มินิแบกรุ๊ป แบบฉบับของอุตสาหกรรม เกาะแก้วพิสดาร!?


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

มินิแบกรุ๊ปยักษ์ใหญ่แห่งวงการตลับลูกปืนของโลก ย้ายฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดจากสิงคโปร์มาอยู่ที่ไทย เพื่อแก้ปัญหาต้นทุนสินค้าเป็นหลักอันเป็น GLOBAL STRATEGY ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยที่มินิแบไทยสามารถส่งกำไรกลับญี่ปุ่นถึงปีละ 1,000 ล้านบาทหรือ 30% ของผลกำไรรวมของมินิแบกรุ๊ปที่ญี่ปุ่น แต่มีข้อปุจฉาว่า อุตสาหกรรมที่มีลักษณะไฮ-เทค ทำการผลิตเพื่อส่งออกแทบทั้งหมด เป็นเหมือนเกาะแก้วพิสดาร ที่แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับคนไทยเลย นอกเหนือจากการจ้างแรงงานจำนวนหนึ่งเท่านั้น!?

จาก NMB สู่มินิแบ MULTINATIONAL CORPORATION

มินิแบบญี่ปุ่นก่อตั้งปี 2494 ภายใต้ชื่อ NIPPON MINIATURE BEARING เรียกย่อๆ ว่า NMB ในช่วงแรกเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งผลิตตลับลูกปืน ต่อมามีการขยายไปอีกหลายบริษัท จนกระทั่งปี 2524 ได้มีการรวบรวมบริษัทที่อยู่ในเครือ และได้ตั้งชื่อใหม่ว่า "มินิแบ" แต่พนักงานของบริษัทยังคงติดชื่อที่หน้าออกว่า NMB เพราะถือว่าเป็นชื่อที่นำโชค

ในปี 2524 นี้เองที่มินิแบผันตัวเองไปเป็น "บริษัทมหาชน" โดยเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งโตเกียว และโอซากา สินค้าที่ผลิตเป็นหลักคือ MINIATURE BEARING

จุดเปลี่ยนแปลงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากของมินิแบกรุ๊ป เกิดขึ้นเมื่อ TAKAMI TAKAHASHI ซึ่งมีหุ้นมากกว่า 10% ขึ้นเป็นประธานกรรมการบริหาร

ทาคาฮาชิ เข้าร่วมงานกับ NMB เมื่อปี 2502 ก่อนหน้านี้เขาทำงานอยู่ในบริษัท TEXTILE แห่งหนึ่งหลังจากเรียนจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ โดยที่พ่อของเขาเป็นประธานกรรมการของ NMB เขาเริ่มงานในฝ่ายปฏิบัติการเล็กๆ ช่วง 13 ปีต่อมาเขายังคงพอใจอยู่กับการพัฒนาอย่างช้าๆ ของ NMB แต่ความเบื่อหน่ายในความเล็กของบริษัทเริ่มสะสมขึ้นเรื่อยๆ เขาเคยพูดว่า "เป็นการดีกว่าที่จะเป็นบริษัทใหญ่ เราจะได้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น มีคนและตลาดที่ดีขึ้น และได้เงินที่มีต้นทุนถูก"

GROWTH กลายเป็นความสำคัญยิ่งสำหรับเขา การเทคโอเวอร์เป็นกลยุทธ์หลักในการขยายกิจการ

การขยายกิจการครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2514 เมื่อเขาตัดสินใจซื้อสาขาของ AB SKF แห่งสวีเดน ซึ่งผลิตตลับลูกปืนที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกานับเป็นการเปิดศักราชการลงทุนต่างประเทศของอุตสาหกรรมประเภทนี้ ท้าทายความสงสัยในความสำเร็จของคู่แข่งที่พากันจับตาดูอยู่

ปีต่อมาเขาซื้อโรงงานทำตลับลูกปืนในสิงคโปร์ของบริษัท KOYO SEIKO ปี 2517 ซื้อกิจการของคนญี่ปุ่นด้วยกันที่ผลิตเครื่องวัด (GAVGE MAKER) อีกสามปีต่อมาซื้อกิจการผลิตสกรูและ ELECTROMAGNETIC CLUTHES พร้อมทั้งเข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท IMC MAGNETICS COPR.

นับตั้งแต่ทาคาฮาชิซื้อกิจการอีกหลายประเภท ทำให้มีบริษัทเครือข่ายไปทั่วโลก ตั้งแต่บริษัทสาขาของโซนี่ที่ทำ STEREO SPEAKER และบริษัทญี่ปุ่นที่ขายกิโมโนและเครื่องนอนโดยใช้วิธีขายตรง (DOOR TO DOOR) ไปจนถึงบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ที่ผลิต COMPUTER KEYBOARD

"โปรดอย่าเข้าใจว่าผมเป็น BEARING MAN ผมเป็นนักธุรกิจ ถ้าเห็นว่าธุรกิจไหนดี ก็โอเคสำหรับผม ผู้ผลิตตลับลูกปืนในยุโรป พากันพูดว่าผมบ้าที่เข้าไปในธุรกิจขายตรงแบบ DOOR TO DOOR ผมบอกว่าพวกเขาต่างหากที่บ้า ที่ไปจมอยู่กับธุรกิจเดิมตั้งหลายๆ ปี"

ด้วยปรัชญาอันนี้เองที่นำทาคาฮาชิเข้าสู่อุตสาหกรรม SEMICONDUCTOR ผลิต MEMORY CHIP อันเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง ซึ่งทาคาฮาชิเชื่อมั่นว่าทักษะในการผลิตตลับลูกปืนที่ต้องใช้ความประณีตเที่ยงตรงสูงมาก สามารถนำมาดัดแปลงและประยุกต์ใช้กับการอุตสาหกรรม SEMICONDUCTOR ได้

ในปี 2528 ทาคาฮาชิเข้าเทคโอเวอร์บริษัท NEW HAMSHIRE BALL BEARING INC. ในสหรัฐฯ ขณะเดียวกันเข้าไปลงทุนในสิงคโปร์มูลค่า 150 ล้านเหรียญ และตั้งใจที่จะลงทุนในไทยในปี 2528 มูลค่า 70 ล้านเหรียญ ถึงตอนนี้ผู้บริหารในบริษัททำตลับลูกปืนอื่นๆ เริ่มยอมรับว่าพวกเขาควรที่จะย้ายการลงทุนไปต่างประเทศเสียก่อนหน้านี้

ปัจจุบันมินิแบกรุ๊ปมีสาขาทั่วโลก มีโรงงานในญี่ปุ่น สิงคโปร์ อเมริกา เยอรมนี และไทย

ปี 2524 มียอดขาย 300 ล้านเหรียญ (มากกว่าเมื่อ 6 ปีที่แล้ว 6 เท่าตัว) ปี 2527 ยอดขายเพิ่มเป็น 533 ล้านเหรียญ เป็นเจ้าตลาดตลับลูกปืน ซึ่งเป็นส่วนประกอบในสินค้าหลายประเภทตั้งแต่อวกาศจนกระทั่งเครื่องบันทึกเทปวีดีโอ

จากสิงคโปร์มาสู่ประเทศไทย : นกยักษ์เปลี่ยนกิ่งเกาะ

ปีนี้เป็นปีที่ 7 ของการปักหลักในประเทศไทย และเป็นปีที่ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางนอกประเทศญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุด แทนที่สิงคโปร์ซึ่งครองแชมป์มานานกว่า 15 ปี โดยที่กลุ่มมินิแบไทย สามารถส่งผลกำไรกลับญี่ปุ่นถึงปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือประมาณ 30% ของผลกำไรรวมของกลุ่มมินิแบแห่งญี่ปุ่น ซึ่งกล่าวกันว่า ความสำเร็จของมินิแบไทยที่ผ่านมามีความสำคัญช่วยพยุงฐานะอันยอมแยบของมินิแบในช่วงวิกฤติการณ์อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายคนมองว่าเกือบจะต้องอยู่ในสภาพล้มละลายเสียแล้ว!

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จสูงสุดประเทศหนึ่ง เป็น 1 ใน 4 นิกส์แห่งเอเชีย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 26 ปี สิงคโปร์มีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยระหว่าง 8-10% แต่ปี 2528 เป็นปีที่เศรษฐกิจสิงคโปร์ทรุดหนักเป็นประวัติการณ์ อัตราการเจริญเติบโตตกต่ำจนกลายเป็นติดลบ 5%

สิ่งที่เป็นเหตุแห่งความวิบัติทางเศรษฐกิจมาจากปัญหาอย่างน้อย 3 ประการ คือ ต้นทุนการประกอบการธุรกิจในสิงคโปร์อยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกินไป ปัญหาด้านการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรม และความตกต่ำของธุรกิจก่อสร้าง

ปัญหาต้นทุนประกอบการธุรกิจสูงนั้น มีสาเหตุมาจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในเกณฑ์สูงมาก กับการที่กฎหมายแรงงานกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทน (CPF) ในอัตราสูงถึง 25% ของอัตราค่าจ้าง มิต้องสงสัยเลยว่า อุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนซึ่งต้องใช้แรงงานมากพอสมควรจะได้รับผลสะเทือนโดยตรงอย่างหนัก

ประเทศไทยถูกกำหนดให้เป็นแหล่งต่อไปที่นกอย่างมินิแบบมาเกาะ

เอ็นเอ็มบีเป็นบริษัทในเครือมินิแบที่เข้ามาไทยในปี 2525 ก่อตั้งโรงงานบนพื้นที่ 34 ไร่ ในเขตจังหวัดอยุธยา บนถนนสายเอเชีย เป็นโรงงานที่ผลิตตลับลูกปืน (MINIATURE BALL BEARING) และ COMPUTER KEYBOARD ไปยังสหรัฐฯ, ยุโรป และประเทศอื่นๆ

การที่มินิแบกรุ๊ปเลือกที่อยุธยาเพราะความเหมาะสม 3 ประการ 1. ความสะดวกในการคมนาคม 2. เป็นเขตที่มีแรงงานฝีมือรองรับเพียงพอ 3. เป็นเขตที่ปลอดมลภาวะ และที่สำคัญที่สุดต้นทุนแรงงานซึ่งต่ำกว่าเขตกรุงเทพฯ ต่ำกว่าสิงค์โปร์และญี่ปุ่นอย่างมากๆ

มิเพียงเท่านั้น บีโอไอยังอัดฉีดสิทธิพิเศษอีกหลายประการ กลายเป็นโชคหลายชั้นที่มินิแบไม่รอช้าที่รีบช่วงชิงโอกาสทองในการเข้ามาลงทุนอย่างรวดเร็ว

สิทธิประโยชน์ที่บีโอไอให้แก่มินิแบโดยหลักแล้วมีดังนี้

(1) ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้าสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่นำเข้ามาใช้ในการผลิต

(2) การได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้าสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้ามาใช้ในการผลิต และได้รับบยกเว้นอากรขาออกและภาษีการค้าสำหรับสินค้าสำเร็จรูปที่ส่งออก

(3) ได้รับอนุญาตให้หักเงินได้พึงประเมินเป็นจำนวนร้อยละ 5 ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจากการส่งออกเป็นระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีรายได้จากการประกอบการ ทั้งนี้รายได้จากการส่งออกของปีนั้นๆ จะต้องไม่ต่ำกว่ารายได้จากการส่งออกของปีนั้นๆ จะต้องไม่ต่ำกว่ารายได้จากการส่งออกเฉลี่ยของสามปีย้อนหลัง ยกเว้นสองปีแรก

(4) ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิเป็นเวลา 8 ปี นับตั้งแต่วันที่มีรายได้จากการประกอบการ

(5) ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้รับจากการส่งเสริมการลงทุนไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

ด้วยปัจจัยเหล่านี้กลุ่มมินิแบไทยจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากโรงงานแห่งแรกเสร็จไม่นาน (ปี 2527) ก็โรงงานประเภทเดียวกันจากสิงคโปร์มาตั้งที่ชานกรุงเทพฯ อีกในนามบริษัทเพ็ลเม็คไทย ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอยุธยาริมถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ และบริษัทมินิแบไทย ซึ่งผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หลายชนิด (ดูตาราง)

ปี 2528 สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้นำอันดับหนึ่งทางเศรษฐกิจของโลกเสรี ต้องประสบกับวิกฤตการณ์การขาดดุลการค้าอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับญี่ปุ่น ขณะที่ญี่ปุ่นมหาอำนาจสำคัญทางเศรษฐกิจก็เกิดปรากฏการณ์ตรงกันข้าม นั่นคือเกินดุลการค้าอย่างมหาศาล จนต้องประสบวิกฤตการณ์เงินเยนแข็งตัว ทำให้การผลิตภายในญี่ปุ่นมีต้นทุนการผลิตสูง เพราะวัตถุดิบต้องสั่งเข้า ค่าแรงสูงขึ้น ตลอดจนการขยายกำลังการผลิตมีขีดจำกัดเพราะค่าที่ดินแพงขึ้น และสถานที่ขยายกำลังการผลิตน้อยลง ดังนั้นอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม จึงทยอยกันออกมาหาแหล่งผลิตที่ถูกกว่า ซึ่งก็สอดคล้องกับความต้องการของประเทศคู่ค้าที่เรียกร้องให้ญี่ปุ่นไปลงทุนในประเทศตัวเองมากขึ้น โดยมักจะตั้งกำแพงภาษีสินค้าสำเร็จรูป และมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ

ดูเหมือนยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาจะมุ่งไปที่การผลิตเพื่อการส่งออกเหมือนๆ กัน นี่เป็นอีกตัวเร่งหนึ่งที่ผลักให้มินิแบขยายตัวในไทยเร็วกว่าที่คิดไว้

มินิแบกลายเป็น "หัวหอก" ของนักลงทุนญี่ปุ่นที่พาเหรดสู่ต่างประเทศก่อนภัยค่าเงินเยนจะมาถึง และเมื่อสิงคโปร์ต้องประสบวิกฤตการณ์ดังกล่าว ญี่ปุ่นก็พร้อมที่จะย้ายการผลิตส่วนใหญ่มายังประเทศไทย

การผลิตสินค้าต้นทุนต่ำเป็นยุทธศาสตร์หลักที่มินิแบกรุ๊ปยึดถือ การมองการณ์ไกลที่แม่นยำ ทำให้มินิแบสามารถปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว และเช่นกันหากวันใดที่ผู้บริหารมินิแบพบว่า ประเทศไทยประสบวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจหรือพบว่า มีประเทศที่มีเงื่อนไขในการลงทุนที่ดีกว่าประเทศไทย นกยักษ์ตัวนี้ก็คงจะโผสู่กิ่งใหม่ เป็นสัจธรรมทั่วไปของการดำเนินธุรกิจ!!

ANTI-DUNPING

ANTI-SUBSIDES

มินิแบสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตสินค้าให้มีราคาถูกได้ กลยุทธ์ทางการตลาดของมินิแบที่ใช้ก็คือ การขายตัดราคาคู่แข่ง เล่นเอาบริษัทคู่แข่งในสหรัฐฯ และอีอีซีกระอักเลือดไปตามๆ กัน

แต่ทว่าในปี 2527 มินิแบถูกสหพันธ์ผู้ผลิตตลับลูกปืนยุโรปร้องเรียนต่ออีอีซีว่า มินิแบทุ่มตลาดด้วยสินค้าราคาต่ำมาก และร้องเรียนอีกครั้งในปี 2528 ซึ่งปรากฏว่าฝ่ายมินิแบเป็นฝ่ายชนะมาทั้ง 2 ครั้ง ด้วยเหตุผลว่าสินค้าราคาต่ำ เพราะต้นทุนค่าแรงและวัตถุดิบราคาถูก

แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นจะจบลงด้วยชัยชนะของมินิแบ แต่มินิแบคงสรุปบทเรียนได้ว่าการสร้างสายสัมพันธ์ทำตัวให้กลมกลืนกับนักธุรกิจไทย จะเป็นเรื่องที่ชอบธรรมที่ทางรัฐบาลไทยจะออกมาแก้ต่างให้ หากเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก

มินิแบไทยจึงเปลี่ยนกลยุทธ์ในการลงทุนจาก 3 บริษัทแรกคือ เอ็นเอ็มบีไทยเพ็ลเม็คไทย และมินิแบไทย ซึ่งญี่ปุ่นถือหุ้นอยู่ 100% กลายเป็นว่าจะต้องร่วมทุนกับนักลงทุนเจ้าถิ่น โดยเลือกผู้ร่วมทุนที่มีอิทธิพลและสายสัมพันธ์แน่นหนาในสังคมไทย ซึ่งดูจากผู้ร่วมทุนดังกล่าวจะเห็นว่า มินิแบญี่ปุ่นตาแหลมไม่เบาเลย

นั่นคือ ที่มาของบริษัทไทยเฟอร์ไรท์ในปี 2530 ซึ่งผลิต FERRITE MAGNET โดยมีกลุ่มธนาคารกรุงเทพและตระกูลโสภณพนิชถือหุ้น 25% ธนาคารไทยพาณิชย์และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 25% บริษัทเยาวราชของพิชัย รัตตกุล 2% ที่เหลืออีก 48% เป็นของมินแบญี่ปุ่น

ต่อมาปี 2531 ก่อตั้งบริษัทมินิแบอิเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นโรงงานแห่งที่ 3 อยู่ที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งมินิแบและผู้ถือหุ้นชาวญี่ปุ่น พยายามเรียกร้องขอครอบครองหุ้นข้างมากในบริษัท จนกลายเป็นความขัดแย้งอยู่พักหนึ่ง ในที่สุดบริษัทใหม่จดทะเบียน 550 ล้านบาท โดยมินิแบถือหุ้น 55% ขณะที่กลุ่มธนาคารกรุงเทพ-โสภณพนิช และกลุ่มไทยพาณิชย์-สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้นกลุ่มละ 15% บริษัทเยาวราช 5% บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ฟีดมิลล์ 5% บรรษัทเพื่อการลงทุน (เจเอไอซี-กองทุนที่ญี่ปุ่นตั้งขึ้น โดยที่มีวงเงิน 2 พันล้านเหรียญ เพื่อร่วมลงทุนกับเอกชนในอาเซียน) 5% โดยใช้วงเงินในการลงทุนทั้งหมด 14,000 ล้านบาท

จากการเปิดเผยของมิชิฮิโร โทริอิ กรรมการผู้อำนวยการบริษัทมินิแบ ประเทศญี่ปุ่นว่า ที่ลพบุรีมินิแบต้องการตั้งเพื่อผลิตฟล็อปปี้ดิสค์ไดร์ฟขนาด 3-5 นิ้ว ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถดึงส่วนแบ่งตลาดโลกได้ 30% ซึ่งการผลิตเริ่มขึ้นเมื่อพฤษภาคม 2531 ในระยะแรกผลิต แมกเนติกส์ เร็กคอดดิ้ง เฮด 3 แสนชิ้นต่อเดือน และเมื่อเต็มกำลัง การผลิตจะสูงถึง 1 ล้านชิ้นต่อเดือน, พีเอ็ม แมกเนติกส์ สเตปปิ้ง มอเตอร์ 1 ล้านชุดต่อเดือน และผลิตแมกเนติกส์ เรดคอร์ดดิ้ง ซับแอสซี 3 แสนชุดต่อเดือน โดยที่นอกจากจะขายไปทั่วโลกแล้ว มินิแบยังส่งให้บริษัทซีเกต ซึ่งเป็นผู้ผลิต HARD DISK DRIVE รายใหญ่ ซึ่งมีโรงงานในประเทศไทยด้วย

ปี 2531 มินิแบต้องเผชิญมรสุมจากการกีดกันทางการค้าอย่างรุนแรง เป็นการกล่าวหาครั้งที่ 3 ของอีอีซี โดยที่สหรัฐฯ ร่วมด้วย เพราะกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้รับคำร้องเรียนจากบริษัททอริงตัน คราวนี้นอกจากจะกล่าวหาว่า มินิแบส่งตลับลูกปืนทุ่มตลาดอีอีซีและสหรัฐฯ แล้ว เป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวหาว่า รัฐบาลไทยอุดหนุนการส่งออกของมินิแบ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลไทยถือว่ารุนแรง เพราะกลัวว่าจะส่งผลกระทบถึงสินค้าตัวอื่นๆ ที่ส่งเข้าไปขายในอีอีซีและสหรัฐฯ รัฐบาลไทยโดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงต่างประเทศจึงโดดออกมาปกป้องมินิแบอย่างเต็มที่

"เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้อย่างรุนแรง มิฉะนั้นจะกระทบกระเทือนถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนของเราอย่างขนานใหญ่ ตอนนี้อีอีซีก็นั่งตีขิมคอมฟังว่า สหรัฐฯ จะพิสูจน์อย่างไร ถ้าสหรัฐฯ พิสูจน์ได้ว่าเรามีการส่งเสริมการส่งออก อีอีซีก็จะเอาอันนั้นมาตอบโต้เรา เพราะเขาใช้หลักการเดียวกัน" ดนัย ดุละลัมพะ อธิบดีกรมเศรษฐกิจฯ กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผย

นายทาคาฮาชิ ประธานมินิแบญี่ปุ่นเข้าใจถึงความรุนแรงของปัญหานี้ดี เขาพยายามหาทางแก้ปัญหา ซึ่งหนทางหนึ่งคือเข้าพบคนสำคัญๆ ของรัฐบาลไทย (สมัยเปรม 5) อาทิ พิชัย รัตตกุล, สุธี สิงห์เสน่ห์, มนตรี พงษ์พานิช เพื่อให้รัฐบาลไทยแสดงท่าทีที่แข็งกล่าวต่อสหรัฐฯ และอีอีซี ด้วยเหตุผลว่าแรงจูงใจต่างๆ ไม่ใช่การซับซิดี้แน่นอน เพราะแม้แต่สหรัฐฯ เองก็ทำ อาทิกรณีบริษัทรถยนต์โตโยต้าของญี่ปุ่น เข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ ได้รับการจูงใจจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลของแต่ละรัฐมากมาย ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการกีดกันการแข่งขันจากบริษัทที่ไม่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนอีกด้วย ซึ่งมากกว่าประเทศไทยหลายเท่าตัว

ถ้าทางสหรัฐฯ และอีอีซีสามารถพิสูจน์ข้อกล่าวหาดังกล่าวได้ ก็จะใช้วิธีเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (ANTI-DUNPING) และเก็บภาษีต่อต้านการสนับสนุนการส่งออก (ANTI-SUBSIDES) สำหรับตลับลูกปืนไม่เกิน 30 มิลลิเมตร ที่มีแหล่งกำเนิดจากไทยซึ่งภาษีต่อต้านการอุดหนุนการส่งออกเรียกย่อๆ ว่าซีวีดี

ล่าสุดอรนุช โอสถานนท์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า "ภาษีตัวนี้มินิแบถูกเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 17.83 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเป็นประวัติการณ์ เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าไทยที่ถูกเรียกเก็บซีวีดี โดยสินค้าชนิดแรกที่ไทยถูกฟ้องร้องคือ สิ่งทอ เมื่อปี 2527 ถูกเรียกเก็บร้อยละ 1.23 สินค้าตัวที่ 2 คือ ข้าว ถูกเรียกเก็บเมื่อปี 2529 ในอัตราร้อยละ 0.824 และล่าสุดปี 2530 สินค้าท่อเหล็กของไทยถูกเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 1.79"

อรนุชชี้ทางออกเรื่องนี้ว่า อาจจะขอให้มินิแบ สละสิทธิพิเศษในเรื่องต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น สิทธิพิเศษในเรื่องภาษีนำเข้าและส่งออกตลับลูกปืน แต่อย่างไรก็ตาม การจะถอนการรับสิทธิพิเศษขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของมินิแบเอง ถ้ามินิแบเห็นว่า แม้จะถูกเรียกเก็บซีวีดี 17% ก็ยังสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยยอมรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น การเรียกเก็บซีวีดีก็ตกไป ซึ่งขณะนี้มินิแบยังไม่ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร?

สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวของรัฐบาลนั้น ก็จะต้องทำการศึกษาว่า การช่วยเหลือการส่งออกอย่างไรจึงจะไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการสนับสนุนการส่งออก

เทคโนโลยีทรานสเฟอร์?

การถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ประเทศกำลังพัฒนา เป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุดปัญหาหนึ่งเมื่อมีการพูดถึงการลงทุนจากต่างประเทศ

อุตสาหกรรมของมินิแบมีลักษณะที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง (ไฮเทค) ชิ้นส่วนในเบื้องต้นต้องใช้เครื่องจักรและวัตถุดิบที่ญี่ปุ่น ซึ่งในส่วนนี้ใช้คนน้อยมาก เป็นแบบที่เรียกกันว่า CAPITAL INTENSIVE ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านี้จะถูกส่งไปประกอบจนเป็นสินค้าสำเร็จรูปหรือเกือบสำเร็จรูปที่ไทยหรือญี่ปุ่น ในส่วนนี้ต้องใช้แรงงานมากกว่าเรียกว่าเป็น LABOUR INTENSIVE

จากลักษณะดังกล่าว ก่อให้เกิดความเห็นที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ทุกคนดูจะเห็นสอดคล้องกันในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างสมบูรณ์แบบที่เรียกว่า ถ้าญี่ปุ่นถอนตัวไป แล้วปล่อยให้คนไทยทำสินค้าประเภทเดียวกันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เราก็ยังทำไม่ได้ ตรงนี้มีนัยยะว่า เทคโนโลยีทรานสเฟอร์ที่แท้จริงไม่ได้เกิดขึ้น

มินิแบเป็นบริษัทที่ภาพพจน์ก้าวหน้าว่าให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่คนไทย โดยส่งคนไทยไปเทรนกับเครื่องจักรอันทันสมัยที่ญี่ปุ่นในหลายระดับนับพันคน วุฒิชัย อุดมกาญจนนันท์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของมินิแบไทย ออกมาให้ข่าวว่ามีการส่งวิศวกรไปอบรมที่ศูนย์วิจัยค้นคว้าและทดลองของนักวิจัยและวิศวกรในเครือมินิแบทั้งหมด ซึ่งวุฒิชัยกล่าวว่า "นับเป็นโอกาสดีของวิศวกรไทยที่มีโอกาสเรียนรู้อาร์แอนด์ดี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทางมินิแบให้คนไทยไปอบรม ในขณะที่ประเทศอื่นยังไม่เคยได้รับการถ่ายทอดจำนวนมากขนาดนี้ แม้แต่สิงคโปร์"

นอกจากนี้ผู้ในฝ่ายรัฐบาลมักจะให้เหตุผลว่า แม้จะไม่ได้เทคโนโลยีเต็มที่ แต่ก็ทำให้คนไทยคุ้นเคยกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น และที่สำคัญก็คือ คนไทยได้มีงานทำ

"กรณีมินิแบนี่ผมคิดว่า เขาเริ่มขยายฐาน หมายถึงเริ่มต้นย้อนหลัง (BACKWARD INTEGATION) แต่เดิมเขาเข้ามาประกอบ หลังๆ นี้เริ่มผลิตชิ้นส่วน แต่ชิ้นส่วนที่นำมาประกอบหลังๆ นี้เริ่มย้อนหลังไปทุกที เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันมีวิวัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องการ มินิแบนี่ นอกจากย้อนหลังแล้ว ที่ผมชอบใจก็คือ มันสร้างสิ่งที่เป็นระบบในอุตสาหกรรมการผลิต ยกตัวอย่างเช่นการส่งคนงานไปเทรนที่ญี่ปุ่นหลายพันคน เอาเด็กอยุธยาจากเดิมที่ขุดดินอยู่นี่ ตัวดำๆ จับขึ้นเครื่องบินไปอยู่นั่นปีหนึ่ง แล้วเวลากลับ ก็เอาเครื่องจักรที่เด็กคนนั้นทำ รวมกระทั่งเก้าอี้ส่งกลับเมืองไทย แล้วให้เด็กคนนั้นทำงานตรงเก้าอี้ตัวเก่า มันเปลี่ยนชีวิตคนเหมือนกัน เริ่มเข้าทำงานในระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น ไม่ใช่สังคมเกษตร แต่นักการศึกษานักสังคมวิทยาอาจจะมองว่าเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ นั่นเป็นการมองไปอีกแนวหนึ่ง" จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ผู้อำนวยการกอง กรอ. สภาพัฒน์ ให้ความเห็น

ในประเด็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี การจะกล่าวหาทางมินิแบหรือญี่ปุ่นฝ่ายเดียวคงไม่ถูกนัก เพราะฝ่ายไทยเราทั้งรัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยเกินไป เห็นแต่ประโยชน์ในระยะสั้นอยู่ด้วย

ฝ่ายรัฐบาลให้การส่งเสริมการลงทุน โดยกำหนดไว้เพียงกว้างๆ ว่า ควรจะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยแทบจะไม่มีผลในทางปฏิบัติ ขณะที่เกาหลีหรือไต้หวัน ที่นั่นเขาระบุชัดเจนเลยว่า ภายใน 5-10 ปี เขาต้องผลิตสินค้าเหล่านั้นเองได้ ผลก็คือทั้งสองประเทศกลายเป็น "นิกส์" ไปแล้ว ขณะที่ไทยยังเป็นอะไรก็ยังไม่รู้

ภาคเอกชนไทยที่ร่วมทุนกับญี่ปุ่นในเวลาที่ผ่านมาเพียงแต่ร่วมในแง่ของทุนหวังผลตอบแทนในรูปของเม็ดเงิน โดยปล่อยการบริหารทั้งหมดให้อยู่ในมือของญี่ปุ่น และไม่สนใจหรือไม่กระตือรือร้นกับอุตสาหกรรมนี้ กรณีมินิแบยังเห็นได้ชัด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเขาคิดว่า อย่างไรเสียโอกาสที่ไทยเราจะทำเองนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมากๆ

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งของการถ่ายทอดเทคโนโลยี คือความพร้อมของคนไทยว่ามีมากน้อยเพียงใดด้วย?

"มันขึ้นอยู่กับคนไทยด้วยว่ามีความสามารถที่จะรับและคิดเทคโนโลยีแค่ไหน จริงอยู่การส่งคนไปเทรน ทำให้คนมีประสบการณ์ในการผลิต เห็นกระบวนการผลิตที่มี PROCESS ซับซ้อนว่า ที่ญี่ปุ่นเขามีห้อง LAB ที่มีการปรับปรุงความสามารถในการผลิตทุกนาที มีแต่เด็กหัวกระทิจริงๆ ที่ต้องใส่ใจที่จะ ADAPT และ CREATE เทคโนโลยี มิฉะนั้นไม่มีทางตามทันกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งคนเหล่านี้มีอย่างมาก 10% ซึ่งเป็นการกระจายเทคโนโลยีในระดับบุคคล แต่ละคนจะรู้เรื่องเป็นจุดๆ เท่านั้น โดยที่เทคโนโลยีทั้งหมดนั้นญี่ปุ่นยังคงกุมไว้ทั้งหมด" แหล่งข่าวคนไทยระดับสูงที่ร่วมงานกับมินิแบกว่า 5 ปี กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

แต่อีกด้านหนึ่งของการส่งคนงานไปต่างประเทศนั้น คนในวงการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจกับ "ผู้จัดการ" ว่า

"คนงานไทยที่ถูกส่งไปนั้น เป็นเพียงแรงงานส่งออกราคาถูก ทดแทนแรงงานราคาแพงไปตามมาตรฐานญี่ปุ่น โดยอ้างการฝึกงานบังหน้า ตามปกติการฝึกฝนเทคนิคใหม่สำหรับโรงงานประเภทนี้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะถูกวางระบบไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน มิใช่ 3-6 เดือนอย่างที่มินิแบทำอยู่"

กรณีนี้ RYUSUKE MIZUKAMI ผู้จัดการฝ่ายวางแผนของมินิแบแห่งญี่ปุ่นโต้ข้อกล่าวหาว่า คนงานเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับ ON THE JOB TRAINING เพื่อจะได้เรียนรู้กระบวนการผลิต และการเรียนรู้ปรัชญาการทำงานของทาคาฮาชิ (อ่านเรื่องทฤษฎีการบริหารแบบ NONE JAPANESE TAKAMI TAKAHASHI)

สำหรับคนไทยอาจจะคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ได้ไปต่างประเทศและได้คนเงินสูงกว่าระดับเดียวกัน แม้ว่าจะต่ำกว่าคนญี่ปุ่นมากมายก็ตาม ทว่าก็ต้องอยู่กับมินิแบ 2 เทาของเวลาที่ไปฝึกฝนที่ญี่ปุ่น นั่นเป็นจุดที่มินิแบย้ำและเน้นเสมอคือ ทำอย่างไรต้นทุนสินค้าจึงจะถูกที่สุด?

ธุรกิจเกาะแก้วพิสดาร

คำว่า "เกาะ" คือส่วนที่ไม่ติกับแผ่นดิน เป็นคนเปรียบเปรยสำหรับธุรกิจที่แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับคนไทยเลย เพียงยืมสถานที่และคนอีกประมาณ 8 พันคนเท่านั้น

สิ่งที่บ่งชี้ถึงความไม่เกี่ยวข้องคือ หนึ่ง - วัตถุดิบนำเข้าแทบทั้งหมดโดยไม่ได้ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเลย สอง - ผลิตเสร็จส่งออกเกือบหมด สาม - ไม่ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมข้างเคียงขึ้นในประเทศไทย

รัฐบาลไทยมักจะหลงใหลได้ปลื้มไปกับอุตสาหกรรมส่งอกในสองประการคือ หนึ่ง - มูลค่าการส่งออกที่สูงขึ้น (EXPORT EARNING) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ สอง - การจ้างแรงงาน

ในประการแรกนั้นเป็นน่าสังเกตว่า ในเมื่อวัตถุดิบ-เครื่องจักรต้องนำเข้าทั้งหมด สิ่งที่มาเพิ่ม VALUE ADDED เข้าไปคือ ส่วนที่มาจ้างแรงงานไทยประกอบ จากนั้นก็นำส่งออก ผลต่างระหว่างการนำเข้า-ส่งออกดูจะไม่มากนัก ยิ่งเมื่อคิดถึงคำพูดของทาคาฮาชิ ประธานกลุ่มมินิแบ ที่ชมเชยมินิแบไทยว่า สามารถส่งกำไรกลับญี่ปุ่นได้เป็นจำนวนมากแล้ว ความหวังในการแก้ปัญหาดุลการค้าของรัฐบาลดูจะเป็นเรื่องเพ้อฝันเสียแล้ว เพราะดูเหมือนตัวเลขขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก!!

ส่วนแรงงานนั้นเราได้มาพอสมควร แม้จะไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมากเหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สิ่งทอ ตรงนี้นับว่าได้ประโยชน์พอสมควร

ทัศนะอีกขั้วหนึ่งที่เห็นว่าการเข้ามาลงทุนของมินิแบเหมือนการจับเสือมือเปล่า "แทนที่มินิแบจะเอาเงินของตัวเองมาลงทุน เขาฉลาดกว่านั้นด้วยการเลือกใช้ SOURCE OF FUND จากไทย ซึ่งถ้าสภาพคล่องของตลาดเงินเหลือเฟือก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าในสภาพเงินตึงมืออย่างปัจจุบัน ก็เท่ากับเป็นการแย่งส่วนที่คนไทยจะได้ใช้ คุณต้องไม่ลืมว่า แบงก์นั้นเวลาพิจารณาปล่อยกู้ก็จะให้โครงการที่ดีก่อน นั่นเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ดอกเบี้ยภายในประเทศสูงขึ้น จริงๆ แล้วมินิแบเอาเข้ามาจริงๆ ก็เพียงโนว์ฮาวเท่านั้นแหละ" ความเชื่อของผู้บริหารสถาบันการเงินหนึ่ง กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เมื่อเปรียบเทียบสิ่งที่คนไทยได้ ที่เห็นชัดเจนก็เพียงค่าแรงงาน สิ่งที่เราควรจะได้อีกหลายประการ เช่น ภาษีอากรขาเข้า-ภาษีการค้าสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่นำเข้ามาใช้ในการผลิต, การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนกำไรสุทธิ 8 ปี ฯลฯ กับสิ่งที่ญี่ปุ่นได้ไปนับว่าตางกันอย่างมหาศาล

เหตุผลที่มักจะมีการกล่าวอ้างกันอยู่เสมอๆ ว่าถ้าไม่ส่งเสริมการลงทุนให้ เขาก็พร้อมที่จะไปลงทุนที่อื่น เหตุผลนี้ถูกตอกย้ำโดย มากาโตะ อิเคดะ ซึ่งเป็นญี่ปุ่นรุ่นบุกเบิกธุรกิจในไทย "เรายังต้องการเจรจากับบีโอไอ ขอให้ต่อระยะเวลาให้สิทธิพิเศษจากไทย โดยให้เหตุผลว่าเอ็นเอ็มบีสิงคโปร์ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนถึง 15 ปี และหากเราได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยอย่างดี ก็จะเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของธุรกิจจากต่างประเทศอีกมากมาย"

เมื่อเอาสิ่งที่เราได้กับสิ่งที่ญี่ปุ่นได้ขึ้นตาชั่ง จะเห็นได้ชัดว่า มันเอียงเทไปทางญี่ปุ่นอย่างเห็นได้ชัด ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องคิดกันอย่างจริงจัง ว่าแท้ที่จริงเราต้องการอะไรและไม่ต้องการอะไรจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะยาว อะไรที่เราควรส่งเสริมและไม่ส่งเสริม เพื่อจะได้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาได้ถูกต้อง

เหตุผลที่มินิแบกล่าวอ้างว่า สามารถไปลงทุนที่อื่นได้ จะไม่สมเหตุสมผลเลย ถ้าเราเกิดมีความเชื่อว่ามันมีประโยชน์กับเราน้อย และระยะยาวเราก็ไม่สามารถเป็นเจ้าของเทคโนโลยีตัวนี้ได้ เราก็อาจที่จะเลือกพัฒนาอุตสาหกรรมที่เติบโตบนพื้นฐานของเราเอง

ข้อโต้แย้งที่จะมีตามมาก็คือ ประเทศด้วยพัฒนาอย่างไทยจริงๆ แล้วไม่อยู่ในฐานะที่จะเลือกหรอกว่าเราจะเอาอะไรและไม่เอาอะไร ข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่? ไม่สำคัญเท่าความเศร้าใจที่เรา "ถูกทำให้เชื่อ" เช่นนั้น

และที่น่าเศร้าใจไปกว่านี้ ไทยเรายังไม่เคยมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจนเลยต่างหาก!? จึงได้เพียงเศษเนื้อที่มินิแบและนักลงทุนต่างชาติหยิบยื่นให้ หากเราไม่ขวนขวายจะเลี้ยงมันเสียเอง "ก็จงลืมมันเสียเถอะ"!! หลับตานึกถึงสยามเมืองยิ้มต่อไป!?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.