชว์เพื่อขายหุ้นธนาคารจีเอฟให้กับประชาชนทั่วไป ตามเงื่อนไขที่ได้รับในใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ ว่าต้องกระจายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป 50%

“วันนั้นคุณชาย (สุชาติจันทร์) ไปทำพิธีเปิดสาขา พระกำลังสวดชยันโตอยู่เลย เขาก็ประกาศลอยตัวค่าเงินออกมาทาง วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย แขกที่ไป งานถามว่าตกลงนี่งานเปิดหรืองานเผากัน แน่ ควรจะชยันโตหรือบังสุกุลดี” ชินเวศเล่าถึงความหลังอย่างมีอารมณ์ขัน

แต่เมื่อย้อนถามถึงความรู้สึกในวันนั้น เขาพูดสั้นเพียงว่า “เมา งง” กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

การล่มสลายลงของจีเอฟเกิดจากธุรกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตามบรรยากาศฟองสบู่ที่สะสมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2532 และด้วยฝีมือการบริหารจัดการของชินเวศ

ด้วยความที่เป็นสถาบันการเงิน ทำธุรกิจโดยมีเงินฝากของประชาชนทั่วไปมาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อฟองสบู่แตก เกิดปัญหาขึ้นกับเศรษฐกิจทั้งระบบ สถาบันการเงินจึงเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด

“คนที่พูดว่าเขารอดจากปี 40 มาได้ ถ้าเขาไม่ได้อยู่ใน sector การเงินแล้ว มันไม่ยาก ปรับโครงสร้างหนี้ แฮร์คัท เขาก็กลับมาใหม่ได้แล้ว แต่สำหรับคนที่อยู่ใน sector การเงินไม่ใช่ ไปแล้วมันไปเลย”

สิ่งหนึ่งที่ชินเวศคิดได้ทันทีในขณะนั้นคือ หากเขาจะทำธุรกิจใหม่อีกครั้ง เขา จะไม่ทำธุรกิจที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับเงินฝากของประชาชนอีกโดยเด็ดขาด!!!

เมื่ออาณาจักรการเงินที่ชินเวศปลุกปล้ำมากับมือเป็นเวลา 12 ปีเต็ม ล่มสลายลงไปภายในวันเดียว ชินเวศใช้เวลาช่วงหลังจากนั้นในการเดินทาง และคิดทบทวนเรื่องราว ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

“ก็เที่ยวซะเยอะตอนนั้น เพราะหลังปี 2540 ใหม่ๆ มันก็มีแต่ซากปรักหักพัง ก็ไม่ค่อยได้ทำธุรกิจอะไร”

เขาเริ่มเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงแก่นของหลักธรรมที่ว่าด้วยอนิจจัง หรือความไม่เที่ยงแท้ แน่นอนของชีวิต เขาชอบคำพูดขององค์ดาไลลามะแห่งทิเบต ที่เคยกล่าวไว้ว่าชีวิตก็เหมือนกับการท่องเที่ยว

“เรามาท่องเที่ยว มาแป๊บเดียว อย่าพิรี้พิไรมาก อะไรถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง ก็ช่างมันเถอะ อย่าไปใส่อารมณ์กับมัน มันผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเท่านั้นเอง glory อะไรต่างๆ มันไม่ใช่ของจริง เหมือนเราเล่นละคร เราก็เล่นไป เราอย่าไปใส่อารมณ์ อย่าไปด่วนสรุปว่าจะดีหรือร้าย บางทีเรื่องที่คิดว่าร้าย มันก็กลายเป็นดี เรื่องดี มันก็กลายเป็นร้าย เราคิดว่าเรามาท่องเที่ยว มา enjoy อาหาร มา enjoy ผู้คน แล้วก็อย่าทำให้เขาเสียหาย ทำอะไรช่วยเขาได้ก็ทำ เพราะเดี๋ยวเราก็ไปแล้ว แล้วเราก็เอาอะไรไปไม่ได้เลย เอาไปได้อย่างเดียว คือความทรงจำที่ดี หรือไม่ดีเท่านั้นเอง ก็พยายามสร้างแต่ความทรงจำที่ดี”

จริงๆ แล้ว ชินเวศเป็นคนที่สนใจศึกษาเรื่องปรัชญา และหลักธรรมคำสั่งสอนของพุทธศาสนามาก่อนหน้าจะเกิดวิกฤติการเงินแล้ว แต่เขามีเวลาทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ยิ่งขึ้นในช่วงหลังจากวิกฤติ

“ผมว่าพวกเราเป็นชาวพุทธก็จริง แต่เราให้ความสำคัญกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนน้อยเกินไป ถ้าเราให้ความสำคัญเยอะๆ ท่านนี่คือสุดยอดแห่ง management เลย เป็นวิธีการบริหารชีวิตให้มีความสงบสุข หลักของท่านเป็นหลักการบริหารจัดการที่เอาไปใช้ได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตครอบครัว ชีวิตการงาน ทุกอย่างท่านก็สอนไว้หมดแล้ว”

เขาเริ่มนำหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ามาใช้ในชีวิตจริง

“ในการทำงานก็ต้องใช้อิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา จะทำธุรกิจกับใคร หรือคบกับใคร ก็ทำด้วยสังฆหวัตถุ 4 ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตา คุณไปไหน เขาก็คบกับคุณทั้งนั้น” เขายกตัวอย่าง

“มันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่า เวลาเราตก เราก็ไม่ค่อยกระเทือนเท่าไรในแง่ของความรู้สึก เพราะเรามีพื้นฐานที่สอนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะมันไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่นหรอก มันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เอาเป็นว่าเรายังสุขภาพแข็งแรงดี สติปัญญายังมีไม่ถึงกับติดลบมากก็โอเคแล้ว ก็สู้ต่อไป ไม่มีอะไรกลับทำให้ชีวิตเราสมบูรณ์ขึ้นนะ เพราะหลักสูตรบางหลักสูตรมันเรียนโดยตำราไม่ได้ คุณต้องเจอของจริง ถูกไหม สมมุติว่าเกิดมาในโลกนี้ คุณจะต้องเจอ 12 หลักสูตร 12 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องอะไรนี่ ถ้าคุณอ่านตำรา มันก็อีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าคุณเจอของจริง เรียกว่าจบหลักสูตร คุณอาจไม่อยากรับประกาศนียบัตรด้วยซ้ำไป เพราะคุณโดนมาหมดแล้ว ดูสิ 12 แผลเลย”

แต่ประเด็นสำคัญคือ...

“แล้วอย่างนี้เวลาเราสอน เราก็จะสอนด้วยความมั่นใจ เพราะเราผ่านมาหมดแล้ว ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยรบ แล้วก็ไม่ใช่รบในตำรา เรารบมาแล้วในสนามรบจริงๆ เราเล่าได้อย่างน้อยก็จะบอกให้คุณรู้ว่าคุณอย่าพลาดแบบผม คุณควรจะระวังยังไง คุณควรจะมอง ยังไง อันนี้ข้อดีคือตรงนี้ เราสามารถจะสอนคนรุ่นหลังให้เขาไม่ make the mistake เหมือนเรา ให้วิธีมองด้วยความรัดกุม วิธีมองการบริหารจัดการความเสี่ยง”

ชินเวศมีลูก 3 คน ลูกชายคนโต “ณัฐพล” ปัจจุบันอายุ 32 ปี เรียนจบจากสหรัฐอเมริกากลับมาเมืองไทยในปี 2544 หลังอาณาจักรจีเอฟล่มสลายไปแล้ว 4 ปี

ปัจจุบัน ณัฐพลเป็นกำลังหลักของชินเวศในเรื่องการทำธุรกิจ รวมทั้งกำลังได้ รับการติวเข้มอย่างหนักจากชินเวศอีกด้วย

ลูกสาวคนที่ 2 “วิสา” ทุกวันนี้โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิง

ส่วนลูกคนสุดท้อง “อาษา” กำลังเรียนปริญญาโททางด้านกฎหมายอยู่ที่ฝรั่งเศส ชินเวศตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบกลับมา เมืองไทยแล้ว เขาจะให้อาษาไปรับราชการ สักระยะหนึ่งก่อน ค่อยออกมาช่วยพี่ชายทำงาน

“คือผมอยากให้ลูกมีความอดทน ไปรับใช้เขาก่อน รับราชการมันต้องอดทน จะมาถึงปั๊บ แล้วเป็นเถ้าแก่เลย ไม่ค่อยดี คนเราควรจะต้องเรียนรู้ความอดทน ถูกเขาใช้ ถูกเขากดขี่ก่อน เวลามาเป็นนายเขา เราจะได้รู้ใจเขาใจเรา ข้อนี้สำคัญที่สุด บางคนตูม มาเป็นเถ้าแก่เลย จะไม่เข้าใจหัวอกคน ไม่รู้จักใจเขาใจเรา โลกนี้มันจะน่าอยู่ขึ้นเยอะ หากคนเรารู้จักใจเขาใจเรา”

“แล้วอดทนนี่สำคัญที่สุดในชีวิตนะ เพราะคนเรามันมีเวลาของมันเอง บางครั้งไม่ใช่เวลาของเรา เราก็ต้องอดทน เหมือนสุภาษิตจีน 10 ปียังไม่สาย ฉันใดก็ฉันนั้น บางทีเราไปฝืนเวลาไม่ได้ เวลามันไม่ใช่ เรา ไปฝืนมันก็ไม่ใช่ คุณจะต้องรู้เองว่าองค์ประกอบที่ทำให้คุณทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ได้หรือไม่ได้นี่ มันครบไหม ถ้าองค์ประกอบไม่ครบ ก็แสดงว่าเวลามันยังไม่ใช่ ก็ต้องพยายามแสวงหาองค์ประกอบให้ครบ แล้วองค์ประกอบบางอย่างคุณแสวงหาไม่ได้ timing มันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่เรารอมันได้ เราจะรู้ว่ามันมาแล้ว แต่เราก็ต้องทำตัวเรา ให้พร้อมด้วย”

ชินเวศเริ่มกลับมาสร้างธุรกิจของตนเองอีกครั้ง หลังผ่านพ้นวิกฤติปี 2540 ไปได้ประมาณ 5 ปี

ธุรกิจใหม่ของชินเวศเริ่มจากนำที่ดิน ซึ่งเดิมคิดจะสร้างบ้านเอาไว้อยู่ที่เกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา มาสร้างเป็นโรงแรม 5 ดาวในนาม “ซิกส์เซ้นส์ ไฮด์อะเวย์”

หลังจากนั้นได้ก่อตั้งบริษัท G Capital ขึ้นเพื่อทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถเกี่ยวนวดข้าวและตั้งบริษัท General Outsourcing เพื่อรับงาน payroll outsource ให้กับบริษัทเอกชนต่างๆ

ทั้ง 3 กิจการเริ่มสตาร์ทในเวลาใกล้ เคียงกันคือ ระหว่างปี 2547-2548

ข้อสังเกตคือทั้ง 3 กิจการเป็นธุรกิจ ที่จับต้องได้จริง ไม่เหมือนกับธุรกิจการเงิน ที่ฟูฟ่องไปกับฟองสบู่ที่เขาเคยทำเมื่อ 10 กว่าปีก่อน

“มันเป็น real business เลย คือผมก็พยายามทำอะไรที่ 1-เป็นสิ่งที่เขาไม่ทำกัน เป็นสิ่งซึ่งเป็น niche 2-เป็นสิ่งซึ่งทำแล้วเป็นประโยชน์กับส่วนรวม หรือประเทศชาติ”

การเข้าใจถึงแก่นแท้แห่งธรรม ทำให้ชินเวศเริ่มคิดถึงสังคมโดยรวมมากขึ้น แม้เขา จะประสบกับวิกฤติการเงินถึงขั้นที่ทำให้อาณาจักรธุรกิจที่เพียรสร้างมากับมือล่มสลายไปในพริบตา แต่ฐานะส่วนตัวของเขาก็ยังไม่มีผลกระทบ เขายังมีทรัพย์สินเงินทองเหลืออยู่อีกมาก

เมื่อปี 2535 ชินเวศได้ไปสร้างบ้านหลังหนึ่งเอาไว้ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นบ้านที่อยู่ติดกับน้ำตก เวลาที่เขาไปพักยังบ้านหลังนี้แล้วนั่งมองน้ำตก ทำให้เขาตกผลึกความคิดที่สำคัญบางอย่าง

“ความสวยงามของน้ำตกคืออะไร คือน้ำส่วนเกินที่มันไหลออกมา มันไหลลงไปข้างล่างก็เหมือนคน ถ้าคนมีทรัพย์สินเงินทองเหลือมาก ก็สมควรจะต้องส่งลงไปจุนเจือคนที่ยังขาด หรืออย่างน้อยก็ช่วยให้โอกาสกับคนเหล่านี้”

แนวคิดนี้เขาเริ่มมีมาตั้งแต่ก่อนปี 2540 แล้วเช่นกัน แต่ยิ่งมาตอกย้ำให้หนักแน่นขึ้น หลังเกิดวิกฤติ

ก่อนปี 2540 ชินเวศได้จัดตั้งกองทุนจีเอฟสร้างปัญญาขึ้น เพื่อระดมเงินมามอบเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นทุนการศึกษาระดับชั้น ม.1-ม.6

เหตุผลที่เขาจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้น เพราะเมื่อเขาได้เดินทางท่องเที่ยวไปตามชนบท มีโอกาสพูดคุยกับครูในโรงเรียนต่างๆ แล้ว พบข้อมูลที่น่าตกใจว่านักเรียนในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสาน หลังจากเรียนจบชั้นประถมแล้ว อัตราการเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมมีไม่ถึง 10%

“ผมคิดเลยว่าทำไมประเทศไทยถึงได้กลวงอย่างนี้ เด็กจบ ป.6 เข้าเรียนต่อไม่ถึง 10% ครูอธิบายว่าเพราะพ่อ-แม่ไม่มีเงินส่ง เลยต้องเอาลูกออกมาช่วยทำงานหาเงิน”

แม้อาณาจักรจีเอฟได้ล่มสลายลงไปตั้งแต่ปี 2540 แต่กิจกรรมของกองทุนจีเอฟสร้างปัญญายังดำเนินการต่อ โดยปัจจุบันกองทุนมีเงินต้นอยู่ประมาณ 91 ล้านบาท มีนักเรียนได้รับทุนการศึกษาจากกองทุนนี้ไปแล้วประมาณ 1 หมื่นคน

นอกจากพบว่าเด็กไทยหลายคนขาดโอกาสทางการศึกษาแล้ว ชินเวศยังเห็นว่าระบบ การศึกษาของไทยที่สอนให้เด็กท่องจำเพียงอย่างเดียว เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประเทศ เสียโอกาส

“คือเด็กไทยคิดไม่ค่อยเป็น ไม่ใช่เด็กไทย คนไทยด้วย เพราะไม่ได้ปลูกฝังวิธีคิด หลักในการคิด คือไม่ค่อยคิดลึก คิดตื้นๆ ฟังมาก็เชื่อ ขาดการไตร่ตรองเหตุและผล อันนี้ต้องสอนวิธีคิด เดี๋ยวนี้โรงเรียนในสิงคโปร์ ใน 1 อาทิตย์ มี thinking hour อย่างน้อย 3 ชั่วโมงของเรานี่ไม่มีเลย”

ด้วยสถานะนักธุรกิจที่กิจการเพิ่งล่มสลายจากวิกฤติเศรษฐกิจไปหมาดๆ เขาไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทในการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้โดยตรง

หลังปี 2540 ชินเวศจึงใช้เวลาส่วนหนึ่งสำหรับการเดินทางไปช่วยเหลือโรงเรียน วัดวาอารามต่างๆ หลายแห่งในชนบทอย่าง เงียบๆ เป็นการส่วนตัว

หลายโรงเรียนเขาไปช่วยสร้างห้องสมุด สนามกีฬา วัดหลายแห่งที่เขาได้เข้า ไปช่วยบูรณะ ปฏิสังขรณ์โดยที่เขาไม่ต้อง การให้ระบุชื่อ

แม้ได้หวนกลับคืนสู่วงการธุรกิจใหม่อีกครั้งด้วยการสร้างกิจการทั้ง 3 แห่ง ขึ้นมาใหม่เมื่อ 4 ปีก่อน ชินเวศก็ยังทำกิจกรรมเหล่านี้อยู่อย่างต่อเนื่อง

เดือนกันยายนที่ผ่านมา ในโอกาสวันเกิดครบ 52 ปี เขาเพิ่งเดินทางไปร่วมสร้างห้องสุขาให้กับวัดจำนวน 4,000 กว่าแห่งทั่วประเทศศรีลังกา

“หลักคิดของผมคือเป็นนักธุรกิจต้องใช้ชีวิตอย่างสมดุล ต้องทำธุรกิจที่รับผิดชอบและต้องเผื่อแผ่ให้สังคมด้วย อยาก จะเตือนรุ่นน้องที่เป็นนักธุรกิจ อย่าไปหลงระเริงกับความสำเร็จจนลืมชีวิตที่สมดุล ต้องมีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น มีเวลาทบทวน เรื่องชีวิต ว่าเราเกิดมาเพื่อจะสร้างความร่ำรวยอย่างเดียวหรือ มันมีอะไรมากกว่านั้นไหม เพราะอย่างผม ผมเคยเป็นมาแล้ว ทำธุรกิจอะไรเยอะแยะ มันก็อยู่ในความหลงระเริงของกระแสความสำเร็จ ชื่อเสียง มานั่ง วัดราคาหุ้น market cap ใครเท่าไร มาแข่งกัน แต่จริงๆ การวัดความสำเร็จไม่ได้วัดที่ตัวเลขอย่างเดียว”

ธุรกิจใหม่ 3 แห่งที่ชินเวศสร้างขึ้นมาใหม่ในทุกวันนี้ เขาไม่ได้ลงไปยุ่งเกี่ยวกับการ บริหารประจำวัน ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของณัฐพลลูกชายคนโตกับทีมงาน ส่วนหนึ่งก็เป็นลูกน้องเก่าที่ติดสอยห้อยตามกันมาตั้งแต่ที่จีเอฟกับทีมผู้บริหารที่สร้างขึ้นมาใหม่ในภายหลัง

เขาทำหน้าที่เป็นผู้จุดประกายความคิด เป็นโค้ช ครูและที่ปรึกษา โดยนำประสบการณ์จริงที่เขาได้เคยประสบมาเป็นแบบเรียน

เขาตั้งใจว่าในปี 2556 หรืออีก 3 ปี ข้างหน้า เมื่อเขาอายุครบ 55 ปีเต็ม เขาจะ รีไทร์จากทั้ง 3 ธุรกิจอย่างเต็มตัว ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของลูกๆ เป็นผู้ดูแลต่อไป

ณ วันนี้ ชินเวศกำลังวางแผนการจัดตั้งมูลนิธิ CS Foundation for Life ขึ้น เพื่อจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้เด็กๆ ในต่างจังหวัดรู้จักคิด ปลูกฝังวิธีคิดให้กับเด็กๆเหล่านั้น โดยเขาจะเดินสายไปเป็นวิทยากร หรือผู้บรรยายด้วยตัวเอง

รวมถึงการมอบรางวัลแก่บุคคลที่มีกิจกรรมน่ายกย่องเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต

“เป็นเหมือนรางวัลโนเบล สำหรับคนที่ทำประโยชน์ให้สังคม” เขาอธิบาย

เขาเตรียมนำทรัพย์สินบางส่วนออก มาประมูลขาย เพื่อเป็นทุนในการจัดตั้งมูลนิธิแห่งนี้

บทเรียนที่ไม่มีในตำรา ซึ่งชินเวศ สารสาสได้ประสบมากับตัวเองเมื่อหลายปีที่ผ่านมา น่าจะมีอานิสงส์เผื่อแผ่ต่อสังคมภายนอกได้บ้าง ไม่มากก็น้อย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.